• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

เด็กสี่ขวบถึงห้าขวบ

สภาพผิดปกติ

369. ชัก

มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เกิดอาการชักเมื่อมีไข้สูงเพราะเป็นหวัด ส่วนใหญ่อาการมักเริ่มในช่วงอายุ 1 ขวบ จนถึงอายุ 5 ขวบ คุณแม่ที่เห็นลูกชักครั้งแรกจะตกใจมาก แต่เมื่อเป็นบ่อยครั้งเข้าคุณแม่ก็รู้สึกชินไปเอง ไม่ตกใจเหมือนครั้งแรก การชักนานเพียง 5-6 นาทีคงไม่มีผล ทำให้สมองเสื่อมลง และอาการนี้มักหายไปเอง เมื่อเด็กขึ้นชั้นประถม

อย่างไรก็ตาม เราควรป้องกันไว้มิให้เด็กเกิดอาการชักเป็นดีที่สุด หากเด็กเคยชักเมื่อมีไข้ควรให้กินยาลดไข้ไว้ก่อน ให้นอนหมอนน้ำแข็งและเช็ดตัวให้บ่อยๆ เด็กที่มีอาการชักเพียงปีละ 2-3 ครั้งนั้นไม่น่าตกใจนัก แต่ถ้าชักเดือนละ 2-3 ครั้ง ควรพาไปตรวจคลื่นสมอง

ในกรณีที่เด็กเกิดอาการชักขึ้นมาโดยกะทันหันทั้งๆ ที่ตัวไม่ร้อนและสุขภาพปกติดี ควรพาไปตรวจคลื่นสมอง เพราะถ้าเด็กเป็นโรคลมบ้าหมูจะต้องกินยารักษา เด็กซึ่งตกจากที่สูงโดยไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่หลังจากนั้น 2-3 วัน เกิดอาการชักขึ้นมาต้องรีบพาไปโรงพยาบาลใหญ่ซึ่งสามารถรักษาผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุได้ทันที สำหรับรายที่เกิดอาการชักเพราะมีเนื้องอกในสมอง จะมีอาการอื่นประกอบด้วย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นเหียนอาเจียน เป็นต้น

ข้อควรจำ คือ หากเด็กชักโดยไม่มีไข้ต้องพาไปให้แพทย์ตรวจ

370. อาเจียน

เวลาเด็กอาเจียน ก่อนอื่นควรแตะหน้าผากดูว่ามีไข้หรือไม่ ถ้ามีไข้ตัวร้อนแสดงว่า เด็กอาเจียนเพราะโรคที่ทำให้เป็นไข้ ส่วนมากมักจะเป็นหวัดหรือทอนซิลอักเสบ ซึ่งจัดอยู่ในจำพวกโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส หากเด็กอาเจียนพร้อมกับมีไข้ ควรพาเด็กไปให้แพทย์ตรวจ ให้เด็กกลั้วคอบ้วนปากหลังอาเจียน เมื่อคอแห้งอยากดื่มน้ำ ต้องให้ทีละน้อย หากไม่อาเจียนอีกก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอาเจียนซ้ำ ควรให้อมน้ำแข็งแทนการดื่มน้ำ และให้นอนหมอนน้ำแข็ง เพื่อช่วยคลายความร้อน

ในกรณีที่จู่ๆ เด็กก็อาเจียนออกมาโดยไม่มีไข้ ต้องสังเกตอาการหลังอาเจียนให้ดี ถ้าเด็กมีท่าทางร่าเริง เล่นได้หลังอาเจียนก็คงจะอาเจียนเพราะกินมากเกินไป แต่ถ้าหลังจากอาเจียนแล้ว เด็กดูท่าทางอ่อนระโหยและหาวบ่อยๆ เด็กอาจเหนื่อยเกินไปจนเกิดอาการอาเจียนเป็นระยะ (ดูหัวข้อ 338 หมอชาวบ้านฉบับที่ 113 หน้า 70)

หากเด็กอาเจียนโดยไม่มีไข้และประสบอุบัติเหตุหัวฟาดพื้นก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ควรสงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นผลสืบเนื่องจากอุบัติเหตุ

เวลาเด็กอาเจียนโดยไม่มีไข้และแสดงอาการปวดอย่างรุนแรง อาจเป็นเพราะลำไส้อุดตัน (ดูหัวข้อ 132โรคลำไส้กลืนกัน หมอชาวบ้านฉบับที่ 31 หน้า 37-39) เด็กที่เคยเป็นไส้เลื่อน (hernia) ต้องตรวจดูว่ามีก้อนที่บริเวณขาหนีบหรือไม่ หากเด็กปวดมากต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

บางครั้งเด็กไอมากจนอาเจียนโดยเฉพาะเด็กที่ปกติมีเสมหะมากอาจไอจนกระทั่งอาเจียนอาหารที่กินเข้าไปออกมาด้วย ถ้าหลังอาเจียนเด็กปกติดีและไม่มีไข้ ก็ไม่น่าเป็นห่วง

371. นอนคว่ำ

คุณแม่ที่ชอบให้ลูกนอนหงายหรือนอนตะแคงมาตั้งแต่เล็ก คงรู้สึกไม่สบายใจนัก เมื่อตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วเห็นลูกนอนคว่ำ ตัวงอ เหงื่อออกจนเปียกโชก เกรงว่าลูกอาจไม่สบายเป็นอะไรไปเสียแล้ว ความเป็นจริงมีเด็กเล็กน้อยคนที่จะนอนหงายเหมือนผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะไม่นอนตะแคงก็นอนคว่ำ ซึ่งไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น เด็กจะเริ่มนอนหงายเองเมื่อโตขึ้น

ข้อมูลสื่อ

125-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532