• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปรัชญาการแพทย์แผนตะวันออก

ปรัชญาการแพทย์แผนตะวันออก

5. การรับรู้เกี่ยวกับโรค

ก. โรคคืออะไร เน่ยจิงไม่ได้ให้ความหมายที่แน่นอนเกี่ยวกับโรค แต่จะให้ความหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย และเนื่องจากความหมายที่แน่นอนเกี่ยวกับความสมบูรณ์นี่เอง ทำให้เราสามารถพยากรณ์ได้ว่าโรคคืออะไร เน่ยจิงได้กล่าวไว้อย่างแจ่มชัดว่า ปกติร่างกายมนุษย์สามารถประสานกลมกลืนกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว นั่นก็หมายถึง ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย ในทางตรงข้าม ถ้าร่างกายไม่สามารถประสานกลมกลืนกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมก็จะทำให้เกิดโรค จะเห็นได้ว่าโรคนั้นเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่สิ่งลี้ลับอะไรเลย

ข. การแบ่งประเภทของโรค นอกจากไข้มาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคที่เรียกตรงกับการแพทย์ตะวันตกแล้ว การเรียกชื่อของโรคนั้น เน่ยจิงเรียกชื่อโรคตามกลุ่มอาการ โดยแบ่งตามอวัยวะภายในทั้งห้า (หัวใจ ปอด ม้าม ตับ ไต) เป็นหลัก เมื่อเทียบกับการแพทย์ตะวันตกซึ่งมีการเรียกชื่อโรคโดยแบ่งตามอวัยวะภายในเป็นหลักนั้นเกิดขึ้นหลังจากเน่ยจิง คือ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 2

ค. โรคกับฤดูกาล เน่ยจิงเน้นอย่างชัดเจนว่า ฤดูกาลทั้ง 4 คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว แต่ละฤดูจะทำให้เกิดโรคที่ต่างกัน

ง. โรคกับภูมิประเทศ เน่ยจิงได้บันทึกไว้ว่าการเกิดโรคนั้นเกี่ยวข้องกับภูมิประเทศ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม อาหารการกิน และสุขนิสัย เป็นต้น

จ. การแฝงของโรค เน่ยจิงได้กล่าวไว้ว่า โรคบางอย่างนั้นมักหลบหรือแฝงอยู่ในฤดูหนึ่ง แล้วจะระบาดในอีกฤดูหนึ่ง

ฉ. การให้ความสำคัญหลังจากเกิดโรคแล้ว เน่ยจิงได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “จะต้องเข้าใจกระบวนการทั้งหมดของโรค และจะต้องเข้าใจผลภายหลังหลังจากเกิดโรคแล้ว”

ช. ความสัมพันธ์ระหว่างไตกับอาการบวมน้ำ เมื่อกล่าวถึงอาการบวมน้ำ เน่ยจิงมักจะโยงไปถึงไตเสมอ สำหรับการแพทย์ตะวันตกนั้น เพิ่งจะมีการค้นพบความสัมพันธ์นี้โดยรูฟอส (Ruphos) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1

6. ในด้านการวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโดยการจับแมะ (ชีพจร) มีมาตั้งแต่สมัยเปี่ยนเชี้ย (ก่อนพุทธศักราชเล็กน้อย) เน่ยจิงได้กล่าวถึงแมะในลักษณะต่างๆ มากมาย และบอกโรคจากแมะ นอกจากนี้ยังได้ใช้วิธีสูดลมหายใจเข้า-ออก คำนวณเวลาการเต้นของแมะในการวินิจฉัยโรคอีกด้วย

ประวัติศาสตร์การแพทย์ตะวันตก ผู้ที่พบการเต้นของชีพจรคนแรก คือ พราซากอรัส (Praxagoras ก่อน ค.ศ.400 กว่าปีหรือต้นพุทธศักราช) ชาวกรีก หลังจากนั้นไม่นานมีผู้ประดิษฐ์นาฬิกาน้ำ และฮีโรฟิลอส (Herophilos) ชาวกรีก จึงได้มีการนำเอานาฬิกาน้ำมาวัดความเร็วในการเต้นของชีพจร

7. การจำแนกและวินิจฉัยโรค

เน่ยจิงได้จำแนกและเปรียบเทียบชนิดของโรคต่างๆ แล้วยังมีการวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด แม้จะไม่มีเครื่องมือต่างๆ ช่วย เราก็ยังสามารถบอกได้ว่า อาการของโรคที่จำแนกและวินิจฉัยไว้เป็นโรคอะไร

8. ความคิดและวิธีการในการป้องกันโรค

ก. ความคิดในการป้องกันโรค ในยามปกติที่ยังไม่เกิดโรคให้ระมัดระวังการปฏิบัติตัวให้ดี เมื่อเกิดโรคแล้วจึงรักษา ก็เปรียบเหมือนเมื่อกระหายน้ำแล้วจึงไปขุดบ่อ หรือเมื่อเกิดสงครามแล้วจึงค่อยสร้างอาวุธหรือวัวหายจึงล้อมคอก จะเป็นการแก้ปัญหามิใช่เป็นการป้องกัน

ข. วิธีการป้องกัน คือ ปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ การกิน การนอนหลับพักผ่อน การทำงาน ควรที่จะต้องปฏิบัติให้เหมาะสมและสอดคล้องกับร่างกายของแต่ละบุคคล

9. กฎเกณฑ์และวิธีการในการรักษา

ก. กฎเกณฑ์การรักษาแบบตรงข้าม เช่น ร่างกายพร่องก็ใช้วิธีบำรุง แกร่งก็ใช้วิธีถ่าย โรคร้อนก็ใช้ยาเย็น (ทั้งยาสมุนไพรและปักเข็ม) เหมือนกับการใช้น้ำแข็งพอกเมื่อมีไข้ในการแพทย์ตะวันตก

ข. เน้นการรักษาในระยะแรกเมื่อเกิดโรค เน่ยจิงเน้นให้รีบรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรก และเชื่อว่าการรักษาโรคยิ่งเร็วโอกาสที่จะหายก็ยิ่งมีมาก

ค. เน้นสมรรถนะของร่างกายในการหายจากโรคโดยวิธีธรรมชาติ ในการรักษาโรค ตัวผู้ป่วยเองจะอยู่ในฐานะชี้นำ แพทย์เป็นเพียงผู้ที่อยู่ในฐานะหนุนช่วยเท่านั้น นั่นหมายถึง ตัวผู้ป่วยเองมีสมรรถนะของร่างกายที่จะหายจากโรคภัยไข้เจ็บเองได้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว

ง. เน้นสิ่งแวดล้อมและลักษณะของร่างกายของผู้ป่วย เน่ยจิงให้ความสนใจในเรื่องลักษณะของร่างกายที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เนื่องจากความแตกต่างกันนี้ จึงทำให้แต่ละบุคคลมีโอกาสและแนวโน้มในการเกิดโรคต่างๆ กัน หรือที่เรียกว่า “เกิดโรคเฉพาะอันเนื่องมาจากลักษณะของร่างกายที่แตกต่างกัน” ดังนั้นจึงทำให้วิธีการรักษาในแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป เน่ยจิงได้แบ่งลักษณะของร่างกายออกเป็น 25 ลักษณะดังได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อ การรับรู้ทางกายวิภาคศาสตร์-ลักษณะเฉพาะของร่างกาย (หมอชาวบ้านฉบับที่ 124 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2532 หน้า 52-53)

จ. การรักษาโรคโดยใช้อาหารสมุนไพร แม้เน่ยจิงจะไม่ได้ใช้ศัพท์คำว่าอาหารสมุนไพรโดยตรง แต่ก็มักกล่าวถึงการกินอาหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและรักษาโรคอยู่เสมอ

ฉ. วิธีปักเข็มที่มีเนื้อหาค่อนข้างสมบูรณ์ มีการกล่าวถึงตำแหน่งที่แน่นอนของจุด วิธีจับเข็ม เทคนิคการปัก (ถ่าย-บำรุง) เวลาที่ใช้ในการปัก ข้อห้าม และโรคกับตำแหน่งที่ปักเข็ม เป็นต้น

10. เงื่อนไขที่แพทย์และนักเรียนแพทย์ควรจะมี

ก. เงื่อนไขที่พร้อมมูลของแพทย์ก่อนปักเข็ม เน่ยจิงได้บ่งไว้ 5 ประการ คือ

- จะต้องรวบรวมสมาธิทั้งหมดก่อนทำการปักเข็ม

- จะต้องเข้าใจหลักสุขลักษณะ

- จะต้องรู้จักการใช้ยา

- จะต้องทำความเข้าใจกับเครื่องมือที่ใช้ในการปัก

- จะต้องเข้าใจพยาธิของโรคและการวินิจฉัยโรค

ข. เงื่อนไขที่ผู้ที่จะเรียนแพทย์ควรมี ในการอบรมบ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์ จะต้องให้ความสนใจในเรื่องอุปนิสัย และความสามารถแล้วจึงค่อยเลือกผู้ที่เหมาะสมไปรับการอบรมศึกษา

ข้อมูลสื่อ

125-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532
วิทิต วัณนาวิบูล