• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปรัชญาการแพทย์ตะวันออก

ปรัชญาการแพทย์ตะวันออก

บทความปรัชญาการแพทย์ตะวันออกที่ลงในนิตยสารหมอชาวบ้านตั้งแต่เดือนธันวาคม 2531 ถึงกรกฎาคม 2532 ผู้เขียนได้กล่าวถึงวิวัฒนาการทางปรัชญาความคิดของการแพทย์ตะวันตกเป็นด้านหลัก เพื่อที่จะให้ผู้อ่านสามารถมองปัญหาทั้งสองด้านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไปผู้เขียนจะนำเสนอความคิดของปรัชญาการแพทย์ตะวันออก โดยจะเริ่มด้วยประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางการแพทย์จีน แล้วจึงต่อด้วยการแพทย์ไทย ตลอดจนการแพทย์ของชนชาติไทในสิบสองปันนา มณฑลหยิงหนาน (ยูนาน) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเชิงเปรียบเทียบกับการแพทย์ไทย

การที่ผู้เขียนนำเสนอประวัติศาสตร์การพัฒนาของการแพทย์จีนต่อท่านผู้อ่าน เพราะการแพทย์จีนนั้นมีประวัติศาสตร์การพัฒนาและมีระบบการมองปัญหา วิธีการศึกษา ตลอดจนมรรควิธีในการแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากการแพทย์ตะวันตก และมีทฤษฎีและประสบการณ์ในการปฏิบัติที่เป็นระบบและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ทั้งนี้เพื่อหวังว่าจะก่อให้เกิดทรรศนะและลู่ทางในการพัฒนาการแพทย์ไทยอย่างรอบด้านยิ่งขึ้นในอนาคต

จีนเป็นชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่ประเทศหนึ่ง มีประเพณีวัฒนธรรมตลอดจนการแพทย์ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาเป็นเวลานานหลายพันปี การแพทย์จีนเป็นประสบการณ์ของชนชาวจีนที่ได้สั่งสมมาจากการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่คอยเบียดเบียนสุขภาพของชาวจีนตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน การแพทย์จีนจึงมีประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ ไม่เพียงแต่ในแง่การรักษาโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างพลานามัยให้ชาวจีนมีสุขภาพที่แข็งแรง และทฤษฎีการแพทย์จีนก็ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิตของชาวจีนที่มีลักษณะเด่นของตัวเองโดยเฉพาะขึ้น

การแพทย์จีนมีประวัติศาสตร์มายาวนานเท่าไรนั้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ชัดเจน แต่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า การแพทย์จีนในยุคแรกๆเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บโดยการลองผิดลองถูก (trial and error) ดังจะเห็นได้จากคำบอกเล่าเกี่ยวกับเสินหนงซื่อ (ผู้ให้กำเนิดการเกษตรของจีน) ว่า “ชิมหญ้าร้อยชนิด พบหญ้ามีพิษ 71 อย่าง” แม้จะเป็นเรื่องที่เล่ากันในหมู่ประชาชนก็ตาม แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ในสมัยนั้นได้เริ่มรู้จักนำเอาพืชมาใช้เป็นยารักษาโรคแล้ว

จากประสบการณ์ที่สะสมมาเป็นเวลานานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาจนกระทั่งถึงสมัยชุนชิว (227 ปี ก่อนปี พ.ศ.67) หนังสือแพทย์จีนซึ่งเกิดจากการรวบรวมเอาประสบการณ์ทางการแพทย์ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงสมัยชุนชิวก็ได้เกิดขึ้น “หวงตี้เน่ยจิง” (หรือเรียกสั้นๆ ว่า เน่ยจิง) เป็นหนังสือแพทย์เล่มแรกที่นอกจากได้รวบรวมเอาประสบการณ์ในการปฏิบัติทางการแพทย์อันยาวนานของชนชาวจีนไว้แล้ว ยังได้ประสานกับความคิดทางปรัชญาในยุคนั้น กลายเป็นทฤษฎีการแพทย์ที่มีระบบและลักษณะพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทฤษฎีแพทย์จีนในระยะต่อมา

เนื้อหาในหนังสือหวงตี้เน่ยจิงประกอบด้วยซู่เวินและหลิงซู รวม 2 ตอน แต่ละตอนมี 9 บท ใช้อักษรจีนประมาณ 140,000 ตัว เนื้อหาในเล่มนี้เป็นบทสนทนาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ทางการแพทย์ระหว่างหวงตี้ (Yellow emperor - จักรพรรดิ) กับอำมาตย์ฉีเปาะ เป็นลักษณะคนหนึ่งถามคนหนึ่งตอบ

ปัจจุบันเชื่อว่า ชื่อของจักรพรรดิเหลืองหรือหวงตี้ และอำมาตย์ในหนังสือเล่มนี้ เป็นการอ้างถึงเพื่อให้หนังสือเกิดความขลัง ทำให้คนศรัทธา แต่ก็ยังมีความคิดอีกกระแสหนึ่งเชื่อว่า เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้ให้กำเนิดการแพทย์จีน (เล่ากันว่าหวงตี้เป็นผู้ที่เริ่มใช้สมุนไพรรักษาโรคเป็นคนแรก) มากกว่าอย่างอื่น
ความจริงแล้วยุคของจักรพรรดิหวงตี้นั้น เกิดขึ้นราว 2154-2036 ปีก่อนพุทธกาล

นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า ระดับวัฒนธรรมในยุคนั้นยังไม่สามารถประดิษฐ์อักษรที่มีลักษณะอย่าง “เน่ยจิง” ได้ การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า “เน่ยจิง” ได้สำเร็จเป็นรูปเล่มในสมัยชุนชิว ซึ่งเป็นยุคที่ “บุปผาร้อยดอกบานสะพรั่ง ร้อยสำนักแข่งประชัน” สำนักความคิดต่างๆ เช่น เหล่าจื่อ (เล่าจื้อ) ข่งจื่อ (ขงจื้อ) เป็นต้น ได้เผยแพร่ความคิดของแต่ละสำนักไปสู่ประชาชน มีการเขียนหนังสือเผยแพร่ออกมาอย่างมากมาย วิวัฒนาการของการแพทย์จีนก็ไม่อาจหนีพ้นกฎเกณฑ์นี้ไปได้

หนังสือ “เน่ยจิง” ที่ปรากฏเป็นรูปเล่มในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งของเนื้อหาเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ แต่อีกส่วนหนึ่งคนในสมัยต่อมาเขียนเพิ่มเข้าไป ทั้งนี้เพราะหลังจากหนังสือเล่มนี้อุบัติขึ้น สังคมจีนได้ผ่านช่วงสงครามมาหลายครั้ง เช่น การรบพุ่งกันของรัฐทั้ง 7 ในสมัยชุนชิว สงครามระหว่างฉู่กับฮั่น ซานกัวะ (สามก๊ก) เป็นต้น เนื่องจากเกิดสงคราม จึงทำให้สังคมปั่นป่วน และเกิดการสูญหายหรือขาดหายไปของหนังสือเน่ยจิงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อที่จะให้หนังสือมีเนื้อหาที่สมบูรณ์ การเขียนต่อเติมเข้าไปจึงเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น

สรุปแล้ว เน่ยจิงจึงไม่ใช่หนังสือที่เขียนขึ้นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือชนชาติใดชนชาติหนึ่ง และไม่ใช่เขียนขึ้นในสมัยเดียว แต่เป็นหนังสือที่ได้รวบรวมสรุปประสบการณ์ทางการแพทย์ของชนชาติต่างๆ ในจีน ที่ได้ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่มาเบียดเบียนมนุษย์มาเป็นเวลานาน เน่ยจิงจึงเป็นหนังสือที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของการแพทย์จีนตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ข้อมูลสื่อ

123-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
วิทิต วัณนาวิบูล