• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อันเนื่องมาจากพระเวสสันดร

ภรรยาบริจาค (3)

ขอแถมท้าย “บุตรบริจาค” ฝากไว้เป็นข้อคิดว่า เพียงแค่ “เงาๆ” ของการให้ทานลูก ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ก็เป็นคุณธรรมที่น่ายกย่อง ควรแก่การจดจำไว้เป็นแบบอย่างแล้วไม่ใช่หรือ

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง ชีวิตและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนหนึ่งว่า

“วันหนึ่งพี่ชายข้าพเจ้า ซึ่งทำงานอยู่สรรพากรกับมิสเตอร์ไจล์ เพราะเพิ่งกลับมาจากยุโรป ถือจานข้าวแกงเข้าไปนั่งกินที่โต๊ะในห้องนั้น เผอิญเสด็จพ่อจะเสวยน้ำ ท่านก็เปิดประตูเข้าไปเรียกบ๋อย พอเจอพี่ชายข้าพเจ้าเข้าเท่านั้น พระพักตร์บึ้งไปทันที ตรัสถามว่า

"เจ้าชาย พวกเธอเขากินกันที่ไหน"
พี่ชายของข้าพเจ้าทูลว่า “ข้างล่าง”

ท่านตรัสว่า “เธอก็ลงไปกินกับเขา ที่นี่ห้องเสนาบดี ไม่มีพ่อลูก”

ข้าพเจ้ามองดูพี่แล้วสงสาร เพราะลุกขึ้นถือจานข้าวนั้นออกไปทันที ทั้งๆที่กินอยู่อย่างหิวโหย”
ถึงพระเจ้ากรุงสญชัยพระบิดาของพระเวสสันดรก็เถอะ ได้ให้ตัวอย่างแก่นักปกครองไว้อย่างดีเลิศ ทรงยึดหลักบุตรบริจาค ยอมสละลูกเพื่อหลักการที่ถูกต้องและเคารพมติมหาชน

เมื่อชาวเมืองมากราบทูลว่าพระลูกเจ้ากระทำผิดราชกิจประเพณีแด่บุราณ ที่ให้ช้างมหามงคลแก่ชาวกลิงคราฐ ประชาชนไม่พอใจยิ่งนัก ถ้าพระองค์เห็นดีจะเอา(ลูก)ไว้ ก็เห็นว่าภัยจะมีแก่พระองค์

ท้าวเธอทรงฟังด้วยตระหนักในพระทัยว่า “ทุกข์ของแผ่นดิน ก็คือทุกข์ของพระมหากษัตริย์” จึงตรัสว่าลูกเรากระทำผิดราชกิจประเพณี จะควรทำประการใด เมื่อมติส่วนใหญ่ให้เนรเทศ ก็อนุมัติตามเสนอ โดยทรงยึดหลักราชกิจประเพณีแต่บุราณ และมติมหาชนไว้เป็นหลักในการบริหาร หาได้เข้าข้างลูกรักแม้แต่น้อยหนึ่งไม่

คราวนี้ถึงการบริจาคภรรยาได้แล้ว
จากมหาเวสสันดรชาดก ท่านผู้อ่านเคยทราบไหมว่า พระเวสสันดรได้แสดงความเด็ดเดี่ยวเสียสละบริจาคนางมัทรีผู้มเหสีนั้นถึง 3 ครั้ง 3 หน

ครั้งที่หนึ่ง เมื่อทรงทราบว่า ไพร่ฟ้าเขาจะเนรเทศให้ไปอยู่เขาวงกต ก็เข้าไปอำลาสั่งเสียนางมัทรี ขอมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้มัทรี พี่มีกรรมถูกชาวเมืองเขาขับไล่ให้ไปอยู่ป่าอย่างไม่มีกำหนดเวลา ภัยอันตรายในป่าดงมากมาย คงจะตายมากกว่าจะได้กลับ แล้วก็ตรัสอย่างลูกผู้ชายซึ่งสูงด้วยมโนธรรมว่า เพื่อความสุขของมัทรี ถ้าจะมีเจ้าชายพระองค์ใดเขาปรารถนารักใคร่มัทรีจะรับไปเป็นอัครราชกัญญา พี่เต็มใจอนุญาต อย่าอาลัยถึงพี่เลย

บทเรียนนี้ช่วยพิสูจน์สุภาษิตที่ว่า “รักแท้ต้องเสียสละ” ได้ดีที่สุด ข้างนางมัทรีก็ยอดเสียสละ ขอร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย จะขอทำตนเป็นเกือกทองรองรับพระบาทพระเวสสันดรตลอดไป ไม่ว่าในวังหรือในดง ช่างเป็น “กิ่งทอง-ใบหยก” ที่คู่ควรกันอย่างยิ่ง น่าบูชา

คงจะเคยได้ยินใช่ไหมครับ นักโทษชายซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลาแรมปี เมียรักหอบข้าวของไปส่งถึงประตูเรือนจำ นาทีจะจากกัน ฝ่ายชายสำทับว่า “ระวังตัวให้ดีนะ ถ้ามีผัวใหม่ออกมาจะเจอดี-สองศพ” นี่คือรักที่เห็นแก่ตัวข้างเดียว ไม่มีน้ำยาจะเลี้ยงดูเขาแล้ว ยังหวงแหนอาฆาตมาดร้าย มีแต่ฆ่ากับฆ่าลูกเดียวเท่านั้น

บริจาคภรรยาคำรบสอง เมื่อดั้นด้นถึงเขาวงกตแล้วก็ทรงบรรพชา พระเวสสันดรตรัสสั่งนางมัทรีว่า เราบรรพชา-ผิดเวลา แล้วอย่าได้มาสู่พระอาศรม ต้องประพฤติพรตพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด พ้นจากความเป็นสามีภรรยากัน

ปฏิปทานี้ มหาตมคานธีได้ประกาศประพฤติพรหมจรรย์มิได้เกี่ยวข้องกับภรรยาของท่านตามแบบฉบับของพระเวสสันดร แล้วกอบกู้เอกราชให้อินเดียได้จนสำเร็จ คงจะเพราะชาวอินเดียมีศรัทธาในความเสียสละภรรยาของคานธีด้วย

และภริยาบริจาคข้อนี้แหละ ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้เสียสละพระนางพิมพา และพระราหุลผู้โอรสซึ่งประสูติในวันนั้น ออกบวชค้นคว้าหาโพธิญาณตั้งแต่พระชนมายุ 29 พรรษา และได้ประสบความสำเร็จเป็นพระศาสดาเอกของโลก เมื่อ 2575 ปีมาแล้ว

บริจาคภรรยาครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดก็เมื่อพระอินทร์มาทูลขอนางมัทรี ทั้งสองพระองค์ ทั้งผู้บริจาค และ ผู้ถูกบริจาค ต่างมีจิตใจแช่มชื่นตรงกันจะบำเพ็ญทานอันยอดเยี่ยมเพื่อพระโพธิญาณในอนาคตกาล

พระอินทร์รับแล้ว อนุโมทนาแล้วก็ถวายคืนขอมอบให้อยู่ปรนนิบัติพระเวสสันดรสืบไป โดยมีข้อแม้ห้ามมิให้ประทานมัทรีแก่ผู้ใดอีกเป็นอันขาด

ผลบริจาคทานด้วยจิตอันเป็นกุศลใสสะอาด ได้ผลเป็นความสุข ความร่มรื่นอย่างใด ท่านผู้อ่านก็ทราบแล้ว เป็นอานุภาพของบุญ เข้าตำราที่ว่า
ธัมโม หเว รักขะติ ธัมมะจาริ

พระธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
จะจบเรื่องการบริจาคภรรยาก็ต้องแถมด้วยตัวอย่างจริงที่ใกล้เคียงกันทิ้งท้ายไว้ด้วย เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า คุณธรรมข้อนี้ยังปฏิบัติได้ และได้รับยกย่องน่าสรรเสริญแม้ในปัจจุบันนี้

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ปาฐกถาในเรื่อง “คิงมงกุฏ” ไว้ตอนหนึ่งว่า
“จะอย่างไรก็ตาม ปรากฏเป็นหลักฐานว่า สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์แรกที่เลิกประเพณีและอาญาวังอันเก่าแก่ โดยทรงโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้นางในลาออกจากพระบรมมหาราชวังไปมีสามีข้างนอกได้...”

แต่เมื่อนางใน 12 คน กราบถวายบังคมลาออกเข้าจริงๆ ดูเหมือนว่ารัชกาลที่ 4 จะไม่สู้ทรงพอพระทัยนัก และใบสุทธิที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานออกให้แก่ท่านสุภาพสตรี 12 คน ที่ลาออกนั้น ก็ดูไม่ค่อยจะสดใสเหมือนดังที่เจ้าตัวทั้ง 12 คนพึงปรารถนาจะรับไว้เป็นมิ่งขวัญ ซึ่งที่จริงก็แสดงว่า “พระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่พระอรหันต์”

จากภริยาบริจาคของคิงมงกุฏผู้เป็นนักปราชญ์ทางศาสนา ทรงผนวชถึง 27 พรรษา เลื่อมใสในปฏิปทาของพระเวสสันดร เป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์แรกที่ทรงบริจาคภรรยา จำเริญรอยตามด้วยศรัทธา
ให้บทเรียนแก่เราว่า ฝีมือคนละชั้นกับพระเวสสันดรคือ เมื่อนางในถึง 12 คน เดินขบวนจากไป ก็เกิดความไม่พอพระทัยอาลัย-อาวรณ์ ทั้งๆที่ตัดใจให้ไว้ก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถจะรักษาน้ำพระทัยให้ผ่องใสในการบริจาคทานได้ ดังพระเวสสันดร-ผู้พระโพธิสัตว์

โปรดอย่านึกว่าการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ใครๆก็ทำได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าจะไปถือสาหาความกับคนบางคนที่อยู่ในระดับ “อนุบาล” ที่ตำหนิพระเวสสันดรว่า “ใจดำ-ไม่ใช่ผู้ไม่ใช่คน” เลย

 

ข้อมูลสื่อ

99-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 99
กรกฎาคม 2530
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน