• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลิ่นปาก

กลิ่นปาก

หากมีใครสักคนซึ่งถึงแม้จะเป็นคนใกล้ชิดของท่านทักว่า “ปากเหม็น” ท่านคงจะเกิดความละอายหรืออาจนึกโกรธในใจ หรือในหลายๆท่านที่ยังไม่เคยมีใครมาทักท่านเรื่องปากเหม็น แต่ตัวท่านเองมีความรู้สึกว่าตัวเองมี “กลิ่นปาก” อยู่เสมอ ก็จะทำให้ท่านเกิดความกังวลใจ ไม่แน่ใจในเรื่องกลิ่นปากของตัวเอง เป็นผลทำให้ความเชื่อมั่นของท่านในการเข้าสังคมลดลง และคงไม่กล้าพูดหรือยิ้มแย้มอย่างเปิดเผยอีกต่อไป ดังนั้น เราจึงควรศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงตลอดจนวิธีป้องกัน และกำจัดสาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก

สาเหตุภายในช่องปาก

1. การดูแลเอาใจใส่ในการทำความสะอาดภายในช่องปากไม่ดีพอ หรือไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการตกค้างของเศษอาหาร

2. เกิดจากโรคเหงือกอักเสบ หรือฟันผุ ซึ่งไม่ได้รับการรักษา

3. เกิดจากสภาพแผลเรื้อรังภายในช่องปาก ทำให้มีการอักเสบและมีหนอง

4. เกิดจากฟันเก การใส่ฟันปลอมที่ไม่ถูกต้อง หรือการใส่เครื่องมือจัดฟัน ทำให้การทำความสะอาดในช่องปากเป็นไปได้ยาก มีเศษอาหารตกค้าง

สาเหตุภายนอกช่องปาก

1. เกิดจากโรคทางระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ เป็นต้น

2. เกิดจากการกินอาหารบางอย่าง เช่น หัวหอม กระเทียม เหล้า ซึ่งจะระบายออกทางลมหายใจ ทำให้รู้สึกว่าเกิดกลิ่นปาก

เมื่อเราได้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดกลิ่นปากแล้ว ท่านคงจะเริ่มพิจารณาได้ว่า ตัวท่านเองมีความบกพร่องในข้อใดข้อหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วบ้าง เพื่อที่จะได้ทำการป้องกันและได้รับการรักษาเพื่อกำจัดสาเหตุดังกล่าว

ในการป้องกันและรักษาขั้นต้นท่านอาจทำได้ด้วยตนเอง โดยการทำให้สุขภาพในช่องปากดีอยู่เสมอ ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากโรคเหงือกอักเสบ และฟันผุก็ควรปรึกษาและได้รับการรักษาจากทันตแพทย์ ส่วนในกรณีที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหารก็ควรรับการรักษาจากแพทย์ ฉะนั้น การป้องกันการเกิดกลิ่นปากที่ดี คือ หมั่นรักษาดูแลความสะอาดในช่องปากอยู่เสมอ

ดังจะเห็นได้ว่า การมีสุขภาพช่องปากที่ดีจะทำให้ท่านปราศจากโรคในช่องปาก นั่นก็คือ ฟันและเหงือกของท่านอยู่ในสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากกลิ่น สามารถทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร และเป็นส่วนประกอบเพื่อความสวยงามของใบหน้า และใช้ในการพูดอีกด้วย การที่ฟันและเหงือกจะมีสุขภาพสมบูรณ์ได้ จะต้องปราศจากคราบจุลินทรีย์ (bacterial plaque) ซึ่งเกิดขึ้นในช่องปากทุกวัน และเป็นต้นเหตุโดยตรงของการเกิดโรคเหงือกอักเสบและฟันผุ คราบจุลินทรีย์ ท่านสามารถกำจัดได้ด้วยตัวท่านเองด้วยวิธีง่ายๆ นั่นก็คือการแปรงฟันและการทำความสะอาดซอกฟันที่ถูกวิธีนั่นเอง

ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการแปรงฟันเรามาดูอุปกรณ์ที่ใช้ในการแปรงฟัน นั่นก็คือ แปรงสีฟันและยาสีฟัน
แปรงสีฟัน แต่ก่อนคนส่วนมากมักเข้าใจผิดคิดว่าขนแปรงสีฟันยิ่งแข็งยิ่งทำความสะอาดได้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขนแปรงสีฟันที่แข็งจะทำอันตรายเหงือกและฟันได้มากกว่า

แปรงสีฟันที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้

1. ขนแปรงต้องเป็นชนิดอ่อน (soft) หรือปานกลาง (medium) เพื่อไม่ทำอันตรายเหงือกและฟัน

2. ขนแปรงทำด้วยไนล่อน และมนปลาย

3. ขนแปรงควรเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม มี 3-4 แถว

4. หัวแปรงควรมนกลม และมีขนาดพอเหมาะที่จะทำความสะอาดได้ทั่วทุกบริเวณในช่องปาก

5. ด้ามแปรงตรง และยาวพอที่จะจับได้ถนัดมือ

แปรงสีฟันไฟฟ้า

มีอยู่มากมายหลายชนิด และวิธีการใช้ต่างกัน ซึ่งผู้ใช้จะต้องใช้ให้ถูกต้อง ปัจจุบันทันตแพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลือง และประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟันก็ไม่ได้ดีไปกว่าการใช้แปรงสีฟันธรรมดา แต่ทันตแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลและไม่สามารถแปรงฟันได้ด้วยตนเอง คนพิการ หรือคนที่ไม่สามารถใช้มือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยาสีฟัน

การทำความสะอาดในช่องปากนั้น วิธีการแปรงฟันที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ ยาสีฟันเป็นเพียงส่วนประกอบที่ช่วยในการทำความสะอาดและขัดพื้นผิวฟันเท่านั้น ปัจจุบันได้มีการใส่ฟลูออไรด์ลงในยาสีฟันเพื่อป้องกันฟันผุ ซึ่งได้ผลในการลดโลกฟันผุ แต่การใส่สารเคมีบางชนิดเพื่อป้องกันการเกิดคราบจุลินทรีย์ และหินปูนนั้นยังไม่มีเหตุผลที่เชื่อถือได้ในปัจจุบัน

วิธีการแปรงฟัน

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การแปรงฟันที่ถูกต้องเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ อันเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคปริทันต์ การแปรงฟันมีหลายวิธี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน จากการศึกษาพบว่า การสอนแปรงฟันในชุมชนนั้น วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำความสะอาดเหงือกและตัวฟัน โดยเฉพาะในร่องเหงือกคือวิธีมอดิฟายด์แบส (modified bass method) ซึ่งต้องใช้แปรงขนอ่อน และมีขั้นตอน ดังนี้

วางแปรงที่บริเวณคอฟันและขอบเหงือก ให้ขนแปรงทำมุม 45 องศากับแกนยาวของฟัน ชี้เฉียงไปทางปลายรากฟัน กดปลายขนแปรงให้เข้าไปในร่องเหงือกและซอกฟัน ออกแรงสั่นเบาๆ ตามแนวราบด้วยระยะทางสั้นๆ กลับไปกลับมาโดยที่ขนแปรงยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเน้นการแปรงที่บริเวณคอฟันที่อยู่ชิดขอบเหงือก จากนั้นจึงบิดข้อมือให้ขนแปรงม้วนปัดมาทางด้านบดเคี้ยวของฟัน ทำดังนี้ซ้ำๆ กันตำแหน่งละ 6 ครั้งจึงเลื่อนไปทำตำแหน่งอื่นในทำนองเดียวกัน (ภาพที่ 1,2,3)

การแปรงฟันด้านในของฟันหน้าบนและล่าง ให้วางแปรงที่บริเวณคอฟันและขอบเหงือก โดยให้ด้ามแปรงขนานไปกับแกนยาวของฟัน สำหรับวิธีการแปรงมีหลักการเหมือนที่กล่าวมาแล้ว (ภาพที่ 4) การแปรงด้านบดเคี้ยว ให้วางแปรงตั้งฉากด้านบดเคี้ยวของฟัน แล้วถูเข้าถูออกเป็นระยะสั้นๆ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เราจะต้องแปรงฟันให้ทั่วถึงทุกบริเวณ แม้ว่าจะแปรงถูกวิธีแต่ละเลยบางตำแหน่งไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการแปรงฟันไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงควรเริ่มแปรงที่ด้านนอกของฟันบนและฟันล่างให้หมด แล้วเริ่มต้นแปรงด้านในของฟันบนและล่าง จากนั้นจึงแปรงด้านบดเคี้ยว และควรแปรงลิ้นด้วย

การทำความสะอาดซอกฟัน

บริเวณซอกฟันมักเป็นตำแหน่งที่ถูกละเลยในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ ทั้งๆ ที่เป็นตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดของการเกิดโรคปริทนต์ ในการแปรงฟันนั้นถึงแม้ท่านจะแปรงอย่างดีก็ตาม ก็ไม่สามารถเข้าไปทำความสะอาดบริเวณซอกฟันได้ จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะทำความสะอาดซอกฟัน ซึ่งมีอยู่หลายวิธีที่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเหงือกของแต่ละคน ในกรณีที่ท่านมีเหงือกปกติโดยมีเหงือกสามเหลี่ยมอยู่เต็มระหว่างซอกฟัน การใช้เส้นใยขัดฟัน (dental floss) เป็นวิธีทำความสะอาดซอกฟันที่ดีวิธีหนึ่ง

การใช้เส้นใยขัดฟัน

ดึงเส้นใยมายาวประมาณ 1 ฟุต พันรอบปลายนิ้วกลางทั้งสองข้างจนกระทั่งเหลือความยาวของเส้นใยระหว่างนิ้วกลางทั้งสองประมาณ 4-5 นิ้ว ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือเป็นนิ้วบังคับ และควบคุมในการขัดทำความสะอาดซอกฟัน เริ่มต้นด้วยการดึงเส้นใยให้ตึง ค่อยๆ ถูไปมาให้ผ่านจุดสัมผัสของฟันจนเข้าไปอยู่ระหว่างฟัน 2 ซี่แล้ว ก็โอบเส้นใยให้แนบกับด้านข้างของฟันซี่หนึ่ง แล้วขยับเส้นใยขึ้นลงประมาณ 6 ครั้ง เมื่อขัดด้านข้างของฟันซี่หนึ่งเสร็จแล้ว จึงหันมาโอบด้านข้างของฟันอีกซี่หนึ่ง ขยับเส้นใยขึ้นลงอีก 6 ครั้ง ทำเช่นนี้จนครบทุกซอกฟัน

ยังมีวิธีการและอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายที่ช่วยในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ อันเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคปริทันต์ อาทิเช่น แปรงระหว่างซอกฟัน (proxa brush) ปุ่มยางนวดเหงือก (rubber tip) เส้นใยขัดฟันพิเศษ (superfloss) เครื่องฉีดน้ำทำความสะอาดในปาก (oral irrigating device) เป็นต้น ซึ่งท่านสามารถขอรับคำแนะนำจากทันตแพทย์ เพื่อให้เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพในช่องปากของท่านโดยเฉพาะ เพื่อที่ท่านจะได้มีสุขภาพในช่องปากที่สมบูรณ์ ปราศจากโรคเหงือกและฟันตลอดไป

กลิ่นปาก คุณคิดอย่างไร?

ถ้าพูดถึงกลิ่นปาก แต่ละคนนึกถึงอะไร และรู้สึกอย่างไร ลองมาฟังความคิดเห็นจาก 3 ท่าน ซึ่งมาจาก 3 อาชีพ แต่ที่เหมือนกัน คือ ล้วนแต่ต้องพบปะเจอะเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตากันทั้งนั้น คือ พระสมบุญ บุญปริปนฺโน จากวัดนครชื่นชุ่ม จังหวัดนครปฐม คุณมยุรี มายุศิริ ประชาสัมพันธ์สาวคนสวยแห่งโรงแรมบางกอกฮิลตัน อินเตอร์เนชั่นแนล ณ ปาร์คนายเลิศ และท้ายสุด คือ ดี.เจ.สาวเสียงใสหน้าตาน่าเอ็นดู จากรายการร่มไม้รายทาง ‘ตู๋...โศรยา โอสถานนท์’

ลองมาตามอ่านกันดูนะคะว่า แต่ละท่านคิดเห็นอย่างไรกับเจ้าตัว “กลิ่นปาก” เจ้าปัญหานี้

พระสมบุญ บุญปริปนฺโน
‘คิดว่ากลิ่นปากนี่น่าจะเกิดจากเศษอาหารที่ติดอยู่ในปาก หลังจากเรากินอาหารแล้วไม่ทำความสะอาด กลิ่นปากก็เกิดขึ้นได้ การสูบบุหรี่ก็มีส่วนมาก อาตมาเองบางครั้งก็มีปัญหาเรื่องกลิ่นปาก แต่พอแปรงฟันดีๆ ก็หาย ถ้าทิ้งไว้นานๆ ก็จะมีอีก ของคนอื่นก็คล้ายๆ กัน บางคนเหม็นมาก พูดคุยเข้าใกล้ไม่ได้ เคยพบบางคนเหม็นมากจริงๆ ไม่รู้กลิ่นอะไร พวกฟันเลี่ยมหรือพวกใส่ฟันปลอมก็เหม็น’

มยุรี มายุศิริ
‘เวลาพูดถึงกลิ่นปาก ก็จะถามตัวเองทันทีว่า เรามีกลิ่นปากมั้ย แล้วก็เข้าข้างตัวเองว่าคงไม่มี เพราะถ้ามีคงไม่มีใครอยากเข้าใกล้ และเพื่อนที่สนิทกันก็คงจะบอกเราว่ามีกลิ่นปาก บางครั้งเวลาที่มีสิ่งผิดปกติในปาก อย่างตอนร้อนในนี่ รู้สึกว่าลมหายใจที่ออกมาผิดปกติ หรือเวลาที่มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากๆ นี่ เวลาพูดออกมาจะรู้สึกว่ามีกลิ่น พอดีพี่เป็นคนชอบแปรงฟัน คือแปรงมากกว่า 3 ครั้งใน 1 วัน เลยคิดว่าไม่น่าจะมีกลิ่นปาก...ที่เจอพวกมีกลิ่นปากนี่ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกสูบบุหรี่จัด พวกนี้แปรงฟันหรือบ้วนปากก็ไม่หาย ถ้าเป็นพวกเพื่อนๆ ก็จะค่อยๆ บอกกับเขา แต่ถ้าไม่สนิท เลี่ยงได้ก็จะเลี่ยง พี่เห็นแขกของโรงแรมที่เป็นฝรั่ง เคยคุยกัน เขารักษาสุขภาพฟันกันมากทีเดียว เขาจะไปพบหมอฟันปีละ 2-3 ครั้ง แต่คนไทยนี่อาจจะเป็น 3 ปีต่อครั้ง อย่างพี่เองแทบจะไม่เคยไปพบหมอฟันเลย นอกจากตอนฟันคุดเมื่อปีที่แล้ว...แย่เชียว’

โศรยา โอสถานนท์
‘พอได้ยินคำว่ากลิ่นปาก ก็คิดถึงเรื่องของกลิ่นเหม็น ทำให้ผู้คนไม่อยากเข้าใกล้ รู้สึกว่ามันน่ารังเกียจมาก ซึ่งคิดว่ากลิ่นปากนี่สาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากการอดนอนนะ เวลาอดนอนนี่บางทีจะร้อนใน แล้วมีกลิ่นปากออกมาด้วย สาเหตุอื่นๆ ก็น่าจะมาจากการดูแลสุขภาพเหงือกและฟันไม่ถูกต้อง เหงือกบวม เป็นโรคเหงือก โรคฟัน แบบนี้ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้... เวลาเจอคนสนิทที่มีกลิ่นปากต้องกล้าบอกกับเค้า อาจบอกแบบทีเล่นทีจริง แต่ถ้าเป็นคนที่เราต้องใกล้ชิดเขาบ่อยๆ นะ เราก็ต้องทำแบบ...อึ๊บ (สูดหายใจเข้าปอดให้เต็มที่) แล้วเข้าไปคุยกับเขา อาจยืนห่างหน่อย เพราะยิ่งเข้าใกล้กลิ่นก็ยิ่งจัดจ้านขึ้น...สำหรับตัวตู๋เองอาจรู้สึกว่ามีกลิ่นปากบ้างอย่างเช่นตอนที่กินน้ำพริก บางวันอยากกินมาก พอกินเข้าไปก็เลยทำให้มีกลิ่นปาก แต่ก็รู้ตัวนะคะ พวกกระเทียมนี่ตัวร้ายเชียว ต้องรีบแปรงฟัน นี่รู้ตัว บางครั้งเราไม่รู้ตัว เพื่อนอาจทักว่า อดนอนหรือเปล่า มีกลิ่นปากนะ เราก็จะอ๋อ...เหรอ... คือเค้าจะพูดให้เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ เหมือนเราเป็นแผล เจ็บแขน...ใส่ยาสิ...เท่านั้นเอง’

ข้อมูลสื่อ

126-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
โรคน่ารู้
ทพญ.อรอนงค์ วนิชจักรวงศ์