• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อานุภาพแห่งการเจริญสติ : ช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 1)

อานุภาพแห่งการเจริญสติ : ช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 1)

การเจริญสติมีอานุภาพช่วยตนพ้นทุกข์

เมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ.2530 ดิฉันได้เข้ารับการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากพบว่ามีเนื้องอก ก่อนเข้าโรงพยาบาลได้ตั้งปณิธานอย่างแรงกล้าจะใช้ธรรมปฏิบัติที่ได้ฝึกฝนจากคุณแม่สิริ กรินชัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนในยามในยามเจ็บป่วย

ดิฉันได้เตรียมหนังสือธรรมะ เทปธรรมะมากมาย แต่ไม่ค่อยได้อ่านได้ฟังมากนัก กลับทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อการปฏิบัติ โดยเดินจงกรม (มีสติรู้ที่การเคลื่อนของเท้า) นั่งสมาธิ (มีสติรู้ที่การพองยุบของท้อง) และมีสติกำหนดรู้อิริยาบถต่างๆ ดูความเคลื่อนไหวของกายและจิตเป็นปัจจุบัน เพราะตระหนักดีว่า การปฏิบัติธรรมด้วยวิธีดังกล่าว จะให้อานิสงส์อันมหาศาลแก่ตนเอง และก็ได้พบว่า เป็นความจริงแท้แน่นอน

ในขณะทำการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดแล้ว ดิฉันต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเตียง จึงปฏิบัติด้วยการเจริญสติ กล่าวคือ มีสติกำหนดรู้อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวทางกายและสภาวธรรมที่เข้ามาปรากฏทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจอย่างเป็นปัจจุบัน ส่วนการเดินจงกรมและนั่งสมาธิทำน้อยมากหรือเกือบไม่ได้ทำเลย ทั้งนี้เพราะโอกาสไม่อำนวยให้กระทำ

ต่อมาเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไปอีก เพื่อรับการฉายรังสีและฝังแร่ ก็ยิ่งพากเพียรกำหนดรู้และเจริญสติมากยิ่งขึ้น จนตนเองสามารถมีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกายและใจได้อย่างละเอียดต่อเนื่องกันทั้งกลางวันและกลางคืน แม้เวลาหลับก็หลับอย่างมีสติ อานิสงส์แห่งการเจริญสตินี้ยิ่งใหญ่มาก เพราะส่งผลให้ดิฉันสามารถต่อสู้เอาชนะความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสที่เกิดขึ้นที่กายและใจ ในขณะเดียวกัน ก็รู้ว่าความเศร้าสลดหดหู่และหม่นหมองได้หลุดพ้นออกไปอย่างสิ้นเชิง น่าอัศจรรย์ใจมาก จนถึงขั้นที่สภาวะทางจิตหรือใจของตนเองนั้นรู้ว่า “พ้นทุกข์”

ผลที่เกิดขึ้นต่อมา ก็คือ ร่างกายที่เจ็บป่วยกลับฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้รวดเร็ว และสำคัญที่สุดคือ รู้ว่าสภาวจิตในขณะนั้นมีธรรมชาติเป็นอิสระจริงๆ ไม่เกาะเกี่ยว ไม่ยึดติด ไม่มีการปรุงแต่งให้รู้สึกนึกคิดแต่อย่างไร มีความเป็นอุเบกขาโดยสมบูรณ์ มีลักษณะใสสะอาด โปร่งเบา ตื่นตัว เบิกบาน และแจ่มจ้า สภาวจิตเช่นนี้เองที่เรียกว่า “จิตผ่องแผ้ว ขาวรอบ และบริสุทธิ์” เพราะปลอดจากกิเลส ซึ่งได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะนั่นเอง นับเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ที่ดิฉันได้ประสบ รับรู้ และบังเกิดความซาบซึ้งประทับใจมาก จนสุดจะพรรณาออกมาเป็นคำพูดได้

ดิฉันกล้ากล่าวด้วยความมั่นใจอย่างยิ่งว่า นี่แหละคือ อานุภาพแห่งการเจริญสติ สตินี้ถ้าบังเกิดขึ้น มีขึ้นหรือเจริญขึ้นในบุคคลใด บุคคลนั้นย่อมพึงได้รับอานิสงส์นานัปการ ดังเช่นที่ดิฉันได้รับมาแล้ว โดยข้อเท็จจริง ดิฉันไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่า จะมาได้รับรสแห่งธรรมะอย่างสมบูรณ์จากการเจ็บป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล คงเป็นด้วยตนเองเรียนรู้ฝึกปฏิบัติการนั่งสมาธิและเจริญสติมาหลายปี เห็นผล เกิดศรัทธา จึงพากเพียรปฏิบัติเก็บเล็กผสมน้อยเรื่อยมา แต่ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ที่การปฏิบัติขาดตอน เพราะต้องวุ่นอยู่กับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในทางโลก

เมื่อต้องมาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล รู้แต่ว่าตนเองมีใจจดจ่อ เพ่งเพียร พยายามกำหนดรู้ และทำความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลากับสิ่งที่เกิดขึ้นทางกายและใจเป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งหลงลืม ก็รับรู้ และตั้งต้นใหม่...กำหนดรู้ใหม่... ตั้งต้นใหม่...กำหนดรู้ใหม่... ทำอยู่เช่นนี้... ก็รู้สึกตัวเองว่า การตามรู้ของจิตที่เกิดขึ้นเป็นปัจจุบันนั้นค่อยๆ เกิดขึ้น...เกิดขึ้น...ละเอียดขึ้น...ละเอียดขึ้น...และเป็นไปโดยอัตโนมัติในที่สุด

ดิฉันคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างสมส่วน เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน ซึ่งก็คงเนื่องมาจากเหตุปัจจัย 3 ประการ คือ

1. ดิฉันได้เคยเรียนรู้ ฝึกฝน และได้สะสมธรรมะคำสอนของพระพุทธองค์ต่อเนื่องกันมาหลายปี

2. การมีความเพียร พยายาม ใจจดจ่อที่จะระลึกรู้สภาวธรรมที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเป็นปัจจุบัน

3. สภาพแวดล้อมที่ห้องพักในโรงพยาบาลมีสัปปายะดีมาก กล่าวคือ อยู่คนเดียว มีการบริบาลดูแลเรื่องความเจ็บป่วย อาหาร และความเป็นอยู่ บรรยากาศเงียบสงบละวางจากการงานและภาระหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งมวล

อย่างไรก็ดี ต้องขอสารภาพว่า ดิฉันรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณความเจ็บป่วยของตนเองในครั้งนี้เป็นอันมาก นอกจากช่วยให้ดิฉันได้สร้างบุญกุศลให้กับตนเองแล้ว ยังนำทางให้ดิฉันมีดวงตาเข้าถึงธรรม และบังเกิดความเข้าใจชัดแจ้ง ตรงกับข้อความดังปรากฏในหนังสือกตัญญูกตเวทิตาธรรม ชุด “เพื่อนใจผู้ใฝ่ธรรม” หน้า 27 ความว่า...

การปฏิบัติธรรม มิใช่เพื่อความได้ ความมี หรือความเป็นใดๆ ทั้งสิ้น จุดหมายที่แท้เพื่อความไม่ “ทุกข์ใจ” อย่างเดียวเท่านั้น และสุดท้ายของการปฏิบัติ ก็คือ การรับรู้ว่าตัวเรานั้นสามารถ

- อยู่กับกิเลสได้โดยใจไม่เป็นทาสของกิเลส

- อยู่กับทุกข์กายโดยไม่ทุกข์ใจ

- อยู่กับงานวุ่นโดยใจไม่วุ่น

- อยู่กับการรีบด้วยใจสบาย

- อยู่กับความสมหวังและความผิดหวังได้ด้วยใจไม่ทุกข์อีกต่อไป

- อยู่กับโลกได้ด้วยใจเป็นธรรม กายส่วนกาย ใจส่วนใจ ต้องอาศัยกันอยู่เท่านั้น

- อยู่กับหน้าที่โดยไม่ยึดหน้าที่ เพียงแต่จะทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เท่าที่ตนจะทำได้ในขณะปัจจุบันเท่านั้นเอง ที่ทำไม่ได้ก็ปล่อยไป

- อยู่คนเดียวเหมือนอยู่หลายคน อยู่หลายคนก็เหมือนอยู่คนเดียว...เพราะมีธรรมะเป็นเพื่อนคู่ใจนั่นเอง (ข้อนี้ตนเองรู้สึกเช่นนั้น)

ผลแห่งการเจริญสติ สร้างความเชื่อมั่นในการช่วยผู้ป่วย

จากการที่ดิฉันได้เคย “รู้แจ้ง” ในอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน ด้วยการมีสติสัมปชัญญะ คือ การระลึกรู้สึกตัวทั่วพร้อมกับสภาวธรรมที่เข้ามาปรากฏทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ของตนเองนี่เอง จึงเกิดความคิดขึ้นในใจอย่างฉับพลันว่า ดิฉันน่าจะสามารถช่วยบุคคลที่มีทุกข์ อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยได้ โดยการเจริญสติ กำหนดรู้การเคลื่อนไหวของกายและจิตตามแบบฉบับการสอนของคุณแม่สิริ กรินชัย ดังที่ดิฉันได้ประสบและปฏิบัติมา และแล้วความคิดของการอยากช่วยคนมีทุกข์เพราะเจ็บป่วย ก็เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ดิฉันในเวลาต่อมา ซึ่งดิฉันจะกล่าวต่อในครั้งหน้า

ข้อมูลสื่อ

128-028
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532
ธรรมโอสถ
จำเนียร ช่วงโชติ