• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อไหร่คุณควร “ปฏิเสธ” การผ่าตัด

เมื่อไหร่คุณควร “ปฏิเสธ” การผ่าตัด

โดยปกติแล้วแพทย์ของคุณ คือ คนแรกที่จะให้คำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัด แต่ท้ายสุด “คุณ” ต่างหากที่ต้องตัดสินใจว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการผ่าตัดครั้งนี้จะคุ้มค่ากับการเสี่ยงของคุณหรือไม่ ลองมาดูกันซิว่า เมื่อไหร่คุณถึงควรจะปฏิเสธการผ่าตัด

“คุณสำออยครับ ลูกคุณเป็นทอนซิลอักเสบเฉียบพลันถึง 4 ครั้งแล้วในรอบปีนี้ น่าจะตัดทอนซิลเสียดีไหมครับ” กุมารแพทย์ท่านหนึ่งแนะนำคุณสำออย

ลองฟังดูอีกสำนวนซิครับว่าเป็นอย่างไร เป็นสำนวนของศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ

“คุณสมพร นี่คุณถ่ายปัสสาวะบ่อยเกินไปแล้วมังครับ คืนละตั้ง 5-6 ครั้ง แถมยังกะปริดกะปรอยเสียอีกไม่ใช่หรือ ตัดต่อมลูกหมากทิ้งเสียดีไหมครับ”

ทีนี้ลองฟังผู้เชี่ยวชาญทางนรีเวชวิทยาหรือโรคเกี่ยวกับสตรี (ไม่ใช่ซิฟิลิสหรือหนองในนะครับ)

“เจ้าก้อนเนื้องอกในมดลูกของคุณถึงจะมีขนาดเล็ก แต่ก็อาจก่อเรื่องทีหลังได้นะคะ ไหนๆ คุณก็ไม่ต้องการมีลูกอีกแล้วไม่ใช่หรือคะ หมอขอแนะนำให้คุณตัดมดลูกเสียจะดีกว่า”

ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับคุณ

เมื่อคุณหมอแสนดีแนะนำให้คุณตัดโน่นตัดนี่ทิ้งเสียบ้าง เพื่อสุขภาพของคุณ คุณจะทำยังไงดีล่ะ...

อันดับแรกที่คุณควรทำ ก็คือ อย่ารีบร้อน

จากตัวอย่าง 3 ตัวอย่างข้างต้นที่แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดน่ะ ไม่ใช่การผ่าตัดแบบ “ฉุกเฉิน” หรือรีบด่วนแต่อย่างใด แล้วถ้าคุณลองถามแพทย์ท่านอื่นดู เขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับการผ่าตัดเลยก็ได้ จากการศึกษาเรื่องการผ่าตัดต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 ที่โรงพยาบาลนิวยอร์ก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล นายแพทย์ยูจีน จี แม็กคาร์ที พบว่า ในจำนวนผู้ป่วยถึง 200,000 กว่าคนนั้น มีถึงร้อยละ 19 ที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจแล้วเห็นว่า “ไม่ควร” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ให้เข้ารับการผ่าตัด

จากอีกรายงานหนึ่งโดยนายแพทย์ยูจีน ไวย์ดา รองคณบดีฝ่ายเวชศาสตร์ชุมชน แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ได้ทำการสอบถามแพทย์ 73 ราย ว่าจะแนะนำการรักษาผู้ป่วยที่มีประวัติโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะอย่างไร โดยเฉลี่ยเกือบร้อยละ 40 ของแพทย์เหล่านี้ แนะนำให้ผ่าตัด ในขณะที่กว่าร้อยละ 60 จะไม่ทำเช่นนั้น นี่มันอะไรกัน

หลายต่อหลายคนยังมีความเชื่อว่า “ทุกๆ สถานการณ์ของการเจ็บป่วยมีหนทางปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้น และแพทย์ที่ดีจะต้องรู้ว่า วิธีหรือหนทางนั้น คืออะไร” แต่วิชาการแพทย์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นวิทยาศาสตร์เปี๊ยบเลยทีเดียว ท้ายที่สุดแพทย์ทุกคนก็ต้องอาศัย “การตัดสินใจสุดท้าย”

นายแพทย์เจมส์ เอช แซมมอนส์ รองประธานบริหารของสมาคมแพทย์อเมริกัน กล่าวว่า

“มีความจำเป็นอยู่หลายประการเหมือนกันสำหรับการผ่าตัด มีบ่อยครั้งที่การผ่าตัดไม่ได้ทำเพียงเพื่อให้มีชีวิตรอดเท่านั้น แต่ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์และความชื่นชมด้วย”

แต่ใครล่ะที่จะเป็นผู้บอกว่าตรงไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น และจะเริ่มที่ตรงไหน

แพทย์อาจจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ และบอกเล่าเกี่ยวกับการผ่าตัดทุกขั้นตอน และทุกด้าน แต่สุดท้ายก็คือ ตัวผู้ป่วยเองนั่นแหละ ที่จะตัดสินใจว่าควรจะผ่าตัดหรือไม่

ความเสี่ยงในการผ่าตัด

การผ่าตัดไม่ว่าจะจิ๊บจ๊อยแค่ถอดเล็บขบที่หัวแม่เท้า หรือการผ่าตัดใหญ่ เช่น การผ่าคลอดลูกออกทางหน้าท้อง ต่างก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น เอาแค่การตัดมดลูกธรรมดาๆ ที่ทำกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน แพทย์ก็อาจพลาดท่าผ่าเลยเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะโดยบังเอิญก็ย่อมได้ (เพราะอวัยวะทั้งสองส่วนนี้อยู่ติดกัน) การผ่าตัดอาจทำให้เกิดแผลเป็นในอวัยวะสำคัญบางอย่าง เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม เส้นเลือดอุดตัน หรือทำให้เกิดเลือดออกมากๆ ก็ได้

เห็นหรือยังครับ ว่าเสี่ยงไม่ใช่น้อยเลย

แล้วยังอันตรายจากการดมยาสลบอีกล่ะ การดมยาสลบชนิดหลับไปเลยจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ หัวใจ เส้นเลือด ไต และสมอง หรือการใช้ยาสลบหรือยาชาเฉพาะที่ก็อาจทำให้เกิดการชัก การแพ้ยาสลบอย่างเฉียบพลัน และทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ ปัญหามีมากมายแบบนี้แล้วคุณควรจะทำยังไงดีเพื่อป้องกันการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น

การป้องกันตัวเองจากการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น

อย่างแรกที่ควรทำ ก็คือ ไปพบแพทย์ประจำตัวของคุณก่อน ไม่ควรที่จะไปหาแพทย์ผ่าตัดคนใดก็ตามที่ไม่เคยทราบประวัติทางการแพทย์ของคุณเลย โดยธรรมชาติแล้วหมอผ่าตัดย่อมคิดแต่เรื่อง “ผ่าตัด” และทางที่ดีคุณควรยกให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ประจำตัวคุณในการปรึกษาเรื่องการผ่าตัดกับศัลยแพทย์โดยตรง จะเหมาะสมกว่า

ต่อไปคุณก็ควรจะแสวงหาความเห็นที่สอง (หรือสาม) โดยการนำปัญหาของคุณไปปรึกษาศัลยแพทย์ที่มีวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตร (จบบอร์ดทางศัลยกรรมแล้ว) จงอย่าคิดว่าการที่คุณนำปัญหาของคุณไปปรึกษาแพทย์อีกคนนั้น ช่างเป็นเรื่องที่น่าอับอายเสียนี่กระไร

คุณหมอแม็กคาร์ที เสนอความเห็นไว้ว่า

“ข้อถกเถียงที่ว่า การนำเรื่องไปปรึกษาแพทย์อีกคน เพื่อขอความเห็นที่สองนั้นจะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เป็นความเชื่อที่ผิดทั้งเพ”

และเพื่อเป็นการขจัดปัญหาเรื่องเงินทองของบาดใจสำหรับแพทย์ที่แนะนำการผ่าตัด แพทย์ผู้ที่เป็นที่ปรึกษาในครั้งที่สองนี้ควรได้รับการบอกเล่าว่า ไม่ใช่คุณหมอหรอกนะที่จะต้องมาผ่าตัดให้น่ะ และท้ายสุดจงซักถามคุณหมอที่แสนดีของคุณอย่างระมัดระวัง อย่าเข้ารับการผ่าตัดโดยไม่ได้ถามคำถามเหล่านี้เสียก่อน

1. การผ่าตัดนี้จะก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ฉันอย่างไรบ้าง กล่าวคือ ผ่าแล้วฉันจะดีขึ้นอย่างไรบ้างนั่นเอง เช่น ถ้าคุณจะเข้ารับการผ่าตัดเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (coronary bypass) คุณอาจได้รับคำตอบว่า การผ่าตัดไม่ได้ประกันว่าคุณจะไม่เป็นโรคนี้อีก หรือประกันได้ว่าคุณจะมีชีวิตที่ยืนยาว

2. ถ้าฉันไม่ได้รับการผ่าตัดครั้งนี้ จะเกิดอะไรขึ้น คุณอาจได้รับคำตอบว่า

“คุณก็อาจอยู่ต่อไปได้ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

เช่น ไส้เลื่อน คุณไม่จำเป็นต้องผ่าตัดจนกว่าจะมีอาการปวดหรือนิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่แสดงอาการเลย และอาจจะอยู่ในตัวคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่

3. หลังจากผ่าตัดแล้ว ฉันจะมีโอกาสที่จะกลับมามีปัญหาอีกหรือไม่ เพราะการผ่าตัดบางอย่างเกี่ยวกับอาการปวดหลังก็อาจล้มเหลวได้ หรือการผ่าตัดเส้นเลือดขอดตามขาก็พบว่า ใน 100 คน จะมีถึง 10 คนที่จะกลับมาเป็นใหม่อีก

4. สามารถรักษาด้วยยาแทนการผ่าตัดได้หรือไม่ โรคบางอย่างสามารถรักษาได้ทั้งสองทาง นอกจากนี้ยังมีการรักษาอื่นๆ อีก เช่น การผ่าตัดใช้ความเย็น (cryosurgery) เป็นการทำให้เนื้อเยื่อที่เป็นโรคแข็งตัวด้วยความเย็นจัด หรือการรักษาโดยการใช้แสงเลเซอร์ ซึ่งได้ผลดีพอๆ กับการใช้ “มีด” ผ่าตัด เช่น ในกรณีของถุงน้ำในรังไข่ของมดลูก ต้อกระจก และก้อนเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรงต่างๆ

5. ถ้าฉันเปลี่ยนแปลงในเรื่องการกินอยู่ จะทำให้ฉันดีขึ้นหรือไม่ การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี อาจไม่ต้องรีบร้อน ถ้าหากคุณลองกินอาหารที่มีไขมันต่ำ และกากอาหารสูง หรือการงดกินยาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ยาคุมกำเนิด การรักษาด้วยยาเอสโตรเจน เป็นต้น หรืออย่างปัสสาวะเล็ดหรือช้ำรั่ว อาจแก้ไขได้โดยการออกกำลังกล้ามเนื้อหูรูด โดย “ฝึกการขมิบ”

6. ฉันเป็นคนที่เสี่ยงต่อการผ่าตัดสูงกว่าคนอื่นหรือไม่ เช่น คนอ้วนจะมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้มากกว่า เพราะไขมันจะมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียได้สูงกว่าอย่างอื่น คนอ้วนมักไม่เหมาะกับการผ่าตัด เพราะหลังผ่าตัดสมรรถภาพของปอดจะลดลง จะทำให้ลำบากในการช่วยให้หายใจ หรือไอเอาเสมหะออก แถมแผลผ่าตัดในคนอ้วนยังหายช้าอีกด้วย นักสูบบุหรี่จัดก็เช่นกัน เพราะถุงลมโป่งพองเสียแล้วจากพิษของบุหรี่ การช่วยให้หายใจลึกๆเพื่อให้ไอเอาเสมหะออกจากปอดหลังจากการดมยา จึงทำได้ยาก

7. มีการผ่าตัดวิธีอื่นหรือไม่ที่จะไม่ผ่าเอาอะไรๆ ของฉันออกมามากเกินไปและเจ็บน้อยกว่า เช่น คุณมีเนื้องอกในมดลูก ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าเอามดลูกออกทั้งหมด อาจทำแค่ตัดก้อนเนื้องอกออกเท่านั้น มดลูกก็ยังอยู่ และคุณก็จะมีลูกได้อีก นอกเสียจากว่า คุณไม่ต้องการที่จะใช้งานเจ้าอวัยวะชิ้นนั้นอีกต่อไป

8. แพทย์ผู้ผ่าตัดมีประสบการณ์อย่างไรบ้างเกี่ยวกับการผ่าตัดชนิดนี้ จากการศึกษารายงานพบว่า แพทย์ที่ทำการผ่าตัดชนิดเดียวกันอยู่บ่อยๆ จะประสบผลสำเร็จในการผ่าตัดได้มากกว่าแพทย์ที่นานๆ จะผ่าตัดสักครั้ง

ศาสตราจารย์ทางกฎหมายสุขภาพจากมหาวิทยาลัยบอสตัน จอร์จ เจ แอนนาส ให้ข้อคิดว่าผู้ป่วยมีสิทธิที่จะรู้ว่า แพทย์ผู้นั้นผ่าตัดบ่อยแค่ไหน และอัตราของโรคแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเป็นอย่างไรบ้าง

ท่านศาสตราจารย์แอนนาสยังกล่าวย้ำอีกว่า “หากคุณหมอคนนั้นกริ้วโกรธล่ะก็ จงไปหาหมอคนอื่นเสียเถิด” ถ้าคุณตกลงใจที่จะเข้ารับการผ่าตัด จงเรียนรู้ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับการผ่าตัดนั้นๆ แล้วถามคำถามเหล่านี้กับแพทย์ของคุณ

1. จะเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างการผ่าตัด เช่น จะเอาเนื้อเยื่อตรงไหนออกบ้าง จะผ่าตรงไหน จะมีแผลเป็นหรือไม่

2. คุณหมอจะใช้เวลาหลังการผ่าตัดแล้วนานแค่ไหน คือ ฉันต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานแค่ไหน สักกี่วัน หรือไม่ต้องอยู่เลย (ประการนี้ขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย การผ่าตัดเล็กๆ น้อยๆบางอย่าง อาจทำได้ที่แผนกผู้ป่วยนอกเพียงวันเดียวก็กลับบ้านได้เลย)

3. จะใช้ยาสลบชนิดไหน หรือว่าวิสัญญีแพทย์ (แพทย์ดมยาสลบ) จะแนะนำอย่างไรบ้าง เช่น จะสลบทั้งตัว หรือยาชาเฉพาะที่ ใช้วิธีสูดดมหรือฉีดเข้าเส้น

4. ฉันสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้การผ่าตัดประสบผลดี เช่น ถ้าฉันลดความอ้วนจะช่วยได้หรือเปล่า หรือจะงดสูบบุหรี่ดีไหม หรือจะเริ่มออกกำลังกาย หรือจะเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารการกิน

5. ฉันมีโอกาสที่จะเป็นโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง จะมีโอกาสติดเชื้อได้มากแค่ไหน หรือมีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นอีกหรือไม่

6. ฉันจะรู้สึกไม่ค่อยสบายมากหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นคุณหมอจะช่วยได้อย่างไรบ้าง

7. ต้องใช้เวลานานไหมกว่าฉันจะฟื้นไข้และกลับสู่ภาวะปกติ เช่น อีกนานไหมกว่าฉันจะสามารถวิ่งออกกำลัง เล่นกีฬา ร่วมเพศ หรือกินอาหารตามปกติได้ และจำเป็นต้องพักฟื้นในที่พักพิเศษหรือไม่

ขอให้คุณใช้คำถามทั้ง 7 ข้อนี้สอบถามแพทย์ของคุณดู ถ้าหากท่านมีเวลาจะอธิบายให้ และเพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะได้ประโยชน์คุ้มค่าที่สุดจากการผ่าตัด

เมื่อคุณตัดสินใจแน่นอนที่จะผ่าตัดแล้ว จงจำไว้เสมอว่า ในแต่ละกรณี แต่ละโรค ก็มีปัญหาเป็นเฉพาะตัวไป อีกทั้งเรื่องอายุ สุขภาพ อารมณ์ ความกลัว และความกังวลของครอบครัว ก็เป็นสิ่งที่คุณควรนำมาพิจารณาทั้งหมด

นายแพทย์จอร์จ ไคร์ล จูเนียร์ ที่ปรึกษาเกียรติคุณแห่งคลีพแลนด์ คลินิก เขียนไว้ที่ท้ายเล่มหนังสือของเขาว่า

“ศัลยกรรม – ทางเลือกของคุณ คุณมีหนทางเลือกหลายทาง โปรดจำเกี่ยวกับการผ่าตัดไว้ว่า

มีการเสี่ยง มีประโยชน์ มีทางเลือก มีหนทางเลือกหลายทาง ร่างกายของคุณ ชีวิตของคุณ การตัดสินใจท้ายสุดเป็นของคุณ”

ข้อมูลสื่อ

128-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532
เรื่องน่ารู้
นพ.อำนาจ บาลี