• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาเข หรือ ตาเหล่

ตาเข หรือ ตาเหล่

ตาเขคืออะไร

ตาเข คือ ภาวะที่ตาทั้งสองไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ แทนที่จะเห็นตาดำทั้งสองข้างตรงขนานกัน กลับเห็นว่าตาดำข้างหนึ่งตรงดี แต่อีกข้างกลับหันเข้าด้านหัวตา หรือเฉออกไปทางหางตา อาจจะเป็นตาใดตาหนึ่ง หรือสลับข้างกันไปมา โดยที่เจ้าตัวไม่ค่อยรู้สึก ไม่รู้ว่าใช้ตาไหนมอง เพราะความเคยชิน

ทำไมจึงตาเข

ทำไมจึงตาเข คำถามนี้มักจะถูกถามอยู่เสมอจากคนที่ตาเข หรือญาติมิตรของคนตาเข โดยเฉพาะบิดามารดาของเด็กที่ตาเข คำตอบคือ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีข้อสนับสนุนหลายอย่างตามทฤษฎีที่ยึดถือกันมา คือ ภาวะกล้ามเนื้อของตาแต่ละข้างทำงานไม่สมดุลกัน ทั้งนี้มีสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้หลายอย่าง แล้วแต่ชนิดของตาเข ซึ่งมีอยู่หลายแบบ ดังจะกล่าวต่อไปภายหลัง การที่ลูกหลานเกิดภาวะตาเข ทำให้ผู้เป็นบิดามารดา ผู้ปกครองหรือญาติมิตรไม่สบายใจ เกรงว่าจะเป็นมากขึ้น หรือตาพิการ จนถึงตาบอดในอนาคต

ตาเขต่างกับตาเอียงอย่างไร

ตาเขกับตาเอียงมักเป็นคำบอกเล่าของผู้ป่วย (หรือไม่ป่วยก็ตามที) เสมอๆ คือ คิดว่า ตาเขหรือตาเอียงเป็นความผิดปกติชนิดเดียวกัน คือ เข เอียง ฟังดูคล้ายๆ จะใช่ แต่ความจริงไม่ใช่

ตาเข (Squint หรือ Strabismus) คือ ภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแนวตรงดังกล่าวแล้ว แต่ตาเอียง (Astigmatism) คือ ภาวะที่สายตาผิดปกติเนื่องจากความโค้งกระจกตาดำไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นทรงกลม แต่ค่อนข้างไปทางวงรี ทำให้การมองเห็นภาพวัตถุไม่ชัด จัดอยู่ในประเภทสายตาผิดปกติชนิดหนึ่ง ในกลุ่มของพวกสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง โดยที่ตาทั้งสองไม่เข ไม่เอียงผิดแนวไปจากเดิมเลย ตายังตรงปกติทุกอย่าง สายตาชนิดนี้แหละที่เป็นสาเหตุให้ปวดกระบอกตา และปวดศีรษะเมื่อใช้สายตานานๆ

ตาเขมีกี่ชนิด

ตาเขมีหลายชนิด พอจะกล่าวให้ทราบได้ ดังนี้

1. ตาเขชนิดหลอกๆ (Pseudo strabismus)

2. ตาเขชนิดซ่อนเร้น (Latent strabismus)

3. ตาเขชนิดเห็นได้ชัด (Manifest strabismus)

4. ตาเขชนิดเป็นอัมพาตของประสาทกล้ามเนื้อตา หรือจากโรคทางร่างกายอย่างอื่น

ชนิดที่ 1 ตาเขชนิดหลอกๆ คือ ลักษณะของตาที่ดูเผินๆ คล้ายตาเข เมื่อตรวจจริงๆไม่เข มักพบในเด็กที่มีลักษณะรูปร่างเปลือกตาค่อนข้างเล็กหรือเฉียงขึ้นบนเล็กน้อย หรือขอบเปลือกตาบนด้านหัวตาโค้งต่ำกว่าปกติ ทำให้แลดูลูกตาเหมือนอยู่ชิดหัวตา เหมือนลักษณะตาเขเข้าด้านใน ยิ่งร่วมกับลักษณะดั้งจมูกแบนราบยิ่งเห็นชัดขึ้น

อีกประเภทคือ คนที่มีรูปหน้าแคบ ลูกตาทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก แม้ดั้งจมูกจะโด่ง แต่ก็ทำให้ดูเหมือนคนตาเขเข้าในได้เช่นกัน พบได้บ่อยๆ หรืออีกประเภทคือ หน้ากว้าง ลูกตาอยู่ห่างกันมากกว่าปกติ ทำให้ดูคล้ายกับคนตาเขออกด้านนอก เด็กเหล่านี้หรือคนที่สงสัยจะมีลักษณะดังกล่าว สามารถตรวจได้ว่าตาเขหรือไม่ ด้วยวิธีไม่ยาก

ชนิดที่ 2 ตาเขแบบซ่อนเร้น พวกนี้บางคนเรียกตาส่อน คือ เขที่ซ่อน หรือกลบเกลื่อนไว้ได้ไม่ให้เข แต่อาจจะแสดงอาการเขออกมาได้บางครั้งบางคราว ทำให้ตามีลักษณะไม่ตรง บุคคลพวกนี้มักมีภาวะปวดตามึนศีรษะได้ ถ้ากล้ามเนื้อในการบังคับตาให้ตรงเกิดอาการอ่อนเพลียหรือเมื่อยล้าคล้ายเมื่อยตา อาจจะมองดูเก๋ไปอีกแบบ ถ้าใครเขแบบนี้

ชนิดที่ 3 ตาเขชนิดเห็นได้ชัด พวกนี้ได้แก่ตาเขที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่า “ตาเข”

ตาเขที่กล่าวนี้อาจจะมีลักษณะแบ่งออกได้เป็นหลายลักษณะ คือ

ก. ตาเขเข้าด้านใน (esotropia) ลักษณะที่เห็น คือ ตาดำจะเฉียงหรือเบนเข้าด้านใน หรือมุดเข้าหาหัวตา (ภาพที่ 1)

ตาเขชนิดนี้พบมากกว่าชนิดอื่น มักพบตั้งแต่เด็กแรกเกิด อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป จึงอาจเรียกได้ว่าตาเขเข้าด้านในชนิดแรกเกิด (infantile esotropia) หรือ “ตาไขว้” (crossed eye) สาเหตุที่แน่ชัดของเด็กตาเขพวกนี้ยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าอาจจะเป็นจากความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา การมองภาพระยะใกล้จำเป็นต้องเพ่ง หรือจ้องมากเกินไปทำให้ตาดำมุดเข้าหากัน หรืออาจมาจากความผิดปกติในตัวกล้ามเนื้อสำหรับกลอกตา หรือประสาทบังคับการทำงานกล้ามเนื้อตาไม่สมดุลกัน และสาเหตุอื่นๆ นั่นก็คือ ตาเหมือนคุณพ่อ คุณแม่ หรือปู่ย่าตาทวด คือเขตามกรรมพันธุ์นั่นเอง

ตาเขชนิดนี้ถ้ารีบพาไปหาจักษุแพทย์ สามารถรักษาหรือแก้ไขทันท่วงที จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้มาก มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อตาบอดมากเมื่อเด็กโตแล้ว

ข. ตาเขออกด้านนอก (exotropia) ลักษณะที่เห็นคือตาดำเบนหรือเฉียงออกด้านนอกหางตา พบได้น้อยกว่าชนิด ก. ไม่ค่อยพบในเด็กๆ พ่อแม่เด็กที่อุ้มลูกไปหาจักษุแพทย์มักจะอุ้มลูกที่มีตาเขชนิด “ไขว้” กัน(crossed eye) ไปหาแทบทั้งหมด มีชนิดตา “แยก” คือเขออกนอกน้อย (ภาพที่ 2)

ตาเขชนิดนี้มักเกิดร่วมกับภาวะดังต่อไปนี้

1. สายตาสั้น สายตาสั้นทำให้การมองภาพระยะไกลไม่ชัด การจ้องภาพไม่สามารถจะทำได้ดีด้วยตาทั้ง 2 ข้าง ตาใดตาหนึ่งอาจเบี่ยงเบนออกนอกแนวทางได้ นานๆเข้าถ้ายังไม่แก้ไขด้วยการสวมแว่นตาที่เหมาะสมกับสายตา ตาก็จะยิ่งเขออกนอกมากขึ้นเรื่อยๆ

2. ตาข้างที่เขมองไม่ชัด อาจจะเป็นเพราะโรคกระจกตาดำ เลนส์ตาขุ่น รูม่านตาตีบ วุ้นลูกตาขุ่น และประสาทจอรับภาพผิดปกติ เป็นผลให้ตาข้างนั้นไม่สามารถจะจับจ้องภาพได้ จึงเบนออกด้านนอก คนที่มีตาเขชนิดนี้ ถ้าซักถามประวัติภูมิหลังให้ละเอียด จะพบว่าในอดีตเคยประสบอุบัติเหตุไม้ทิ่มตา วัตถุแปลกปลอมเข้าตา จนทำให้เกิดแผลเป็นที่ตาดำ เลนส์ตาหรือประสาทจอรับภาพตาพิการมาก่อน

ค. ตาเขชนิดขึ้นบน (hypertroption) ตาเขชนิดนี้ตาดำลอยขึ้นบน อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา เป็นชนิดที่พบน้อย (ภาพที่ 3)

ง. ตาเขชนิดลงล่าง (hypotroption) ตาดำมุดลงล่าง เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อสำหรับกลอกตา หรือมีแผลเป็นที่กล้ามเนื้อตาหลังอุบัติเหตุ ดึงรั้งให้ลูกตามุดลงล่าง ชนิดนี้ก็พบน้อยเช่นกัน (ภาพที่ 4)

ชนิดที่ 4 ตาเขชนิดอัมพาตของประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อตา ตาเขชนิดนี้พบในผู้ใหญ่ พบน้อยในเด็ก สาเหตุมีหลายประการ เช่น

ก. กล้ามเนื้อกลอกตาอ่อนตัวหรือเป็นอัมพาต ทำให้การทรงภาวะตาตรงต่อไปไม่ได้ กล้ามเนื้อมัดตรงข้ามมีแรงดึงมากขึ้น จึงดึงลูกตาเอียงไปทางนั้น สาเหตุอาจมาจากการอักเสบที่ประสาทเส้นนั้น มีก้อนมะเร็งกดประสาท มีพยาธิ เช่น ตืดหมู ตัวจี๊ด เข้าไปฝังตัวในกล้ามเนื้อหรือเกิดจากอุบัติเหตุ มีแรงกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้ประสาทบังคับการกลอกตามัดใดมัดหนึ่งเป็นอัมพาตไปในทันทีทันใด
ตาเขชนิดนี้มักจะเป็นแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยสามารถสังเกตตนเองได้ภายหลัง มิได้เป็นมาตั้งแต่แรกเกิดเหมือนชนิดที่ 1

ข. เกิดตามหลังภาวะโรคระบบอื่นของร่างกาย เป็นต้นว่า โรคเบาหวานถ้าเป็นนานๆ ตาอาจเขออกนอกได้ หรือภาวะกล้ามเนื้ออ่อนกำลังจากโรคบางอย่าง (myasthenia gravis)

ค. มีโรคของระบบอื่นของร่างกาย ซึ่งพบไม่บ่อยนัก

การรักษาตาเขทำอย่างไร

การรักษาตาเขขึ้นกับชนิดของตาเข ที่สำคัญคือตาเขในเด็กเล็กๆต้องรีบรักษา จะสามารถทำให้ตาเป็นปกติ หรือเกือบปกติได้มาก ตรงข้าม ถ้าปล่อยทิ้งไว้ตาจะพิการและนำไปสู่ตาบอดได้ (ข้างที่เข) ตาเขในเด็กชนิดเข้าด้านในมักจะเกี่ยวพันกับสายตายาว การวัดสายตาให้เด็กสวมแว่นที่เหมาะสมกับสายตา จะสามารถแก้ภาวะตาเขได้มาก อาจมีการผ่าตัดเพิ่มเติมอีกภายหลัง

ส่วนตาเขชนิดอื่น ต้องตรวจดูสาเหตุก่อนว่าต้นเหตุมาจากอะไรให้แก้ไขต้นเหตุนั้นๆ เช่น ถ้าเขชนิดออกนอก เพราะมีก้อนมะเร็งกด ต้องผ่าตัดก้อนมะเร็งออก เกิดจากการอักเสบให้รักษาเรื่องอักเสบ เป็นต้น หรือถ้าเกิดจากเบาหวานก็ให้ควบคุมเบาหวานให้ได้ หรือจากอุบัติเหตุให้รอพักฟื้นประมาณหกเดือนจนกว่าทำทุกอย่างแล้วทุกอย่างไม่ดีขึ้น แก้ไขด้วยการผ่าตัดได้

การรักษาตาเขด้วยการผ่าตัดสามารถทำให้ตาตรงได้ใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่มีอันตราย การผ่าตัดตาเขให้ตรงแล้ว ที่สำคัญมาก คือ ต้องพยายามให้ตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้ด้วย (Binocular vision) แต่ถ้าทำไม่ได้ ตาตรงก็ถือว่าใช้ได้ในแง่ความสวยงาม

ถ้าไม่รักษาตาจะพิการถึงขั้นบอดไหม

ตาคนเราปกติจะมองเห็นสองข้างหรือใช้ตาทั้งสองข้างมาตามธรรมชาติ ยกเว้นความผิดปกติบางอย่างตามที่กล่าวมา จะทำให้แนวทางลูกตาเบี่ยงเบนไปจากแนวปกติเกิดภาวะเขได้ทันที เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องพยายามขจัดสาเหตุที่ทำให้ตาเขออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อตาจะได้เห็นชัดทั้งสองข้าง สภาพตาจะทรงตัวอยู่แนวตรง ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ทำ ตาข้างที่เขจะค่อยๆ มัวลงทีละน้อยจนกระทั่งแทบมองไม่เห็น ต่อไปแก้ไขไม่ได้ถึงขั้นพิการและบอดได้ (แต่ไม่ใช่บอดสนิท)

พอสรุปขั้นตอนของการรักษาตาเขได้ ดังนี้

1. ถ้าเด็กต่ำกว่า 6 ขวบ ต้องพยายามประคองเรื่องสายตา (visual acuity) ของตาทั้งสองให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กตาเขปล่อยทิ้งไว้ตาข้างที่เขจะมีสายตาเสื่อมลงเรื่อยๆ จนถึงระยะใช้การไม่ได้ ทำให้ตาข้างนั้นพิการ ระยะที่เหมาะที่ควรรีบรักษาคืออายุ 6 เดือนแรก จนกระทั่งถึง 2 ขวบ เด็กพวกนี้เท่าที่พบส่วนใหญ่มักเป็นตาเขชนิดตาดำชนกัน คือ เขเข้าใน (esotropia) มีความผิดปกติของสายตาร่วมด้วยเสมอ มักเป็นชนิดสายตายาว ต้องเป็นแว่นตาชนิดเลนส์นูน ต้องพยายามให้เด็กสวมแว่นตาไว้เมื่ออายุ 2 ขวบ หรือ 3 ขวบ แต่ในระยะแรกเริ่มที่ตรวจวัดสายตาไม่ได้แน่ชัด ต้องพยายามบังคับให้เด็กใช้ตาทั้งสองสลับกัน คือปิดตาข้างที่ตรง บังคับให้ตาข้างที่เขมองบ้าง เพื่อกันภาวะสายตาเสื่อม ทั้งนี้และทั้งนั้นต้องอยู่ในดุลยพินิจของจักษุแพทย์ผู้ตรวจพบนั่นเอง

2. ควรได้ตรวจประสาทตา (fundus) ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ เพื่อขจัดสาเหตุของโรคบางชนิดที่เป็นผลให้ตาเบี่ยงเบน จนเขผิดทิศทางได้

3. อาจต้องมีการฝึกใช้ตาทั้งสองร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ในการมองภาพวัตถุ ป้องกันมิให้ใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งเป็นนิจสิน (orthoptic training)

4. ควรวัดสายตาดูว่ามีภาวะสายตาผิดปกติแบบไหน ควรแนะนำให้สวมแว่นที่ตรงกับสายตา จะทำให้การมองเห็นของตาทั้งสองดีขึ้น ไม่ควรตกใจหรือสงสัยว่าเป็นเด็กตัวนิดเดียวต้องสวมแว่นตาแล้วหรือ เด็กเล็กต้องสวมแว่นเพื่อให้ตาทั้งสองเห็นชัดดี เด็กจะสบายตา ตาอาจตรงกลับคืนมาได้เหมือนปกติในเด็กตาเขบางชนิด (accommodative esotropia)

5. หลังจากปฏิบัติการทั้ง 4 ข้อข้างบนแล้ว ยังมีภาวะตาเขหลงเหลือให้เห็นอยู่ ควรทำผ่าตัดดึงกล้ามเนื้อตาให้ลูกตาอยู่ในแนวที่ต้องการใกล้เคียงธรรมชาติ การผ่าตัดตาเข คือ การผ่าตัดเลื่อนหรือตัดกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กลอกตาใหม่ เปลี่ยนตำแหน่งลดขนาดความยาวกล้ามเนื้อโดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม อาศัยการวัดมุมเขที่เหลือด้วยเครื่องมือพิเศษ การผ่าตัดแทบจะไม่เห็นแผลเป็น หรือร่องรอยการทำเลย เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไปสองถึงสามเดือน

6. ในผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 6 ขวบขึ้นไป มีภาวะตาเข การรักษาอาจใช้หลักการในข้อ 1 ก่อนได้ จนกระทั่งอายุถึง 10 หรือ 12 ขวบ ถ้าเกินจากนั้นไปการรักษามักจะทำเพื่อหวังผลในด้านความงาม คือ ให้ตาตรงเท่านั้น

7. ในผู้ป่วยกลุ่มผู้ใหญ่ ตาเขในคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปจนกระทั่งถึง 50 หรือ 60 ปี ลักษณะตาเขค่อนข้างถาวร คือ เป็นข้างใดข้างหนึ่งแน่นอน (constant) แต่มีบางรายที่อาจพบว่า ไม่ทราบเขข้างไหนแน่ สลับไปมา บางครั้งเห็นเขตาซ้าย บางครั้งเขตาขวา (alternating) พวกนี้มักจะเป็นตาเขชนิดเขออกด้านนอกเป็นส่วนใหญ่ เขเข้าในพบน้อย ต้องตรวจดูก่อนว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาหรือเปล่า ถ้ามีก็แก้ไขด้วยการสวมแว่นตาก่อน มุมเขที่เหลือค่อยผ่าตัด ถ้าสายตาปกติดี แต่ตาเข อาจผ่าตัดให้ใกล้เคียงธรรมชาติได้เลย เพื่อความสวยงาม

8. ตาเขชนิดเกิดจากอุบัติเหตุมักจะให้ยาช่วยบำรุงประสาทตา และรอจนกว่าประสาทตาฟื้นประมาณ 6 ถึง 8 เดือน ถ้าไม่หายสนิทผ่าตัดมุมที่เหลือ

9. ตาเขที่เกิดจากโรคระบบอื่นของร่างกาย เป็นต้นว่ามีต้นเหตุที่ชัดเจนไปกดประสาทบังคับการทำงานของกล้ามเนื้อตา ต้องพยายามขจัดสาเหตุ หรือจากโรคเบาหวาน พยายามควบคุมเบาหวานให้ปกติ และอื่นๆ

จึงเห็นได้ว่า การปฏิบัติและรักษาคนตาเขไม่ใช่ทำกันทันทีทันใด ต้องเป็นไปตามขั้นตอน อีกทั้งการกระทำทั้งหมดบางรายสามารถรักษาให้หายกลับคืนสู่ปกติได้เกือบสนิท บางรายแก้ได้ใกล้เคียง บางรายเพื่อลบรอยผิดปกติหรือปมด้อยให้เลือนรางเท่านั้น เพราะมีคำพังเพยของจักษุแพทย์ผู้รักษาตาเขที่มีชื่อเสียงกล่าวไว้ว่า “ตาใดที่เคยผิดปกติมาแล้ว ความผิดปกติย่อมเหลืออยู่ แต่แพทย์จะให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้เท่านั้น...” ไม่มีสิ่งใดจะมาแน่นอนและแม่นยำเหมือนเทวดาปั้นได้ (...ผมเอง)

ข้อมูลสื่อ

124-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์