• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หยุดโรคเหงือกกันเถอะ

หยุดโรคเหงือกกันเถอะ

คงมีคนน้อยคนที่จะไม่เคยอ่านหรือได้ยินประโยคที่ว่า “ฟ.ฟันสะอาดจัง” แต่ถ้าพูดถึง “ง.เหงือก” แล้วคงมีคนพูดถึงน้อย อันที่จริง กระทรวงสาธารณสุขน่าจะขอให้กระทรวงศึกษาเปลี่ยนข้อความในบทเรียน ตรง ง.งูใจกล้าเป็นง.เหงือกอ่อนล้า ซะให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย เพราะอาจทำให้คนหันมาสนใจเหงือกกันมากขึ้น เนื่องจากสงสัยว่าทำไมเหงือกมันถึงได้อ่อนล้านัก

เขาว่าอะไรที่ไม่มีปัญหา คนเรามักละเลย จะเห็นว่า ที่คนสนใจฟัน เพราะฟันมีฟันน้ำนม ที่มักจะผุและต้องถอนหรือต้องเปลี่ยนเป็นฟันแท้ แต่ส่วนอื่นๆ ในปากนั้น เรามักจะไม่ค่อยได้เอ่ยถึง แม้แต่เหงือกที่เป็นเพื่อนคู่กับฟันมาตั้งแต่เล็ก

คุณทราบไหมว่า จากการสำรวจของหมอฟันพบว่า ผู้ใหญ่จะเสียฟันจากโรคปริทันต์มากกว่าโรคฟันผุ
บางคนอาจจะไม่เคยชินกับคำว่าโรคปริทันต์ อันที่จริงโรคนี้ก็คือ โรคเหงือกที่ชาวบ้านๆ พูดถึงละครับ แต่อาจคลุมกว้างกว่า

โรคปริทันต์ คือ โรคที่เกิดกับอวัยวะรอบๆ ฟัน ได้แก่ เหงือก กระดูกรองรับฟัน และเนื้อเยื่อที่ยึดฟันกับกระดูกรองรับรากฟัน

อาการโรคปริทันต์ระยะแรกเริ่มมักจะเห็นไม่ชัดเจน การตรวจช่องปากด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราจะสังเกตเห็นอาการเริ่มต้นของโรคนี้ เพราะถ้ารอให้มีอาการเจ็บปวดโรคอาจรุนแรงจนต้องถอนฟันอันเป็นที่รัก หรือต้องให้หมอฟันรักษาพิเศษซึ่งยุ่งยากมาก เพื่อให้เราเข้าใจถึงโรคปริทันต์ให้ถ่องแท้ ก็ขอเชิญท่านผู้อ่านพบกับเรื่อง “หยุดโรคเหงือกกันเถอะ” โดยทันตแพทย์หญิงจรูญลักษณ์ พงษ์อุดมเพียร แห่งกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ชนิดของโรคปริทันต์

โรคปริทันต์ที่รุนแรงน้อยที่สุด คือ เหงือกอักเสบ (gingivitis) บริเวณเหงือกจะมีอาการบวม แดง สาเหตุมาจากแผ่นคราบจุลินทรีย์ หรือพลัค (plaque) ที่สะสมอยู่บนคอฟัน ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เหงือกก็จะกลับสู่สภาพปกติ

โรคปริทันต์ที่รุนแรงมากที่สุด คือ โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) หรือที่รู้จักกันด้วยชื่อง่ายๆ ว่า โรครำมะนาด มีการทำลายของเนื้อเยื่อรอบๆ รากฟันอย่างรุนแรง และทำให้ต้องถูกถอนฟันไปในที่สุด
เนื้อเยื่อปริทันต์ทั้งหลายนี้ เมื่อถูกทำลายจะเป็นไปอย่างถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับสู่สภาพปกติเหมือนเดิม การรักษาเพียงแต่เพื่อหยุดยั้งการทำลายเท่านั้น

สาเหตุของโรคปริทันต์

เมื่อมีการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่เกาะบนตัวฟัน หรือที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่า พลัค ซึ่งเป็นแผ่นคราบบางๆ เหนียว ไม่มีสี เป็นที่เกาะอยู่ของเชื้อจุลินทรีย์ และเป็นสาเหตุเริ่มต้นของการเกิดโรคปริทันต์ ลำดับขั้นตอนการเกิดโรคจากพลัค มีดังนี้

ตามปกติแล้วในช่องปากของทุกคนจะมีเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่มากมายหลายชนิด แม้ว่าหลังจากถูกขัดฟันอย่างสะอาดที่สุดโดยทันตแพทย์ จุลินทรีย์ก็ยังคงมีอยู่ในช่องปากและเจริญเติบโตแบ่งตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดพลัคบางๆ เกาะบนตัวฟันโดยเฉพาะบริเวณคอฟันส่วนต่อกับขอบเหงือก จุลินทรีย์เหล่านี้มีบางชนิดทำให้เหงือกมีอาการอักเสบ ซึ่งคือ การติดเชื้ออย่างหนึ่งนั่นเอง นอกจากนั้นแล้วยังมีสารแข็งๆ เรียกกันว่า หินปูนหรือหินน้ำลายเกิดขึ้นบนตัวฟัน เป็นที่สะสมพลัคได้มากขึ้นๆ เมื่อทิ้งสภาพเช่นนี้ไว้นานๆ เหงือกที่อักเสบนั้นจะเริ่มแยกออกจากรอบๆ ตัวฟัน เกิดเป็นกระเป๋าปริทันต์ (periodontal pocket - ช่องระหว่างเหงือกและฟันเกิดขึ้นเนื่องจากมีการทำลายของกระดูกรองรับเบ้าฟัน) ซึ่งภายในมีจุลินทรีย์และหนอง จนในที่สุดกระดูกรอบๆ รากฟันจะถูกละลายลงไปเรื่อยๆ ฟันเริ่มโยกมากขึ้นๆ และต้องหลุดออกในที่สุด

ผู้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคปริทันต์

นักค้นคว้าวิจัยยังไม่ทราบว่าเหตุใดบางคนเป็นโรคปริทันต์ได้ง่ายและรวดเร็ว เช่นเดียวกับที่เราไม่ทราบว่าทำไมทุกๆ คนจึงไม่เป็นโรคหัวใจและโรคไขข้ออักเสบกันหมด จากการวิจัยพอจะสรุปได้ว่าขึ้นอยู่กับแผนภูมิยีน (genetic make up) ของแต่ละคน นอกจากนี้ ยังพบว่าสิ่งต่อไปนี้อาจทำให้บางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคปริทันต์ หรือทำให้โรคปริทันต์ที่กำลังเป็นอยู่นั้นรุนแรงมากขึ้น

ยา ยาแก้แพ้ ยาลดความดันเลือด และยาอีกมากกว่า 400 ชนิด ซึ่งจะลดการผลิตน้ำลายที่ทำหน้าที่ชะล้างจุลินทรีย์ในช่องปาก นอกจากนี้ ยาบางชนิดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อที่เกิดขึ้น

ฮอร์โมน ยาคุมกำเนิดบางชนิดและการตั้งครรภ์ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศหญิงสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งเร้าให้จุลินทรีย์ตัวต้นเหตุของโรคปริทันต์มีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

โรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน และโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติบางชนิดทำให้ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อง่าย
บุหรี่ จากการวิจัยพบว่า ผู้สูบบุหรี่มีอัตราการเกิดโรคปริทันต์สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่

สิ่งระคายเคืองในช่องปาก เช่น การสบฟันผิดปกติ ฟันที่อุดไว้ไม่เรียบร้อย หรือฟันปลอมที่ไม่พอดี เป็นที่กักเศษอาหารและพลัค

อาหาร แป้งและอาหารหวานช่วยให้พลัคเกิดเร็วขึ้น

อารมณ์ ความกังวล เครียด เสียใจ ทำให้โรคปริทันต์รุนแรงขึ้น เพราะน้ำลายน้อยลง หรือเกิดนิสัยต่างๆ ที่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อปริทันต์ได้ เช่น นอนกัดฟัน

อายุ เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเป็นโรคปริทันต์จะสูงขึ้นตามไปด้วย

การป้องกัน

หนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เป็นโรคปริทันต์ คือ การกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ทุกวัน ซึ่งหมายถึง การทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างหมดจด การทำความสะอาดฟันไม่ใช่เพียงแค่แปรงฟันเท่านั้น เพราะการแปรงฟันอย่างถูกวิธีทำให้ฟันสะอาดได้จริง แต่ไม่สามารถทำความสะอาดบริเวณระหว่างซี่ฟันได้ การใช้เส้นใยไนล่อน (dental floss) จะช่วยกำจัดพลัคจากบริเวณซอกฟันและขอบเหงือกได้เป็นอย่างดี

ความเข้าใจเก่าที่ผิดๆ เกี่ยวกับโรคปริทันต์

1. การรักษาโรคปริทันต์เจ็บปวดมากและค่าใช้จ่ายสูง
โรคปริทันต์ระยะเริ่มต้น การรักษาอาจเพียงทำการขูดหินน้ำลาย เกลารากฟันให้เรียบ ขูดเนื้อเยื่อที่เป็นโรคออกจากกระเป๋าปริทันต์ สำหรับโรคปริทันต์ที่เป็นมากๆ แล้ว อาจต้องผ่าตัดเหงือกเพื่อกำจัดกระเป๋าปริทันต์ที่ลึกๆ

โรคปริทันต์เมื่อเป็นแล้วถ้าไม่รักษาจะเป็นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การป้องกันโดยดูแลอนามัยช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ และรักษาทันทีเมื่อเป็นระยะเริ่มต้น จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงและไม่เจ็บปวดมาก

2. การดูแลอนามัยช่องปากเป็นเรื่องยุ่งยากและน่าเบื่อหน่าย
การทำความสะอาดช่องปากและฟันเป็นวิธีง่ายๆ ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษอะไร มีเพียงแปรงสีฟัน ยาสีฟัน และเส้นใยไนล่อน ซึ่งเมื่อฝึกหัดทำประมาณ 2-3 สัปดาห์จะเคยชิน และปฏิบัติเป็นกิจวัตรได้

3. ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ถ้าคนในครอบครัวเป็นโรคเหงือก ฉันก็ต้องเป็นแน่ๆ
เป็นความเข้าใจผิด คุณอาจมีแนวโน้มทางกรรมพันธุ์ที่จะเป็นโรคนี้ แต่ทุกคนสามารถควบคุมและป้องกันโรคปริทันต์ได้

4. เลือดออกที่เหงือกเป็นเรื่องไม่น่าห่วงอะไร
เลือดออกเป็นสัญญาณของโรคปริทันต์ เหงือกที่สุขภาพดีจะไม่มีเลือดออก ควรปรึกษาทันตแพทย์เมื่อท่านมีอาการนี้

5. ฉันยังอายุน้อยเกินกว่าจะเป็นโรคปริทันต์
ถึงแม้ว่าแนวโน้มการเป็นโรคปริทันต์มีสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น แต่โรคนี้ไม่ได้เกิดกับคนสูงอายุเท่านั้น โรคปริทันต์ในวัยหนุ่มสาว เกิดขึ้นได้กับวัยรุ่น และมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มอายุ 18 ปีจะเป็นโรคปริทันต์

ข้อมูลสื่อ

126-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
โรคน่ารู้