• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หลายหลากข้อกังขาการใช้ยาในโรคเรื้อรัง

หลายหลากข้อกังขาการใช้ยาในโรคเรื้อรัง


ถ้าจะกล่าวถึงโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้มากในผู้ที่ย่างเข้าสู่วัยกลางคนที่มีพฤติกรรมการกินอาหาร หรือพฤติกรรมการปฏิบัติตัวที่ไม่ค่อยจะเหมาะสมนัก
ในการบำบัดรักษานั้น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่ก็คงจะคุ้นเคยกับคำแนะนำ จากบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลที่ให้กินยาที่ได้รับอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตามที่แพทย์สั่ง และให้ปรับพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในคนส่วนใหญ่ จึงมักมีข้อสงสัยในเรื่องการใช้ยาเกิดขึ้นดังนี้

⇒ ทำไมจะต้องกินยาต่อเนื่องไปตลอดด้วย ในเมื่อไม่เห็นความผิดปกติอะไรเลย
สาเหตุที่จะต้องกินยา ก็เพื่อที่จะควบคุมอาการที่เป็นอยู่ไม่ให้เป็นมากขึ้น เนื่องจากโรคเรื้อรังต่างๆ เหล่านี้ มักไม่มีอาการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด อาการของโรคจะแสดงให้เห็นเมื่อโรคนั้นมีอาการรุนแรงมากแล้ว ซึ่งค่อนข้างอันตราย สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาได้
โรคแทรกซ้อนที่ว่านี้มีความน่ากลัวมากกว่าโรคที่เป็นอยู่เดิมหลายเท่านัก เช่น โรคเบาหวาน ถ้าไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี อาจทำให้เกิดการเสื่อมของระบบสมอง หัวใจ ไต ตาและหากเกิดแผลเรื้อรังจะทำให้แผลหายยาก อาจเกิดเนื้อตาย ในบางรายอาจทำให้ต้องเสียอวัยวะนั้นไปได้ หรือโรคความดันเลือดสูง หากละเลยไม่กินยา ปล่อยให้ความดันยังคงสูงอยู่เรื่อยๆ
นานเข้าก็จะมีโอกาสเกิดหลอดเลือดในสมองแตก หัวใจก็จะต้องทำงานหนักขึ้น อาจเกิดหัวใจวายได้
เช่นเดียวกับโรคไขมันในเลือดสูง ถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้โดยไม่ทันรู้ตัว

ดังนั้น แทนที่เราจะมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ทีหลัง ถ้าเรากินยาควบคุมอาการตั้งแต่ตอนนี้เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะไม่เกิดตามมา ถึงแม้เราจะยังเป็นโรคอยู่ ก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนอื่นๆ ได้เหมือนกัน
 

⇒ แล้วจะต้องกินยาไปนานแค่ไหน มีโอกาสที่จะหายไม่ต้องใช้ยาต่อหรือไม่
ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคเรื้อรังจะต้องกินยาไปตลอด ชีวิต เพื่อควบคุมโรคไม่ให้เป็นรุนแรงมากขึ้น
และไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่ยังมีคนส่วนหนึ่งที่มีอาการยังไม่มากถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ตามที่บุคลากรทางการแพทย์แนะนำ อาจจะดีขึ้นโดยไม่ต้องกินยาเลยก็ได้ เช่น ถ้าตรวจพบน้ำตาลในเลือดสูง แต่ยังสูงไม่มาก ผู้ป่วยก็มักจะถูกแนะนำให้ควบคุมเรื่องการกินอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำซึ่งถ้าทำได้ดีและพบว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ก็อาจจะไม่ต้องใช้ยารักษาเลยก็ได้
ส่วนผู้ป่วยที่ต้องกินยาควบคุมอาการอยู่แล้วถ้ามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วย ก็อาจจะช่วยให้ปริมาณยาที่ต้องกินทุกวันลดน้อยลงได้ เช่น โรคความดันเลือดสูงหากมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ จำกัดการ กินเกลือ (ลดการกินอาหารรสเค็ม รสจัด) ก็อาจช่วยให้ลดปริมาณยาที่จะต้องกินลงได้
 

⇒ ถ้ากินยาไปนานๆ โดยไม่หยุดยาเลยจะเป็นอันตรายหรือไม่
เมื่อป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เป็นธรรมดาที่ผู้ป่วยจะต้อง กินยาไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดยาเลยมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่กังวลใจกลัวว่ายาจะสะสมในร่างกาย และเป็นอันตรายขึ้นได้
ในความเป็นจริงแล้วยาแต่ละชนิดก่อนที่จะนำมา ให้ใช้กันทั่วไปได้ ต้องผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้ว ว่าให้ผลการรักษาที่ดีและมีความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังมีการ ใช้อย่างทั่วไป ไม่พบว่ามีอันตรายร้ายแรงใดๆ ถ้าจะพบก็เป็นอาการข้างเคียงจากการใช้ยาเท่านั้น ซึ่งเมื่อใช้ไปสักพักก็จะดีขึ้นเอง นอกจากนี้
ยาบางชนิดยังมีผลช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนั้นๆ ได้ด้วย
ถึงแม้ว่าตัวยาจะไม่อันตรายแต่ผู้ใช้ก็จะต้องช่วย ป้องกันอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาไม่ถูกวิธี กินยาตามที่แพทย์สั่งไม่ปรับขนาดยาเองตามความรู้สึกของตน และช่วยกันสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น
เช่น ยาเบาหวาน หากกินแล้วมีอาการหน้ามืด ใจสั่น อาจเกิดจากน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจึงควรพกลูกอม หรือขนมติดตัวอยู่เสมอ และให้กินเมื่อมีอาการดังกล่าว จะทำให้อาการดีขึ้นได้

วิธีการสังเกตและวิธีแก้ไขเหล่านี้สามารถสอบถาม ได้จากบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านและสิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้คือ ให้ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ


⇒ ยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณจะช่วยรักษาโรคเรื้อรังได้หรือ
ไม่ผู้ป่วยบางท่านป่วยเป็นโรคเรื้อรังมานานและใช้ยาอยู่นาน จึงอาจคิดว่ายาไม่ช่วยให้อาการของท่านดีขึ้น จึงมีบางส่วนที่แสวงหาการรักษาวิธีอื่น เช่น ใช้ยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณแทน
ยาเหล่านี้ก็อาจมีสารที่มีฤทธิ์ช่วยได้เช่นกัน แต่ข้อควรระวังที่สำคัญคือ ปัจจุบันยังไม่มีการสกัดสารนั้นๆ ออกมาให้บริสุทธิ์ ในจำนวนที่กินเท่าเดิมปริมาณของสารจึงไม่คงที่ อาจจะมากเกินไป หรือน้อยเกินไป
ซึ่งส่งผลให้ผลการรักษาที่ได้รับไม่แน่นอน ไม่เหมือนผลจากยาแผนปัจจุบัน จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาเหล่านี้ในการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆอีกทั้งยาแผนโบราณบางชนิดที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจผสมตัวยาแผนปัจจุบันบางชนิดลงไป เช่น ยาลูกกลอนผสมสารสตีรอยด์ นอกจากจะไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างแท้จริงยังเป็นตัวก่อให้เกิดโรคขึ้นได้อีกด้วย

จากคำตอบของปัญหาต่างๆ นั้นจะเห็นได้ว่า การกินยาอย่างต่อเนื่องร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เป็นสิ่งที่สำคัญมากสามารถช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีความสุขเหมือนคนทั่วไปได้ เท่านี้โรคเรื้อรังก็จะเป็นมิตรที่ดีเคียงข้างเรา คำว่า ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ อาจจะใช้กับท่านไม่ได้อีกต่อไป....

ข้อมูลสื่อ

305-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 305
กันยายน 2547
เรื่องน่ารู้
ภกญ.วิไลวรรณ ชุ่มแจ่ม