• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปรัชญาการแพทย์ตะวันออก (ตอนที่ 2)

ปรัชญาการแพทย์ตะวันออก (ตอนที่ 2)

ครั้งที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงการแพทย์ตะวันออก โดยกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของแพทย์จีนที่ได้มีการรวบรวมประสบการณ์ของการแพทย์จีนตั้งแต่โบราณกาล มีบันทึกไว้ว่า “เน่ยจิง” เป็นหนังสือแพทย์จีนในประวัติศาสตร์เล่มแรกที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาทฤษฎีแพทย์จีนในระยะต่อมา ผู้เขียนจึงขอเสนอสาระสำคัญของหนังสือเน่ยจิงเพื่อที่จะให้การศึกษาการแพทย์อื่นเป็นไปอย่างรอบด้านมากขึ้นโดยสรุปย่อๆ ดังนี้

1. ทรรศนะความเชื่อ

ก. ไม่เชื่อในไสยศาสตร์ ความคิดนี้ได้สะท้อนให้เห็นได้ชัด ในการสนทนาระหว่างกษัตริย์หวงตี้และอำมาตย์ฉีเปาะ

ข. การเกิดของโรคจะต้องมีสาเหตุ เน่ยจิงสรุปไว้ว่า การเกิดของโรคนั้นเกิดขึ้นเพราะปัจจัยภายนอกร่างกาย หรืออาจเกิดเพราะปัจจัยภายในร่างกาย

ค. ธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ที่สามารถเข้าใจได้ ยิน-หยาง ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง เป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้าหากวิถีแห่งการดำเนินชีวิตขัดกับกฎเกณฑ์นี้ ก็จะเกิดโรคภัย แต่ถ้าปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ ก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ง. วัตถุเป็นพื้นฐานในการวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยโรคนั้นสามารถใช้มือสัมผัส หูฟัง ตามอง ซึ่งมีพื้นฐานทางวัตถุ ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝันเลื่อนลอย

2. ทรรศนะทางความคิด

ก. ทรรศนะที่มองว่า สรรพสิ่งมีความสัมพันธ์กัน ในด้านสรีรวิทยา เน่ยจิงกล่าวไว้ว่า อวัยวะภายในมีความสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างแยกไม่ออก

ข. ทรรศนะที่มองว่า สรรพสิ่งต้องมีการพัฒนา เน่ยจิงได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า โรคที่เกิดนั้นมีการดำเนินและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

3. การรับรู้ทางกายวิภาคศาสตร์

ก. กายวิภาคศาสตร์ (ภายนอก) เนื่องจากเนื้อหาส่วนใหญ่ของเน่ยจิงกล่าวถึงการปักเข็ม ตำแหน่งจุดในการปักเข็มจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อที่จะบ่งบอกตำแหน่งจุดที่แน่นอน ก่อนอื่นจะต้องบ่งบอกจุดเด่นบางอย่างบนร่างกายภายนอกให้ได้ชัดเจน ดังนั้น จึงใช้กระดูกเป็นมาตรฐานในการบอกตำแหน่งของจุดปักเข็มที่แน่นอนได้

ข. ลักษณะเฉพาะของร่างกาย เน่ยจิงได้แบ่งลักษณะของร่างกายเป็นประเภท ไท่ยิน ซ่าวยิน ไท่หยาง ซ่าวหยาง และคนที่มีลักษณะยิน-หยางเท่ากัน ถ้าแบ่งตามธาตุก็สามารถแบ่งได้ 5 ลักษณะ คือ ดิน น้ำ ไม้ ไฟ และทอง เช่นกัน

นอกจากนี้ ในแต่ละลักษณะยังสามารถแบ่งออกเป็นลักษณะย่อยอีก 5 ลักษณะ รวมทั้งหมดเป็น 25 ลักษณะ การแบ่งลักษณะของร่างกายในลักษณะต่างๆ จะสามารถบ่งบอกได้ว่า รูปร่าง และลักษณะของร่างกายแต่ละแบบจะเกิดโรคอะไรได้ง่าย

การแบ่งลักษณะของร่างกายแบบนี้ คล้ายกับการแบ่งของฮิปโปเครตีส (Hippocrates พ.ศ.83-166) ซึ่งแบ่งลักษณะของร่างกายมนุษย์ออกเป็น 4 ลักษณะ คือ เลือด ของเหลวข้น น้ำดีสีเหลือง และน้ำดีสีดำ ความแตกต่างระหว่างเน่ยจิงและบทนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสนั้นแตกต่างกันที่เน่ยจิงศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์ ส่วนฮิปโปเครตีสศึกษาทางด้านสรีรวิทยาเป็นหลัก

ค. ความยาวของทางเดินอาหาร เน่ยจิงได้เปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่างทางเดินอาหารกับลำไส้เป็น 1 : 36 แต่ในหนังสือภาพทางกายวิภาคศาสตร์ของสแปลทิโฮลซ์ (Spalteholz) เป็นอัตราส่วน 1 : 37 จะเห็นได้ว่าใกล้เคียงกันมาก

4. ทางสรีรวิทยา

ก. เน่ยจิงเรียกเลือดว่า หยิงฉี่ เน่ยจิงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า อาหารที่เรากินเข้าไปผ่านย่อยแล้วแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ไม่ต้องการก็จะถูกขับออกนอกร่างกาย ส่วนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็จะถูกนำไปหล่อเลี้ยงร่างกาย โดยไหลเวียนไปตามหลอดเลือด สิ่งนี้เรียกว่า หยิงฉี่

ข. หยิงฉี่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือด (แมะ) เลือดหรือหยิงฉี่ไหลเวียนอยู่ภายในแมะ ซึ่งเป็นเหมือนท่อ ไม่สามารถไหลออกไปข้างนอกได้

ค. เลือดที่ไหลเวียนในแมะนั้นไหลเวียนตลอดเวลา เน่ยจิงกล่าวว่า การไหลเวียนของเลือดนั้น เหมือนน้ำที่ไหลเวียนไม่หยุด ดังห่วงที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เลือดที่ไหลเวียนจะทำหน้าที่หล่อเลี้ยงอวัยวะภายในและผิวหนังภายนอก

ง. หลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง แม้เน่ยจิงยังไม่สามารถแบ่งหลอดเลือดทั้ง 2 ชนิดให้เห็นความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน แต่เน่ยจิงก็สามารถบอกได้ว่ามีเลือด 2 ชนิดที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงซีรัม (serum) ในเลือดอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดที่กล่าวข้างต้น เน่ยจิงมีทรรศนะที่แจ่มชัดเป็นเวลานานกว่า 2 พันปีมาแล้ว แม้แต่ฮิปโปเครตีสบิดาการแพทย์ตะวันตก ซึ่งมีชีวิตอยู่ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับเน่ยจิง ก็ยังไม่สามารถเข้าใจว่าเลือดมีการไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราช อิราซิสเทรทุส (Erasistratus) แห่งอเล็กซานดรา (Alexandra) จึงเริ่มรู้ว่า เลือดนั้นมีการไหลไม่หยุดนิ่ง หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 2 กาเลน (Galen) ชาวโรมันได้ชี้บ่งอย่างชัดเจนว่า เลือดนั้นไหลคล้ายกับกระแสน้ำ แต่ยังไม่ได้รู้ลึกลงไปอีกว่า มีการไหลเวียนแบบวงจร ความคิดของกาเลนได้ครอบงำสังคมยุโรปมานานเป็นเวลากว่า 1,000 ปี

แม้ในศตวรรษที่ 13 นาฟิส (Ibn al Nafis) จึงเริ่มเข้าใจระบบไหลเวียนย่อยๆ แต่ในแวดวงแพทย์ตะวันตกก็ยังไม่ทราบในเรื่องนี้ จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 เซอร์เวทุส (Servetus) ชาวสเปน และโคลอมโบ (Colombo) ชาวอิตาลีได้รู้ถึงระบบไหลเวียนย่อยๆ ซีซอลปิโน (Cesalpino) ชาวอิตาลี ได้รู้ว่าหลอดเลือดดำไหลเข้าสู่หัวใจ และเลือดจากหัวใจจะไหลไปตามหลอดเลือดแดงเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเริ่มมีการใช้คำว่า การไหลเวียน (circulation) ขึ้นเป็นครั้งแรก ในศตวรรษที่ 17 ฮาร์เวย์ (William Harvey) และอาจารย์ของเขา ฟาบริซิโอ (Fabrizio) ชาวอังกฤษได้อาศัยพื้นฐานจากการค้นพบลิ้นหลอดเลือดดำ (Valvula venosa) ทำให้ค้นพบระบบไหลเวียนของเลือด หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2204 มัลปิจิ (Malpighi) ชาวอิตาลี ได้ค้นพบการไหลเวียนของหลอดเลือดฝอย (capillary circulation) จึงทำให้ทฤษฎีการไหลเวียนของเลือดสมบูรณ์ขึ้น

ข้อมูลสื่อ

124-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
วิทิต วัณนาวิบูล