เด็กห้าขวบถึงหกขวบ
ลักษณะของเด็ก
372. ลักษณะของเด็กวัย 5-6 ขวบ
เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่อยู่โรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็ก เพื่อเตรียมตัวเข้าโรงเรียนประถมเมื่ออายุครบเกณฑ์ การเตรียมตัวเด็กช่วงนี้มิได้หมายถึง การหัดให้อ่านและเขียนหนังสือ หรือสอนนับเลข บวกเลข เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เด็กจะได้เรียนในชั้นประถม และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วหากเด็กมีความพร้อม
การเตรียมความพร้อมที่สำคัญที่สุดประการแรก คือ ความพร้อมด้านสุขภาพ ต้องเลี้ยงลูกให้แข็งแรงพอที่จะอยู่ในสังคมของคนหมู่มาก และมีกำลังต่อสู้กับความเหนื่อยล้าจากการเรียน เด็กควรออกกำลังกายกลางแจ้งทุกวัน เด็กวัย 5-6 ขวบนี้สามารถวิ่งระยะ 25 เมตรได้ภายในเวลา 6-7 วินาที
ประการที่สอง คือ เตรียมความพร้อมด้านการมีสมาธิในการทำงาน การเรียนหนังสือในโรงเรียนบางครั้งก็เป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่เด็กต้องรู้จักอดทน และพยายามเรียนรู้จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายของบทเรียนนั้น การร่วมคิดกับเพื่อนเพื่อสร้างจินตนาการสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ดี ควรพยายามทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้บรรลุเป้าหมายก็มีความสำคัญยิ่ง เราต้องทำให้เด็กรู้จักโลกของความเป็นจริง มิใช่โลกในความฝัน
ประการที่สาม การเรียนในโรงเรียนเป็นการเรียนร่วมกันทั้งห้อง เวลาทำกิจกรรมก็ทำร่วมกันเป็นห้อง ดังนั้นเด็กต้องรู้จักการทำกิจกรรมรวมหมู่ การทำกิจกรรมรวมหมู่มิได้หมายความว่า จะต้องทำตามคนอื่น หรือทำอะไรให้ได้อย่างคนอื่น แต่หมายถึง การรู้จักร่วมมือทำงานกับเพื่อนๆ และกล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อหน้าเพื่อนจำนวนมาก
สำหรับเด็กวัยเกิน 5 ขวบขึ้นไป เราต้องสอนให้รู้จักความรับผิดชอบเมื่อทำกิจกรรมรวมหมู่ เด็กวัยนี้ชอบเล่นกับเพื่อนแบบรวมหมู่ อาจให้เล่นฟุตบอล วิ่งเปี้ยว วิ่งผลัด มอญซ่อนผ้า การฟักไข่ เป็นต้น เกมเหล่านี้ทำให้เด็กเริ่มรู้จักรับผิดชอบบทบาทหน้าที่ของตน นอกจากการเล่นเกมแล้ว เราควรฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่การงานด้วย ควรจัดเวรให้เด็กมีหน้าที่เก็บของเล่นบ้าง แจกดินน้ำมันบ้าง เก็บโต๊ะเก้าอี้หลังกินอาหารบ้าง เป็นต้น
เด็กควรมีชั่วโมงปกครองตนเอง ซึ่งในญี่ปุ่นเรียกว่า ชั่วโมงโฮมรูม (home room) เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ จะกำหนดหน้าที่การงานในหมู่เด็กด้วยกันเอง เช่น ใครจะรับผิดชอบทำความสะอาดห้อง ใครจะเลี้ยงนกของห้อง ใครจะรดน้ำต้นไม้ เด็กๆ มีสิทธิ์วิจารณ์การทำงานของเพื่อนตามความคิดเห็นของตนเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ของตน รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสังคมด้วย ยิ่งกว่านั้นเด็กจะรู้ว่าการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่มากกว่าเป็นส่วนรวม และเมื่อความคิดเห็นของตนได้รับการยอมรับจากเพื่อน เด็กย่อมรู้สึกถึงความรับผิดชอบที่จะทำสิ่งนั้นให้บรรลุเป้าหมาย ความรับผิดชอบและความร่วมมือซึ่งเกิดขึ้นจากการตัดสินใจในหมู่เด็กด้วยกันเองนั้น มีความหมายแตกต่างจากการทำโดยคำสั่งของครู
เด็กอนุบาลมีเวลาทำกิจกรรมรวมหมู่อย่างอิสระ เพราะไม่มีข้อบังคับกำหนดว่า จะต้องสอนวิชาโน้นวิชานี้ให้ครบตามหลักสูตรเหมือนในโรงเรียนประถม การเรียนรู้ในระดับอนุบาลจึงเหนือกว่าระดับประถมหรือมัธยมในข้อที่เน้นความสัมพันธ์ของมนุษย์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม มีโรงเรียนอนุบาลจำนวนมากที่มิได้สร้างสังคมอันสนุกสนานให้เด็กได้มีความสุขอยู่กับกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาลที่มุ่งสอนแบบให้เด็กนั่งเรียนหนังสืออยู่กับโต๊ะ มีทั้งวิชาเลขคณิต ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วาดเขียน เป็นต้น โรงเรียนอนุบาลประเภทนี้เป็นโรงเรียนดีในสายตาของพ่อแม่ที่หวังจะให้ลูกสอบเข้าเรียนชั้นประถมในโรงเรียนดัง
วัย 5-6 ขวบซึ่งเป็นวัยสำคัญมากนี้ หากเด็กถูกสอนเฉพาะด้านวิชาการแบบนั้น เด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักร่วมมือกับเพื่อนฝูง ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่รู้สึกรับผิดชอบต่องานซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมของส่วนรวม เด็กบางคนเวลาอยู่บ้านก็ยังไม่เป็นอิสระจากแม่ เวลาไปโรงเรียนก็ได้แต่ทำทุกอย่างตามเพื่อน เป็นเด็กที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง เด็กแบบนี้เมื่อขึ้นชั้นประถมหากมีสิ่งที่ตนไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อย (เช่น อาหารกลางวันไม่อร่อย ไม่ชอบครู วิชาเรียนยาก) เด็กจะแยกตัวออกจากสังคม เพราะไม่มีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่น เนื่องจากไม่กล้าแสดงความรู้สึกของตนเองต่อเพื่อนๆ อย่างตรงไปตรงมา
ดังนั้น การสอนให้เด็กกล้าแสดงออก และรู้จักการใช้ชีวิตรวมหมู่กับเพื่อนร่วมชั้น จึงมีความสำคัญยิ่งกว่าการสอนหนังสือมากมายหลายเท่า อย่างไรก็ดี หากตัวเด็กเองชอบอ่านหนังสือและพยายามอ่านด้วยตนเอง เราก็ไม่จำเป็นต้องห้าม ควรสนับสนุนเสียด้วย เด็กบางคนก็ชอบตัวเลข จำตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกา เลขทะเบียนรถยนต์ เลขช่องโทรทัศน์ได้ด้วยตนเอง ต่อมาเด็กอาจจะเร่งเร้าให้พ่อแม่สอนเลขบวก เลขลบ และชอบคิดอย่างสนุกสนาน แบบนี้เราก็น่าจะปล่อยให้แกสนุกได้ตามใจชอบ แต่อย่าก้าวไกลไปจนถึงขั้นคิดสร้าง “เด็กปัญญาเลิศ” ขึ้นมาด้วยตนเอง โดยตั้งโจทย์เลขยากขึ้นเรื่อยๆ ให้เด็กฝึกคิดทุกวัน เพราะการทำเช่นนี้ไม่ใช่ความสนุกของลูกเสียแล้ว กลายเป็นอีโก้ (Ego) ของพ่อแม่เสียมากกว่า ทั้งยังขัดขวางพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กอีกด้วย
การเรียนดนตรีก็เช่นเดียวกัน หากเด็กสนใจอยากเรียนเราควรสนับสนุน แต่อย่าถึงกับฝันว่าแกจะเป็นอัจฉริยบุคคลทางดนตรีในอนาคต เด็กวัยนี้ควรทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้แล้ว เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน ล้างมือก่อนกินอาหารและหลังกลับจากโรงเรียน บ้วนปาก เปลี่ยนเสื้อผ้า ตัดเล็บ สั่งน้ำมูก อาบน้ำเอง เป็นต้น อย่างไรก็ดี สิ่งใดที่พ่อแม่ไม่ได้ทำเป็นกิจวัตร อย่าฝืนบังคับให้ลูกทำแต่ฝ่ายเดียว นอกจากนั้น ควรสอนให้เด็กรู้จักมารยาทสังคม รวมทั้งเคารพต่อสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้อื่น การทักทาย การขอบคุณ การขอโทษ การต้อนรับแขก มารยาทในการกินอาหาร เด็กวัยนี้ควรเรียนรู้ได้แล้ว และผู้ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ คุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
เมื่อกลับจากโรงเรียนอนุบาล เวลาช่วงบ่ายถึงเย็นควรเป็นเวลาที่เด็กจะได้เล่นกับเพื่อนฝูงในที่ปลอดภัย น่าเสียดายที่เด็กไทยจำนวนมากต้องสูญเสียช่วงเวลาแห่งความสุขและการเรียนรู้ทางสังคมนี้ให้กับการทำการบ้าน เด็กวัยนี้ควรเข้านอนประมาณ 2-3 ทุ่ม เพราะจะต้องตื่นเช้าเพื่อไปโรงเรียน คนไหนไปโรงเรียนไกลบ้านก็ต้องตื่นเช้ามาก สภาพการจราจรของกรุงเทพฯ นั้นสุดโหดสำหรับเด็กอนุบาล บางคนต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า และมานอนต่อในรถช่วงรถติด พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็อยากให้ลูกเรียนใกล้บ้าน แต่ความจำเป็นนานาประการบังคับให้จำต้องกระเตงลูกไปเรียนใกล้ที่ทำงานซึ่งอยู่ไกลโพ้นก็มี เด็กสมัยนี้น่าสงสารจริงๆ ชีวิตอับเฉาแต่เยาว์วัย แทนที่จะได้โลดแล่นอยู่ท่ามกลางทุ่งนาและฟ้ากว้าง กลับต้องมาคุดคู้อยู่ในรถ ท่ามกลางเขม่าควันซึ่งรถช่วยกันพ่นออกมาจนฟ้าหม่น
เด็กวัยนี้กินไม่มากเท่าที่แม่อยากให้กิน บางคนรีบออกจากบ้านไปโรงเรียนจนไม่มีเวลากินอาหารเช้า ต้องเอาใส่กระเป๋าให้ไปกินบนรถหรือที่โรงเรียน อาหารมื้อกลางวันมักเป็นอาหารที่ทางโรงเรียนจัดให้ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่กินได้มากกว่าเวลาอยู่บ้าน เพราะกินข้าวกับเพื่อนนั้นสนุกกว่า และถูกครูบังคับให้กินจนหมดด้วย สำหรับมื้อเย็นควรให้เด็กได้รับธาตุอาหารครบถ้วน เด็กที่ยังไม่ยอมกินผักก็ต้องให้กิยผลไม้แทน ไม่กินเนื้อก็ต้องกินปลาหรือเต้าหู้ เด็กวัยนี้ควรดื่มนมประมาณ 200-400 มิลลิลิตรต่อวัน เด็กดื่มนมมากไม่เป็นไร ยกเว้นเฉพาะเด็กที่อ้วนเกินไปไม่ควรให้ดื่มนมถึง 600-800 มิลลิลิตรต่อวัน เด็กบางคนดื่มน้ำมาก บางคนดื่มน้อย ตามนิสัยความเคยชิน ดื่มน้ำมากก็เหงื่อออกมากและปัสสาวะบ่อย ซึ่งเป็นสิ่งปกติสำหรับเด็กคนนั้น
อาหารว่างของเด็กวัยอนุบาลนี้มักเป็นหน้าที่ของทางโรงเรียนซึ่งเด็กจะได้กินขนมก่อนกลับบ้าน หลังจากนั้นเด็กจะกินขนมอีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลาดูโทรทัศน์หลังอาหารเย็น ไม่ควรให้ขนมก่อนเวลาอาหาร เพราะทำให้เด็กกินอาหารหลักได้น้อยลง ถ้าเด็กหิวหลังกลับจากโรงเรียนให้ดื่มนมและเลื่อนเวลาอาหารมื้อเย็นให้เร็วขึ้นจะดีกว่า
การหัดให้เด็กรู้จักซื้อของเองเป็นสิ่งดี และช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเอง แต่ควรสอนเสียก่อนว่าอะไรควรซื้อ อะไรไม่ควรซื้อ และไม่ควรให้เด็กเอาเงินไปโรงเรียนอนุบาล เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่ควรซื้ออาหารกินเอง
โรคที่เด็กวัยนี้เป็นมาก คือ ไข้หวัด และทอนซิลอักเสบ นอกจากนั้นก็มีอีสุกอีใส หัด หัดเยอรมัน คางทูม (มีวัคซีนป้องกัน) ไส้ติ่งอักเสบ ไข้เลือดออก อาเจียน อุจจาระร่วง เป็นต้น
- อ่าน 30,796 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้