ยาจำนวนมากที่ถูกถอนออกจากตลาดหรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในประเทศซีกโลกตะวันตก ยังมีขายในตลาดประเทศกำลังพัฒนา...อย่างเสรี
ปีหนึ่งๆมูลค่าการส่งยาของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศอุตสาหกรรมเข้าไปขายในประเทศโลกที่สาม มีมากถึงกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยาพวกนี้วางขายอย่างแพร่หลายโดยผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องยา เนื่องจากขาดแคลนการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและแพทย์มีจำนวนไม่เพียงพอต่อประชาชน
ดร.จอห์น ดูนน์ (John Dunne) หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความเห็นว่าประชาชนในประเทศโลกที่ 3 เมื่อเกิดเจ็บป่วยมักซื้อยากินเอง โดยขาดวามรู้และเท่าทัน ดังนั้นจึงทำให้ประเทศเหล่านี้ตกเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อระบายสินค้าได้ง่าย
ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ส่วนใหญ่ขาดระบบการควบคุมการขายยาที่รัดกุม ตลอดจนขาดหน่วยงานในการติดตามฤทธิ์อันไม่พึงประสงค์จากยา ทำให้มียาจำนวนมากที่ถูกถอนออกจากตลาดหรือถูกจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในประเทศซีกโลกตะวันตก แต่ยังมีขายในตลาดประเทศกำลังพัฒนาอย่างเสรี ในขณะที่ยาบางตัวมีประโยชน์ เช่น ยาปฏิชีวนะ ก็มักจะถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ ทำให้เกิดผลเสีย
พฤติกรรมด้านการตลาดของบริษัทผู้ผลิตยาฯได้ถูกเปิดโปง จากการรณรงค์ระดับนานาชาติ โดยกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคและกลุ่มด้านสาธารณสุขต่างๆ จึงมีผลให้บริษัทยาต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อรักษาภาพพจน์ที่เสียหายในพฤติกรรมที่ผ่านมาให้ดีขึ้น
ในปี 2524 สหพันธ์สมาคมผู้ผลิตยานานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อปกป้องและเป็นปากเสียงให้กับผู้ผลิตยาเป็นส่วนใหญ่ ได้ตั้งกฎบัตรที่มีจุดหมายจะควบคุมพฤติกรรมด้านการตลาดกันเอง อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีผู้ละเมิดกฎบัตรอยู่ ปัญหานี้บริษัทยาได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากบริษัทยาสาขาขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และผู้นำด้านอุตสาหกรรมยามีการแข่งขันด้านการตลาดกันมากเกินไป จะละเลยกฎเกณฑ์ต่างๆ
แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะมีการควบคุมยา โดยจัดโครงการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาในวงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคประเทศต่างๆ และส่งจดหมายเหตุข้อมูลยา (Drug Information Bulletin) ให้แก่ประเทศสมาชิก 166 ประเทศ ทุกๆ 3 เดือน แต่ก็มักถูกละลเยถ้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศนั้นขาดความสนใจในข่าวสารดังกล่าว
ขณะเดียวกันประชาคมยุโรปก็มีกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตให้มีมาตรฐานสูง และเข้มงวดก่อนออกสู่ตลาดในประเทศแม่ของบริษัท แต่ถึงแม้จะมีกฎหมาย ยาอันตรายยังส่งออกได้ถ้าได้รับการร้องขอจากประเทศต่างๆ ดังนั้นยาที่ถอนออกจากตลาดในประเทศพัฒนาแล้ว รัฐบาลของประเทศโลกที่สามต้องเป็นผู้รับภาระในการควบคุมยานั้นเอง (จากคำกล่าวของแมรี่ บานอตตี้ : ส.ส.ยุโรป ชาวไอริช และผู้เขียนรายงานเรื่องการขายยาของประชาคมยุโรปไปยังประเทศโลกที่สาม เพื่อนำเสนอรัฐสภายุโรป)
ต่อกรณีดังกล่าว จะไม่มีทางคลี่คลายไปได้ หากประเทศกำลังพัฒนาไม่สร้างมาตรการการควบคุมที่เข้มแข็งเอง ศาสตราจารย์ เดวิด มอร์เลย์ (นักโภชนาการโลกที่สามและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็กเขตร้อนแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน) ได้ให้ความเห็นสนับสนุนเรื่องนี้ว่า
“รัฐบาลประเทศที่ไม่มีมาตรการบังคับกฎหมาย ก็ต้องออกกฎหมายมาบังคับ สำหรับประเทศที่มีกฎหมายแล้วก็ต้องมีมาตรการที่เข้มแข็งให้ได้ผลในทางปฏิบัติ”
(Reader’s Digest ปีที่ 23 February 1987 โดย Paul Martin เรื่อง “Third World Medication : Prescription for Diaster”)
- อ่าน 2,223 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้