• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารเสริม

โภชนาการ หมายถึง อาหารที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แล้วร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านการเจริญเติบโต การค้ำจุน และการซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย ดังนั้นการได้กินอาหารที่เพียงพอและถูกสัดส่วน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

คอลัมน์ “กินถูก...ถูก” ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับนี้เสนอเรื่อง “อาหารเสริม” โดย ผศ.พัตธนี วินิจจะกูล

อาหารเสริม

พอได้ยินคำว่า “อาหารเสริม” หลายท่านคงถามขึ้นมาทันทีว่าของใคร

เมื่อก่อนนี้อาหารเสริมมักหมายถึง อาหารของเด็กเล็ก โดยเฉพาะระยะที่เริ่มหย่านมและเปลี่ยนเป็นอาหารแบบผู้ใหญ่ ในปัจจุบันนี้ คำว่าอาหารเสริมถูกนำมาใช้ในหลายความหมายจนพากันสงสัยไปหมดว่า วัยไหนๆ ก็ดูจะต้องการอาหารเสริมไปเสียหมด ทั้งที่มีทั้งเสริมจริงและเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ บทความนี้ขอเสนอเรื่อง “อาหารเสริมสำหรับเด็ก” ซึ่งมีความจำเป็นจริงๆ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติในการเสริมอาหารให้เหมาะสม

การเติบโตของเด็กในระยะแรก

เด็กมีการเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะ 3 เดือนสุดท้ายที่อยู่ในท้องแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมาณ 6-7 สัปดาห์ก่อนคลอด สมองเด็กจะเริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่เด็กก็ยังอาศัยอาหารจากแม่ผ่านทางสายรก อวัยวะต่างๆ ของเด็กยังไม่เริ่มทำงานจนกว่าคลอดออกมาแล้วระยะหนึ่ง เมื่อคลอดออกมา สมองเด็กก็ยังโตอย่างรวดเร็ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตจะเห็นว่าสัดส่วนของส่วนหัวเทียบกับส่วนของตัวทั้งหมดจะใหญ่มาก อย่างไรก็ดี ร่างกายก็เติบโตรวดเร็วกว่าวัยใดๆ เช่นกัน

ในระยะ 2 ปีแรกนี้ สมองเด็กจะเติบโตจนมีขนาดถึงร้อยละ 80 ของขนาดสมองของผู้ใหญ่ แล้วจะช้าลงหลังจากนี้ไปจน 4 ขวบเด็กก็จะมีขนาดสมองเกือบเท่าสมองของผู้ใหญ่ สำหรับร่างกายเราสังเกตได้จากการเพิ่มของน้ำหนักตัวเด็กเมื่อแรกเกิด เด็กที่สมบูรณ์ควรมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ประมาณ 5 เดือนก็เพิ่มเป็นเท่าตัว คือ 6 กิโลกรัม พออายุ 1 ปีก็จะขึ้นไปอีกเป็น 9-10 กิโลกรัม

อาหารสำหรับเด็กในระยะหลังคลอด

เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว น้ำนมแม่เป็นอาหารสำคัญที่สุดสำหรับเด็ก นมแม่ให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้สารที่ช่วยต้านทานโรคสำคัญๆ ที่ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็ก และการที่เด็กใกล้ชิดแม่โดยการได้ดื่มนมแม่นั้นยังเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูก อันมีผลต่อการส่งเสริมพัฒนาการของลูกด้วย บางท่านอาจสงสัยว่านมแม่อย่างเดียวจะพอสำหรับเด็กหรือ หรือถ้าพอ จะพอไปนานสักเท่าไร

คำถามนี้ได้มีผู้พยายามตอบมานาน แต่ไม่สามารถศึกษากันได้ง่ายๆ เพราะการเลี้ยงดูทารกในวัยเล็กๆ นี้ ในเชื้อชาติ กลุ่มชนต่างๆ มักจะมีวิธีการเลี้ยงดูที่ให้อาหารต่างๆ พร้อมๆ กันไปด้วย อย่างไรก็ดี เท่าที่มีข้อมูล กล่าวได้ว่า ถ้าแม่สมบูรณ์ดีตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ มีการเสริมอาหารเต็มที่ และน้ำหนักขึ้นสม่ำเสมอ แม่จะสามารถสร้างน้ำนมให้พอกับความต้องการของลูกได้เป็นเวลานาน 4-6 เดือน โดยจะให้สารอาหารสำคัญๆ คือ พลังงาน โปรตีน และธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ

ถ้าเรากลับมาพิจารณาแม่ไทยเราบ้าง จะพบว่าแม่ในเมืองที่มีฐานะปานกลางถึงดีหรือมีความรู้ และให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างดีตลอดการตั้งครรภ์ ก็ควรจะสร้างน้ำนมแม่ได้พอถึง 4-6 เดือนเช่นกัน แต่แม่ในกลุ่มที่มีเศรษฐฐานะด้อยกว่า หรือในชนบท อาจจะมีความสมบูรณ์ด้อยกว่าบ้าง จึงคาดว่าน้ำนมแม่อย่างเดียวน่าจะเพียงพอจนเด็กอายุ 3 เดือน หลังจากนี้แล้วเด็กจึงควรได้รับอาหารเสริมเพิ่มเติมนอกจากนมแม่ ข้อแนะนำในทางปฏิบัติคือให้เด็กได้ดื่มนมแม่ก่อน แล้วค่อยๆเริ่มให้อาหารเสริมที่เริ่มด้วยอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว เช่น ข้าวบด กล้วยบด เพื่อฝึกเด็กให้รู้จักใช้ลิ้นช่วยในการกินอาหาร

เด็กควรได้รับอะไรเป็นอาหารเสริมบ้าง และเริ่มเมื่ออายุเท่าใด

ดังได้กล่าวแล้วว่า ใน 3 เดือนแรก เด็กควรได้น้ำนมแม่เต็มที่ พออายุประมาณ 3 เดือนเต็มก็เริ่มให้ข้าวบดผสมน้ำซุป หรือกล้วยบด พอครบ 4 เดือนแล้ว อาจเริ่มให้ไข่แดงทีละน้อย เช่น เริ่มจาก ¼ ฟองถึง ½ ฟอง บดผสมกับข้าวและน้ำซุป การให้ไข่แดงต้มสุกเด็กจะได้ทั้งโปรตีนและธาตุเหล็กซึ่งร่างกายเริ่มต้องการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ถั่วเขียวต้มเปื่อยบดผสมกับข้าว โดยระยะแรกอาจใช้ถั่วเขียวที่เอาเปลือกออกก่อน เด็กสามารถย่อยได้ดีโดยไม่เกิดปัญหาท้องอืด

อายุประมาณ 5 เดือน สามารถให้ปลาบดกับข้าว ควรระวังแกะเอาก้างปลาออกให้หมด ระยะนี้สลับไข่แดงกับปลา และเพิ่มฟักทองต้มสุกบดผสม หรือผักที่นิ่มๆ เช่น ผักกาดขาว ตำลึงสับละเอียดหรือบดผสมกัน ไม่ต้องกลัวว่าผักจะทำให้อาหารมีรสขม เพราะสามารถเลือกชนิดของผักให้เหมาะสมได้ พอ 6 เดือนก็เริ่มให้เด็กได้อาหารเท่ากับ 1 มื้อ นอกนั้นยังคงให้น้ำนมแม่ จะสังเกตเห็นว่า ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 3 เดือนนั้น จะให้นมแม่เป็นอาหารหลัก และเริ่มให้อาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลวเป็นอาหารเสริม พอล่วงเข้าประมาณ 5-6 เดือน นมแม่เริ่มเปลี่ยนเป็นอาหารเสริม และอาหารเสริมต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

พอเด็กอายุได้ 7-8 เดือน ก็สามารถที่จะให้เนื้อบดละเอียดผสมกับข้าว และให้ผลไม้นิ่มๆ ได้ อายุประมาณ 9 เดือน ก็ให้อาหารได้ถึง 2 มื้อ และ 1 ปีให้ได้ 3 มื้อ สำหรับไข่นั้นแม้จะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ให้ทั้งโปรตีนและเหล็ก แต่ไข่ขาวยังไม่ควรให้จนกว่าเด็กจะมีอายุประมาณ 10 เดือนไปแล้ว เพราะเด็กเล็กก็อาจมีการแพ้ไข่ขาวจึงควรรอจนกว่าร่างกายเด็กจะพร้อม โดยทั่วๆ ไปไม่มีเกณฑ์ตายตัวว่าต้องอายุเท่าไร จึงจะให้อาหารประเภทนั้นๆ ได้ อายุที่ให้ไว้นี้เป็นเพียงแนวทางให้ปฏิบัติ หรือเริ่มลองให้กับเด็ก กว่าเด็กจะคุ้นก็ใช้เวลาบ้าง สำหรับอาหารบางอย่าง เด็กในวัยนี้ยังไม่รู้จักแยกแยะว่าอาหารใดชอบหรือไม่ชอบ

การให้อาหารเสริมที่ไม่เหมาะสม

ความไม่เหมาะสมในที่นี้มีความหมายได้หลายอย่าง ที่สำคัญที่จะกล่าวถึง คือ การให้อาหารเสริมที่ไม่เหมาะสมกับวัย และการให้อาหารเสริมในชนิดและปริมาณที่ไม่พอเหมาะ

การให้อาหารที่ไม่เหมาะสมกับวัย

ปรากฏการณ์นี้มักพบได้ชัดเจนในชุมชนชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคยชินที่ถือปฏิบัติกันในภาคเหนือและภาคอีสาน แม่จะเคี้ยวข้าวซึ่งส่วนมากจะเป็นข้าวเหนียวจนละเอียด แล้วคายใส่ใบตอง ค่อยๆป้อนให้กับลูกตั้งแต่คลอดออกมาได้ 3-7 วัน ซึ่งนับว่าเร็วมากจริงๆ การปฏิบัตินี้ถือกันมาเป็นประเพณี และจากความพยายามปรับพฤติกรรมในเรื่องนี้พบว่ายากมาก แม่เด็กหรือย่ายายมักให้เหตุผลว่าลูกบ้านนอกแม่ก็ไม่ค่อยได้บำรุงอะไรมากตอนเด็กอยู่ในท้อง ไม่แน่ใจว่านมแม่จะพอและเพื่อความอุ่นใจ การให้ข้าวในรูปที่เรียกว่า ข้าวย้ำ หรือข้าวย่ำ (แล้วแต่สำเนียง) น่าจะช่วยทดแทนสิ่งที่อาจขาดหายไปให้กับเด็กได้ อีกทั้งสังเกตว่า เด็กที่ได้กินข้าวย้ำและนมแม่จะทำให้เด็กอิ่มท้อง นอนหลับได้นาน และถ้าแม่ต้องลุกขึ้นมาทำงานบ้านบ้างในระยะหลังคลอด ก็จะทำได้ดีขึ้น เพราะลูกไม่ค่อยร้องกวนอยากกินนมแม่

เท่าที่ทำได้ขณะนี้ คือ การพยายามให้ความรู้ที่ถูกต้อง แม่ก็จะให้อาหารเสริมช้าลงบ้าง คือ แทนที่จะรีบให้ภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด ก็เปลี่ยนไปรอจนกว่าอายุประมาณ 1 เดือน แต่ก็นับว่ายังไม่ประสบผลที่ต้องการ คือ เริ่มเมื่อ 3 เดือนไปแล้ว ในอีกส่วนที่ต้องพยายามทำควบคู่กันไป คือ การสนับสนุนให้แม่กินอาหารเพิ่มเติม โดยเฉพาะระยะครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายแม่พร้อมที่จะสร้างน้ำนมให้ลูกได้เต็มที่

ในทางตรงข้าม ชนบทเรายังนิยมการให้อาหารอื่นนอกจากกล้วยกับข้าวช้ากว่าที่ควร เช่น เด็กจำเป็นต้องได้โปรตีนซึ่งในชนบทหาได้ยาก ถ้ามีปลาก็ควรเริ่มให้ตั้งแต่ 5-6 เดือนแล้ว มักจะรอจนประมาณอายุ 1 ขวบ คือ ให้เด็กพูดปลาได้เสียก่อน สิ่งเหล่านี้ก็ต้องช่วยกันให้ความรู้และทำความเข้าใจให้ชัดเจน ความไม่พอเหมาะด้านชนิดและปริมาณ โดยปกติลักษณะอาหารที่นิยมกันในชนบทจะมีไขมันต่ำมาก ดังนั้นการเตรียมอาหารให้เด็กจึงมีไขมันน้อยด้วย อันนี้ก็พอแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คือ การแนะนำให้แม่ทำไข่ทอด ปลาทอด หรือเนื้อทอด จะได้มีการใช้น้ำมัน

บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมต้องส่งเสริมเรื่องของน้ำมัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเอาข้าว 1 กรัมเทียบกับไขมัน/น้ำมัน 1 กรัม จะได้พลังงานจากข้าวประมาณ 4 แคลอรี แต่ได้จากน้ำมัน 9 แคลอรี ดังนั้นถ้าเราอยากให้เด็กได้พลังงานเพียงพอ ถ้าให้กินข้าวมากๆ ท้องเด็กจะรับไม่ไหว เพราะฉะนั้นโอกาสจะได้พลังงานเพียงพอจึงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเรามีการใช้น้ำมันมาผัดทอดอาหารด้วย ก็จะทำให้ปริมาณอาหารลดลง แต่สามารถได้แคลอรีมากพอ ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างที่เน้นให้เห็นถึงอาหารที่สำคัญที่มักเกิดปัญหา สำหรับโปรตีน ปัจจุบันยังไม่พบปัญหารุนแรง เพราะประชาชนโดยทั่วๆ ไปรู้จักคุ้นหูกับอาหารโปรตีน และพยายามเสาะหาอยู่แล้ว

ปัญหาในการให้อาหารเสริม

อาจแบ่งปัญหาในการให้อาหารเสริมอย่างง่ายๆ คือ ในแง่ของปัญหาจากพ่อหรือแม่ และปัญหาของเด็กคือการป้อนอาหารที่เด็กยังไม่คุ้น เด็กอาจใช้ลิ้นดุนอาหารออกจากปาก ผู้ป้อนควรคอยสังเกตและป้อนต่อไปเพราะเด็กเพิ่งเริ่มหัด บางคนเข้าใจว่าเด็กไม่ชอบอาหารจึงงดไปเลย นอกจากนี้อีกปัญหาที่พบคือ เมื่อเริ่มอาหารใหม่เด็กบางคนจะอาเจียนหรือเกิดผื่นในลักษณะแพ้อาหาร ทำให้พ่อแม่สรุปว่า อาหารนั้นทำให้เด็กแพ้จึงเลิกให้ ความจริงแล้วก็อาจเป็นปัญหาในการปรับตัวให้คุ้นเช่นกัน จึงควรงดอาหารนั้นเพียงระยะหนึ่งแล้วกลับมาป้อนให้ใหม่ ส่วนใหญ่เด็กมักจะรับอาหารนั้นได้ดีขึ้น แต่ถ้าสังเกตว่ามีอาการแพ้อีก ควรยุติอีกระยะหนึ่ง แล้วทดลองให้อีก

ปัญหาทางพ่อแม่ที่สำคัญ คือ อาหารที่พ่อแม่ไม่ชอบหรือชิมรสชาติแล้วรู้สึกไม่อร่อย ก็สรุปเองว่าลูกคงจะไม่ชอบ เลยพาลไม่ป้อนให้เด็ก พอเด็กโตขึ้นก็จะไม่คุ้นอาหารนั้นๆ การสร้างนิสัยให้เด็กกินอาหารโดยไม่เลือกนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเด็กกินอาหารได้มากอย่าง การเตรียมอาหารย่อมง่ายขึ้น เพราะว่าสามารถเลือกอาหารมาสับเปลี่ยนได้มาก และทำให้เด็กไม่เบื่ออาหารได้ง่ายอีกด้วย อีกปัญหาที่พ่อแม่มักพบเป็นประจำ คือ พอเด็กโตประมาณ 1 ปีไปแล้ว พอจะช่วยตัวเองได้ ถ้าพ่อแม่ยังคงพยายามสนับสนุนให้กินอาหารหลายๆอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักต่างๆ เด็กก็จะคุ้นเอง การช่วยเสริมโดยผู้ใหญ่จึงสำคัญยิ่งที่ทำให้เด็กได้รับอาหารอย่างครบถ้วน

บางครั้งพ่อแม่จะรู้สึกเบื่อที่ต้องเคี่ยวเข็ญลูกให้กินอาหาร โดยทั่วไปแล้วถ้าเด็กไม่เจ็บป่วยหรือได้รับการปลูกฝังนิสัยการกินที่ดีแล้ว มักจะไม่มีปัญหาในการไม่ยอมกินอาหาร แต่เด็กต้องการได้รับแรงเชียร์และความสนใจจากผู้ใหญ่ จึงมักพบว่า เด็กหลายคนไม่ยอมกินอาหารง่ายๆ เพราะรู้ว่าการพยศด้วยการไม่ยอมกินอาหารจะทำให้คนสนใจ ผู้ใหญ่จึงต้องมีศิลปะในการหลอกล่อบ้าง อย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อน เพราะรางวัลที่จะได้ คือ ลูกที่สมบูรณ์น่ารัก เป็นขวัญตาขวัญใจของพ่อแม่นั่นเอง

บทสรุป

จะเห็นได้ว่า การได้อาหารเสริมที่เหมาะสม ทั้งตามวัย ชนิดและปริมาณนั้น มีความสำคัญต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะในระยะ 2 ปีแรกที่ร่างกายเติบโตอย่างรวดเร็ว อาหารเสริมสามารถเตรียมได้โดยแยกจากอาหารที่ครอบครัวต้องเตรียมอยู่แล้ว แต่เพิ่มเติมขั้นตอนการบด ต้ม เพื่อให้มีลักษณะเหมาะต่อการที่จะป้อนเด็ก การเริ่มอาหารเสริมชนิดใหม่ พ่อแม่ต้องมีความอดทนบ้างจนกว่าเด็กจะคุ้น และเป็นการสร้างอุปนิสัยที่ดีต่อการเลือกกินอาหารของเด็กในวัยที่จะเติบโตขึ้นต่อๆ ไป พ่อแม่จึงนับว่าเป็นตัวอย่างที่สำคัญของลูก อาหารเสริมสำเร็จรูปจากต่างประเทศราคาแพง ไม่มีอะไรวิเศษไปกว่าอาหารสดที่เราหาซื้อได้จากตลาดสด เพราะอาหารที่เตรียมเองเป็นอาหารที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิต บรรจุขวด ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนที่ทำลายคุณค่าอาหารและเสริมสารกันบูดทั้งหลายอีก เหล่านี้คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ก็คงคิดพิจารณาเองว่าอะไรบ้างที่สำคัญต่อลูกน้อยของท่าน และยังอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับครอบครัวของท่านได้อีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

125-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532
กินถูก...ถูก
ผศ.พัตธนี วินิจจะกูล