ปอดอักเสบ
ปอดอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเนื้อปอดซึ่งประกอบด้วยถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบถุงลมปอดมีหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศเมื่อมีการอักเสบ (บวมและมีหนองขัง) ก็ทำให้เกิดอาการหายใจหอบ หายใจลำบากจัดว่าเป็นภาวะร้ายแรงและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันหนึ่งของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำอย่างไรก็ตาม โรคนี้ถ้าตรวจพบในระยะแรกเริ่ม ก็มีทางเยียวยาให้หายได้
⇒ ชื่อภาษาไทย ⇒ ปอดอักเสบ, ปอดบวม, นิวโมเนีย
⇒ ชื่อภาษาอังกฤษ ⇒ Pneumonia, Pneumonitis
⇒ สาเหตุ ⇒
1.ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น
o เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อนิวโมค็อกคัส (pneumococcus) ที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรง ได้แก่ เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส (staphylococus) เชื้อเคล็บซิลลา (klebsiella)
o เชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส เชื้อไวรัสซาร์ส (SARS virus หรือ coronavirus)
ซึ่งมีการระบาดใหญ่เมื่อต้นปี 2546 เชื้อไข้หวัดนก (หรือไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก) ซึ่งพบในบ้านเราในปีนี้ (2547)
o อื่นๆ เช่น เชื้อนิวโมซิสติสคาริไน (Pneumo-cystis carinii) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบใน
ผู้ป่วยเอดส์ เชื้อไมโคพลาสมา เชื้อรา เป็นต้น
การติดเชื้อปอดอักเสบ มักพบในคนที่มีภูมิต้านโรคต่ำ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแฝด เด็กขาดอาหาร ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคทางปอดเรื้อรัง (เช่น หืด ถุงลมปอดโป่งพอง) ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่กินยาสตีรอยด์ นานๆ เป็นต้น
บางครั้งอาจพบเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน เป็นต้นผู้ที่ฉีดยาด้วยเข็มไม่สะอาด หรือพวกที่ฉีด ยาเสพติดด้วยตนเองก็มีโอกาสติดเชื้อกลายเป็นโรคปอดอักเสบร้ายแรงจากเชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส
การติดเชื้อ อาจติดต่อได้ทางใดทางหนึ่ง ดังนี้
(1)ทางเดินหายใจ โดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน
(2)โดยการสำลักเอาเศษอาหารเข้าไปในปอด
(3)แพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา หรือให้น้ำเกลือที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
ทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด เชื้อโรคแพร่จากอวัยวะส่วนอื่นที่มีการติดเชื้อเข้าไปตามกระแสเลือด เป็นต้น
2.เกิดจากสารเคมีที่พบบ่อยได้แก่ น้ำมันก๊าดที่ผู้ป่วย(โดยเฉพาะเด็ก) นำมาอมเล่นแล้วเกิดสำลักเข้าไปในปอดจนกลายเป็นปอดอักเสบ
⇒ อาการ ⇒
มักเกิดขึ้นฉับพลันด้วยอาการไข้สูง บางคนอาจมีอาการตัวร้อนตลอดเวลา หรือหนาวสั่นมาก
ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ต่อมาไอมีเสมหะขุ่นข้นออกเป็นสีเหลือง สีเขียว สีสนิมเหล็ก หรือมีเลือดปนบาง
คนอาจมีอาการเจ็บแปลบในหน้าอกเวลาหายใจเข้า หรือไอแรงๆ บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้องต่อมาจะมีอาการหายใจหอบเร็ว
บางคนอาจเป็นไข้หวัดนำมาก่อนแล้วจึงมีอาการไอ และหายใจหอบตามมา
ในเด็กเล็กที่เป็นปอดอักเสบ จะมีอาการหายใจหอบเร็วเกินเกณฑ์ตามอายุ ดังนี้
อายุ 0-2 เดือน หายใจเกินนาทีละ 60 ครั้ง
อายุ 2 เดือน - 1 ขวบ หายใจเกินนาทีละ 50 ครั้ง
อายุ 1-5 ขวบ หายใจเกินนาทีละ 40 ครั้ง
⇒การแยกโรค ⇒
ในระยะแรกที่มีอาการไข้ร่วมกับไอ อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
1.ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ มีน้ำมูกใส โดยที่ไม่มีอาการหายใจหอบ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะมีไข้อยู่นานประมาณ 2-4 วัน ก็ทุเลาไปได้เอง
2.หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมีเสมหะ อาจเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีเขียว โดยไม่มีอาการหายใจหอบ
3.วัณโรคปอด ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ ไอมีเสมหะ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางคนอาจไอมีเลือดปน
อาการมักจะเป็นเรื้อรังเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือน
ในระยะที่มีอาการหายใจหอบ อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
1.คอตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอมีเสียงแหบห้าว หายใจหอบ คอบุ๋ม กระสับกระส่าย
2.ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยจะมีไข้แน่นหน้าอก หายใจหอบ อาจมีอาการเจ็บแปลบในหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอแรงๆ
3. มะเร็งปอด หรือวัณโรคปอดระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอเรื้อรังนำมาก่อน
แล้วต่อมาจะมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจหอบตามมา ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย
4. โรคหืดจากหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบ หายใจมีเสียงวี้ดๆ (แบบโรคหืด)
⇒ การวินิจฉัย ⇒
ในรายที่สงสัยเป็นปอดอักเสบ แพทย์จะใช้เครื่องตรวจฟังเสียงปอด ซึ่งจะพบว่ามีเสียงดังกรอบแกรบ
หรือเสียงหายใจค่อยกว่าปกติ และอาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น
⇒การดูแลตนเอง ⇒
เมื่อแรกเริ่มมีไข้ไอให้ยาลดไข้ - พาราเซตามอล เช็ดตัว ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ แล้วเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
ถ้าเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการไข้มักจะทุเลาได้ภายใน 4 วันควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
1. ไอมีเสมหะเป็นสีเหลือง สีเขียว สีสนิมเหล็ก หรือมีเลือดปน
2. มีอาการเจ็บแปลบในหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอแรงๆ
3. หายใจหอบ หายใจลำบาก
4. มีไข้นานเกิน 4 วัน
5. น้ำหนักลด
ถ้าตรวจพบว่าเป็นปอดอักเสบ ควรกินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง
⇒การรักษา ⇒
ในรายที่แพทย์ตรวจพบว่าเป็นปอดอักเสบระยะแรกเริ่ม แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล อีริโทรไมซิน เป็นต้น ให้กลับไปกินที่บ้าน แล้วนัดมาตรวจดูอาการเป็นระยะแต่
ถ้ามีอาการหอบมาก ตัวเขียว แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดควบกับชนิดกิน และอาจต้องให้ออกซิเจนช่วยการหายใจโดยทั่วไป หลังให้ยาปฏิชีวนะ 2-3 วัน อาการมักจะทุเลา มักจะต้องให้ยาต่อนาน 1-2 สัปดาห์
แต่ถ้าให้ยาแล้วไม่ทุเลาอาจต้องตรวจหาสาเหตุอื่น เช่น วัณโรคปอด มะเร็งปอด ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด
⇒ ภาวะแทรกซ้อน ⇒
อาจทำให้เป็นฝีในปอด ภาวะมีหนองในโพรง เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
บางคนอาจมีการแพร่ของเชื้อเข้ากระแสเลือด กลายเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ข้ออักเสบเฉียบพลัน หรือเลือดเป็นพิษ
ที่ร้ายแรงคือ ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้ตายได้รวดเร็วมักจะพบในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
⇒ การดำเนินโรค ⇒
เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่มักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
แต่ถ้ามีภาวะติดเชื้อร้ายแรง (เช่น เชื้อซาร์ส เชื้อรา เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส)หรือพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำก็อาจดื้อต่อการรักษาเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงตายได้ภายในเวลาไม่นาน
⇒ การป้องกัน ⇒
1.เมื่อเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส ควรดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆ
2.ป้องกันไม่ให้เป็นโรคทางปอดเรื้อรัง (เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง) ด้วยการไม่สูบบุหรี่
3.อย่าฉีดยาด้วยเข็มและกระบอกฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ
4.อย่าอมน้ำมันก๊าดเล่น ควรเก็บน้ำมันก๊าดให้มิดชิด อย่าให้เด็กฉวยไปอมเล่น
- อ่าน 47,935 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้