• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิจัยพบคดีฆาตกรรมร้ายแรงในสหรัฐอเมริกา ครึ่งหนึ่งมาจากอิทธิพลของโทรทัศน์

วิจัยพบคดีฆาตกรรมร้ายแรงในสหรัฐอเมริกา ครึ่งหนึ่งมาจากอิทธิพลของโทรทัศน์

เด็กโตๆ โดยเฉลี่ยแล้วดูโทรทัศน์สัปดาห์ละ 20-25 ชั่วโมง ทำให้ไม่ได้ใช้เวลาหรือทำให้เสียเวลาในการไปทำสิ่งอื่นๆ เพื่อการพัฒนาตัวเอง เช่น การเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อหาทักษะหรือความชำนาญในการดำรงชีวิต การสร้างมิตรสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งทำให้เสียในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง

ดร.แบรนดอน เซ็นเตอร์วอลล์ ศาสตราจารย์ระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันได้วิจัยพบว่า คดีอาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ครึ่งหนึ่งมีส่วนเกี่ยวพันโดยตรงจากการดูโทรทัศน์ ซึ่งเขาได้ศึกษาเรื่องนี้มาถึง 7 ปี และสรุปว่า “ถ้าหากว่าไม่มีโทรทัศน์แล้ว คดีฆาตกรรมในสหรัฐฯ ปีละ 10,000 รายจะน้อยกว่านี้มาก”

ดร.เซ็นเตอร์วอลล์ ได้ทำการศึกษาวิจัยการดูโทรทัศน์ และสถิติฆาตกรรมในกลุ่มคนผิวขาวของสหรัฐฯ แคนาดา และแอฟริกาใต้ถึง 3 ประเทศ การที่เขาศึกษาเพียงกลุ่มคนผิวขาวนั้นเพราะว่าคนกลุ่มนี้มีเครื่องรับโทรทัศน์เป็นกลุ่มแรกในแต่ละประเทศ และพบว่า ในแต่ละประเทศนั้น คดีฆาตกรรมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในระยะ 10-15 ปี หลังจากที่มีการติดตั้งโทรทัศน์ในประเทศนั้นๆ

ดร.เซ็นเตอร์วอลล์ มีความเชื่อว่า เด็กได้รับอิทธิพลจากโทรทัศน์มากกว่าผู้ใหญ่ และต้องใช้เวลา 10-15 ปีสำหรับ “คนดูโทรทัศน์ยุคแรก” ที่จะโตขึ้น และมีผลกระทบมาถึงสถิติการฆาตกรรมที่เพิ่มขึ้น เพื่อพิสูจน์ว่า การดูโทรทัศน์กับคดีฆาตกรรมมีความสัมพันธ์กัน เขาได้ชี้ให้เห็นว่า หลังจากมีการตั้งสถานีโทรทัศน์ในสหรัฐฯ ในระยะ 10-15 ปี คดีฆาตกรรมได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ดร.เซ็นเตอร์วอลล์ ได้ชี้ต่อไปว่า ในแอฟริกาใต้ไม่มีโทรทัศน์ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2518 คดีฆาตกรรมในหมู่คนผิวขาวยังคงที่ ในขณะที่สหรัฐฯ และแคนาดาระหว่างปี พ.ศ.2503 และ 2513 คดีฆาตกรรมได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแล้ว แต่ในทุกวันนี้คดีฆาตกรรมที่แอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเช่นกัน

ดร.เซ็นเตอร์วอลล์ ได้อธิบายว่า สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการดูโทรทัศน์กับสถิติอาชญากรรมก็คือ “เด็กโตๆ โดยเฉลี่ยแล้วดูโทรทัศน์สัปดาห์ละ 20-25 ชั่วโมง ทำให้ไม่ได้ใช้เวลาหรือทำให้เสียเวลาในการไปทำสิ่งอื่นๆ เพื่อการพัฒนาตัวเอง เช่น การเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อหาทักษะหรือความชำนาญในการดำรงชีวิต การสร้างมิตรสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งทำให้เสียในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นต้น”

ดร.เซ็นเตอร์วอลล์กล่าวต่อไปว่า การเชื่อมโยงหรือการเคลื่อนจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เมื่อเด็กไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในกระบวนการพัฒนาตนเอง ก็อาจจะไปเพิ่มความก้าวร้าวรุนแรงในภายหลังขึ้นมาได้

(จาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2532 หน้า 6,14)

ข้อมูลสื่อ

125-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532