• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การผ่าตัดเปลี่ยนตับ

การผ่าตัดเปลี่ยนตับ

ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย เปรียบเสมือนโรงงานทางเคมีโรงใหญ่ รวมทั้งเป็นโกดังเก็บของและโกดังไฟฟ้า ตำแหน่งของตับอยู่ใต้ชายโครงข้างขวา ทอดยาวไปทางด้านซ้ายอยู่ใต้กะบังลม  ตับมีความสามารถมาก ไม่เคยหยุดทำงานเลยตลอดชีวิตของคนเรา แม้ว่าตับจะอักเสบหรือเสียไปเป็นบางส่วน แต่ตับส่วนที่เหลือก็จะทำหน้าที่ทดแทนได้เพียงพอ แต่หากตับเสียไปมาก การทำงานของตับก็จะถูกกระทบกระเทือนเช่นเดียวกัน

เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก และมีอยู่เพียงอันเดียว จึงถือว่ามีความสำคัญมาก และในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า มีผู้ป่วยตายด้วยโรคตับเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนตับประสบผลสำเร็จมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องตับระยะสุดท้ายได้

บุคคลที่มีส่วนสำคัญของความสำเร็จดังกล่าว คือ นายแพทย์สุทัศน์ ศรีพจนารถ และนายแพทย์สิโรจน์ กาญจนปัญจพล อาจารย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แสดงทรรศนะและข้อคิดเห็นบางแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนตับให้ผู้อ่านได้รับทราบ

มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ป่วยที่จะรับการเปลี่ยนตับอย่างไร

จะเปลี่ยนให้กับผู้ที่เป็นโรคตับระยะสุดท้าย และมะเร็งตับ แต่ต้องเป็นมะเร็งเฉพาะในตัวตับเอง ไม่ได้ลุกลามไปที่อื่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง หรือปอด ถ้าเป็นโรคตับแข็งต้องอยู่ระยะสุดท้ายของโรค หรือโรคที่เกิดในเด็กบางคนที่เกิดมาไม่มีทางเดินน้ำดี เป็นต้น

การผ่าตัดเปลี่ยนตับ ถ้าร่างกายไม่ยอมรับจะมีทางแก้ไขอย่างไร

โดยปกติทั่วไปแล้วร่างกายยอมรับได้ดี ตับที่ได้รับการเปลี่ยนจะทำงานได้ทันทีเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านไม่ยอมรับ ซึ่งต้องเพิ่มขนาดยากดภูมิต้านทานคือ ไซโคลสปอรินและสตีรอยด์ ประมาณร้อยละ 90 สามารถจะหยุดปฏิกิริยาต่อต้านไม่ยอมรับได้

ถ้ามีผู้ป่วยต้องการเปลี่ยนตับหลายคน การพิจารณาว่าจะเปลี่ยนให้ใครก่อนมีหลักเกณฑ์อย่างไร

หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาโดยดูจาก

1. กลุ่มเลือดที่ตรงกัน จึงจะผ่าตัดใส่ให้กันได้

2. ขนาดของร่างกาย ต้องมีน้ำหนักเท่าๆ กัน เพราะตับจะมีขนาดไล่เลี่ยกัน และเวลาใส่เข้าไปจะไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป

3. ความจำเป็นรีบด่วน กรณีของคนที่ใกล้จะตาย จะให้รอต่อไปไม่ได้แล้ว ถ้ามีคนบริจาคตับให้ ก็ควรเปลี่ยนให้ผู้ป่วยรายนี้ก่อน

4. เลือกผ่าตัดให้รายที่สามารถมีชีวิตยืนยาวได้เหมือนกับคนปกติหลังผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย ซึ่งต่างจากผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับ คือ อาจมีอายุอยู่ได้ไม่นานนัก

หลังจากผ่าตัดเปลี่ยนตับ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเลี่ยงจากภาวะที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น ควรกินอาหารที่สุกเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจทำให้เกิดอุจจาระร่วง อย่าอยู่ในที่แออัด ที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก หลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้คนที่เป็นหวัด เป็นไข้ เพราะถ้ามีเชื้อโรคเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยตับ มักจะแพร่กระจายได้ดีกว่าคนปกติเพราะว่าได้รับยากดภูมิต้านทานไว้ และควรออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ถ้าเกิดภาวะติดเชื้อหรืออุจจาระร่วงต้องรีบมาพบแพทย์ เพราะต้องควบคุมระดับยากดภูมิต้านทาน โดยการให้ยาทางเส้นเลือด

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต่อคนประมาณเท่าไหร่

ตกประมาณรายละ 1.5-2 แสนบาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่ายาและค่าห้องปฏิบัติการ จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ระดับยาบ่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะควบคุมปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะไว้ได้ หลังออกจากโรงพยาบาลก็ยังต้องกินยากดภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต โดยจะต้องเสียค่ายาอีกประมาณ 7,000-10,000 บาทต่อเดือน

ผู้ที่จะบริจาคตับมีข้อจำกัดอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่ได้ตับจากผู้ป่วยที่สมองตายแล้ว ถ้าสมองตาย (ก้านสมองตาย) ทางการแพทย์ถือว่าคนๆนั้นตายแล้ว สำหรับการวินิจฉัยจะมีการตรวจส่วนต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น ไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ไม่มีความเจ็บปวด ไม่สามารถหายใจได้ โดยไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ส่วนใหญ่จะได้มาจากผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง หรือเส้นเลือดในสมอง และได้รับการวินิจฉัยว่า มีสมองตายเราสามารถนำตับไปใช้ได้ แต่ถ้าผู้ป่วยตายไปแล้ว (หัวใจหยุดเต้น) ก็ใช้ไม่ได้

ญาติของผู้ป่วยที่สมองตายมีการยอมรับมากน้อยแค่ไหน

ต้องเข้าใจว่าร่างกายของคนเราถ้าสมองตาย หัวใจและอวัยวะอื่นๆ จะเสียภายในระยะเวลาอันสั้น ร้อยละ 100 จะเสียชีวิตแน่นอน การที่จะลงความเห็นว่าผู้ป่วยตายแล้วจะต้องมีแพทย์ (ซึ่งไม่ใช่แพทย์ทีมผ่าตัดนี้) วินิจฉัยอย่างน้อย 2 คน หลังจากนั้นต้องรออีก 12 ชั่วโมง เมื่อครบ 12 ชั่วโมงจะตรวจดูอีกครั้งหนึ่งว่าผู้ป่วยรายนี้สมองตายแน่ จึงจะคุยกับญาติว่าจะบริจาคอวัยวะให้โรงพยาบาลหรือไม่ เพราะผู้ป่วยรายอื่นที่เป็นโรคบางอย่างที่สามารถช่วยชีวิตได้จากการผ่าตัดเปลี่ยนตับ เช่น โรคตับวาย ไวรัสตับอักเสบ ถ้าได้มีการเปลี่ยนตับก็สามารถเป็นปกติเหมือนเดิมได้

สามารถบริจาคอวัยวะตับได้ที่ไหน

สามารถบริจาคได้ที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมาขึ้นทะเบียน ขณะนี้ยังไม่มีกฎเกณฑ์อะไร ต่อไปคงต้องมีกฎเกณฑ์ต่างๆมากขึ้น และตอนนี้มีที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์มีอะไรฝากข้อคิดถึงผู้อ่านบ้าง

โรคตับส่วนใหญ่ที่เป็นกัน คือ ไวรัสตับอักเสบ บี ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็น ก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกันให้ลูก สำหรับคนที่ไม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ก็ต้องระวังรักษาในแง่ของสุขภาพส่วนตัว อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น สำหรับผู้ป่วยที่สมองตาย อยากจะให้ช่วยกันบริจาคอวัยวะเพื่อที่จะสามารถช่วยผู้อื่นให้มีชีวิตต่อไปได้ เพราะร่างกายคนเราถึงเวลาก็เผาทิ้งไป คิดว่าเป็นการทำบุญกับผู้อื่น สังคมเราอยู่ร่วมกัน ต้องมีการให้และมีการรับจึงจะทำให้สังคมดีขึ้น

ข้อมูลสื่อ

124-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
เรื่องน่ารู้