• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

สภาพผิดปกติ

367. หืด

มีเด็กจำนวนน้อยที่เพิ่งเริ่มมีอาการเป็นหืดในวัยนี้ ส่วนใหญ่เด็กมักมีเสมหะมากและหายใจฟืดฟาดบ่อยๆ มาตั้งแต่วัยทารก พออายุได้ 4 ขวบ เกิดหายใจผิดปกติตอนกลางคืน พาไปให้แพทย์ตรวจ แพทย์ก็บอกว่าเป็นหืด หากเด็กแสดงอาการเป็นหืดสัก 2-3 ครั้ง (โปรดย้อนไปอ่านหัวข้อ 339 โรคหืดในเด็ก ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 113 เดือนกันยายน 2531 หน้า 70-71 อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง) แทนที่จะคิดว่าควรหายาดีๆ หรือแพทย์ดังๆ ที่ไหนมารักษาลูก น่าจะทบทวนดูเสียก่อนว่ามีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ลูกสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปหรือไม่

เป็นต้นว่า เมื่อก่อนนี้พ่อแม่ลูกแยกครอบครัวอยู่กันตามลำพัง แต่เกิดมีความจำเป็นที่จะต้องย้ายมาอยู่ร่วมบ้านกับคุณย่าหรือคุณยาย ผู้สูงอายุมักเป็นห่วงสุขภาพของหลานเป็นอันมาก หากเด็กมีอาการเป็นหืดหลังจากย้ายบ้าน ก็แสดงว่า การดูแลมากเกินไปเป็นต้นเหตุของอาการ เนื่องจากเด็กสูญเสียความรู้สึกพึ่งตนเอง หรือหลังจากที่คุณพ่อมีธุระต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศมากขึ้น ลูกก็เริ่มแสดงอาการเป็นหืด สาเหตุอาจเป็นเพราะเด็กเกิดความรู้สึกติดแม่มากขึ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อเด็กมีอาการเป็นหืด ควรวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและแก้ปัญหานั้นเสียก่อน หากเด็กยังมิได้ไปโรงเรียนอนุบาล น่าจะลองส่งไป เพราะการไปโรงเรียนช่วยให้เด็กพัฒนาความรู้สึกพึ่งตนเอง ไม่ควรพาเด็กไปรักษากับแพทย์คนนั้นคนนี้ตามคำเล่าลือที่ว่า แพทย์คนนั้นรักษาโรคหืดได้เก่งเด็ดขาดนัก เพราะการย้ายจากแพทย์คนเดิมที่รักษาอยู่ไม่ได้ช่วยให้โรคหืดดีขึ้น มีแต่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเป็นโรคร้ายแรง รักษาไม่หายสักที จนต้องย้ายไปรักษากับแพทย์หลายคน เด็กจึงเกิดความกลัว ไม่กล้าเล่นกับเพื่อนฝูง เอาแต่หมกตัวอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์อยู่ในบ้านจนกลายเป็น “เด็กแก่แดด” ทั้งยังเกิดอารมณ์ต่อต้านพ่อแม่ เพราะความรู้สึกขัดแย้งที่มีอยู่ในตัว กล่าวคือ ใจหนึ่งยังหวังพึ่งพ่อแม่ แต่อีกใจหนึ่งอยากเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งก็ทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ “หืด” จึงกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้การอบรมลูกพลอยไม่ได้ผลไปด้วย ดังนั้น พ่อแม่ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เราจะเลี้ยง “ลูก” มิใช่เลี้ยง “หืด”

368. เลือดกำเดาออก

บางครั้ง หลังจากเด็กตื่นนอนตอนเช้า คุณแม่เห็นคราบเลือดติดอยู่บนปลอกหมอนหรือผ้าปูที่นอนก็รู้สึกตกใจ เมื่อตรวจดูจมูกของลูกก็พบคราบเลือดแห้งกรังติดอยู่เช่นกัน แสดงว่าเมื่อคืนนี้มีเลือดกำเดาออกแต่เด็กมิได้รู้สึกทุกข์ทรมาน จึงไม่ปลุกคุณแม่กลางดึก แสดงว่าเป็นเรื่องธรรมดาคงไม่มีปัญหาอะไร แม้ว่าในบางครั้งเด็กอาจร้องเรียกให้คุณแม่มาดูเลือดกำเดาออกตอนกลางคืน แกก็มิได้แสดงอาการเจ็บปวด เลือดกำเดาแบบนี้มีบ่อย ส่วนเลือดกำเดาซึ่งเป็นอาการของโรคเลือดบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไอทีพี (idiopathic thrombocytopenic purpura) และโรคดิฟทีเรียจมูก (nasal diphtheria) นั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก

สาเหตุของเลือดกำเดาชนิดปกติธรรมดาซึ่งอาจเกิดขึ้นได้บ่อยโดยที่เด็กไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเลยนั้น เรายังไม่ทราบแน่ชัด บางทีอาจเกิดจากการแคะจมูกแรงๆ จนทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณเยื่อจมูกแตกและมีเลือดไหลออกมา เด็กบางคนก็มีเลือดกำเดาออกหลังจากกินของหวานหรือของมันมากเกินไป เช่น ช็อกโกแลต ถั่วลิสงมันหมู เป็นต้น เลือดกำเดามักเริ่มออกเมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ แต่พบมากในวัย 4-5 ขวบจนถึงชั้นประถมต้น บางคนนานๆ ครั้งจึงจะมีเลือดกำเดาออก แต่บางคนก็ออกบ่อยจนคุณแม่ชินไปเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเลือดกำเดาออกครั้งแรก ควรพาเด็กไปให้หมอตรวจดูว่า มีเลือดออกใต้ผิวหนัง ตามลำตัวด้วยหรือไม่ เพราะเด็กที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคไอทีพีจะมีพรายย้ำ จ้ำเขียว หรือจุดแดงขึ้นตามตัว หรืออาจมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก ซึ่งทำให้เลือดกำเดาออก หากไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ก็แสดงว่า เป็นเลือดกำเดาธรรมดาซึ่งไม่มีปัญหา และอาจเกิดขึ้นได้อีก เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรจดจำอาการของลูกไว้ให้ดี คราวต่อไปพอเลือดกำเดาออกอีกจะได้ไม่ตกใจ

วิธีปฐมพยาบาลก็ไม่ยุ่งยาก ให้ลูกนั่งเงยหน้าหรือก้มหน้ามากๆ แล้วใช้นิ้วบีบปีกจมูกทั้งสองข้างเอาไว้บอกให้เด็กหายใจทางปาก ทำเช่นนี้สัก 2-3 นาที เลือดก็จะหยุด หากยังไม่หยุดให้ใช้สำลีสะอาดอุดจมูกเอาไว้จนกว่าจะหยุด เรายังไม่มีวิธีป้องกันมิให้เลือดกำเดาออก แต่ถ้ารู้ว่าเด็กมักเป็นหลังจากกินของหวานจัด มันจัด ก็ต้องจำกัดปริมาณอาหารประเภทนั้น และให้กินผักผลไม้มากขึ้น ในบางกรณี เด็กอาจมีเลือดกำเดาทุกวัน ติดต่อกันประมาณหนึ่งเดือน ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ควรให้กินตับและไข่แดงมากขึ้น เพื่อป้องกันโรคเลือดจาง

ข้อมูลสื่อ

124-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532