• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลาก เกลื้อน : โรคยอดนิยมประจำเมืองร้อน

กลาก เกลื้อน : โรคยอดนิยมประจำเมืองร้อน

โรคกลาก เกลื้อน เป็นโรคเชื้อราที่เกิดที่ผิวหนัง เป็นโรคที่คนทั่วไปรู้จักกันดีเพราะมีลักษณะที่สังเกตได้ง่าย และพบเป็นบ่อยในเมืองร้อนเช่นเมืองไทย พบเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และเป็นได้ทั่วตัว ปัญหาของโรคกลาก เกลื้อน คือ ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องทำให้โรคไม่หายหรือไม่หายขาด คือ หายแล้วเป็นใหม่ อีกประการหนึ่งคือ ผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่น แต่เข้าใจผิดว่าตนเองเป็นเชื้อรา จึงซื้อยาเชื้อรามาทา ทำให้โรคไม่หายและเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ในที่นี้จึงขอนำเสนอปัญหาของโรคกลาก เกลื้อน เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป

กลากเกิดขึ้นได้อย่างไร

กลากเกิดจากเชื้อราที่อยู่ตามพื้นดิน กิ่งไม้ ใบไม้ผุ และตามขนสัตว์โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว การติดต่อเกิดจากผิวสัมผัสกับเชื้อที่ปะปนอยู่ตามพื้นดินและตามขนสัตว์ดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อผิวหนังมีบาดแผลหรือรอยขีดข่วน หรืออาจติดต่อโดยตรงโดยการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นหรือใช้ของส่วนตัว (เช่น หวี กรรไกรตัดเล็บ มีดโกนหนวด) ร่วมกับผู้ที่เป็น เพราะเหตุนี้ โรคกลากอาจติดต่อได้จากร้านตัดผมชายและร้านเสริมสวยโดยการทำเล็บ ถ้าเครื่องมือเครื่องใช้ในสถานบริการนั้นไม่ได้รับการรักษาความสะอาดเพียงพอ

บริเวณที่พบว่ามีการติดเชื้อบ่อย ได้แก่ บริเวณที่อับชื้น เช่น ขาหนีบ ก้น รักแร้ ง่ามเท้า ซอกนิ้วมือ บริเวณที่พบรองลงไป ได้แก่ หน้า ตามตัวทุกแห่ง บริเวณหนังศีรษะ ผม และเล็บ ก็อาจติดเชื้อราหรือเป็นกลากได้

โรคกลากมีลักษณะอย่างไร

กลากมีลักษณะเป็นผื่นแดงเป็นวงกลม มีขอบชัดเจน หากไม่ได้รับการรักษาจะขยายขนาดกว้างขึ้น ขณะเดียวกันตรงกลางจะค่อยๆ หายและสีจางลง มีอาการคันมาก ถ้าเป็นที่ศีรษะจะเห็นเป็นวงกลมชัดเจน มีสะเก็ด อาจมีเม็ดพุพอง มีน้ำเหลืองไหล เส้นผมหัก ทำให้ผมบริเวณนั้นแหว่งหายไปเป็นวง ลักษณะต่างกับโรคผมร่วงที่เกิดจากรากผมฝ่อจากโรคภูมิแพ้ซึ่งผมร่วงเป็นกระจุกเป็นวงกลม ผิวหนังศีรษะเรียบเลี่ยน ไม่มีผื่น ไม่พุพอง ไม่มีขุย อันเป็นลักษณะที่แตกต่างจากเชื้อรา

ส่วนเชื้อราที่เล็บจะพบว่า เล็บมีลักษณะหนา ขรุขระ เมื่อเอามีดขูดจะยุ่ยเป็นผง เล็บเหลือง หรือเป็นจุดขาว หรือเล็บไม่ติดกับเนื้อ ถ้าเป็นบริเวณซอกนิ้วเท้า ที่เรียกกันว่า “ฮ่องกงฟุต” มีลักษณะเป็นขุยขาว มีรอยแตก มักเป็นที่ซอกนิ้วระหว่างนิ้วที่ 4 และ 5 แต่อาจเป็นทุกซอก พบเป็นง่ายในคนที่มีลักษณะของนิ้วชิดกันมาก บริเวณขาพบบ่อยที่บริเวณขาหนีบ ลักษณะเป็นวงเห็นขอบชัด มีอาการคันมาก ชาวบ้านเรียกว่า “สังคัง”

โรคกลากพบเป็นมากในคนอาชีพใด

โรคกลากไม่เกี่ยวกับอาชีพโดยตรง ขึ้นอยู่กับสุขวิทยาของแต่ละคนมากกว่า แต่ก็มีบางอาชีพที่มีโอกาสเป็นกลากได้ง่ายกว่าคนทั่วไป คือ พวกชาวนา ชาวสวน ซึ่งย่ำน้ำ เดินด้วยเท้าเปล่า ใช้มือคุ้ยดิน โกยดิน และมีโอกาสที่มีรอยบาดเจ็บที่ผิวได้บ่อย อย่างไรก็ตาม ชาวกรุงที่ต้องย่ำน้ำ เช่น ขณะน้ำท่วมก็อาจเกิดเป็นเชื้อราที่เท้า หรือในผู้ป่วยด้วยโรคภูมิต้านทานต่ำ เช่น เบาหวาน โรคเลือด โรคเรื้อรัง หรือกินยาบางชนิดที่ทำให้ร่างกายมีความต้านทานต่อเชื้อโรคลดลง เช่น ยาประเภทสตีรอยด์ รวมทั้งโรคเอดส์ ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีโอกาสติดเชื้อราได้ง่าย

ส่วนเชื้อราที่ศีรษะพบเป็นมากในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เช่น ตามโรงเรียน ตามวัด สถานเลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะที่ใช้กรรไกรตัดผมหรือมีดโกนร่วมกันในการโกนผม ผู้หญิงที่ชอบทำเล็บที่ร้านก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ผู้ที่ชอบใช้กิ่งไม้ ใบหญ้าหรือไม้แคะหูร่วมกันก็จะเกิดเป็นเชื้อราบริเวณหูได้

ผู้ที่มีอาชีพที่มือเปียกตลอดเวลา จะมีโอกาสเป็นเชื้อราได้หรือไม่

ผู้มีอาชีพที่มือเปียกน้ำตลอดเวลา เช่น อาชีพแม่ค้าขายข้าวแกง อาชีพขายเหล้าหรือขายเครื่องดื่ม อาชีพแม่ครัว ซักรีด ขายผัก ร้อยดอกไม้ พวกนี้จะมือเปียก โดยเฉพาะรอบเล็บมีอาการพองเป็นช่องทางให้เชื้อราเข้าไปขังอยู่ที่โคนเล็บซึ่งเป็นเชื้อคนละชนิดกับกลาก แต่เป็นเชื้อราอีกชนิดที่เราเรียกว่า “ยีสต์” มีอาการอักเสบ บวมแดงบริเวณโคนเล็บ อาจมีหนองไหล และปวด มักเป็นเรื้อรัง และทำให้เล็บเสียเกิดเป็นสีเหลืองอมเขียว และขรุขระเป็นร่อง เชื้อยีสต์เป็นที่ผิวได้ด้วย โดยเฉพาะข้อพับ เช่น รักแร้ ใต้อก ขาหนีบ และง่ามนิ้ว มีลักษณะชื้น เป็นขุยขาว แฉะๆ และลอกเป็นเนื้อแดง

เชื้อยีสต์มักพบเป็นในคนที่เป็นโรคเบาหวาน คนอ้วน หรือคนที่ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน เชื้อยีสต์อาจพบเป็นในปาก ลิ้น และบริเวณช่องคลอด ซึ่งจะมีลักษณะเป็นฝ้าขาว

เมื่อสงสัยว่าเป็นเชื้อราหรือกลากจะมีการตรวจรู้ได้แน่นอนหรือไม่

การวินิจฉัยว่าเป็นกลากหรือเชื้อรา ผู้ป่วยอาจสังเกตเองจากอาการแสดงดังกล่าว เพราะมีลักษณะค่อนข้างชัดเจนแต่ก็ยังอาจผิดพลาดได้ เพราะยังมีโรคผิวหนังอีกหลายชนิดที่มีลักษณะเป็นวงๆ แดงๆ และมีขุย ฉะนั้น ถ้าจะให้แน่ใจควรให้แพทย์ตรวจสัก 1 ครั้งเพื่อไม่ให้ผิดพลาด แพทย์ผู้ชำนาญจะบอกได้จากการตรวจลักษณะผื่นที่เป็น ส่วนการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนนั้น แพทย์จะทำการขูดเชื้อไปตรวจ และเพาะเชื้อดูว่าเป็นชนิดไหน

การขูดเชื้อแพทย์จะใช้ใบมีดขูดเบาๆ เอาขุยที่หลุดออกมาไปตรวจ ซึ่งไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด ถ้าเป็นชนิดพุพองใช้วิธีตัดเอาส่วนที่พองไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเป็นที่เล็บก็ขูดขุยจากเล็บ เมื่อพบเชื้อก็แสดงว่า เป็นเชื้อราแน่ ส่วนการเพาะเชื้อเป็นการบอกละเอียดลงไปอีกว่าเป็นเชื้อราชนิดใด

การรักษาเชื้อราควรใช้ยาทาหรือยากิน

ยารักษาเชื้อรามีทั้งยาทาและยากิน ยาทาฆ่าเชื้อรามีหลายชนิดในท้องตลาด ถ้าเลือกใช้อย่างถูกต้อง ภายใน 4 สัปดาห์ผื่นก็จะหาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณและสาเหตุที่เป็น ถ้าเป็นบริเวณไม่กว้าง เช่น ตามหน้าและตามตัว การใช้ยาทาอย่างเดียวก็ได้ผลดี หากเป็นบริเวณกว้างหรือเป็นหลายแห่งบนร่างกายหรือเป็นๆ หายๆ อยู่นาน ไม่หายขาด หรือเป็นที่เล็บและที่ศีรษะ มีความจำเป็นต้องใช้ยากินร่วมด้วยจึงหายขาด

สำหรับระยะเวลาที่กินยาต้องกินจนกว่าผื่นจะหายหรือจนกว่าเล็บและผมจะมีลักษณะเป็นปกติ เชื้อราที่เล็บอาจต้องกินยานานถึง 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมากน้อยเพียงใด

เมื่อหายจากโรคเชื้อราแล้วจะเป็นอีกได้หรือไม่

ถ้ามีการติดเชื้อใหม่อาจเกิดเป็นใหม่ได้ หรือในกรณีที่รักษาไม่หมดเชื้อก็อาจเกิดเป็นใหม่ได้อีก การป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ได้แก่ การรักษาความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง แล้วเช็ดตัวให้แห้ง อาจใช้แป้งฝุ่นทาบริเวณข้อพับเพื่อกันความชื้น ซักเสื้อผ้าให้สะอาด ตากแดดให้แห้งสนิท หลังจากเท้าเปียกน้ำ เช่น การลุยน้ำท่วม คู คลอง ควรล้างเท้าให้สะอาด ฟอกด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง ไม่ควรสวมรองเท้าที่เปียกชื้นอยู่นานๆ ผู้ที่เป็นเชื้อราที่เท้าควรใช้รองเท้าโปร่งมีลมผ่านได้ ถุงเท้าซักให้สะอาดและเปลี่ยนทุกวัน ไม่ควรใช้เครื่องใช้ เช่น แปรงผมหรือหวีร่วมกัน กรรไกรตัดผม มีดโกน เครื่องมือทำเล็บต้องทำความสะอาดทุกครั้งก่อนนำไปใช้ในครั้งต่อไป

การติดเชื้อยีสต์มีการป้องกันหรือไม่

เชื้อยีสต์เกิดจากความอับชื้น เหงื่อออกมาก มือเปียกน้ำตลอดเวลา วิธีป้องกันคือ รักษามือให้แห้งอยู่เสมอ ผู้มีอาชีพที่มือเปียกอยู่เสมอต้องป้องกันโดยการใส่ถุงมือยางขณะทำงาน ต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ยีสต์กำเริบ เช่น การควบคุมเบาหวาน หลีกเลี่ยงการกินยาปฏิชีวนะหรือยาจำพวกสตีรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ป้องกันผิวชื้นโดยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเนื้อบาง ไม่อบ ไม่คับ แขนสั้น สีอ่อน และอยู่ในที่อากาศเย็นมีลมถ่ายเทสะดวก

เกลื้อนมีลักษณะแตกต่างจากกลากอย่างไร

เกลื้อนเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งเกิดในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก ฉะนั้นจึงเป็นกันมากในช่วงอากาศร้อน โดยเฉพาะพวกนักกีฬา และผู้ทำงานในโรงงานหรือผู้ที่ต้องแต่งเครื่องแบบร้อนอบ เช่น ทหาร ตำรวจ คนในวัยหนุ่มสาวจะเป็นกันมาก ในเด็กและคนสูงอายุจะพบน้อย เพราะ 2 พวกนี้มีเหงื่อออกน้อยกว่าคนหนุ่มสาว ลักษณะของเกลื้อนแตกต่างจากกลากเพราะเป็นเชื้อราคนละชนิด เกลื้อนมีลักษณะเป็นจุดขาวขนาดเล็กบริเวณขุมขน ซึ่งอาจขยายเป็นวงใหญ่ มีขุยบางๆ มักพบเป็นบริเวณหลัง หน้าอก คอ และหน้า โดยเฉพาะบริเวณตีนผม อาจลามลงไปถึงต้นขา เกลื้อนบางชนิดเป็นวงสีชมพู หรือสีดำ เมื่อเอาเล็บหรือมีดขูดจะมีขุยขาว ขุยขาวนี้เมื่อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบเชื้อเกลื้อน

เมื่อเป็นเกลื้อนควรใช้ยาอะไร

ยารักษาเกลื้อนเป็นยาทาจำพวกโซเดียมไทโอ โปรปาลีน เซเลเนียม อิมมิดาโซล์ ต้องทาติดต่อกันเป็นเวลานาน 1 เดือนจึงจะฆ่าเชื้อได้หมด สำหรับผู้ที่เป็นมาก คือ เป็นบริเวณกว้างและมีอาการดื้อต่อยาทา หรือเป็นๆ หายๆ อยู่ตลอด อาจใช้ยาชนิดกิน

ปัจจุบันมียากินซึ่งได้ผลดีแต่ควรพิจารณาตามความจำเป็น ถ้าหายได้ด้วยยาทาก็ไม่ควรใช้ยากิน เพราะยากินอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ ไม่ควรใช้ยาที่มีฤทธิ์ลอกผิวแต่อย่างเดียว (ประเภทที่ทาแล้วผิวลอกเป็นแผ่น) เพราะนอกจากจะรักษาเกลื้อนไม่หายแล้ว ยังอาจกัดให้เกิดระคายเคืองแสบร้อนได้ ผู้ป่วยบางคนชอบลองยากลางบ้าน เช่น เอากระเทียมมาถู ผลก็คือ ผิวไหม้และเกลื้อนไม่หาย รอยด่างขาวซึ่งเกิดจากเชื้อเกลื้อนอาจติดอยู่นานถึงแม้จะไม่มีเชื้อแล้วก็ตาม การให้ผู้ป่วยตากแดดจะเร่งผิวที่ด่างกลับเป็นสีเดิมได้เร็วขึ้น

มีวิธีรักษาเกลื้อนให้หายขาด และไม่เกิดเป็นซ้ำได้หรือไม่

ปัญหาของการรักษาเกลื้อน คือ เมื่อทายาจนดูเหมือนเกลื้อนหายแล้วแต่กลับเกิดเป็นซ้ำขึ้นมาอีก ทำให้คนที่เป็นเกิดท้อแท้ใจนึกว่าไม่มีทางหายขาดการป้องกันไม่ให้เป็นเกลื้อนซ้ำขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตน เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศร้อนอบอ้าว ควรอยู่ในที่เย็นสบายมีอากาศถ่ายเท ไม่สวมเสื้อผ้าที่หนาและคับ ควรใช้ผ้าเนื้อบางและเย็นแบบหลวมๆ ไม่รัดให้อึดอัด แขนสั้น หลังการทำงานหรือเล่นกีฬาที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก ไม่ควรทิ้งให้เหงื่อหมักหมมอยู่นาน ควรรีบอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด แล้วเช็ดตัวให้แห้ง เสื้อผ้าซักสะอาดและตากให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อใหม่ทุกวัน ดูแลความสะอาดของผมด้วยการสระให้สะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงานอาชีพและงานกิจวัตรของแต่ละคน ไม่ควรปล่อยให้ศีรษะมีรังแค เพราะรังแคบางชนิดเกิดจากเชื้อชนิดเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดเกลื้อน การรักษาเกลื้อนบางครั้งต้องรักษารังแคไปพร้อมกันด้วย

หลังจากรักษาเกลื้อนด้วยยาทาติดต่อกันประมาณ 1 เดือนจนหายดีแล้ว (สำหรับผู้ที่เคยเป็นซ้ำ) ควรให้ทายาต่อไปอีกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นาน 3 เดือน พร้อมทั้งการปฏิบัติตนดังกล่าวข้างต้น กลาก เกลื้อน และยีสต์ เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราชนิดต่างกัน ป้องกันการติดเชื้อได้โดยการรักษาผิวให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ การอาบน้ำฟอกสบู่ทุกวัน ตัดเล็บให้สั้น สระผมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จะช่วยได้มาก

การวินิจฉัยที่แน่นอนทำได้โดยการขูดเชื้อไปส่องกล้องจุลทรรศน์ กลาก เกลื้อน และยีสต์เป็นโรคผิวหนังที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาทา ถ้าจำเป็นอาจใช้ยากินร่วมด้วย การใช้สบู่ยาฟอกตัวไม่มีผลทั้งในด้านการรักษาและป้องกันกลากเกลื้อนแต่อย่างใด

ข้อมูลสื่อ

128-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532
โรคน่ารู้
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์