• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เน่ยจิง กับงานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีส

เน่ยจิง กับงานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีส

ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) มีชีวิตอยู่ในยุคกรีกโบราณราว 355-460 ปีก่อนคริสตศักราช เขามีผลงานทางการแพทย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และได้สมญาว่า บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก งานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีส เป็นผลงานที่ฟอส (Anutius Foes) ได้ใช้เวลาถึง 40 ปี ในการศึกษารวบรวมและเรียบเรียงขึ้น ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2138 งานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสเล่มนี้เป็นหนังสือภาษาลาตินที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต่อมาลิตเทอร์ (Emile Littre) ได้ใช้เวลานาน 22 ปี แปลและเรียบเรียงขึ้นใหม่ และเริ่มทยอยตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2382-2404 รวมทั้งหมด 10 บท เป็นหนังสือที่มีภาษาลาตินและฝรั่งเศสเทียบเคียงที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีฉบับแปลเป็นภาษารัสเซียอีก 3 สำนวน ภาษาอังกฤษอีกหลายสำนวน แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ สำนวนการแปลของฟรานซิส อดัมส์ (Francis Adams) ในปี พ.ศ.2392

งานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ห่างกับยุคสมัยที่ฮิปโปเครตีสมีชีวิตอยู่เป็นเวลานาน งานนิพนธ์เล่มนี้นักประวัติศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยค้นคว้า และให้ความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เขียนโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ใช่เกิดขึ้นในยุคใดยุคหนึ่ง เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นงานเขียนของฮิปโปเครตีสเอง นอกจากนี้ยังมีผลงานของสานุศิษย์และนายแพทย์ในยุคหลังได้เขียนขึ้นรวมอยู่ด้วย สรุปแล้ว ไม่ว่างานนิพนธ์ชิ้นนี้จะเป็นผลงานของคนมากน้อยเท่าไรก็ตาม แต่ก็เป็นผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงทรรศนะทางการแพทย์ทั่วๆ ไปในสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน

งานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสและเน่ยจิง มีข้อเหมือนกันอยู่ 2 ประการ

1. ผลงานทั้งสองเล่มเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกัน

2. ลักษณะการเขียนและเรียบเรียงเป็นแนวเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เขียนโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ใช่เป็นผลงานในยุคใดยุคหนึ่งโดยเฉพาะ

ดังนั้น การศึกษาเปรียบเทียบเน่ยจิงในฐานะตัวแทนของการแพทย์ตะวันออก และงานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสในฐานะตัวแทนของการแพทย์ตะวันตก โดยการเปรียบเทียบเนื้อหาที่สำคัญของหนังสือทั้งสองเล่ม จึงเป็นการศึกษาที่มีความหมายและน่าสนใจยิ่ง

1. จุดร่วมที่มีอยู่ในเนื้อหาของหนังสือทั้งสองเล่ม

ก. ความเชื่อ : ไม่เชื่อในไสยศาสตร์

ข. ด้านกายวิภาค : เน่ยจิงแบ่งลักษณะของร่างกายเป็น 25 ลักษณะ ฮิปโปเครตีสแบ่งลักษณะของร่างกายเป็น 4 ลักษณะ

ค. ฤดูกาลกับโรค : เน่ยจิงเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่มีผลทำให้เกิดโรค ฮิปโปเครตีสก็เช่นกัน เขาได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน เช่น โรคปอดอักเสบ มาลาเรีย โรคบิด เป็นโรคระบาดที่เกิดตามฤดูกาล

ง. สิ่งแวดล้อมกับโรค : เน่ยจิงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่มีผลทำให้เกิดโรค ฮิปโปเครตีสก็ได้กล่าวไว้ในบทอากาศ น้ำ และถิ่นฐานที่อยู่เช่นกันว่า “เมื่อหมอเข้าไปอยู่ในถิ่นที่ยังไม่เคยไป ก่อนอื่นจะต้องศึกษาถึงภูมิอากาศ ภูมิประเทศ รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนในบริเวณนั้นเป็นเบื้องต้นก่อน”

จ. ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะของร่างกายกับการเกิดโรค : หนังสือทั้งสองเล่มนี้ต่างมีทรรศนะที่คล้ายกัน เช่นการให้ความสำคัญต่อมาตรการต่างๆ หลังการเกิดโรคแล้ว เพื่อยับยั้งไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

ฉ. กฎเกณฑ์การรักษาแบบตรงกันข้าม : หนังสือทั้งสองเล่มมีวิธีการในการรักษาโดยใช้กฎเกณฑ์ที่เหมือนกันคือ ถ้ามากเกินไปก็จะต้องลดลง ถ้าน้อย (หรือขาด) ก็จะต้องเพิ่ม เป็นต้น

ช. การหายจากโรคด้วยวิธีธรรมชาติ : ทั้งเน่ยจิงและงานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสได้กล่าวไว้ว่า ภาระหน้าที่ของหมอ ก็คือ การร่วมมือกับธรรมชาติ ช่วยเหลือธรรมชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการรักษาโรคโดยวิธีธรรมชาติ

ซ. การรักษาโรคด้วยอาหารสมุนไพร : มีการกล่าวถึงวิธีรักษาแบบนี้ในหนังสือทั้งสองเล่มนี้อยู่ไม่น้อย

ฌ. การวินิจฉัยโรค : หนังสือทั้งสองเล่มนี้ได้บันทึกโรคบางอย่างไว้อย่างละเอียด แม้กระทั่งทุกวันนี้เรายังสามารถสืบเสาะไปหาโรคที่เกิดในยุคนั้นได้

ญ. ทฤษฎีพื้นฐาน : เน่ยจิงกล่าวถึงธาตุทั้งห้า (ดิน น้ำ ไม้(ลม) ไฟ ทอง) ส่วนงานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสกล่าวถึงธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งต่างก็เชื่อว่า การผสมผสานของธาตุที่กล่าวข้างต้น ถ้าอยู่ในอัตราที่เหมาะสมก็จะทำให้เกิดโรคได้ สำหรับทฤษฎีที่สามารถเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบนั้น เน่ยจิงจะมีจุดเด่นกว่างานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสอย่างเห็นได้ชัด

2. สาระเนื้อหาที่ต่างกันของเน่ยจิงและงานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีส

เกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด การสังเกตการณ์เต้นของชีพจร การใช้การสูดหายใจเข้า-ออกของคนปกติมาเป็นเกณฑ์วัดความเร็วในการเต้นของชีพจร การแบ่งโรคโดยใช้อวัยวะกลวงและตันเป็นเกณฑ์ และความคิดเกี่ยวกับการป้องกันโรคตลอดจนการปักเข็ม เป็นเนื้อหาที่ไม่มีในงานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีส

ศีลธรรมและจรรยาแพทย์มีกล่าวเฉพาะในงานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสเท่านั้น

งานแปล

งานแปลเกี่ยวกับงานนิพนธ์ของฮิปโปเครตีสนั้น หลังจากฟอส (Anutius Foes) ได้รวบรวมศึกษาและเรียบเรียงเป็นเล่มในปี พ.ศ.2138 หนังสือเล่มนี้ได้ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน (แต่ละภาษามีหลายสำนวน) ทำให้ชาวต่างประเทศมีความเข้าใจในทรรศนะความคิดทางการแพทย์ของฮิปโปเครตีสได้ชัดเจน

สำหรับเน่ยจิงงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศนั้นมีน้อยมาก นอกจากฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วก็มีที่แปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ The Yellow Emperror ซึ่งแปลโดยอิลซ่าวิท (IIza Veith) ในปี พ.ศ.2492 และแปลเพียง 34 บทเท่านั้น นอกจากเนื้อหาจะไม่สมบูรณ์แล้ว การแปลก็ไม่ถูกต้องทำให้เน่ยจิงเป็นหนังสือที่ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ชาวตะวันตกหรือแม้แต่ชาวตะวันออกเองก็ไม่สามารถเข้าใจปรัชญาความคิดของการแพทย์ตะวันออกได้

ข้อมูลสื่อ

126-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
วิทิต วัณนาวิบูล