• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษามะเร็งเต้านมแบบใหม่

ถ้ารีบรักษามะเร็งเต้านมตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกก็ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้งอีกต่อไปแล้ว

โรคมะเร็งที่เต้านมของสตรีมีมานานแล้ว และได้ทำลายชีวิตหญิงวัยเจริญพันธุ์ไปทั่วโลกนับหมื่นรายในแต่ละปี

การรักษาที่ใช้กันมานานจนเรียกว่าเป็นมาตรฐานก็คือ การผ่าตัดที่เรียกชื่อตามขนาด คือ Radical mastectomy ซึ่งเป็นศัลยกรรมที่มีขนาดกว้างและไกล หมายถึงการผ่าตัดเต้านมซีกนั้นออกไปหมด รวมทั้งกล้ามเนื้อใต้นมและต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบๆไปจนถึงรักแร้ซีกนั้นด้วย

แพทย์ใช้ระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันผ่าตัด ถ้าไม่มีอาการของมะเร็งไปปรากฏที่ไหนๆอีกก็แปลว่า ได้ผลไประยะหนึ่ง แล้วก็เฝ้าดูระยะ 5 ปีที่สองต่อไป แต่ในรายที่เริ่มเป็นในระยะแรกๆพบเป็นก้อน (Lump) เล็กๆอยู่ ศัลยแพทย์อาจใช้วิธีที่เบาบ่างหน่อย เรียกว่า Simple mastectomy ก็ได้

นอกจากนั้นยังมีการรักษาอีก 2 วิธีที่เรียกว่า Radio-Therapy หรือการฉายรังสีบริเวณที่ผ่าตัดวิธีหนึ่ง อีกวิธีหนึ่ง เรียกว่า Chemo-therapy หรือพูดง่ายๆว่า เป็นการให้ยา (ส่วนมากทางหลอดเลือด) นั่นเอง เพราะยาต่างๆก็มิใช่อะไร ส่วนมากเป็นเคมีวัตถุทั้งสิ้น

ในระยะ 10 ปีมานี้ การรักษาได้เปลี่ยนแปลงไปในทางรุนแรงน้อยลง คือ มีความพยายามที่จะตัดเอาแค่เพียงก้อนมะเร็งที่พบแรกๆนั้นออกรักษาเต้านมทั้งหมดเอาไว้ เรียกชื่อกันเสียว่า เป็นศัลยกรรมแบบ Lumpectomy ซึ่งทำความตื่นเต้นให้แก่วงการคนไข้มาก เพราะในสตรีตะวันตกนั้นเป็นมะเร็งเต้านมกันถึง 1 ใน 14 และมะเร็งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอย่างหนึ่งในสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป

ผู้ที่เป็นศัลยแพทย์ผู้ทำการรักษาแบบใหม่คือ ศาสตราจารย์เบลเล็ต (Baillet) และศาสตราจารย์เมย์ลิน (Maylin) ได้พยายามใช้การผ่าตัดเอาแต่เพียงก้อนมะเร็ง (ในระยะแรกๆ) ออกเท่านั้น ติดตามด้วยการฉายรังสีชนิดที่เรียกว่า เจาะลึกและเที่ยงตรง ได้ทำในคนไข้ 840 ราย ที่มีมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก จนถึงระยะขนาดไม่โตเกิน 2 นิ้ว

รังสีแพทย์จะเข้าไปอยู่ที่โต๊ะผ่าตัดด้วย เขาจะใช้หลอดพลาสติก 3-5 หลอดใส่ลงไปในหลุมที่เอาก้อนมะเร็งไป แล้วใช้ไอริเดียม 192 (IRIDIUM 192) สอดเข้าไปในหลอดพลาสติกนั้น ใน 24 หรือ 48 ชั่วโมงต่อมาจะมีการฉายรังสีอย่างแรงไปในบริเวณนั้น เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ ต่อมาหลอดพลาสติกจะถูกเอาออก จะเหลือแต่ปากแผลทางเข้าซึ่งต่อมาจะหายแล้วแทบจะมองไม่เห็นเลย ต่อมาอาจมีการใช้การฉายรังสีด้วยโคบอลต์หรือให้เคมีบำบัด โดยที่เต้านมจะปรากฏอยู่เหมือนเดิม

การใช้เคมีบำบัดก็ได้เจริญไปมาก โดยใช้ยาตัวใหม่ชื่อ “adriamycin” ที่มีอาการข้างเคียงน้อยลง ทำให้ขนาดของมะเร็งลดจาก 5 นิ้วลงมาเป็น 4 นิ้วภายใน 2 เดือน และในที่สุดจากการใช้การฉายรังสีด้วยโคบอลต์และไอริเดียม 192 ก้อนเนื้องอกนั้นได้หายไปเลย แต่เพื่อเป็นการป้องกันการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังส่วนอื่น จึงต้องให้เคมีบำบัดต่อไปอีก 18 เดือน และทุกวันนี้คนไข้ก็ยังมีชีวิตอยู่ อาการข้างเคียงต่างๆก็ค่อยๆหายไป และเต้านมนั้นก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

แต่วงการแพทย์อเมริกันยังคงสงวนท่าที ไม่ค่อยจะยอมรับการรักษาแบบใหม่นี้ง่ายๆ วารสารแพทย์นิวอิงแลนด์ เมื่อปี 1985 ตีพิมพ์ข้อความว่า การรักษาแบบใหม่นี้จะเหมาะสำหรับในระยะเริ่มแรกจริงๆเท่านั้น และในสหรัฐอเมริกา สตรี 80-85 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องทำการผ่าตัดเอาเต้านมออก (mastectomy) แต่ในยุโรปตัวเลขลดลงมาถึง 50เปอร์เซ็นต์

ศาสตราจารย์เบลเล็ต ได้กล่าวแนะนำไว้ว่า คนไข้เป็นเจ้าของร่างกายของเขาเอง เราควรจะอธิบายให้เขาเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี ส่วนเขาจะเลือกวิธีไหนนั้นเป็นสิทธิของเขาโดยแท้จริง
(จากรีดเดอร์ ไดเจสต์ มกราคม 2530)

สำหรับประเทศไทยของเรานั้นเรื่องไม่ตรงไปตรงมาอย่างนั้น บังเอิญผมมีอดีตคนไข้ 2 ราย เป็นหญิงอยู่ในวัยระหว่าง 35-45 ปี รายหนึ่งเป็นมะเร็งที่เต้านม ไปรับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล แต่คงจะสายไป จึงเกิดเป็นแผลที่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งทำอย่างไรก็ไม่ยอมหายสักที เพื่อนบ้านผู้หวังดีจึงแนะนำให้พอกด้วยสมุนไพร ซึ่งเป็นใบไม้ชนิดหนึ่ง ปรากฏว่าคนไข้กลับได้รับเชื้อบาดทะยัก ทำให้แกเสียชีวิตไปในเวลาไม่นาน

อีกรายหนึ่งอายุใกล้เคียงกัน รู้สึกตัวเองมีก้อนที่เต้านม ความที่กลัวจะเป็นมะเร็งจึงพยายามปิดบังคนใกล้ชิด จนโรคลุกลามไปมาก ส่งกลิ่นเห็นไปหมดจึงยอมรับการรักษาแผนปัจจุบัน แต่ก็เป็นการสายมากเกินไปแล้ว

บังเอิญผมได้ฟังข่าวทางวิทยุว่านายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวว่า ความเครียดก็เป็นต้นเหตุของมะเร็งได้ เพราะโดยปกติคนเราจะกินอาหาร และใช้สิ่งแวดล้อมที่มีสารอันจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งได้ ทุกวันๆละเล็กละน้อย เมื่อได้ปริมาณพอเหมาะและจิตใจของผู้นั้นอยู่ในสภาพเครียดอยู่เสมอ ความเครียดนี้เองจะกลายเป็นตัวแปรไปทำให้เกิดมะเร็งได้ ท่านกล่าวว่าการนั่งสมาธิเป็นวิธีหนึ่งในหลายๆวิธีที่จะช่วยละลายความเครียดได้
 

 

ข้อมูลสื่อ

100-004-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
พ.ต.นพ.สุพจน์ ขวัญมิตร