• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดันเลือดสูง

ความดันเลือดสูง

ทำอย่างไรความดันเลือดจึงจะลดลงได้ คนส่วนมากมีความดันเลือดสูงแบบปานกลางหรือเล็กน้อย ซึ่งมีทางเลือกรักษาหลายทาง คือ เปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ หรือกินยา หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

ความดันเลือดสูงในบางคนไม่มีอาการอะไร เจ้าตัวจะรู้สึกสบายดี จนกระทั่งแพทย์ไปตรวจพบเข้า
แต่ถ้าไม่รักษา วันหนึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดในสมองแตกและเป็นอัมพาต หรือภาวะหัวใจวาย และปัญหาอื่นๆ ร้ายแรงเท่าๆ กัน

เมื่อวินิจฉัยได้เป็นครั้งแรก จึงมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรความดันเลือดจึงจะลดลงได้ คนส่วนมากมีความดันเลือดสูงแบบปานกลางหรือเล็กน้อย ซึ่งเรามีทางเลือกรักษาหลายทาง คือ เปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ (life-style changes) หรือกินยา หรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน

ยารักษาโรคความดันเลือดมีขายในท้องตลาดมากมาย ถ้าบางตัวไม่ถูกกับท่าน ทำให้มีอาการข้างเคียงมาก แพทย์อาจเปลี่ยนตัวอื่นให้ แต่โรคนี้เป็นโรคที่รักษาได้

ความดันเลือด คือ แรงที่หัวใจฉีดเลือดให้ไหลไปตามหลอดเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จุดแรกของความดันเรียกว่า ความดันซิสโตลี จุดที่สองเรียกว่า ความดันไดแอสโตลี คือ จุดที่หัวใจคลายตัวพักผ่อน ถ้าวัดได้ซิสโตลี ไดแอสโตลี = 120/80 หรือคนไทยชอบเรียกว่า ข้างบน/ข้างล่าง ก็หมายความว่า เป็นตัวเลขที่สมบูรณ์ที่สุด

คนบางคนมีความเสี่ยงต่ออันตรายของโรคความดันเลือดสูงมากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีกรรมพันธุ์ (ครอบครัวเป็น) หรือคนอเมริกันผิวดำ

ในสหรัฐอเมริกานั้นมีคนเป็นโรคความดันเลือดสูงมาก ดังนั้นทุกคนควรจะได้รับการวัดเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 3 ขวบ (ด้วยเครื่องวัดพิเศษ) ต่อไปเมื่อเป็นวัยรุ่นและเมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่และทุกๆ 2 ปี ถ้าความดันปกติ ถ้าความดันเลือดตัวล่าง (ไดแอสโตลี) ถึง 104 หรือมากกว่า หมายถึง ความดันเลือดสูงปานกลางหรือรุนแรง ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าหัวใจต้องทำงานหนักและโตขึ้น หลอดเลือดแดงจะเป็นแผลเป็นแคบลง ไม่ยืดหยุ่น และมีความโน้มเอียงที่จะแตกและเป็นอัมพาต หรือเป็นโรคหัวใจจากการอุดกั้น ไตและดวงตาอาจจะเสียได้

มีปัญหาว่าความดันเลือดสูงเล็กน้อย คือ ข้างล่างอยู่ที่ 90 จะต้องรักษาด้วยยาไหม ควรฟังคำแนะนำจากแพทย์ ความดันเลือดนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มักจะขึ้นสูงเวลาเราตื่นเต้นตกใจ และลงต่ำเมื่อเราผ่อนคลาย เวลาที่แพทย์วัดความดันเลือดให้ จะได้ผลสูงกว่าเมื่ออยู่ที่บ้าน ก่อนจะเริ่มใช้ยา ควรให้แน่ใจว่าความดันเลือดสูงแน่

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สำหรับผู้ที่มีความดันเลือดสูงไม่มากนัก การใช้ยาอาจเสี่ยงต่อพิษของยา ควรแก้ด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิต คือ

  • ลดน้ำหนักตัวลงเสียบ้าง พยายามลดให้ได้ประมาณ 5 กิโลกรัม และรักษาไว้แค่นั้น
  • กินอาหารที่มีรสเค็มให้น้อยลง
  • ดื่มสุราให้น้อยลง ถ้าดื่มวันละ 4 แก้ว เป็นเวลานานๆ หลายปี จะทำให้ความดันเลือดสูง ถ้างดเสีย ความดันเลือดจะกลับเป็นปกติได้
  • งดสูบบุหรี่ บุหรี่ไม่ทำให้ความดันเลือดสูงก็จริง แต่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ
  • ยาบางชนิดมีอันตราย เช่น ยาคุมกำเนิดและยากลุ่มสตีรอยด์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • ลดความตึงเครียด ซึ่งมีเทคนิคหลายอย่าง เช่น นั่งสมาธิ และไบโอฟีดแบก (biofeedback) วันละ 2 ครั้งๆ ละ 30 นาที

ถ้าท่านจำเป็นต้องใช้ยา เรามักจะเริ่มต้นตามประเพณีด้วยยาขับปัสสาวะ และ/หรือยาต้านเบต้า ซึ่งเป็นยาเอนกประสงค์ของโรคหัวใจ เริ่มขนาดน้อยๆ ก่อน

อาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มีหลายอย่าง เช่น เวียนหัว เหนื่อยอ่อน ความต้องการทางเพศถอยลง คลื่นไส้ ปวดหัว ภาวะซึมเศร้า ใจสั่น อุจจาระร่วง ฝันร้าย เท้าเย็น แต่อาการเหล่านี้จะเกิดแก่คนหมู่น้อยเท่านั้น แก้ได้โดยลดขนาดยา และลดเกลือในอาหาร

แพทย์เข้าใจว่า ถ้ามีอาการข้างเคียงเช่นนี้ ผู้ป่วยบางคนคงไม่อยากกินยา ปล่อยให้เป็นโรคดีกว่า จึงได้มีการวิจัยค้นคว้าหาตัวยาใหม่ๆ อยู่เรื่อยไป แต่ควรทราบว่าเมื่อได้ยาลดความดันเลือดที่เหมาะสมแล้ว ผู้ป่วยจะต้องกินคุมไว้จนตลอดชีวิต อย่างดีก็เพียงลดขนาดยาลงก็ควรพอใจแล้ว

(จาก Readers Digest 1989:11)

ข้อมูลสื่อ

126-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
พ.ต.นพ.สุพจน์ ขวัญมิตร