• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อัมพฤกษ์ อัมพาตกับการรักษาแบบแพทย์แผนจีน

 อัมพฤกษ์ อัมพาตกับการรักษาแบบแพทย์แผนจีน 


เวลาเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยบางรายจะถูกส่งเข้าโรงพยาบาล มีการตรวจเช็กร่างกาย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หาความผิดปกติ หาสาเหตุ หาตำแหน่งของการเกิดโรค ถ้าเป็น ไม่มาก บ้างก็จะหาหมอนวด หมอยาจีน หมอบ้าน ทำการจับเส้น นวด หรือกินยาหม้อ ฝังเข็ม โดยไม่ยอมไปหาหมอที่โรงพยาบาล บางรายภายหลังฟื้นจากหมดสติ มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ร่างกายครึ่งซีกอ่อนแรง หรือแข็งเกร็ง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด นอกจากจะไปทำกายภาพบำบัดแล้ว ยังไปหาหมอฝังเข็ม หมอนวด หมอยาจีน หมอบ้านร่วมรักษาไปด้วยกัน

ตำราแพทย์จีนโบราณกล่าวถึงโรคที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เกิดเร็ว มีอาการหลายรูปแบบ ชักกระตุก หมดสติ มีสาเหตุจากลม การที่ผู้ป่วยหลังตื่นนอนพบว่ามีอาการปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท หน้าเบี้ยว หรือยกแขนขาซีกหนึ่งไม่ขึ้น หรือบางรายขณะประชุมเครียดหมดสติไปทันที เป็นอาการที่เกิดอย่างเฉียบพลัน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงเรียกว่า กระทบลม (ซึ่งอาจเกิดจากลมภายในหรือลมภายนอกก็ได้) แพทย์จีนเรียกว่า จ้งเฟิง


อาการกระทบลม หรือจ้งเฟิง  หมายถึงอะไร
ทางการแพทย์แผนปัจจุบันมีความหมายถึงภาวะโรคหลอดเลือดทางสมองที่มีการแตก ตีบหรือตันของหลอดเลือด หรือจากสาเหตุของเนื้องอก การอักเสบของหลอดเลือดแดงในสมอง แล้วทำให้เกิดอาการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว มีอัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีกตัว การชาไปครึ่งซีก การพูดจาไม่คล่อง ถ้าเป็นไม่มาก ความรู้สึกตัวยังปกติ มีอาการเพียงอัมพฤกษ์ครึ่งซีก หรือแค่อาการหน้าเบี้ยวปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท มุมปากตกเท่านั้น


สาเหตุของการเกิดภาวะจ้งเฟิง คืออะไร
1. พื้นฐานความเสียสมดุลของร่างกายพลังและเลือดพร่อง ทำให้การไหลเวียนเลือดที่ มาปกป้องผิวลดลง รูขุมขนปิดไม่สนิท เมื่อโดนกระทบ จากลมภายนอก ทำให้เส้นลมปราณแขนงที่มาเลี้ยงผิวหนังและกล้ามเนื้อถูกอุดตัน ยิ่งถ้าเป็นคนที่พื้นฐาน มีการสะสมของเสมหะของเสียตกค้าง ลมจะทำให้เสมหะอุดกั้นได้มากขึ้น ถ้าปิดกั้นส่วนเส้นลมปราณแขนงทำให้เกิดโรคระดับต้น ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว มีอาการ ปาก ตา หรือใบหน้าเบี้ยว หรืออัมพฤกษ์ครึ่งซีก
2. พื้นฐานยิน-หยางของร่างกายเสียสมดุลโดยทั่วไปมักเกิดจากภาวะหยางแกร่ง ยินพร่อง ทำให้พลังหยางลอยสู่เบื้องบน ภาวะความเครียดทางอารมณ์ โดยเฉพาะความโกรธ พักผ่อนไม่พอ นอนหลับ ไม่สนิท การดื่มเหล้านานๆ เกิดความร้อนในร่างกาย รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน จะมีผลทำให้เลือดและพลังเคลื่อนไหวสู่ส่วนบนมากขึ้น เรียกว่าเกิดลมภายในเคลื่อนไหวแปรปรวนรุนแรง
3. การดื่ม การกินอาหารไม่ถูกหลักสมดุลทำให้ม้ามทำงานไม่ดี การย่อยอาหารการดูดซึม สารอาหารผิดปกติ เกิดการตกค้างของความชื้นและเสมหะของเสียการตกค้างนานๆ จะเกิดเป็นไฟ (ความร้อน) ทำให้เกิดการอุดกั้นเส้นลมปราณ หรือปิดกั้นทวารได้ง่าย
4. อารมณ์ ความแปรปรวนของจิตอารมณ์อารมณ์คั่งค้าง อุดกั้นนานๆ ทำให้กลไกพลังติดขัด เลือดและพลังไม่ไหลเวียน หรือเกิดไฟภายในร่างกาย ไฟทำให้เกิดลมภายในแปรปรวน และขึ้นสู่ข้างบน

สรุป พื้นฐานของร่างกายที่เสียสมดุลจากพลังพร่อง ม้ามพร่อง ยินพร่อง หรือมีพลังอุดกั้น เสมหะของเสียตกค้าง เลือดติดขัดไม่ไหลเวียน มีไฟในร่างกาย ทำให้ลมภายในแปรปรวน หรืออาจมีการกระทบจากลมภายนอกด้วย ทำให้เกิดภาวะจ้งเฟิง 


การกระทบลมทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้อย่างไร ความรุนแรงของการเกิดโรคแบ่งได้อย่างไร
ปกติลมจริงๆ ในสภาพของอากาศรอบตัวเราในฤดูกาลต่างๆ ก็สามารถทำให้คนเราเกิดโรคหวัดได้บ่อยๆ เช่น กระทบกับลมร้อน หรือลมหนาว ลมจะทำให้รูขุมขนเปิด ความร้อนความเย็นจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย ในส่วนของเส้นลมปราณแขนงทั่วร่างกาย เป็นมากขึ้นจะบุกรุกเข้าสู่ระดับกล้ามเนื้อ ถ้าร่างกายยังอ่อนแอ อาจบุกไปถึงระดับเลือดได้
แต่การกระทบลมแบบนี้ เรียกว่า ลมภายนอก หรือลมจริง ความรุนแรงไม่มาก
1. ถ้ามีอาการชาของผิวหนังและกล้ามเนื้อปาก ลิ้นเบี้ยวเฉ อัมพฤกษ์ที่หน้าอย่างเดียว ถือว่าลมกระทบ ระดับลั่ว หรือเส้นลมปราณแขนง
2. ถ้ามีอาการชาครึ่งซีก แขนขาครึ่งซีกอ่อนแรง ปากเบี้ยว ใบหน้าเบี้ยว พูดจาไม่ชัด แสดงว่า ลมกระทบระดับจิง หรือเส้นลมปราณหลักซึ่งมักเกิดจากลมภายใน หรือได้รับการกระทบจากลมภายนอกร่วมด้วย
3. ถ้ามีอาการเหมือนข้อ 2 แต่รุนแรงกว่า คือ ผู้ป่วยมีภาวะการรู้สึกตัวน้อยลง เช่น เบลอ เพ้อ หรือหมดสติ แสดงว่าลมกระทบอวัยวะภายใน 


หลักการรักษาของแพทย์จีนเป็นอย่างไร ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
1. ระดับลมกระทบอวัยวะภายในจั้งฝู่ 
ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกตัวลดลง กระทั่งหมดสติ ต้องทำการเปิดทวาร  เพื่อให้ฟื้นสติก่อนซึ่งมีรายละเอียดในแต่ละราย อาจจะใช้การฝังเข็ม รมยา หรือใช้ยาสมุนไพรจีน
2. ระดับจิงลั่ว (เส้นลมปราณ-เส้นลมปราณแขนง)
(ผู้ป่วยที่กระทบอวัยวะภายใน เมื่อฟื้นคืนสติดีแล้ว ก็จะเข้าสู่ระยะนี้ โรคจากภายในกลับสู่ภายนอก) มักมีปัญหาดังนี้
o พื้นฐานร่างกาย : บางคนจะมีภาวะเลือดพลังพร่อง บางคนจะมีเรื่องของหยางแกร่ง ยินพร่อง
o อัมพฤกษ์ อัมพาต ครึ่งซีก-แขนขาครึ่งซีกอ่อนแรง แข็งเกร็ง
o ปัญหาการพูด
o ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว
o ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
การรักษาต้องรักษาอาการที่เป็นควบคู่กับการปรับสมดุลพื้นฐานในกรณีฉุกเฉิน เช่น กระทบอวัยวะภายใน ต้องมุ่งแก้อาการให้ฟื้นสติก่อน จากนั้นจึงปรับพื้นฐานร่างกายร่วมกับรักษาอาการ

การฝังเข็มและใช้สมุนไพรจีน ร่วมกับการนวด การประคบที่เหมาะสม จะทำให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยเร็วขึ้น และกลับเข้าสู่ภาวะใกล้ปกติได้มากกว่า การรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือการใช้ยาอย่างเดียว


ตัวอย่างตำรับยาสมุนไพรในการรักษาภาวะจ้งเฟิง ได้แก่
1. อาน กง หนิว หวาง หวาน
ใช้เปิดทวารและขับเสมหะร้อนที่อุดกั้นในเยื่อหุ้มหัวใจ (บริเวณสมอง)ใช้ในผู้ป่วยที่หมดสติ ความรู้สึกตัวน้อย เนื่องจากลมภายในกระทบจั้งฝู่ และมีความร้อนเสมหะปิดกั้นทวาร
2. ปู่ หยาง หวน หวู่ ทัง 
ยาที่เพิ่มพลังและเลือดเพื่อเสริมร่างกาย และสลายการอุดกั้นในเส้นลมปราณ
3. เจิ้น กาน ซิ เฟิง ทัง 
ช่วยกดพลังหยางที่ขึ้นสู่เบื้องบน มีการบำรุงยินร่วมด้วย ใช้แก้พื้นฐานหยางแกร่ง ยินพร่องของร่างกาย ในทางปฏิบัติมักต้องปรับลดตัวยาและปริมาณยา เพื่อให้สอดคล้องกับผู้ป่วยและภาวะของโรคในแต่ละระยะ


คนที่เคยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แล้วหายมีโอกาส เป็นได้อีกหรือไม่ มีวิธีป้องกันได้อย่างไร
คนที่เคยเป็นแล้วหายปกติ (มักอาการไม่รุนแรงกระทบระดับเส้นลมปราณ) โอกาสเป็นยังมีอีกและเป็นครั้งต่อไปมักรุนแรงกว่าเดิม บางคนเป็นซีกขวามาก่อน ถ้าไม่ควบคุมปัจจัยเสี่ยงยังมีโอกาสเป็นซีกซ้ายอีกก็ได้ แม้ว่าจะพบได้น้อย

การป้องกัน
1. แผนปัจจุบันแนะนำ ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันเลือดสูง ไขมันสูง เบาหวาน ความเครียด เป็นต้น แผนจีนคล้ายกัน ควบคุมภาวะหยางแกร่ง (เทียบเคียงภาวะความดันเลือดสูง) ควบคุมความชื้นเสมหะตกค้าง (เทียบเคียงภาวะไขมันอุดกั้นในหลอดเลือด) และควบคุมอารมณ์
2. ที่สำคัญคนที่เลือดและพลังพร่อง ยังต้องเสริมพลังพื้นฐานของร่างกาย เช่น คนที่เหนื่อยง่าย เหงื่อออกง่าย โดยเฉพาะถ้าเคลื่อนไหวแล้วเหนื่อยง่าย คนที่ขี้หนาว เป็นหวัดง่าย เมื่อกระทบความเย็น
3. หลีกเลี่ยงการกระทบอากาศเย็น และลมจาก ภายนอก เช่น การเป่าพัดลม เป่าแอร์ขณะนอนหลับ ทำให้บริเวณใบหน้าหรือร่างกายได้รับการกระทบจากลมนานๆ หรือมากเกินไป
4. อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ของมันของทอด งดบุหรี่ และเหล้า ควรกินอาหารที่มีความสด เช่น ผักผลไม้สด ที่ไม่เหนอะหนะ
o ควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ ฝึกจิต ฝึกสมาธิ
o หมั่นออกกำลังกาย ให้เลือดและพลังไหลเวียนได้ดี
o ถ้าพลังเลือดลมไม่ดี อาจต้องใช้สมุนไพรปรับสมดุลร่วมด้วย


มีสัญญาณอะไรสำหรับเตือนภัยในคนปกติว่าจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ทางแผนปัจจุบันควบคุมความเสี่ยงเป็นหลัก จะมีสัญญาณบ่งบอกว่าเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ก็เมื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงไม่ดี หรือมีแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรง พูดไม่ชัด ลิ้นเฉ น้ำลายไหล ขณะนอนตาปิดไม่สนิท ความรู้สึกตัวตอบสนองช้าลง

ทางแผนจีนให้ความสำคัญของสัญญาณการเกิดจ้งเฟิงหลายอย่างนอกจากแผนปัจจุบัน (ซึ่งมักมีอาการชัดเจนแล้ว) เช่น อาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะเป็นพักๆ มีเสียงลมในหูเป็นพักๆ ความจำเสื่อมเฉียบพลันในคนที่มีความจำดีมาก่อน มือสั่นเป็นเวลานาน มือชา ตากระตุก กล้ามเนื้อเกร็ง ทั้งหมดที่กล่าวล้วนมีสาเหตุที่ไม่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเป็นพักๆ

สรุปแล้ว ถ้ามีภาวะเสียสมดุลจนเกิดภาวะที่แสดงออกของสมดุล 2 ซีก (ซ้าย ขวา) สมดุล 2 ส่วน (ส่วนบนกับส่วนล่าง) ของร่างกาย เช่น แขน ขา ศีรษะข้างหนึ่งมีปัญหา ศีรษะร้อนแต่เท้าเย็น คงต้อง รีบแก้ไข เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกอนาคตว่าอาจจะได้นั่งกินนอนกินที่ทุกคนไม่ต้องการก็ได้

ข้อมูลสื่อ

306-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 306
ตุลาคม 2547
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล