• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พยาธิใบไม้ตับกับคนอีสาน

พยาธิใบไม้ตับกับคนอีสาน

พอเอ่ยถึงข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ น้ำตก เชื่อว่าเกือบทุกคนจะนึก “แซ่บ” ขึ้นมาในใจ พร้อมกับฝันว่าถ้ามีของจริงลอยมาอยู่ตรงหน้าตอนนี้เลยก็จะดี ก็คงจะต้องยกนิ้วให้พี่น้องชาวอีสานของเรา ที่มีสูตรอาหารที่ประทับใจคนไทยทั้งชาติ และปัจจุบันคงจะต้องรวมถึงคนต่างชาติด้วย

นอกจากรสชาติที่ถึงใจแล้ว ความสะดวกไม่ซับซ้อนในการทำก็นับเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของอาหารอีสาน
ไม่ว่าจะเป็นส้มตำ แจ่วป่น (น้ำพริก) หมก ปิ้ง จ่อม ลาบ หรือก้อย ล้วนแต่แซ่บๆ และทำได้ง่ายทันใจทั้งนั้น แต่ข่าวเศร้าที่แทรกขึ้นมาจากความแซ่บก็คือ ในปี พ.ศ.2528 ชาวอีสานเป็นมะเร็งตับสูงเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งทั้งหมด โดยมะเร็งตับของชาวอีสานนั้นส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่เกิดร่วมกับการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ! คนอีสานเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับถึง 7.6 ล้านคน จากคนอีสานทั้งหมด 17 ล้าน!

ทำไมพยาธิใบไม้ตับรุกรานชาวอีสานไปเกือบครึ่งภาค?

คำตอบที่คนอีสานรู้ซึ้งดี คือ อาหาร อาหารอะไรที่ทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ อาหารที่ทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ก็คือ อาหารดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ ที่ทำจากปลาน้ำจืดที่มีตัวอ่อนของพยาธิ มักพบในปลาที่มีเกล็ดหรือปลาตระกูลปลาตะเพียนซึ่งมีทั่วไปตามแหล่งน้ำต่างๆ จากการตรวจตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับ 100 ตัว จะพบปลาที่มีพยาธิอยู่ในจำนวนที่ต่างกัน คือ

  • ปลาสูตร พบ 75 ตัว
  • ปลาปก 65 ตัว
  • ปลาแม่สะแด้ง 51 ตัว
  • ปลาตะเพียนทราย 22 ตัว
  • ปลาซิว 10 ตัว
  • ปลากะมัง 8 ตัว
  • ปลาหน้าหมอง 4 ตัว
  • ปลาตะเพียนขาว 3 ตัว

ชนิดอาหารอีสานที่เมื่อกินแล้วมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ คือ ก้อยปลา ปลาสด ปลาส้ม ปลาจ่อม หม่ำปลา ปลาหมกไฟ ปลาปิ้ง ลาบปลา เนื่องจากอาหารเหล่านี้ทำกินดิบๆ สดๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ซึ่งวิธีการทำอาหารดังกล่าว ไม่สามารถที่จะฆ่าพยาธิได้ (ดูตารางที่ 1)

ถึงแม้ชาวอีสานอาจคิดว่าการปรุงอาหารด้วยการใช้ของเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว มะขาม หมกรังมดแดง การใช้ของเค็ม น้ำปลา เกลือ น้ำปลาร้า แล้วถือว่า “สุก” แต่สุกลักษณะนี้ฆ่าพยาธิไม่ได้ หรือเมื่อปรุงแล้ว สีของเนื้อปลาเปลี่ยนสีก็ถือว่า “สุก” หรือการกินอาหารเหล่านี้ร่วมกับ “เหล้า” ก็ทำให้อาหารสุกได้ จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การใช้วิธีปรุงหรือกินดังกล่าวไม่สามารถฆ่าพยาธิได้ วิธีที่จะทำให้ “สุก” นั้น ต้องใช้ความร้อนเท่านั้นจึงจะสามารถฆ่าพยาธิได้

อาการของโรคพยาธิใบไม้ตับ

อาการผิดปกติที่เกิดจากพยาธิใบไม้ตับ ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่จะพบอาการของโรคหลังจากพยาธิเข้าสู่ร่างกายระยะหนึ่ง (เมื่อเริ่มมีอาการจะตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระ) อาการเริ่มแรกหรือเล็กน้อย เช่น ท้องอืด แน่น จุกเสียด รู้สึกอึดอัดไม่สบาย หรือออกร้อนบริเวณชายโครงขวา หรือบริเวณยอดอก ซึ่งชาวอีสานมักเรียกอาการนี้ว่า “ร้อนท้อง”

อาการปานกลาง คือ เบื่ออาหาร ท้องอืดมาก หรืออุจจาระร่วง ตับโต และกดเจ็บบริเวณตับ (บริเวณชายโครงขวา)

อาการรุนแรง มักมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงจนมีอาการสั่นร่วมด้วย มักเกิดจากอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ท่อทางเดินน้ำดีอุดตันเนื่องจากมีพยาธิมาก เกิดการอักเสบติดเชื้อที่ท่อทางเดินน้ำดี หรือถุงน้ำดี หรือเกิดเป็นฝีในตับ หรือมะเร็งท่อทางเดินน้ำดี หรือมะเร็งตับ

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งตับ จะมีอาการเบื่ออาหาร ผอมลง น้ำหนักลด ตับโต ตัวเหลือง ตาเหลือง คันตามตัว มีไข้ หนาวสั่น และเสียชีวิตในที่สุด กว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคนี้จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 6 เดือนถึง 1 ปีครึ่ง

การรักษา

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2523 นี้เองว่า ยาพราซิควอนเทล (praziquantel) สามารถรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับได้ โดยให้กินครั้งเดียวในขนาด 3-4 เม็ด (ผู้ใหญ่) สำหรับอัตราการรักษาหายนั้นประมาณร้อยละ 91-95

อย่างไรก็ตาม เมื่อรักษาหายแล้ว ถ้ายังไม่เลิกกินปลาดิบที่มีพยาธิใบไม้ตับ เช่น อาหารประเภทก้อยปลา ส้มปลา ก็จะทำให้กลับมาเป็นได้อีกภายใน 1-2 ปีเท่านั้น ดังนั้นการรักษาให้หายขาดนั้นมีวิธีเดียว คือ ต้อง “เลิกกินปลาดิบ”เลิอกกินปลาดิบ พิชิตพยาธิใบไม้ตับ

บัญญัติ 4 ประการของการป้องกันตัวเองจากโรคพยาธิใบไม้ตับ คือ

1. สู้กับตัวเองที่จะไม่กินปลาดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อยปลาดิบ ส้มปลาดิบ หม่ำปลาดิบ เป็นต้น ถ้าจะกินให้ปรุงโดยให้ผ่านความร้อนให้สุกเสียก่อน

2. ถ่ายอุจจาระลงในส้วม อย่าถ่ายลงในน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง หรือที่ชื้นแฉะอย่างเด็ดขาด

3. หากเคยกินปลาดิบ ควรไปตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิตามสถานบริการสาธารณสุข หากมีพยาธิให้รักษาด้วยยา และเลิกกินอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เสีย

4. ร่วมกันบอกต่อๆ แก่ญาติ พี่น้อง ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อนฝูง ให้เลิกกินปลาดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคพยาธิใบไม้ตับ

ทำไมจึงเลิกกินปลาดิบไม่ได้

การที่ชาวอีสานเลิกกินอาหารประเภทดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ไม่ได้นั้นเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น
ชาวอีสานเชื่อว่าอาหารดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆนั้น จะมีรสชาติอร่อยกว่าอาหารที่สุกแล้ว และเป็นความชอบที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษปู่ย่าตายาย

นอกจากนั้น มีความเชื่อว่ากินแล้วแข็งแรง ดังนั้นการกิน “อาหารดิบ” จึงมักแสดงถึงความเป็นลูกผู้ชาย มักกินร่วมกับเหล้า ตามความเชื่อว่าเหล้าจะทำให้อาหารสุก และฆ่าพยาธิได้ ชาวอีสานมีลักษณะการดำรงชีวิตแบบง่ายๆ กำหนดให้การทำอาหารต้องเป็นอาหารที่หาง่าย ปรุงสะดวก รวดเร็ว ราคาไม่แพง ง่ายต่อการเก็บรักษา และการปรุงให้มีรสจัดทำให้กินข้าวได้มาก ไม่เปลืองกับข้าว เป็นการประหยัดอีกด้วย อย่างเช่นอาหารที่เป็นปลาสดๆ จึงมักกินกันที่ริมหนองหรือกลางนา ในที่ที่หาวัตถุดิบในการปรุงได้ง่าย ไม่ต้องหาวัสดุทำเชื้อเพลิง เตา กระทะ หรืออื่นๆ เพื่อมาหุงต้มให้สุก

อาหารดิบๆ บางอย่าง เช่น ก้อยปลา ส้มปลา เป็นอาหารพิเศษ ถือว่าเป็นอาหารที่มีเกียรติจึงทำเพื่อเลี้ยงรับรองแขก หรือทำในโอกาสงานพิเศษต่างๆ เช่น ในงานบุญหรือหลังเกี่ยวข้าวเสร็จ หรือมีการเฉลิมฉลองในหมู่บ้าน

มาร่วมกันรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ

ขณะนี้องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐบาลได้ร่วมกันรณรงค์ให้ชาวอีสานตระหนักถึงภยันตรายของพยาธิใบไม้ตับ และเปลี่ยนพฤติกรรมจากการกินปลาดิบ เป็นการกินปลาที่สุก เพื่อป้องกันพยาธิใบไม้ตับ

 

ลุงชาลี มะระแสง ผู้นำชาวบ้านอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้ทรรศนะไว้ว่า

“ผมคิดว่าการรณรงค์พยาธิใบไม้ตับในอีสาน เป็นเรื่องที่เร่งด่วนที่ต้องทำ เฉพาะปีนี้ที่บ้านผมตายเพราะโรคพยาธิใบไม้ตับถึง 18 คนแล้ว ผมคิดว่า เป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ ถ้าจะมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ สำหรับผมนั้น ผมยินดีที่จะร่วมรณรงค์และเผยแพร่ในเรื่องนี้เพราะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริง ทั้งยังเป็นปัญหาที่รุนแรง เป็นฆาตกรฆ่ามนุษย์ในอีสานมามากต่อมากแล้ว ลูกหลานที่เกิดขึ้นมาใหม่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็สืบเนื่องจากกินปลาดิบ แล้วก็เป็นโรคนี้อย่างไม่รู้จบสิ้น”

จึงขอเชิญท่านผู้อ่านทั้งชาวอีสานหรือชาวภาคอื่นๆ ร่วมกันรณรงค์ให้ชาวอีสาน (และไม่อีสาน) เลิกกินปลาดิบ เพื่อจะได้รอดพ้นจากโรคพยาธิใบไม้ตับ

ข้อมูลสื่อ

124-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
โรคน่ารู้