• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อัตวินิบาตกรรม

ส่วนใหญ่แล้วเป็นบุคคลที่มีความสะเทือนอารมณ์อย่างรุนแรง โรคจิตชนิดซึมเศร้า ผิดหวังในชีวิต หรือเป็นมะเร็งในระยะสุดท้าย มีความคิดที่ต้องการจะมีชีวิตอยู่ กับความคิดที่อยากจะตาย

จากหนังสือพิมพ์รายวันเราจะอ่านพบข่าวคนฆ่าตัวตายแทบทุกวัน บางฉบับมีถึง 2-3 ราย จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “ฆ่าตัวตายรายวัน” และเป็นเช่นนี้เหมือนกันแทบทุกประเทศในโลก

ปัญหาที่ถามกันอยู่ทั่วไป ทำไมคนเราจึงฆ่าตัวตาย จึงไม่มีคำตอบที่เด็ดขาดคำตอบเดียวที่ใช้ได้กับทุกกรณี

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ฆ่าตัวตายมีความสะเทือนอารมณ์อย่างรุนแรง (emotionally disturbed) หรือเป็นโรคจิตชนิดซึมเศร้า (Depressive reaction) ทำให้หมดกำลังใจที่จะต่อสู้ชีวิตต่อไป

อีกส่วนน้อยจะเป็นผู้ “กล้า” ศาสนาหรือความรักชาติ อันได้แก่ผู้ยอมตายโดยขับเครื่องบินบรรทุกลูกระเบิดเข้าชนเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นเรือรบขนาดใหญ่ของข้าศึก หรือโดยการขับรถยนต์บรรทุกระเบิดเข้าชนเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม เช่น ที่ตึกที่พักของทหารข้าศึกในกรุงเบรุต ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตข้าศึกเป็นร้อยๆ

บางคนทำลายตัวเองเพราะประสบความผิดหวังในชีวิตเช่น สาวหรือภรรยาเก่าปฏิเสธความรัก หรือทำไปเพราะไม่สมหวังในตัวสาว ซึ่งมักจะทำลายชีวิตสาวเสียก่อน แล้วฆ่าตัวตายตามเพื่อไปพบและครองรักกันในภพหน้า

แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำไปอย่างไม่มีใครนึกถึงไว้ก่อน มักจะเป็นคนหนุ่มสาวที่มีอะไรดูปกติธรรมดาทุกอย่าง แต่เมื่อมีอะไรขัดใจนิดหน่อยก็ทำลายตัวเองเสียแล้ว

บางกลุ่มทำลายตัวเองเพราะโรคที่ตนเป็นอยู่ เช่น เป็นมะเร็งในระยะสุดท้าย โดยขอความร่วมมือจากแพทย์หรือญาติใกล้ชิดให้ช่วยจัดการจบชีวิตการทรมานให้ด้วย ซึ่งเราเรียกกันว่า Mercy killing หรือ Euthanasia ซึ่งถ้ามีผู้เอาเรื่องก็นับว่าเป็นการผิดกฎหมาย

มีเรื่องจากสหรัฐอเมริกาว่า ชายคนหนึ่งขออนุญาตจากศาลให้จบชีวิตภรรยาของเขาซึ่งนอนโคม่าเป็นท่อนไม้ หรือพืชชนิดหนึ่งจากโรคที่รักษาไม่หายมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ศาลอเมริกันยังไม่อนุญาต

หนังสือพิมพ์รายวันของเราฉบับหนึ่ง ลงข่าวว่าชายคนหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังและรักษาไม่หาย ตามสถิติปรากฏว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มีความโน้มเอียงที่จะทำลายชีวิตตนเองมากกว่าผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ

กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่ฆ่าตัวตายโดยไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น ในสายตาของทุกคนที่ได้สัมผัสกับเขา ก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนปกติทุกอย่าง แล้วอยู่ดีๆก็ได้ข่าวว่าฆ่าตัวตายเสียแล้ว จิตแพทย์ผู้หนึ่งถึงกับกล่าวว่า “ท่านไม่มีวันจะรู้สาเหตุได้”

ในสหรัฐอเมริกา ได้มีปัญหานี้มานานแล้ว ถึงกับในปี 2501 ได้มีการตั้งศูนย์ป้องกันอัตวินิบาตกรรมแห่งลอสแองเจลิส ซึ่งดำเนินการโดยจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกแล้ว ซึ่งต่อมาได้มีศูนย์เช่นนี้ 300 แห่ง ทั่วสหรัฐอเมริกา

หลักการที่ศูนย์ใช้เป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ปัญหาคือ คนที่คิดจะฆ่าตัวตายนั้นมีสองความคิดสู้กันอยู่ตลอดเวลา คือ ความคิดที่ต้องการจะมีชีวิตอยู่ กับความคิดที่อยากจะตาย และการพยายามฆ่าตัวตาย(suicidal attempt) จึงเป็นเสมือนการร้องขอความช่วยเหลือ (a cry for help) อย่างหนึ่ง

มี “ร่องรอย” (clues) อะไรบ้างไหมที่พอจะชี้ว่า คนๆนั้นกำลังตั้งใจจะทำการฆ่าตัวตาย นายแพทย์ไนด์แมน เชื่อว่ามี “ร่องรอย” ดังต่อไปนี้คือ

1. การพูด
เช่น “คุณจะไม่ได้เห็นหน้าฉันอีกต่อไปแล้ว” “ฉันอยากตาย”
2. พฤติกรรม เช่น การให้ของมีค่าของตนไปเปล่าๆ การแสดงกิริยาโศกเศร้า ไม่กินอาหาร การนอนไม่หลับรุนแรง

แต่ clue ที่ค่อนข้างจะแน่นอนที่สุดคือ การเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ

ในอังกฤษ กลุ่มของอาสาสมัครที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ พวกสมาริตัน (Samaritans) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2496 โดยพระชาวอังกฤษ ชื่อ แซดวาราห์ หลักการของท่านก็คือ การติดต่อทางโทรศัพท์ รับฟังเสียงของผู้ที่จะคิดฆ่าตัวตาย คือ พยายามเป็นเพื่อนด้วย พยายามฟังปัญหาของคนไข้และติดต่อช่วยเหลือก่อนที่เขาจะลงมือฆ่าตัวเองตาย

ปัจจุบันกิจการเจริญจนมีกลุ่มสมาริตันถึง 180 แห่งทั่วเกาะอังกฤษ (ใช้อาสาสมัคร 20,000 กว่าคน) และมีสาขาออกไปถึง 100 กว่าแห่งใน 36 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย (โทร.235-4000 และ 235-4001 ติดต่อได้ทุกเวลา)

ในการศึกษาเรื่องนี้ อัตราการฆ่าตัวตายคิดเป็นจำนวนรายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี

เช่น ในประเทศไทย (ขอขอบคุณกองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) อัตราของเราแสดงว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปี 2500 มี 2.7 ต่อแสน, 2516 เพิ่มขึ้นเป็น 4.2 ที่มากที่สุดคือ เมื่อปี 2523 มีถึง 7.4 และท้ายสุดปี 2528 มีเพียง 6.2 (จะเกี่ยวกันหรือเปล่าไม่ทราบ ในปี 2523 นั้นระดับน้ำในเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อนมีระดับน้ำต่ำที่สุด)

ประเทศที่มีอัตราสูงสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น ซึ่งในปี 1976 มี 18 ต่อแสน แต่ปี 1984 มีถึง 20 ต่อแสนคน ในอังกฤษมีประมาณ 8.1-8.7 แต่ตัวเลขอันเป็นทางการย่อมน้อยกว่าที่เป็นจริงเสมอ

การจะทำให้การฆ่าตัวตายหมดไปถึง 0 ต่อแสนนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่เราอาจช่วยกันลดให้น้อยลงได้ เฉพาะอย่างยิ่งด้วยการ care ต่อเขา คือ ให้ความใกล้ชิด อาทรร้อนใจกับเขา ปลอบใจเขา ให้กำลังใจ ให้ความรักกับเขา เพราะความรัก(Love)เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งถ้าท่านยิ่งให้ออกไปมาก กลับจะเพิ่มมากในตัวท่านเองด้วย

ข้อมูลสื่อ

101-004-3
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
พ.ต.นพ.สุพจน์ ขวัญมิตร