• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นาทีทองแห่งธรรมทาน

นาทีทองแห่งธรรมทาน

“คนสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าวัด ห่างพระห่างเจ้า จึงไม่ได้ลิ้มรสพระธรรม ไม่เหมือนคนรุ่นปู่ย่าตายาย ท่านใกล้ชิดพระศาสนามากกว่า นี่แหละ คือ ต้นเหตุที่สังคมไทยเสื่อมทรามลงจนใกล้จะเป็นยุคมิคสัญญีอยู่แล้ว และพระพุทธศาสนาเองก็ไม่พ้น ต้องพลอยเสื่อมโทรมลงไปด้วย”

ท่านที่รัก สังคมไทยก้าวมาถึงทางตันแล้ว เช่นที่ว่ากันกระนั้นหรือ เราไม่มีทางจะกอบกู้สถานการณ์ให้สังคมกลับฟื้นคืนดีขึ้นมาดุจในอดีตทีเดียวหรือ “มีความพยายามอยู่ที่ไหน ก็ย่อมจะพบช่องทางแห่งความสำเร็จ คอยยิ้มต้อนรับอยู่ที่นั่น” ขอเรียนว่า เรายังมีความหวังครับ ถ้าเราพยายาม

ผมขอเสนอ “นาทีทองแห่งธรรมทาน” เพื่อเรียกร้องนาทีสำนึกจากท่านสาธุชน และหวังว่าจะได้รับพลังร่วมในการสร้างสรรค์กอบกู้สังคมไทย และพระพุทธศาสนาที่รักของเรา ถึงจะไม่ทุกวัดแต่ก็มากมายหลายวัดครับ ผมหมายถึงวัดในกรุงเทพฯนี่แหละ ที่ชาวพุทธแห่แหนกันเข้าวัด ไปขอพึ่งบริการในเรื่องงานศพ-งานเมรุ ซึ่งดูเหมือนจะคับคั่งเต็มอัตราศึกแทบทุกวัด

ทุกค่ำคืน ไม่เว้นเสาร์-อาทิตย์ ไม่เฉพาะวันพระวันโกนทั้งหญิงทั้งชาย ทุกชั้นทุกอาชีพต่างบ่ายหน้ากันเข้าวัด เฉพาะวัดใหญ่ๆ อย่างวัดธาตุทอง คืนหนึ่งเป็นจำนวนพันนะครับ และไม่ใช่มาวัดอย่างทัศนาจร แต่ทุกท่านเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมเวลาที่จะนั่งสำรวมต่อหน้าพระคุณเจ้า ต่อหน้าเรือนร่างซึ่งไร้วิญญาณ ที่เขาเคารพและอาลัย แต่ละดวงใจชุ่มโชกด้วยความโศกสลด พร้อมกับเริ่มมองเห็นความจริงของชีวิตว่าทุกชีวิตตายแน่อย่างปราศจากความสงสัย เพราะประจักษ์พยานท้าทายให้พิสูจน์ได้ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าของเขาแล้ว

ดวงจิตร้อยดวง-พันดวงขณะนั้นต้องการธรรมโอสถ กระหายที่จะลิ้มรสพระธรรม เพื่อบำบัดความทุกข์บรรเทาจิตใจให้สร่างโศก ให้สว่างไสวด้วยปัญญาญาณ แน่นอนที่สุด พระธรรมที่ได้ลิ้มรสถูกกาลเทศะเช่นนี้ นอกจากจะแก้โรคใจได้อย่างชะงัดแล้ว ยังจะเป็นดวงประทีปประจำชีวิตของเขาไปได้นานแสนนานอีกด้วย ช่างเป็นนาทีทองที่เหมาะสมคู่ควรแก่การประกาศธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียนี่กระไร เป็นนาทีทองทั้งผู้รับและทั้งผู้ให้

นาทีสำนึกนี้เกิดขึ้นแก่ผม เพราะแรงกระตุ้นของมิตรสหายที่เขาไปในงานศพของชาวคริสต์มา เขาเล่าให้ฟังว่า

“ที่ประชุมของเขามีบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนสงบ สำรวมกิริยาอาการ เคารพศพ เคารพพิธีทางศาสนา และพระของเขาก็ได้มากล่าวสุนทรกถาเป็นที่ประทับใจ คุ้มกับค่าของเวลา เหมาะกับงานอย่างยิ่ง”

แล้วเขาก็ตั้งกระทู้ถามผมว่า ทำอย่างไรงานศพของชาวพุทธจึงจะเป็นนาทีทองแห่งธรรมทานดุจยุคพุทธกาล วิธีการของเราล้าสมัยใช่หรือไม่ ตอนสุดท้ายเขารำพึงรำพันว่า “คนเข้าวัดเป็นพัน เป็นหมื่นทุกคืน แต่ไม่มีใครสนใจไยดีหยิบยื่นสัจธรรมให้แก่เขา น่าเสียดาย”

นาทีทองแห่งธรรมทานนี้ ผมเคยแลกเปลี่ยนสนทนากับมิตรสหายหลายท่าน ต่างมีความคิดเห็นสอดคล้องต้องกันว่าเราจะต้องริเริ่ม ปรับปรุง และขยายผลให้กว้างขวางโดยไม่ชักช้า มันเป็นหน้าที่ของชาวพุทธโดยตรง แล้วความหวังก็ได้ปรากฏเป็นความจริงขึ้นบ้าง เมื่อใครๆ ที่มาในงานศพของคุณสาวิกา ว่องวานิช ต่างออกอุทานขึ้นมาอย่างนิยมชมชื่นเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณบุญยง ว่องวานิช จัดงานศพศรีภรรยา สมเป็นนายกยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยจริงๆ

ในงานศพ 7 วันแรก และต่อมาทุกวันเสาร์ คุณบุญยงจะเริ่มพิธีด้วยการเชิญชวนท่านผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน ให้สดับพระธรรมเทศนาจากพระธรรมกถึก ผู้มีชื่อเสียงแห่งยุคเสียก่อน ต่อจากนั้นพระสงฆ์ 4 รูปก็จะมาสวดธรรมคาถา ซึ่งมีทั้งคำพระและคำแปลเป็นภาษาไทย สวดเรียบๆ ฟังเย็นๆ ทำให้เข้าใจและซาบซึ้งในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาแบบเบาๆ สมอง เป็นวิธีเผยแพร่พระธรรมที่สอดคล้องกับบรรยากาศของงานเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่สวดให้คนตายฟัง ซึ่งไม่รู้เรื่องทั้งผู้สวด ทั้งผู้ฟัง ดังที่ได้เคยประสบพบเห็นในงานอื่นๆ

การริเริ่มพร้อมกับสร้างสรรค์นาทีทองแห่งธรรมทานนี้ ฝ่ายพระนั้นคงต้องถวายเกียรติแด่ท่านเจ้าคุณปัญญานันทะในฐานะผู้บุกเบิกอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อให้เป็นหลักฐานสมอ้างจึงขอนำถ้อยคำสำนวนของท่านมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ยังมีเรื่องแก้ต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง เรื่องการสวดศพ มาแล้วก็สวดกันอยู่นั่น สวด 4 จบ พอสวด 4 จบแล้วก็กลับบ้านกัน จะได้เรื่องอะไร อาตมาเห็นว่าไม่ได้เรื่อง เลยคิดเปลี่ยนปฏิรูปใหม่ ทีนี้เอาสวดจบเดียว พอสวดจบ-เทศน์เลย พระที่เทศน์ไปนั่งอยู่แล้ว เจ้าภาพไม่ต้องนิมนต์ ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของวัดที่จะให้ พอสวดจบ-เหตุปัจจะโย-ขึ้นเลย ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ว่าเลย โยมไม่ต้องเกี่ยวข้อง เราไปให้เป็นหน้าที่ พอโยมมาถึงวัด เรามีของดีทำไมไม่แจก นี่โยมมาเอง ไม่ต้องแจกฎีกา ไม่ต้องป่าวร้อง กำไรนักหนาแล้ว ไปเทศน์เลย จัดพระให้ไปเทศน์ ให้ลูกวัดเทศน์ก่อน แต่ถ้าวันไหนมีคนมากเป็นพิเศษอาตมาเทศน์เอง ปกติเทศน์คืนสุดท้าย แต่บางศพคืนสุดท้ายก็ไม่ได้เทศน์ เพราะเขานิมนต์ไปวัดอื่นเสียก่อน เลยก็ให้พระอื่นเทศน์ต่อไป

เวลานี้ดีแล้ว คนชอบแล้ว คนชอบว่า ตั้งศพที่วัดชลประทานฯ เป็นบุญ เป็นกุศล ไม่มีเรื่องสนุก สงบ สบายดี คนชอบมา ความจริง สมัยพุทธกาลเขาไม่มีสวดผีอะไรกันหรอก แต่ว่าจะไม่ให้สวดเสียเลย นักสวดก็จะเสียใจ เอาไว้บ้าง สวดนิดหน่อย แล้วให้มีการเทศน์ ยิ่งวัดใหญ่ๆ ที่มีศพมากๆ น่าเทศน์ หลวงพ่อไปดูงานศพแล้วเสียดาย เสียดายคนที่มานั่งสลอน ไม่ได้อะไร มานั่งดู ดูกันไป ดูกันมา แล้วก็กลับบ้าน จะได้ปัญญาที่ตรงไหน เรียกว่าได้บุญ แต่ไม่ได้กุศล ได้บุญ ก็คือ สบายใจ สบายใจว่าได้ไปงานศพคนนั้นคนนี้แล้ว แต่ว่าไม่ได้ความฉลาด เรียกว่า ไม่ได้กุศล

เป็นหน้าที่ของสมภารเจ้าวัด ที่จะจัดให้คนที่มาวัดได้กุศลกลับไป เพราะฉะนั้นเราต้องสนทนาธรรม ต้องเทศน์ให้เขาฟังตามโอกาส โอกาสที่จะเทศน์ เวลาไหนก็ได้ กลางคืนก็ได้ ตอนบ่ายเวลาจะเผาศพก็ได้
ในงานศพญาติโยมมักจะให้มีการเทศน์เวลาบ่ายโมงไม่มีคนฟังเลย คิดว่าต้องแก้ บอกโยมที่มานิมนต์ว่า

“เอาอย่างนี้โยม อย่าเทศน์บ่ายโมงเลยมันไม่ได้เรื่อง เพราะเราไม่ได้เทศน์ให้ผีฟัง แต่เทศน์ให้คนฟัง”

“แล้วจะเอาเวลาไหนดีละท่าน”

“เอาเวลาใกล้จะเผา สมมติว่าเผาเวลาห้าโมงเย็น พอสี่โมงครึ่งก็เทศน์เลย”

“เทศน์อย่างไรล่ะท่าน ศพยกไปไว้บนเมรุแล้ว”

“ก็ไปเทศน์บนเมรุ ไม่เอาธรรมมาสน์ ไม่ต้อง ฉันไปยืนพูดของฉันเอง โยมจัดไมโครโฟนเครื่องขยายเสียงไว้ก็แล้วกัน” เลยบอกว่าเอาแบบนั้น

“เดี๋ยวนี้เทศน์ไม่ค่อยทันแล้ว คนจะนิมนต์กันใหญ่เวลานี้มันได้ประโยชน์ ตอนนั้นคนมาก แล้วเราก็สะกิดข้อควรแนะ ควรคิดให้เขาเข้าใจ มันดีขึ้น”

“ไปยุพระวัดที่มีป่าช้าหลายวัดให้ทำ ยุไม่ขึ้น เรียกว่า ยุไม่ขึ้น ไม่เอา ยังจะสวดอยู่เรื่อยไป สวดมันง่าย จำทีเดียวหากินได้ตลอดชาติเลย ไม่ต้องลำบาก การเทศน์นี่ต้องคิดว่าจะเทศน์อะไรให้เหมาะแก่คนฟัง ต้องคิด แล้วก็ไม่ค่อยมีนักเทศน์ มีแต่นักสวด นึกว่าสวดก็พอกินแล้ว จะอุตริเทศน์ไปทำไมให้มันยุ่งยาก”

เรามันต้องการให้คนเข้าถึงธรรมะ จึงต้องไปเทศน์ไปสอนเขา...

คราวนี้ก็มาถึงขั้น ทำอย่างไรสิ่งวิเศษสุดที่เสนอนี้จึงจะได้รับการอ้าแขนรับจากวัดวาอารามต่างๆ อย่างกว้างขวาง อย่างสะดวกสบายไร้กังวลที่สุด

อุปสรรคด่านแรก ก็อย่างที่ท่านปัญญาท่านว่านั่นแหละ “ข้อสำคัญแต่ละวัดไม่ค่อยมีนักเทศน์มีแต่นักสวด” วิธีแก้ วัดที่ไม่มีนักเทศน์ที่ง่ายที่สุด คือ ต้องจัดทำหนังสือเทศน์งานศพที่มีเนื้อหาไพเราะ ประทับใจให้ได้สัก 20-30 กัณฑ์ก็พอใช้เวลาอ่านเทศน์ครั้งละประมาณ 20 นาที อ่านวันละกัณฑ์ เดือนหนึ่งจึงจะหวนกลับมาเริ่มใหม่อีกครั้งหนึ่ง หมายความว่า ไม่ซ้ำซาก จำเจ ใหม่ทันสมัยสำหรับเจ้าภาพแต่ละงานอยู่เสมอ หมดไปเปราะหนึ่งแล้ว เรื่องขาดนักเทศน์

เปราะที่สอง คือคาถาธรรมบรรยายที่พระจะใช้สวดและมีคำแปล ซึ่งฟังแล้วเหมือนได้ดื่มรสพระธรรม และศึกษาพระพุทธศาสนาไปอย่างไม่รู้ตัว พระคุณเจ้าจะได้จากที่ไหน เรื่องนี้ใคร่จะกราบเรียนด้วยความศรัทธาว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ เมื่อครั้งโยมมารดาของพระเดชพระคุณท่านป่วย ท่านก็คิดจะตอบสนองคุณค่าน้ำนม ด้วยการหยิบยื่นธรรมะให้แก่ผู้บังเกิดเกล้า ในขณะที่ยังมีชีวิตซึ่งนอนป่วยอยู่ สมเด็จฯท่านก็ลงมือแปลธรรมคาถาที่ให้ความรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องของชีวิตสังขาร เป็นสัจธรรมขนานแท้ แล้วนิมนต์ให้พระสงฆ์ในวัดไปสวดแปลให้คนไข้ฟังเป็นประจำ เป็นเหตุให้โยมมารดาได้เข้าถึงธรรมะ เกิดความสงบเยือกเย็น รู้เท่าความจริงของสังขาร ไม่สะดุ้งหวาดหวั่นต่อมฤตยู ส่วนทำนองสวดที่ไพเราะ สงบเย็นนั้นสมัยนี้เราสามารถบันทึกเทปออกเผยแพร่ได้เป็นเรื่องง่ายมาก

ทั้งหนังสือเทศน์ ทั้งหนังสือที่จะใช้สวด หากจะทำให้ได้มาตรฐาน จะต้องพิมพ์ลงในใบลานและคัมภีร์ไทยอย่างที่วัดต่างๆ ท่านนิยมใช้อยู่ในขณะนี้ ถ้ามีทุนจากท่านผู้มีศรัทธา หรือจากสถาบันใดสถาบันหนึ่งรับเป็นผู้สนับสนุน ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ ก็น่าจะรับมาดำเนินการ แล้วแจกจ่ายถวายไปตามวัดวาอารามต่างๆ ให้ได้ทั่วพระราชอาณาจักร เฉพาะวัดที่มีเมรุใหญ่ๆ ตอนสุดท้ายของนาทีทองแห่งธรรมทานนี้ ผมลองหลับตาวาดภาพให้เห็นเป็นพิธีรีตอง ที่ปฏิบัติจริงๆ ออกมาได้ดังนี้

ณ ราตรีนั้น เวลาประมาณ 20.30 น. พระสงฆ์ 4 รูปสวดพระธรรมไปจบหนึ่งแล้ว แขกเหรื่อกำลังพรั่งพร้อมนั่งสำรวมอยู่หน้าศพ พระคุณเจ้าซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ของวัดก็ขึ้นมาแสดงธรรม ณ ศาลาที่ตั้งศพแห่งใดแห่งหนึ่งที่เหมาะสม ซึ่งท่านผู้มีเกียรติทุกศาลาสามารถสดับพระธรรมศาสนาจากพระคุณเจ้าองค์เดียวนี้ได้ชัดเจนเท่าเทียมกัน ทั้งนี้โดยใช้ระบบการกระจายเสียงที่ฟังได้ร่วมกัน

เป็นธรรมกถาที่มุ่งเพื่อประกาศพระศาสนา เป็นของขวัญจากท่านสมภารให้แก่ญาติโยมผู้อุปถัมป์วัดโดยแท้ ไม่หนักใจเจ้าภาพท่านใดทั้งสิ้น คนจำนวนพันทุกศาลา จะสดชื่นร่าเริงในพระธรรม โดยพระคุณเจ้าองค์เดียวกัน

สาธุ!

ข้อมูลสื่อ

126-027
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน