• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลดความอ้วน : ปัญหาของคนมั่งมี

สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ เบาหวาน พบมาในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มักใช้วิธีกินยาลดความอ้วน ผ่าตัดและอื่นๆ ตรงข้ามกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต้องเผอิญกับปัญหาโรคขาดสารอาหาร

ถ้าจะดูความแตกต่างระหว่างความมั่งมีและความยากจนของประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา (หรือด้อยพัฒนา) แล้ว อาจดูได้จากปัญหาของ “ความอ้วน” ซึ่งประเทศร่ำรวยที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วถือว่าการกินมากเกินไปจนก่อให้เกิด “อาการอ้วน” (ซึ่งถือเอาว่าเมื่อมีน้ำหนักตัวเกินกว่า 20-25% ของน้ำหนักมาตรฐาน) เป็นปัญหาสำคัญในอันดับต้นๆทีเดียว

เพราะสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ เบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่เป็นกันมากในกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาเผชิญปัญหาโรคขาดสารอาหาร เป็นที่น่าอเนจอนาถดังเช่นเด็กๆในเอธิโอเปีย

วิธีการแก้ปัญหา “อาการอ้วน” ในประเทศพัฒนาแล้วมักใช้วิธีการกินยาลดความอ้วน การผ่าตัดและอื่นๆ โดยยาลดความอ้วนที่ขายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันมักเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกับแอมเฟตามีน ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมอง และยาเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) ซึ่งออกฤทธิ์ลดการทำงานของศูนย์ควบคุมความหิวในสมอง มีผลทำให้ไม่อยากอาหาร

เนื่องจากการออกฤทธิ์ของยาลดความอ้วนกระทำแก่ศูนย์การทำงานของสมองโดยตรง ทำให้มีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นอย่างมากมาย จึงเป็นยาที่ต้องระมัดระวังการใช้ โดยเฉพาะผู้มีอาการซึมเศร้า หรือผู้ที่เป็นไมเกรนหรือมีความเครียดสูง เพราะจะทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นได้หลังจากการใช้ไม่ถึงสัปดาห์ ยาเหล่านี้จึงจัดอยู่ในความดูแลของแพทย์ การซื้อขายต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น

ส่วนการผ่าตัดพบว่า เป็นวิธีการสุดท้ายที่เลือกปฏิบัติ เช่น โดยการตัดลำไส้เล็กให้มีระยะทางสั้นลงเพื่อลดการดูดซึมของอาหารที่เป็นต้นเหตุของความอ้วน แต่วิธีนี้พบว่าอาจทำให้เกิดโรคตับ โรคนิ่วในไต ปวดท้อง ท้องเกร็ง

เนื่องจากวิธีการต่างๆในการรักษา “ความอ้วน” ยังไม่มีผลที่ดีพอ นักวิจัยและบรรษัทยายังทุ่มความสนใจให้กับการพัฒนาวิธีการใหม่ๆอยู่ ดังเช่น บรรษัทยาข้ามชาติ Haffmann – La Roche ได้พัฒนายาใหม่ที่มีฤทธิ์ต่อกระเพาะลำไส้โดยตรง แทนที่จะให้เกิดฤทธิ์ที่สมองเช่นเดิม โดยรบกวนสัญญาณที่จะส่งจากกระเพาะไปที่สมอง ทำให้สมองไม่ถูกกระตุ้นให้หิว จากการศึกษาการให้ยาคลอโรซิเตรต (Chlorocitrate) ในผู้ที่อ้วน 8 รายในโรงพยาบาลรัฐนิวยอร์ก อ้างว่าประสบผลสำเร็จ สามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 1-5 กิโลกรัมในเวลา 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ยังคิดค้นยาเพื่อยับยั้งการย่อยและการดูดซึมของอาหารไขมันที่มักสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายทำให้เกิดความอ้วน ขณะเดียวกันต้องหาทางเร่งให้ร่างกายนำเอาอาหารไขมันไปใช้ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เหลือสะสมไว้เป็นภาระ ซึ่งบริษัท Roche ได้อ้างว่าการทดลองยาไทโอฟีน (Thiophene) ได้ให้ผลตามที่ต้องการ ผลเสียของยามิได้กล่าวถึง เนื่องจากยังอยู่ในขั้นทดลอง

อีกวิธีหนึ่งที่มีการกล่าวขวัญถึงคือ มีผู้ทำการทดลองในยุโรปและแคนาดา โดยใช้วัตถุสอดใส่ในกระเพาะ (ที่เรียกว่า Garren gastric bubble) และทำให้โป่งด้วยการเป่าอากาศเข้าไปเพื่อให้แทนที่ว่างในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารเต็ม จึงไม่มีการส่งสัญญาณความหิวไปที่สมอง ผู้ใช้จึงอยู่ได้โดยไม่กระวนกระวายแม้ไม่กินอาหารมานานหลายๆวัน โดยพบว่าภายใน 21 วัน สามารถลดน้ำหนักได้ถึง 3-6 กิโลกรัม

แต่ข้อเสียของวิธีการนี้ยังพบว่ามีอยู่มาก เนื่องจากพบการอักเสบของกระเพาะอาหารในกลุ่มผู้ทดลอง การอุดตันที่ลำไส้เมื่อลูกโป่งนั้นเกิดรั่วแฟบ นอกจากนี้การเอาวัตถุชนิดนี้ออกและเข้าก็ต้องใช้ผู้ชำนาญการ

แม้ว่าการค้นพบด้วยวิธีการต่างๆซึ่งเชื่อว่าเป็นวิทยาการก้าวหน้าในวงการแพทย์ แต่ก็ยังมิอาจหักล้างกับประสิทธิภาพของการแก้ปัญหาแบบชาวพุทธให้ตัดกิเลส และ “ความอยากกิน” เป็นกิเลสชนิดหนึ่งซึ่งตัดได้ก็จะลดการกินลงได้และทำงานมากขึ้น ไม่สิ้นเปลืองและไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากยาใหม่ๆซึ่งยังไม่แน่นอน
 

ข้อมูลสื่อ

101-004-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล