• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เอดส์ โรคแห่งความรัก

ในระยะเวลา 6 ปีเต็มที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2524 ยังไม่มีข่าวเรื่องใดที่ได้รับความสนใจต่อเนื่องครึกโครมทั่วโลกเท่าโรคเอดส์

เมื่อแรกพบผู้ป่วย ปัญหาที่แพทย์พยายามแสวงหาคำตอบก็คือ
โรคใหม่โรคนี้เกิดจากอะไร?
ติดต่อทางใด ทำไมถึงเป็นกับหนุ่มสำอางชาวเกย์
แล้วเราจะหาวิธีป้องกันโรคได้อย่างไร?

หลายคนบอกว่า เอดส์คือโรคห่ากาลี หรือกาฬโรคดำในศตวรรษที่ 20
หลายคนบอกว่า พระเจ้าส่งโรคนี้มาลงโทษชายวิปริตที่สมสู่ในหมู่ชาย

ในคัมภีร์มีจารึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งเกิดโรคร้ายรุนแรง เนื่องจากมีชายหนุ่มพเนจรพลัดเข้ามาสมาคมในกลุ่มชน ชักนำให้เกิดวิปริตทางเพศ ผลจากพฤติกรรมผิดธรรมชาติทำให้เกิดโรคระบาดรุนแรงจนชนกลุ่มนั้นสูญสิ้นไป

คำกล่าวเหล่านี้จริงเท็จเพียงใด
ทำไมโทษทัณฑ์ของการเป็นเกย์จึงรุนแรงเช่นนี้!

จำนวนคนไข้เพิ่มมากขึ้นทุกทีจนน่าตกใจ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา โรคไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะชาวเกย์ แต่พบในคนไข้ที่ฉีดเฮโรอีนเข้าเส้นเลือด คนไข้ฮีโมฟีเลีย และพบในชาวเกาะไฮติที่อพยพเข้ามา

สหรัฐอเมริกาประกาศทุ่มทุนวิจัยเต็มที่เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์หาคำตอบออกมาให้ได้!

นอกจากสหรัฐอเมริกา โรคนี้พบในยุโรปหลายประเทศ ทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มสแกนดิเนเวีย อิตาลี และอื่นๆ ในทวีปอเมริกา พบทั้งในแคนาดาและอเมริกาใต้

แต่ที่น่าสงสารที่สุดคือโรคเอดส์ในแอฟริกา โรคนี้พบในเวลาไล่เลี่ยกับอเมริกา เรียกว่า โรคสลิม คนไข้มีอาการผอมแห้งไปเรื่อยๆ จนตายโดยไม่รู้สาเหตุ เพิ่งมารู้ในระยะหลังนี้เองว่า ตายจากโรคเอดส์

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้นำในเรื่องนี้ทั้งในด้านจำนวนคนไข้และวิชาการ ตามมาด้วยประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน

ผลการศึกษาวิจัยได้คำตอบมาอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในโรคติดเชื้อใหม่ตัวอื่นๆ

คณะแพทย์จากสถาบันพาสเตอร์ ฝรั่งเศส รายงานการแยกเชื้อไวรัสก่อโรคเอดส์ได้เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2526 ในปีต่อมาคณะแพทย์จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้ประสบความสำเร็จในการวิจัยหาคำตอบในโรคเอดส์ ออกข่าวดาวเทียมไปทั่วโลก พบว่า ...

ไวรัสก่อโรคเอดส์เป็นไวรัสชนิดใหม่ เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันเสียไป

โรคมะเร็งและเชื้อจุลชีพต่างๆฉวยโอกาสก่อโรครุนแรง เป็นสาเหตุการตาย
โรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยิ่งวิธีธรรมชาติ หรือปฏิบัติรุนแรงเกิดบาดแผลจะติดโรคได้ง่าย ยิ่งเปลี่ยนคู่บ่อยก็ยิ่งมีโอกาสได้รับเชื้อมากขึ้น

เชื้ออยู่ในเลือด ติดต่อได้ทางเข็มฉีดยา และการให้เลือด
เมื่อแยกเชื้อไวรัสเอดส์ออกมาเพาะเลี้ยงได้ ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถผลิตน้ำยาตรวจหาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์ ผลิตยาที่ใช้รักษายืดอายุคนไข้ และค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์

เชื้อไวรัสเอดส์ พบอยู่ในเลือดในอวัยวะต่างๆ และน้ำที่ออกจากร่างกายทุกชนิด นับแต่น้ำลาย น้ำตา น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด น้ำนม ฯลฯ

เชื้อออกจากร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก หรือเจาะเลือดโดยตรง และออกมากับสารน้ำดังกล่าว ยิ่งมีเลือดออกก็ยิ่งมีเชื้อมากขึ้น

เชื้อไวรัสเอดส์เข้าสู่ร่างกายได้ทางเยื่อเมือกที่บุทวารติดต่อกับภายนอกร่างกาย นับแต่ปากทวารหนัก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะชาย เข้าได้แม้เยื่อเมือกจะไม่มีบาดแผล แต่ถ้ายิ่งมีแผลก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น

นอกจากนี้เข้าทางการให้เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดที่มีเชื้อทางเข็มฉีดยาที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อ การปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ นับแต่ เปลี่ยนไต ปลูกไขกระดูก เปลี่ยนหัวใจ ตับ ปอด กระจกตา ฯลฯ เข้าทางรอยสักหรือของใช้ส่วนตัวที่ใช้ร่วมกัน เช่น ที่ตัดเล็บ มีดโกน แปรงสีฟัน

ที่พบบ่อยที่สุด คือ ทางเพศสัมพันธ์ ชายกับชาย ชายกับหญิง
ยังไม่พบในหญิงกับหญิง
เวลานี้พบแล้วว่า เอดส์ไม่ใช่โรคของเกย์เท่านั้น โรคนี้พบได้ทั้งในชายจริง หญิงแท้ และเด็ก โดยการติดต่อดังกล่าวข้างต้น

กลุ่มที่พบว่าเป็นโรคเอดส์สูง คือ
- ชายเกย์ คนที่เป็นเกย์ควีนจะติดเชื้อบ่อยกว่าเกย์คิง คนที่ได้ “ออฟ” กับฝรั่งบ่อยๆเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ จะมีโอกาสสูงขึ้น
- หญิงที่เป็นเมียเกย์ รวมทั้งโสเภณีที่มีโอกาสได้รับเชื้อจากฝรั่งต่างประเทศ จากแมงดาที่ติดยาเสพติด และตัวเองติดยาฉีดเอง
- ผู้ที่ฉีดยาเสพติดฉีดเข้าเส้นเลือด
- คนไข้ที่ติดเชื้อจากการถ่ายเลือด หรือผลิตภัณฑ์จากเลือด เช่น โรคฮีโมฟีเลีย ต้องได้สารที่ทำให้เลือดแข็งตัวที่เตรียมจากพลาสมาสดทุกครั้งที่เลือดออก คนไข้ที่ได้รับเลือดในการผ่าตัด หรือปลูกถ่ายอวัยวะ ถ้าโชคร้ายได้เลือดที่มีเชื้อ ก็จะเป็นโรคเอดส์ จัดเป็น “โรคหมอทำ” เกิดขึ้น ถ้าเผอิญเป็นคนไข้เด็กจะมีอาการรุนแรง ถึงแก่ความตายอย่างรวดเร็วในเวลาเป็นเดือน
- ทารกที่เกิดจากแม่ติดเชื้อโรคเอดส์ ได้รับเชื้อในระยะคลอดอาจจะตั้งแต่อยู่ในท้อง หรือในระยะที่เลี้ยงดูก็ได้ ทารกพวกนี้มักจะตายตั้งแต่อายุ 3-6 เดือน

เชื้อไวรัสทำให้เกิดโรคได้อย่างไร
ไวรัสเอดส์เป็นไวรัสตัวใหม่ มีพี่น้องร่วมครอบครัว คือ ไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในคน ในแมว ในนก ในหนู และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางสมองในแพะแกะ

ไวรัสครอบครัวนี้ มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีเอน”วม์รีเวิร์ส ทรานสคริปเทส (reverse transcriptase) ที่จะเปลี่ยนยีนของไวรัสจากอาร์เอ็นเอ (RNA) ให้เป็นดีเอ็นเอ (DNA) แล้วนำชิ้นส่วนของดีเอ็นเอที่สร้างขึ้นนี้ไปรวมตัวฝากไว้ที่โครโมโซมของเซลล์

อาจจะฝากไว้เฉยๆไม่เพิ่มจำนวน ไม่ก่อโรค เหมือนนอนหลับอยู่แล้ว วันหนึ่งถูกปลุกให้ตื่นขึ้น เปลี่ยนสภาพจากการอยู่นิ่งเฉยๆมาเป็นขยันขันแข็ง สร้างเชื้อไวรัสตัวใหม่ปล่อยออกมาแพร่เชื้อไปยังเซลล์อื่นต่อไป เซลล์อาจทนต่อสภาพที่มีไวรัสเข้าไปเพิ่มจำนวนได้ ต่างฝ่ายต่างก็มีชีวิตอยู่ แต่ถ้าไวรัสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใช้พลังงานของเซลล์ไปจนถึงจุดที่ทนไม่ได้ เซลล์ที่ติดเชื้อก็อาจจะตายๆไป หรือเซลล์พยายามต่อสู้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

เชื้อไวรัสก่อโรคเอดส์ มีความชอบจำเพาะเป็นพิเศษที่จะเข้าไปติดเชื้อเพิ่มจำนวนในเซลล์ที่สำคัญที่สุดของระบบอิมมูน คือ ทีเซลล์ (T cell) ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่คอยช่วยองค์ประกอบอื่นของระบบอิมมูน

เมื่อไวรัสเพิ่มจำนวนมาก ทีเซลล์ถูกทำลายตายไป เซลล์อื่นๆที่เคยทำหน้าที่กำจัดเซลล์มะเร็ง คอยต่อสู้กับเชื้อโรคอื่นๆ ก็ขาดหน่วยกำลังสนับสนุน ขาดสารที่จะมาช่วยในการทำหน้าที่ซ้ำเซลล์ที่ถูกทำลายตายลง ก็จะปล่อยสารที่เป็นพิษออกมา ทำให้เกิดอาการไข้ ไม่สบาย น้ำหนักลด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย

ในระยะหลังๆอิมมูนเสียมากๆ กำจัดเซลล์มะเร็งไม่ได้ ก็เกิดมะเร็งในตำแหน่งต่างๆ เชื้อจุลชีพที่เคยอาศัยอยู่ในร่างกายก็กำเริบ ก่อให้เกิดโรคระบบต่างๆขึ้น เช่น ปอดบวม ท้องเดิน สมองอักเสบ ไข้เรื้อรัง คนไข้ตายจากโรคที่มาซ้ำเติมเหล่านี้

ถ้าได้รับเชื้อไวรัสเอดส์ ต้องตายทุกคนหรือไม่
ที่จริงคำตอบก็คือ เกิดมาต้องตายทุกคน ด้วยพยาธิสภาพที่ต่างกันไป แต่คนที่ได้รับเชื้อไวรัสเอดส์ไม่ต้องเป็นโรคเอดส์ทุกคน พบว่าคนที่ได้รับเชื้อไวรัสเอดส์จะเป็นทางใดก็ตามอาจมีผลได้ดังนี้ คือ

กลุ่มที่ 1
ไม่แสดงอาการ ประมาณร้อยละ 50-70 ไม่แสดงอาการผิดปกติในระยะ 5 ปีที่ติดตามคนไข้ อาจจะไม่เป็นโรคนี้ได้ตลอดชีวิต หรือเชื้ออาจจะถูกปลุกให้แสดงฤทธิ์เมื่อใดก็ได้

กลุ่มที่ 2 อาการเฉียบพลัน พบราวร้อยละ 20-30 แสดงอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ เจ็บคอ แต่มีลักษณะที่ต่างไปคือ ต่อมน้ำเหลืองโต คล้ายกับโรคที่เรียกว่า อินเฟคเชียส โมโนนิวคลีโอซิส (infectious mononucleosis) หลังจากนั้นอาการโรคทุเลาและรอเวลาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1

กลุ่มที่ 3
ต่อมน้ำเหลืองโต พบราวร้อยละ 20-30 กลุ่มนี้จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย คลำพบได้ที่รักแร้ ขาหนีบ หลังหู บริเวณลำคอ อาการต่อมน้ำเหลืองโตนี้จะคงอยู่ได้เรื่อยๆ แต่มีแนวโน้มที่เกิดโรครุนแรงขึ้นกว่า 2 กลุ่มแรก ถ้าเมื่อใดที่ต่อมน้ำเหลืองที่เคยโตกลับยุบ จะบ่งว่าอาการกำลังลุกลามมากขึ้น

กลุ่มที่ 4 กลุ่มอาร์ค พบราวร้อยละ 10-20 แสดงอาการที่สัมพันธ์กับโรคเอดส์ (AIDS related complex, ARC) เรียกสั้นๆว่า อาร์ค เนื่องจากทีเซลล์ถูกทำลายไปมาก พบอาการไข้เรื้อรัง ผอมลง เหนื่อยง่าย มีผื่นผิวหนัง ท้องเสียเรื้อรัง ไอ และอาการอื่นๆ

กลุ่มที่ 5 กลุ่มเอดส์ พบราวร้อยละ 2-15 จะปรากฏอาการของโรคเอดส์ชัดเจน ทีเซลล์ถูกทำลายจนถึงระดับที่ไม่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็ง หรือติดเชื้อจุลชีพบางอย่างได้ คนไข้จะมีอาการเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 4 แต่ตรวจพบมะเร็งหรือพบโรคติดเชื้อร่วมด้วย

กลุ่มที่ 6 กลุ่มมีอาการทางสมอง เป็นกลุ่มที่เพิ่งมีรายงานไม่นาน พบว่าไวรัสเอดส์อาจจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์สมองได้โดยตรง โดยมีอาการร่วมอย่างอื่น หรือมีอาการทางสมองอย่างเดียวก็ได้ อาการที่พบคือ ความจำเสื่อม หลงลืม การทรงตัวเสียไป อาการจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงแก่ความตาย

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2530 องค์การอนามัยโลก รวบรวมจำนวนผู้ป่วยเอดส์ในประเทศต่างๆได้เกือบ 50,000 คน แต่ประมาณว่า ในโลกนี้มีคนติดเชื้อโรคเอดส์โดยไม่มีอาการและแพร่เชื้อได้ประมาณ 5-10 ล้านคน

วิธีทดสอบว่าติดเชื้อโรคเอดส์
ในขั้นต้นควรซักประวัติในด้านเพศสัมพันธ์ การใช้ยาฉีด การถ่ายเลือด ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ วิธีที่จะบอกได้แน่นอนคือ การเจาะเลือดตรวจหาแอนติบิดีต่อเชื้อไวรัส หรือตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ หรือทำการเพาะเลี้ยงแยกเชื้อ

เจาะเลือดจากหลอดเลือดดำประมาณ 5 มิลลิลิตร ส่งให้ห้องปฏิบัติการทดสอบ ถ้าได้ผลลบ ตอบผลได้ภายใน 1-2 วัน ถ้าได้ผลบวกต้องใช้เวลาทดสอบยืนยันต่อไป ซึ่งจะใช้เวลาอีก 3-5 วัน

วิธีทดสอบที่นิยมคือ วิธีอีไลซ่า ซึ่งมีความไวสูงถึงร้อยละ 99 แต่ให้ผลบวกเทียมได้ โดยมีความจำเพาะต่อเชื้อเอดส์ร้อยละ 93-95 คนที่เลือดบวกโดยวิธีอีไลซ่า อาจไม่ใช่ติดเชื้อไวรัสเอดส์ ต้องทดสอบซ้ำด้วยวิธีที่เรียกว่า อิมมูโนบล็อต วิธีนี้เดิมเคยเรียกว่า เวสเทิร์นบล็อต

วิธีทดสอบยืนยันอื่นๆอาจใช้วิธีอิมมูนเรืองแสง หรือตกตะกอนด้วยแอนติเจนที่ปิดฉลากกัมมันตภาพรังสี

ถ้าผลที่ได้ไม่ชัดเจน แนะนำให้มาเจาะเลือดตรวจซ้ำในเวลา 3-6 เดือนต่อมา

ห้องปฏิบัติการที่สามารถทดสอบตรวจดูการติดเชื้อโรคเอดส์มีในโรงพยาบาลใหญ่ๆหลายแห่ง เช่น ศิริราช จุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี บางรัก เปาโล บำรุงราษฎร์ เดชา ในต่างจังหวัดตรวจได้ที่เชียงใหม่ ในอนาคตอันใกล้จะมีที่ตรวจเพิ่มขึ้นอีก

ยารักษา
เวลานี้มียาที่จดทะเบียนรักษาเพียงตัวเดียว คือ ซิโดวูดีน(Zidovudine) หรือเรียกย่อๆว่า เอ แซด ที (AZT,Azidothymidine) ของบริษัทเวลคัม ราคายาประมาณเม็ดละ 50 บาท ต้องกินวันละ 6-8 เม็ดไปเรื่อยๆ ช่วยยืดชีวิตคนไข้อาร์ค (ARC) และเอดส์ (AIDS) เพื่อรอความหวังจากยาตัวใหม่ ในสหรัฐอเมริกาประมาณค่ารักษาคนไข้เมื่อใช้ยานี้ ประมาณสองแสนห้าหมื่นบาทต่อปี

ยาที่กำลังศึกษากันอยู่ มีหลายตัว เช่น ไดดีออกซีไซทิดีน (dideoxycytidine) ของโรช เอชพีเอ 23 (HPA 23) ของสถาบันพาสเตอร์ และยาอื่นๆ

ยาที่สหรัฐอเมริการทดลองแล้วว่าไม่ได้ผล ไม่แนะนำให้ใช้ คือ ซูรามิน (Suramin) ไอโซพริโนซีน (Isoprinosine) อินเตอร์ฟีรอน (Interferon) อินเตอร์ลิวคิน (Interleukin)

สำหรับวิธีปลูกถ่ายไขกระดูกก็ไม่ได้ผลเช่นกัน

วัคซีนยังเป็นความหวังที่อยู่ห่างไกล เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้เมื่อเข้าไปแล้วสามารถแฝงตัวสงบอยู่ในเซลล์ แล้วแสดงฤทธิ์ภายหลังได้ นอกจากนี้พบว่าโปรตีนที่เป็นโครงสร้างภายนอกจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้แอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นคุ้มกันโรคไม่ได้

ถ้าเตรียมวัคซีนได้สำเร็จ ยังมีปัญหาว่า ควรจะฉีดให้กับใคร?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีชื่อเรียกว่า โรคแห่งความรัก หรือโรคของเทพีวีนัส เชื้อไวรัสที่ได้ชื่อว่าเป็นไวรัสแห่งความรัก (Virus of love) ที่รู้จักกันมานานแล้ว คือ เชื้อเริม หรือเฮอร์พีส ซิมเพล็กซ์ ซึ่งจะติดเชื้อถาวรแฝงไปจนตายจากกันเช่นเดียวกับไวรัสโรคเอดส์

คงจะไม่ผิด ถ้าจะเพิ่มไวรัสเอดส์ให้เป็นไวรัสแห่งความรัก

ช่วยกันป้องกันตัวคุณและคนที่คุณรักไม่ให้เป็นโรคเอดส์

คุณจะไม่เป็นโรคเอดส์ถ้าได้ปฏิบัติตามนี้
1. งดการแสวงหาโรค ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวกับคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะเป็น “ของฟรี” ในประเทศหรือจากเมืองนอก หรือเป็น “ของซื้อขาย” ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

ขอให้นึกว่าโรคนี้ก็เหมือนโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าถูกกด ข่วน เลีย โดยผู้ที่มีเชื้อ ก็มีโอกาสเป็นได้
อย่าใช้ยาฉีดโดยไม่จำเป็น บุคลากรสาธารณสุขที่ใช้การฉีดวัคซีนหรือยา ต้องใช้เข็มและหลอดฉีดยาที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว อย่าใช้เข็มและหลอดฉีดยาซ้ำกันในผู้ป่วยหลายราย ก่อนใช้ต้องผ่านการฆ่าเชื้อทุกครั้ง ถ้าพอมีเงินควรซื้อชนิดพลาสติกที่ฆ่าเชื้อ ใช้แล้วครั้งเดียวทิ้งเลย ก่อนทิ้งสวมปลอกเข็มไว้ เพื่อไม่ให้ไปตำคนอื่น

ในผู้ที่ใช้ยาเสพติดฉีดเข้าหลอดเลือด จะมีโอกาสติดโรคเอดส์ได้สูงไม่น้อยกว่ากลุ่มที่ได้เชื้อทางเพศสัมพันธ์

ถ้างดไม่ได้ ก็ต้องเสี่ยง!

2. ตรวจดูการติดเชื้อ ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรค เช่นชายหรือหญิงขายบริการทางเพศจำเป็นต้องตรวจเลือดทุก 6 เดือน ติดต่อขอรับบริการได้จากโรงพยาบาลที่รับตรวจ ค่าทดสอบไม่เกิน 200 บาท ขอให้แพทย์ปกปิดความลับได้

ถ้าตรวจแล้วได้ผลลบ
แสดงว่ายังไม่ติดเชื้อ อาจจะติดจากแขกที่มาเที่ยวได้ ขอให้แขกใช้ถุงยางอนามัยทุกราย แต่ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากทางอื่น จึงควรเจาะเลือดตรวจซ้ำเป็นระยะ

ถ้าตรวจแล้วได้ผลบวก
ควรตรวจยืนยันว่าเป็นผลบวกจริง ถ้าเลือดบวก แปลว่า ติดเชื้อแล้ว แพร่เชื้อให้คนอื่นได้ แต่ตัวเองอาจมีชีวิตเป็นปกติจนแก่ตายไปเอง หรือเป็นโรคมีอาการรุนแรงจัดเข้าไปในกลุ่มต่างๆเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ควรเปลี่ยนอาชีพ อาจเป็นคนเชียร์แขกแทนที่จะรับแขก ถ้ายังเปลี่ยนไม่ได้ ขอให้ใช้ถุงยางทุกครั้ง

การใช้ถุงยางนี้จะช่วยลดความรุนแรงของโรคเอดส์ได้ในคนที่เลือดบวก เนื่องจากเชื้อที่เข้าไปอาจอยู่ใน “ระยะหลับ” ถ้าได้รับเชื้ออื่น หรือตัวสเปิร์มในน้ำอสุจิ จะกระตุ้นให้ทีเซลล์ทำงานเพิ่มจำนวนมากขึ้น ไวรัสถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาเพิ่มจำนวนจะทำให้โรครุนแรงขึ้น

3. งดบริจาคเลือดหรืออวัยวะเมื่อถึงแก่กรรม ถ้ามีอาชีพพิเศษขายบริการหรือติดยาเสพติด ห้ามบริจาคเลือดเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเลือดลบหรือเลือดบวก

แพทย์ควรจะทดสอบตรวจดูเชื้อในเลือดทุกถุง หรือตรวจผู้บริจาคไต ไขกระดูก ปอด กระจกตา ตับ ก่อนนำไปใช้กับคนไข้

4. ถ้าเลือดบวกควรคุมกำเนิดอย่างถาวร
เพราะเชื้อจะติดต่อไปยังลูกได้ แต่ถ้าเป็นลูกที่เกิดก่อนที่จะติดเชื้อ จะไม่มีอันตราย

อาวุธสำคัญที่จะใช้ต่อสู้ป้องกันโรคเอดส์ในเวลานี้คือ ความร่วมมือจากทุกคน ถ้าจำเป็น ต้องนึกถึง “ถุงยาง” ทุกครั้ง

หวังว่า ความรักของท่านคงจะงดงามดังเช่นต้นไม้ ที่ไม่มีโรคเอดส์และโรคแห่งความรักอื่นๆมารบกวน

-----------------------

ผู้ป่วยโรคเอดส์รายแรกในประเทศไทย
ชายไทยอายุ 28 ปี เกิดและโตในประเทศไทย เขาได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอเมริกา ขณะอยู่ที่สหรัฐฯ เคยเที่ยวผู้หญิงและรักร่วมเพศกับชายด้วยกัน

เดิมสุขภาพดี ต่อมาป่วยที่อเมริกา พบว่าปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หลังจากนั้นเดินทางกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทย

ต่อมาเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อเดือน กันยายน 2527 โดยมาที่แผนกหู ตา คอ จมูก ด้วยอาการหูอื้อ แต่หมอหูได้ตรวจแล้วพบว่าไม่เกี่ยวกับหู จึงส่งต่อไปที่หน่วยโรคติดเชื้อ

พบว่าผู้ป่วยมีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ท้องเดิน เลือดออกทางเดินอาหารรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ 117 วันก็ถึงแก่กรรม

ทรรศนะ
ความรู้สึกของแพทย์ผู้พบโรคเอดส์รายแรกของไทย
ศาสตราจารย์นายแพทย์อนุวัตร ลิ้มสุวรรณ
ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์

“พอรู้ว่าคนไข้เป็นโรคเอดส์ ผมตกใจเพราะว่าไม่ได้ตั้งตัวรับ ถ้าเผื่อตั้งตัวรับผมคงจะไม่ไปละเลงคนคนไข้อย่างรีบด่วนโดยไม่ระวังตัว เพราะในการไปดูคนไข้คนนั้นผมตรวจหมดตั้งแต่หัวจรดเท้า คือผมไม่ได้ระวังเท่าที่ควร พอรู้แล้วผมก็ยังทำใจดีสู้เสือเพราะผมกลับมาดูตัวเอง ผมก็ไม่มีแผลที่นิ้วหรือที่ไหน เลยมั่นใจว่าไม่น่ามีปัญหา ค่อนข้างแน่ใจว่าตัวเองปลอดภัย

โรคเอดส์ในขณะนี้ถ้าเป็นแล้ว ตาย 100 เปอร์เซ็นต์ พวกที่ได้เชื้อเข้าไปแล้วส่วนมากตายใน 3 ปี อย่างร็อก ฮัดสัน ตายภายใน 2 ปีครึ่ง”

สถิติผู้ป่วยโรคเอดส์
มกราคม 2530 พบ 71 ประเทศ จำนวนประมาณ 29,000 ราย
พฤษภาคม 2530 พบในสหรัฐอเมริกา จำนวนประมาณ 35,980 ราย
พฤษภาคม 2530 พบใน 112 ประเทศ จำนวนประมาณ 51,069 ราย
มิถุนายน 2530 พบใน 118 ประเทศ จำนวนประมาณ 53,000 ราย
มิถุนายน 2530 พบโรคเอดส์ในประเทศไทย 11 ราย และมีคนไข้ในระยะเริ่มแรกของการติดเชื้อโรคเอดส์อีกรวมกันแล้วไม่เกิน 30 ราย (1 ใน 4 เป็นชาวต่างประเทศ)

การต่อสู้ระหว่างภูมิคุ้มกันของร่างกายกับไวรัส

1. เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เซลล์ NK จะทำลายในขั้นต้น และเซลล์ M จะจับกินหรือฆ่าเชื้อไวรัสที่บุกรุก พร้อมกับส่งสัญญาณให้เซลล์ T

2. เซลล์ T จะส่งสัญญาณและเพิ่มจำนวนเซลล์ T ขึ้นมามากมาย โดยมีเซลล์ Th กระตุ้นให้เซลล์อื่นๆทำงาน เช่น ส่งสัญญาณให้เซลล์ Tc , และเซลล์ B และเซลล์อื่นๆออกจัดการกับผู้บุกรุก

3. ในระยะต่อมา เชื้อไวรัสจะเข้าไปในเซลล์ร่างกาย เพื่อยึดเอาเซลล์ร่างกายเป็นป้อมปราการ เพิ่มจำนวนไวรัสขึ้น

4. ระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญคือ เซลล์ T ซึ่งแบ่งเป็น กองทหารต่างๆ ได้แก่ Tc จะเป็นตัวทำลายที่มี เชื้อไวรัสเข้าไปอยู่ ไวรัสถูกทำลายไปพร้อมกับเซลล์ ไวรัสที่เพิ่มจำนวนออกมาจากเซลล์ได้ จะถูกแอนติบอดีทีเซลล์ B สร้างขึ้นจับกุมหรือทำให้หมดสภาพที่จะก่อโรค ทำให้ Tc ทำลายได้ง่ายขึ้น เป็นการยุติไม่ให้ไวรัสไปทำอันตรายเซลล์อื่นๆในร่างกายได้อีก

5. เมื่อควบคุมได้แล้ว จะมีเซลล์ Ts ที่คอยกดการทำงานเซลล์อื่นๆไม่ให้ทำมากเกินไปก็จะหยุดการสู้รบ

การต่อสู้ระหว่างภูมิคุ้มกันของร่างกายกับไวรัสเอดส์

1. เมื่อไวรัสเอดส์เข้าสู่ร่างกาย มันจะบุกและทำลายเซลล์ Th และยึดศูนย์การทำงาน ทำให้เซลล์ Th ตาย ไม่มีผู้ส่งสัญญาณไปยังเซลล์ B หรือเซลล์ชนิดอื่นได้ และกลายเป็นโรงงานผลิตไวรัสเอดส์แทน นอกจากนั้นไวรัสเอดส์ ยังทำลายเซลล์ M และเซลล์สมองโดยตรง

2. ไวรัสเอดส์ ต่างจากเชื้ออื่น สามารถเข้าไปอยู่ใน Th ได้ และเพิ่มจำนวนไปทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัว ถ้าเพิ่มจำนวนมาก ก็ทำให้เซลล์นั้นตาย ถ้าเพิ่มจำนวนน้อย เซลล์ไม่ตาย แต่ทำหน้าที่ผิดปกติ

3. หากมีเชื้อโรคอื่นเข้ามาในร่างกายอีก... เซลล์ Th ก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ไวรัสเอดส์ที่ฝังตัวอยู่กับเซลล์ Th ก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน

4. เมื่อเซลล์ Th ถูกทำลายไปมาก ก็มีการติดเชื้อรุนแรง หรือเป็นมะเร็งทำให้คนไข้ตาย

M – Macrophage – เซลล์นักกินขนาดใหญ่
NK – Natural killer cell – เซลล์นักฆ่าธรรมชาติ
Th – T helper – เซลล์คอยช่วยกระตุ้นให้เซลล์อื่นทำงาน
Ts – T suppressor – เซลล์คอยกดการทำงานของเซลล์อื่นๆไม่ให้ทำมากเกินไป
B – B cell – สร้างสารแอนติบอดี
Tc – Killer T cell – เซลล์ผู้ฆ่า
Ab – Antibody – สารที่สร้างขึ้นมาเพื่อไปจับไวรัส ทำให้ไวรัสหมดประสิทธิภาพในการทำให้เกิดโรค
A – AIDS – เชื้อไวรัสเอดส์
V – Virus – เชื้อไวรัส

แนวโน้มโรคเอดส์ที่คืบคลานเข้ามา
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค
รองผู้อำนวยการกองวิทยาศาสตร์สภากาชาดไทย
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“แนวโน้มของโรคเอดส์ในประเทศไทยก็คงจะเหมือนกับแนวโน้มของในอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ

คือในช่วงแรกๆ เริ่มมีคนไข้ในปริมาณไม่มากนัก และคงจะใช้เวลาไม่นานมันก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นค่อนข้างมาก
เวลานี้ถ้าเปรียบก็คงจะเหมือนกับอเมริกาในตอนเริ่มแรก เมืองไทยตอนนี้เราพบแค่ไม่กี่ราย คงจะทราบว่าแนวโน้มของอเมริกา ยุโรป แอฟริกา เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งประเทศอื่นๆทั่วโลก

ผู้ป่วยโรคนี้ของไทยที่ผ่านมาทุกคนติดมาจากชาวต่างชาติ หรือจะบอกว่าโรคนี้ส่งเข้ามาก็คงจะได้ เพราะทุกรายนี่มีสัมผัสหรือสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศมาแล้วทั้งนั้น เวลานี้เมืองไทยเราก็สัมผัสกับชาวต่างชาติ มีชาวต่างชาติมาเมืองไทยอยู่เรื่อยๆ ก็คงจะทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้โรคนี้ระบาดแพร่หลายจึงสำคัญมาก”

จะร่วมกันคุมโรคเอดส์อย่างไรดี
ศาสตราจารย์นายแพทย์มุกดา ตฤษณานนท์
ที่ปรึกษาภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

“การควบคุมโรคเอดส์ที่สำคัญคือ
1. การเฝ้าระวัง หมายถึง การตรวจสอบกลุ่มผู้ซึ่งเสี่ยงอันตรายต่อโรคนี้ เช่น พวกเกย์ เกย์คลับ หญิงอาชีพพิเศษ การตรวจจะตรวจหลายๆกลุ่ม ตามที่ต่างๆ เช่น ที่พัทยา พัฒพงษ์ ภูเก็ต หรือที่เชียงใหม่ เป็นต้น เพราะพวกนี้อาจจะมีการเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ (โรคนี้มักจะมาจากชาวต่างประเทศ) แล้วได้รับเชื้อโรคมาก็ได้

เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามตรวจกลุ่มซึ่งเราคิดว่าอาจจะติดโรคมาได้ ควรตรวจบ่อยๆ อาจจะทุกๆ 6 เดือน จะได้ทราบว่าโรคเอดส์มาถึงกลุ่มพวกนี้หรือยัง เพราะโรคนี้เมื่อเชื้อโรคเข้าไปแล้ว จะยังไม่มีอาการอะไรเลย เหมือนคนปกติทุกอย่าง แต่เชื้อโรคก็สามารถแพร่กระจายได้ คือกว่าจะเกิดโรคเอดส์จริงๆอาจจะกินเวลานาน บางที 2, 3, 4 หรือ 5 ปีก็ได้ และหากพบว่าคนพวกนี้มีเลือดบวก หรือเป็นโรคเอดส์แล้วก็ควรจะได้ติดตามเขา แนะนำเขาว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเอาเชื้อไปติดคนอื่น ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็อาจมีทางควบคุมโรคเอดส์ได้

นอกจากนี้ควรมีการตรวจสอบพวกนักโทษที่ถูกคุมขังด้วย เพราะการอยู่ร่วมกันในกลุ่มนักโทษชาย อาจมีเพศสัมพันธ์ในพวกเดียวกัน ดังนั้นการตรวจนักโทษก็เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถควบคุมโรคเอดส์ได้

2. เราควรให้สุขศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป
ว่าโรคนี้ติดต่อกันได้อย่างไร ไม่ควรจะแตกตื่นหรือตกใจมากเกินไป เพราะมันไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ ส่วนมากจะติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์ และโดยทางเลือด แต่เราก็มีวิธีป้องกันได้ เช่น ถ้ามีเพศสัมพันธ์ก็ใช้ถุงยางอนามัย หรือถ้าจะฉีดยาเข้าเส้นก็ควรใช้เข็มที่สะอาด และไม่ใช้ร่วมกับคนอื่น เพราะฉะนั้นหากเราให้สุขศึกษาแก่ประชาชนทั่วๆไปได้ โดยเฉพาะประชาชนซึ่งมีอาชีพพิเศษ เราก็อาจจะควบคุมโรคเอดส์ได้

ในขณะนี้เรามีกฎหมายสำหรับควบคุมโรคนี้แล้ว คือ ถ้าเราพบว่าชาวต่างประเทศคนไหนมีเลือดบวก เราจะให้เขาออกจากประเทศไทยได้เลย”
 

ข้อมูลสื่อ

100-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
โรคน่ารู้
รศ.พญ.จันทพงษ์ วะสี