• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งูสวัด พันรอบเอวแล้วตายจริงหรือ?

งูสวัด พันรอบเอวแล้วตายจริงหรือ?


                 
 
“ลุง รีบไปให้หมอแฉ่งพ่นเถอะ ขึ้นเป็นเม็ดเรียงกันเป็นทางยาวแบบนี้ ใช่งูสวัดแน่ ๆ เลย ขืนชักช้า ปล่อยให้มันลามรอบเอวเมื่อไหร่ มีหวังต้องต่อโลงแน่.....”

“ลุง ไปซื้อยาผงแก้งูสวัดจากร้านขายยาไทย มาทาเถอะ วันก่อนลูกชายฉันก็เป็นแบบนี้ ใช้ยาไทยได้ผลมาแล้ว......”

“ลุง เอาใบเสลดพังพอน ตำกับน้ำข้าวโปะตรงที่เป็นนั่นแหละ รับรองภายใน 2-3 วัน เม็ดพวกนี้จะยุบหมด......”

เช้าวันหนึ่ง ลุงจ้อน นอนตื่นขึ้นมา ก็รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว และมีอาการปวดตรงเหนือสะดือ ร้าวมาที่ชายโครงด้านขวา หลายวันมานี้ แกก็ไม่ได้ไปหกล้มกระแทกถูกอะไรมา มองดูก็ไม่เห็นมีฝีหรือแผลพุพองขึ้นแต่อย่างใด

“เอ หรือ จะเป็นโรคหัวใจ?” ลุงเคยได้ยินลูก ๆ พูดว่า คนแก่ที่มีอาการเจ็บหน้าอกนั้น บางทีก็เกิดจากโรคหัวใจได้ ตกบ่าย ลุงจ้อนจึงไปหาหมอที่คลินิก

หมอตรวจดูแล้ว ก็ไม่พบว่าอาการที่เป็นนั้น มีสาเหตุจากอะไรกันแน่ หมอเพียงแต่รับรองกับลุงว่า
อาการปวดนี้ ไม่ใช่โรคหัวใจหรอกครับ”
แล้วก็ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ให้ลุงกลับไปกิน

อีกสองวันต่อมา ลุงจ้อนก็สังเกตเห็นมีตุ่มน้ำใส ๆ พุขึ้นตรงใต้ราวนม และค่อย ๆ พุมากขึ้นเป็นทางยาว จากบริเวณเหนือสะดือมาที่ชายโครงด้านขวา ซึ่งตรงกับตำแหน่งที่ปวดนั้นพอดี
นี่แหละคือ อาการของงูสวัด ซึ่งเป็นโรคที่ชาวบ้านเรารู้จักมักคุ้นกันดี
ใครที่เป็นงูสวัด ก็จะถูกทักและแนะนำให้รักษาแบบพื้นบ้าน ดังที่ลุงจ้อนถูกมาแล้วข้างต้นนั่นแหละ


พันรอบเอวแล้วตายจริงหรือ?
ชาวบ้านเรามีความเชื่อว่า ถ้างูสวัดขึ้นรอบเอวแล้ว มีหวังตาย
ข้อนี้ เท็จจริงอย่างไรนั้น ผู้เขียนคงยืนยันไม่ได้ เพราะยังไม่เคยเห็นคนที่เป็นงูสวัดชนิดพันรอบเอวสักที และก็ยังไม่เคยเห็นคนที่ตายจากโรคนี้สักคน
ในตำราแพทย์ก็บอกไว้ว่า งูสวัดมักจะขึ้นเพียงซักหนึ่งซีกใดของร่างกายเท่านั้น จะไม่ลามข้ามไปขึ้นอีกซีกหนึ่ง
งูสวัดเป็นโรคที่เกิดเนื่องจากมีเชื้อไวรัส (ชนิดเดียวกับ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสนั่นแหละ) เข้าไปทำให้มีการอักเสบของผิวหนังในบริเวณนั้น เกิดเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้น เรียงเป็นทางยาวไปตามแนวเส้นประสาท ดูคล้ายงูเลื้อย คนไทยเราจึงเรียกอาการแบบนี้ว่า งูตระหวัด หรือ สวัด ฝรั่งเรียกว่า เฮอร์ปี่ซอสเตอร์ (Herpes zoster) ฟังแล้วทำให้มองเห็นภาพพจน์สู้ชื่อแบบไทย ๆ เราไม่ได้
โรคนี้จัดว่า เป็นโรคที่เป็นเองหายเองได้ ถ้าไม่มีโรคแทรก ตุ่มจะค่อย ๆ ยุบแห้งเป็นสะเก็ด ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ถ้าเป็นในคนอายุมาก ก็อาจหายช้าสักหน่อย อาจกินเวลานาน 4-5 สัปดาห์ก็ได้
โรคแทรกที่พบได้บ่อย ก็คือ มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปผสมโรง ทำให้ตุ่มเป็นหนอง หายช้าและอาจกลายเป็นแผลเป็นได้ ส่วนมากจะพบเป็นที่บริเวณทรวงอก ซีกหนึ่งซีกใด แต่ก็อาจขึ้นที่แขน ขา หรือใบหน้าได้ถ้าเป็นที่หน้า อาจลามเข้าตา ทำให้ตาอักเสบ หากรักษาไม่ดี อาจทำให้ตาบอดได้โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักจะไม่เป็นซ้ำอีก เช่นเดียวกับอีสุกอีใส


เมื่อเป็นงูสวัด จะรักษาอย่างไร?

ก่อนอื่น อย่าได้ตกอกตกใจไปตามคำทักของชาวบ้าน อันตรายของโรคนี้ จริง ๆ แล้วมีไม่มาก เพียงแต่ชื่อมันฟังดูน่ากลัวเท่านั้นเอง
 

การดูแลรักษา
ให้ดูแลรักษาไปตามอาการ คือ ถ้ารู้สึกปวดหรือมีไข้ ให้กินยาแก้ปวดลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือ พาราเซตาม่อล ครั้งละ 1-2 เม็ด (เด็กครั้งละ ครึ่งถึงหนึ่ง เม็ด), ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง และทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน (หรือ คาลาไมน์โลชั่น)
ควรระวังรักษาผิวหนังในบริเวณที่มีงูสวัดขึ้นให้สะอาด
ถ้าไม่มีโรคแทรก ก็ใจเย็น ๆ รอไปสัก 2-3 สัปดาห์ ตุ่มก็จะค่อย ๆ ยุบแห้งเป็นสะเก็ดได้เอง
ถ้าตุ่มกลายเป็นหนอง ให้กินยาปฏิชีวนะ ผู้ใหญ่ให้กินเตตร้าซัยคลีน (แค็ปซูลละ 1 บาท) ครั้งละ 2 แค็ปซูล หรือ ถ้าไม่แพ้ยาพวกเพนนิซิลลิน ก็ให้ยาเม็ดเพนวี (ขนาด 4 แสนยูนิต เม็ดละ 0.75-1 บาท) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง เด็กให้กินยาเม็ดเพนวี (ขนาด 2 แสนยูนิต เม็ดละ 50 สตางค์) ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง นาน 7-10 วัน
แต่ถ้ามีอาการรุนแรง (เช่น เป็นหนองเฟะ หรือปวดรุนแรง) หรือ งูสวัดขึ้นที่ตา ก็ควรจะไปหาหมอเสียแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าครับ
ส่วนวิธีการรักษาแบบพื้นบ้านนั้น ผู้เขียนไม่เคยมีประสบการณ์ ข้อควรระวังก็คือ หากจะใช้สมุนไพร ทาหรือโปะ ก็ขอให้รักษาความสะอาดให้มาก ๆ ด้วย ใครที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้ หากจะเขียนมาเล่าสู่กันฟังใน “หมอชาวบ้าน” ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเรามากเลยครับ

 

ข้อมูลสื่อ

13-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 13
พฤษภาคม 2523
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ