• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยา..ของแสลง สำหรับคุณแม่

ยา..ของแสลง สำหรับคุณแม่



ถ้าคุณกำลังจะเป็นพ่อหรือแม่ บางทีคุณอาจตั้งความหวังไว้ว่า คุณอยากให้ลูกเป็นหญิงหรือชาย แต่คุณคงไม่ปฏิเสธนะคะว่า ในช่วงที่ลูกน้อยกำลังจะลืมตาดูโลก คุณก็ภาวนาขอให้ลูกของคุณ มีอาการครบสามสิบสองก่อนเพื่อน เรื่องเพศเด็กค่อยว่ากันทีหลัง ถ้าได้เพสที่คุณกำลังต้องการพอดี คุณก็คงจะยิ่งดีใจเป็นทวีคูณ

คุณอาจจะเคยเห็นเด็กที่ผิดปกติ ร่างกายพิกลพิการ เช่น แขนกุด หรืองอกเป็นติ่งเท่านั้น บางคนวิ่งขายพวงมาลัยตามสี่แยก บางคนแขนกุดใช้เท้าสานใบลานขาย ฯลฯ เห็นแล้วไม่สบายใจเลยนะคะ

เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มีเด็กพิการแบบนี้เกิดในหลายประเทศ รวมทั้งในบ้านเราเอง เนื่องจากแม่ของเด็กเหล่านั้นกินยาแก้แพ้ท้องชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ธาลิโดไมด์ (Thalidomide) ทำให้เด็กที่เกิดมามีอาการผิดปกติ คือแขนขาไม่เจริญเติบโต กุดหรืองอกเป็นติ่งเล็ก ๆ เท่านั้น ยาตัวนี้ถูกยกเลิกไม่ให้จำหน่ายในท้องตลาดแล้ว กรณีธาลิโดไมด์นี้ ทำให้วงการแพทย์ตื่นตัว สนใจและระมัดระวังการใช้ยาในหญิงมีท้องมากขึ้น เพราะตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดกับทารกในท้องได้
 

รก-สะพาน เชื่อมโยงคุณแม่และลูก
ก่อนที่เราจะคุยกันถึงเรื่องของยาที่ควรต้องระมัดระวังระหว่างตั้งท้อง และอันตรายต่าง ๆ ของยาเหล่านั้น เรามาคุยกันถึงสิ่งที่เราเรียกว่า “รก” กันก่อนดีกว่า
รก เป็นสะพานที่เชื่อมโยงคุณแม่และคุณลูกเข้าด้วยกัน เป็นทางลำเลียงสารต่าง ๆ ผ่านเข้าออก ระหว่างแม่และลูก ลูกในท้องได้รับสารอาหารต่าง ๆ จากแม่ทางรก และก็อาศัยรกนี่แหละพาเอาของเสียที่เกิดขึ้น หรือของที่เป็นอันตรายกับทารกออกไปให้ตัวแม่ช่วยขจัดออก ยาก็เช่นกัน อาศัยรกเป็นสะพานเข้าสู่ตัวเด็ก โดยทางเส้นเลือด สายสะดือ ยาต่าง ๆ ที่คุณแม่กินไม่ว่าจะเป็นยาบำรุงเลือด แคลเซี่ยม วิตามิน หรือยารักษาโรคต่าง ๆ ที่คุณแม่กินเข้าไป ก็ล้วนแต่ผ่าน “รก” ทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่า รกยอมให้ทั้งอาหาร ยา แร่ธาตุ หรือสารที่เป็นพิษกับทารกผ่านทั้งนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเรานี่เอง ที่จะต้องระมัดระวัง อย่ากินสิ่งที่อาจเป็นพิษกับทารกในท้อง เพื่อให้เขาเกิดมาเป็นเด็กที่แข็งแรง สมบูรณ์ มีอวัยวะครบถ้วน ไม่พิกลพิการ
 

คุณแม่ขา อย่าซื้อยากินเอง
สำหรับคุณ ๆ ที่กำลังตั้งท้อง ทางที่ดี พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินยาบำรุงต่าง ๆ ที่หมอให้ พักผ่อนให้มาก ๆ อย่าทำงานหนักหรือหักโหมเกิน รักษาสุขภาพจิตให้แจ่มใส ถ้าเกิดเจ็บไข้ขึ้นมา ควรหาหมอดีกว่า ไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะไม่แน่ว่ายาที่คุณไปซื้อมา จะทำอันตรายลูกในท้องของคุณหรือไม่
โดยปกติ หญิงมีท้องควรฝากท้อง เพื่อให้แพทย์ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอในระหว่างตั้งท้อง แพทย์มักให้ยาบำรุงต่าง ๆ แก่ตัวแม่ เพราะในระยะนี้ ตัวแม่มีความต้องการสารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นพวกวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ เช่นพวกเหล็ก แคลเซี่ยม ฯลฯ เพราะต้องแบ่งสารต่าง ๆ เหล่านี้ไปให้ลูก เพื่อให้ลูกเจริญเติบโตได้อย่างปกติ

ยาชนิดหนึ่ง ๆ จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ
1. ชนิดของยา

2. ระยะเวลาที่ใช้ยา

3. อายุของทารกในครรภ์ เมื่อเริ่มใช้ยานั้น ๆ

4. สมรรถภาพ หน้าที่ของอวัยวะของทารก สามารถทำลายพิษยาชนิดนั้น ๆ ได้หรือไม่

ระยะที่นับว่าอันตรายที่สุดสำหรับทารกในท้อง ได้แก่ระยะ 3-4 เดือนแรกของการตั้งท้อง เพราะเป็น
ระยะที่ทารกกำลังเจริญเติบโต เริ่มมีการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ระยะนี้ถ้าตัวแม่ป่วยเป็นหัดเยอรมัน ได้รับการฉายรังสีต่าง ๆ หรือได้ยาที่ทำให้อวัยวะของทารกผิดปกติ ก็จะทำให้ทารกเกิดความพิกลพิการต่าง ๆ ตลอดจนถึงตายได้ ในกรณีที่ได้รับสารที่เป็นพิษรุนแรง
 

ยาที่ควรระวัง
ยาที่ต้องระมัดระวังในการใช้สำหรับหญิงมีท้อง มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดคือ
1. ยาระบาย
หญิงมีท้องมักท้องผูกได้ง่าย ไม่ควรใช้ยาถ่าย โดยเฉพาะพวกที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหรือ
ระคายเคืองลำไส้ เช่น บรุ๊กแลกซ์ ดัลโคแลกซ์ น้ำมันละหุ่ง เพราะอาจทำให้แท้งได้ ทางที่ดีควรใช้วิธีกินผัก ผลไม้ เช่น ส้ม มะละกอสุก กล้วยสุก ฯลฯ ดื่มน้ำให้มาก ๆ จะทำให้ถ่ายได้ง่ายขึ้น

2. ยาบีบมดลูก
ไม่ควรซื้อยาบีบมดลูกมากิน เพราะอาจทำให้แท้งได้ บางคนใช้ยาบีบมดลูกขนาด
สูงเพื่อเป็นยาขับประจำเดือนหรือยาแท้ง ซึ่งเป็นอันตรายได้ ปกติแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาใช้ยาบีบมดลูก เพื่อช่วยเร่งการคลอดในรายที่จำเป็นเท่านั้น

3. ยาแก้ปวด
ยาแก้ปวดเป็นยาที่เรามีโอกาสใช้ได้บ่อย แอสไพริน และยาแก้ปวดอื่น ๆ ที่มีส่วน
ผสมของแอสไพริน เช่น เอ.พี.ซี. (หรือยาเม็ดสีชมพู) ยาแก้ปวดชนิดผงบรรจุซองยี่ห้อต่าง ๆ อาจทำให้ระยะการตั้งท้องนานขึ้นและอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในทารกแรกเกิดได้ในหญิงที่ใช้ยานี้มาก ๆ ในระยะท้องแก่ จึงควรใช้เฉพาะเวลาที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ เอง

4. ยาปฏิชีวนะชนิดต่าง ๆ ที่ต้องระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งท้อง มีหลายชนิดด้วยกันคือ

ก. เตตร้าซัยคลีน พบว่าในผู้หญิงท้องที่ใช้ยานี้ ในระยะ 2 เดือนสุดท้ายของการตั้งท้อง จะทำให้ฟัน
น้ำนมของเด็กมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาล ฟันเจริญไม่สมบูรณ์ มีชั้นเคลือบฟันบาง ทำให้ฟันผุง่าย และยังทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกเด็กช้าผิดปกติในชั่วระยะหนึ่งได้

ข. คลอแรมเฟนิคอล ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจทำให้มียาหลงเหลืออยู่ในตัวเด็กแรกเกิดได้ จะ
เป็นอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เพราะเด็กไม่สามารถขจัดยาออกจากร่างกายได้หมด ทำให้เกิดเป็นพิษต่อระบบไหลเวียนของเลือดขึ้นได้ โดยจะทำให้มีอาการเขียวคล้ำ หัวใจไม่ทำงานและตายได้

ค. ยาซัลฟาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซัลฟาเดี่ยว ๆ หรือผสมรวมอยู่กับยาอื่น เช่น ซัลฟาไดอาซีน ซัลฟิ
ซ็อคซาโซล แบคตริม เซพตริน ฯลฯ ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอดจะทำให้เด็กเป็นโรคดีซ่านและปัญญาอ่อนได้

ง. ยาปฏิชีวนะสเตร็ปโตมัยซิน กาน่ามัยซิน เจนต้ามัยซิน อาจทำให้ทารกหูหนวกได้ เพราะยา
เหล่านี้เป็นพิษต่อประสาทหู

5. ยารักษาโรคมาลาเรีย
หญิงมีท้องที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ควรปรึกษาแพทย์ทุกราย เพราะยารักษาโรคมาลาเรีย ทั้งควีนิน และคลอโรควิน อาจทำให้เด็กทารกหูหนวก สมองเจริญเติบโตช้ากว่าปกติได้ นอกจากนี้ ควีนินยังอาจทำให้แท้งได้ ถ้าใช้ขนาดสูงเกินไป

6. ยาเสพติดต่าง ๆ
เช่น ฝิ่น เฮโรอีน ฯลฯ จะทำให้ทารกในท้องเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ และยังทำให้เด็กทารกมีอาการติดยาภายหลังคลอดแล้ว โดยทารกจะแสดงอาการขาดยา กวน ไม่ยอมดูดนม อาเจียน ท้องร่วง หาว มีไข้ หรือชัก ซึ่งจำเป็นต้องรีบให้การรักษาอย่างถูกต้อง มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายถึงตายได้

7. ยาแก้แพ้และยาแก้อาเจียนต่าง ๆ
ในระยะ 3-4 เดือนแรก หญิงที่เริ่มตั้งท้อง มักมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ถ้าไม่เป็นมากก็ไม่ต้องกินยา ถ้าทนไม่ได้ ให้กินยาวิตามินบี 6 และถ้ายังมีอาการแพ้ท้องมาก ควรหาหมอ ไม่ควรไปซื้อยาแก้อาเจียนมากินเองเด็ดขาด
ในอดีตที่ผ่านมา ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า ยาแก้แพ้ท้อง ธาลิโดไมด์ ทำให้ทารกที่เกิดมามีอาการแขนขาไม่เจริญเติบโต กุด หรือสั้นกว่าปกติ ฯลฯ นอกจากนี้ ยาแก้แพ้ แก้อาเจียนพวก ซัยไคลซีน(Cyclizine) เม็คไคลซีน (Meclizine) มีรายงานว่าทำให้สัตว์ทดลองมีลูกที่มีใบหน้าตาเพดานช่องปาก หรือระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ แม้ว่ายังไม่มีรายงานว่า พบทารกผิดปกติหรือพิการจากการใช้ยานี้ ก็ไม่ควรประมาทหรือใช้เอง

8. พวกฮอร์โมน
ในระหว่างที่ตั้งท้อง ไม่ควรใช้ยาฮอร์โมนเอง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนที่ใช้ทดสอบการตั้งท้อง ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนเพศชนิดอื่นๆ เพราะการเลือกใช้ฮอร์โมนชนิดที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ทารกเพศหญิงมีอวัยวะเพศผิดปกติได้ ส่วนการใช้ฮอร์โมนเพื่อป้องกันการแท้งลูกนั้น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์เท่านั้น

9. ยาพวกสเตอรอยด์
เช่น เพร็ดนิโซโลน เด๊กซ่าเมธาโซนฯลฯ ถ้าใช้ยาเหล่านี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนถึงคลอด อาจทำให้ทารกแรกเกิดมีภาวะขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตได้ เพราะยาจะไปกดต่อมไว้ ทำให้ต่อมเหี่ยวลีบเล็กลง หรือมีเนื้อตายเกิดขึ้น หรือมีเลือดออกในต่อมหมวกไต ทำให้เด็กตายได้

10. สำหรับคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอระหว่างตั้งท้อง

ก. ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และใช้ยากินอยู่ ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องยากินรักษาโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะใกล้คลอด เพราะถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจทำให้เด็กเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำผิดปกติได้ โดยปกติแพทย์นิยมใช้อินซูลินรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังตั้งท้องมากกว่า และหญิงที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มักจะให้กำเนิดทารกที่ตัวโตกว่าทารกทั่วไป ทำให้คลอดยาก การพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ข. ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคของต่อมธัยรอยด์ หรือเป็นโรคคอพอก ไม่ว่าจะเป็นโรคคอพอกจากต่อมธัยรอยด์ทำหน้าที่มากไป หรือพวกที่ขาดไอโอดีน ยาที่รักษาโรคคอพอก อาจทำให้ทารกในท้องป่วยเป็นโรคคอหอยพอกได้ และยังอาจทำให้ทารกคลอดในท่าผิดปกติ ทำให้สมองเด็กเจริญเติบโตช้า ปัญญาอ่อนได้

ค. ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาจทำให้การเจริญเติบโตของทารกในท้องผิดปกติ ทำให้ทารกที่เกิดใหม่มีอาการระบบหายใจ ถูกกด ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือหัวใจเต้นช้าผิดปกติได้
 

ยาที่ไม่ควรใช้ในหญิงมีท้อง ยังมีอีกหลายชนิด แต่จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดมากในที่นี้ เพราะยาต่าง ๆ เหล่านี้เราไม่ค่อยมีโอกาสใช้เองมากนัก ส่วนมากแพทย์ที่รักษาโรคให้แก่หญิงมีท้อง จะต้องเป็นผู้ระมัดระวังมากกว่ายาเหล่านี้ได้แก่ ยากันเลือดแข็ง, ยารักษาโรคที่เป็นสารกัมมันตภาพรังสี, ยารักษาโรคมะเร็ง, ยาแก้ปวดมอร์ฟีน เพธิดีน, ยาสลบ, ยาชาที่ฉีดเข้าไขสันหลังเพื่อระงับความเจ็บปวดในการคลอด, ยากระตุ้นการคลอด, วัคซีนชนิดต่าง ๆ

 

ข้อมูลสื่อ

16-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 16
สิงหาคม 2523
ยาน่าใช้
ภก.พนิดา จารุศิลาวงศ์