• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัคซีน ผู้พิชิตฆาตกรทั้ง 6 และ...

“ทำไมต้องฉีดวัคซีนด้วยครับแม่?”
คุณรู้ไหมว่าตอนที่ลูกคลอดก่อนออกจากโรงพยาบาล หมอฉีดวัคซีนอะไรให้ลูกเรา?
คุณรู้ไหมไข้ฝีดาษสูญสิ้นไปจากโลกนี้เพราะอะไร?
วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ฉีดกี่เข็มจึงจะพอที่จะป้องกันโรคได้?
ลูกเป็นหวัดนิดหน่อย จะพาไปฉีดยาได้ไหมคะคุณ?
ข้างต้นนั้นเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ และหลายๆคนอยากจะถามแต่ไม่กล้าถาม

วัคซีนได้ผลแน่หรือ

แน่ไม่แน่ก็กำจัดโรคฝีดาษให้สูญสิ้นไปจากโลก เมื่อ 10 ปีที่แล้วมานี้เอง คนไข้ฝีดาษคนสุดท้ายจากประเทศโซมาเลีย ในทวีปแอฟริกา

นับแต่บัดนั้นมาทั่วโลกไม่มีการปลูกฝี(วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ)อีกเลย
กว่าจะถึงวันนี้ได้ ขอย้อนกลับไปถึงปูมประวัติศาสตร์สักนิด(รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม)
แปลกแต่จริง! ผู้คิดค้นวัคซีนได้เป็นคนแรกเป็น “หมอชนบท” (Country doctor) ชาวอังกฤษ ชื่อว่า เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner)

คือเกือบ 200 ปีมาแล้ว เมื่อปี ค.ศ.1796 คุณหมอเจนเนอร์ปลูกฝีเด็กชายอายุ 8 ขวบด้วยเชื้อหนองฝีดาษจากวัว (cowpox) และต่อมาเด็กชายผู้นั้นมีภูมิต้านทานต่อโรคฝีดาษ

เหตุที่คุณหมอเจนเนอร์ทดลองปลูกฝีจากวัวเช่นนี้เพราะท่านเคยสังเกตว่า หญิงที่ทำงานในฟาร์มวัวนมหรือหญิงรีดนมวัวที่เคยเป็นแผลจากฝีดาษของวัวบ่อยๆมักจะไม่เป็นโรคฝีดาษ

2 ปีต่อมาหลังจากที่ท่านทดลองเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และได้ผลดีเช่นที่กล่าวมาแล้วท่านจึงตีพิมพ์ผลงานนั้นขึ้น

คุณหมอเจนเนอร์ตั้งคำว่า “วัคซีน” (vaccine) ซึ่งมาจากคำภาษาละติน vaccinus มีความหมายว่า “ของวัว” (vacca = วัว)

14 ปีให้หลังก็มีการปลูกฝีในหลายประเทศในยุโรป หลังจากนั้นเกือบจะ 100 ปี ต่อมาท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินชื่อหลุยส์ ปาสเตอร์ ท่านผู้นี้พบว่าวัคซีนสามารถผลิตได้จากการทำให้เชื้อโรคอ่อนกำลังลง

อย่างไรก็ตามปาสเตอร์ก็ยังใช้คำว่า วัคซีน เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณหมอเจนเนอร์ผู้ค้นพบคนแรก
เอาละท่านพอจะรู้ปูมวัคซีนบ้างแล้ว

วัคซีนคืออะไร

วัคซีนคือสารหรือผลิตภัณฑ์ที่ให้กับร่างกายของคน(หรือสัตว์)โดยวิธีใดก็ตาม เช่น ฉีด กิน พ่น ปลูก ฯลฯ แล้วมันไปกระตุ้นร่างกายเกิดภูมิต้านทานต่อโรคติดเชื้อชนิดนั้นๆ

คงจะเหมือนเด็กน้อยที่ถามคุณแม่ข้างต้นแล้วซินะ ว่าทำไมหนูต้องฉีดวัคซีนด้วยครับคุณแม่?

ท่านคงทราบกันดีว่า โรคติดเชื้อมีมากมายหลายอย่างในโลก
ที่ทำให้ตายก็มาก พิการก็เยอะ

สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินว่างั้นเถอะ มนุษย์ก็พยายามค้นหาแนวทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านั้น ทั้งแต่ละบุคคล และชุมชน ไม่ให้เชื้อโรคชนิดนั้นๆแพร่กระจายออกไป

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเกือบจะถึง 200 ปี ตั้งแต่คุณหมอเจนเนอร์เริ่มปลูกฝี ถึงคนเป็นฝีดาษคนสุดท้าย (เมื่อ ค.ศ.1977)

วัคซีนไปทำอะไรกับร่างกาย

ตอบง่ายๆคือ วัคซีนเมื่อเข้าสู่ร่างกายคนแล้วไปกระตุ้น(ระบบอิมมูน)ร่างกายของคนให้สร้างภูมิต้านทานขึ้น พร้อมที่จะเผชิญกับเชื้อโรคจากธรรมชาติ

นั่นคือใครมีภูมิต้านทานจากการได้รับวัคซีนแล้ว เมื่อมีโรคติดเชื้อจากธรรมชาติก็ไม่ทำให้เกิดโรคชนิดนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งได้รับวัคซีนป้องกันหัดแล้ว ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรคหัดขึ้น เด็กคนนั้นแม้จะไปอยู่กินหรือใกล้ชิดกับเด็กอีกคนที่เป็นหัดธรรมชาติ ก็ไม่ทำให้เด็กคนนั้นเป็นหัดได้
ชัดเจนดีไหมครับ!

ออกจะยืดยาว แต่เพื่อความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง เพราะหลายต่อหลายคนยังคลางแคลงในเรื่องวัคซีนโดยเฉพาะเรื่องวัคซีนหัด
“ปล่อยให้ออกหัดธรรมชาติดีกว่านะ”

บางคนค่อนข้างจะโบราณบอกลูกหลานว่าอย่างนั้น ทำให้เด็กหลายคนไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหัด
เลยเป็นหัด(ธรรมชาติ)กันเสียงอม ทั้งไข้ ทั้งไอ ตาแดง ไม่ได้หลับได้นอนกันทั้งบ้าน ดีไม่ดีปอดบวมแทรก หูน้ำหนวกไหล สมองอักเสบด้วย เจ้าพระคุณเอ๋ย ไม่คุ้มแน่ๆ
ฉีดวัคซีนเสียดีกว่า คุ้มแน่ๆ

วกกลับมาหาจั่วหัวเรื่องสักหน่อย คงพอเข้าเค้าแล้วกระมังว่า
วัคซีน : ผู้พิชิตฆาตกรทั้ง 6 และ...
เหตุที่เดิม...เพราะวัคซีนไม่ได้มีแค่ 6 ชนิดเท่านั้น กำลังผลิตกันมากขึ้นทุกวันๆ ป้องกันได้เกือบ 20 โรค

ฆาตกรทั้ง 6 มีอะไรบ้าง

1. คอตีบ
2. ไอกรน
3. บาดทะยัก
4. โปลิโอ
5. หัด
6. วัณโรค

โรคทั้ง 6 นี้ผลาญชีวิตมนุษย์ทั่วโลกกว่าปีละ 3 ล้าน 5 แสนคน รวมทั้งทำให้พิการด้วย

องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าที่จะพิชิตโรคร้ายเหล่านี้ โดยมุ่งไปที่เด็กและคนท้องภายใน 3 ปีข้างหน้า คือปีพ.ศ.2533 (ค.ศ.1990)

ลองดูสถิติขององค์การอนามัยโลกสักนิดว่า ปัญหาเรื่องโรคติดเชื้อ(ฆาตกรทั้ง 6)ว่ารุนแรงแค่ไหน
เอาหัดก่อนก็แล้วกัน ทั่วโลก ทุก 15 วินาที มีเด็ก 1 คน ตายจากโรคหัด!

เด็กเกือบทุกคนที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันหัด จะเป็นหัด และทั่วโลกตายจากโรคหัดปีละ 2 ล้านคน เด็กที่เป็นหัดแล้วไม่ตาย มีโอกาสมีโรคแทรกซ้อนกว่า 1 ใน 3 เช่น ปอดบวม หูน้ำหนวก ท้องเสีย ตาบอด และสมองอักเสบ ดังกล่าวแล้ว อย่าถึงขั้นนั้นเลย เอาแค่เป็นหัดธรรมดาลูกตัวร้อนอยู่ 3-4 วัน พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็ยุ่งหรือย่ำแย่กันทั้งบ้าน

ตัวที่ 2 คอตีบ ทั่วโลกเป็นโรคนี้กันปีละหลายล้านคน ใครเป็นก็มีโอกาสตาย 10-15 เปอร์เซ็นต์ จากหายใจไม่ออก(ช่วยได้ต้องเจาะคอให้หายใจ) คอตีบ เพราะเชื้อโรคคอตีบไปทำให้เกิดพังผืดเป็นเยื่อติดลำคอ หายใจไม่ออก-ตาย แถมเชื้อโรคทำให้เลือดเป็นพิษไปทำลายสมองและกล้ามเนื้อหัวใจ เสร็จเหมือนกัน

ตัวที่ 3 ไอกรน ยังทำให้มีการตายสูงจากโรคนี้ เชื่อกันว่าทั่วโลกตายกว่า 6 แสนคน เด็กๆเป็นกันมาก บางทีเรียกว่า ไอ 3 เดือนหรือร้อยวัน ไอมากจนกินไม่ได้ ไอจนอาเจียน เป็นโรคขาดอาหาร เลือดออกที่ตาขาวจนเป็นตาแดงเหมือนนกกะปูด บางรายทำให้เกิดสมองพิการอย่างถาวร และปอดบวมก็มี

ตัวที่ 4 บาดทะยัก โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิด โดยการตัดสายสะดือไม่ดี เช่น ใช้ไม้รวก หรือผิวไม้ไผ่ตัด กรรไกร หรือมีดสกปรก หรือทำความสะอาดไม่ถูกต้อง ถ้าจะใช้จริงควรเผาไฟให้แดงแล้วจึงใช้ตัด บางรายเกิดมาใช้ยาหรือแป้งฝุ่นพอกสะดือ เกิดเป็นโรคบาดทะยัก

ทั่วโลกตายจากโรคนี้กว่า 8 แสนคน เด็กเกิดใหม่คนไหนเป็นแล้วตายเกือบหมด ป้องกันง่าย โดยฉีดวัคซีนให้แม่ที่ตั้งท้อง จะป้องกันเด็กได้
แน่ละเด็กโตก็เป็นบาดทะยักได้ เราก็มีวัคซีนป้องกันให้อยู่แล้ว

ตัวที่ 5 โปลิโอ หรือโรคไขสันหลังอักเสบ เป็นแล้วพิการ ที่เห็นเดินขากะเผลกนั่นแหละครับเคยเป็นโรคโปลิโอทั้งนั้น บางรายซ้ำร้ายเป็นที่ขา 2 ข้างเลย เดินไม่ได้ก็มี

โรคโปลิโอยังเป็นปัญหาในประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นโรคนี้แล้วตายกันปีละกว่า 3 หมื่นคน(ราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์) ทั่วโลกเป็นกันเกือบๆ 3 แสนคน มักเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ

ตัวที่ 6 วัณโรค เจ้าเก่า รู้จักกันมานานและก็ยังเป็นกันอีกมากเสียด้วย
เป็นกันกว่า 10ล้านคนทั่วโลก เด็กเล็กเป็นมักจะตาย
เป็นในรูปแบบปอดบวมก็ได้ และค่อยๆโทรมแล้วก็ตาย
เป็นวัณโรคกระดูกทำให้พิกลพิการ หรือถ้าขึ้นสมอง รับรองตายแน่ๆ

เรามีวัคซีนดี คือ บีซีจี ป้องกันวัณโรคขึ้นสมองได้ มักจะฉีดกันตั้งแต่แรกเกิด แล้วฉีดซ้ำอีกทีราวๆ 5-7 ขวบ

เราได้รู้จักหน้าตาฆาตกรทั้ง 6 พอคร่าวๆแล้วว่ามันร้ายกาจแค่ไหน มีวัคซีนอะไรที่จะพิชิตฆาตกรเหล่านั้น

วัคซีนป้องกันวัณโรค(บีซีจี)

วัคซีนตัวแรกที่คุ้นๆกัน คือ บีซีจี (BCG) ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Bacillus Calmette Guerin เริ่มใช้มากว่า 60 ปีแล้ว ได้มาจากเชื้อวัณโรคของวัว นำมาทำเป็นวัคซีน

วัคซีนป้องกันวัณโรค บีซีจี มักจะฉีดให้เด็กแรกเกิด
เข้าในผิวหนังเด็ก (แต่ก่อนเคยฉีดกันบริเวณสะโพก) ขณะนี้ฉีดกันที่บริเวณต้นแขนใกล้ไหล่ด้านซ้าย

หลังจากฉีดจะเป็นตุ่มแดงๆ อาจจะเป็นหนองตุ่มเล็กๆให้เห็นได้ หายแล้วเหลือเป็นแผลเป็นเล็กๆให้เห็นเป็นรอยอยู่

โรคแทรกซ้อนจากบีซีจีก็ไม่มีอะไรมาก อาจจะมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โตได้ แผลตรงที่ฉีดอาจจะนานกว่าจะหาย แพทย์สามารถดูแลรักษาให้ได้

วัคซีนบีซีจีจะฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 (ราวๆ 7 ขวบ บางคนอาจฉีดซ้ำเมื่อ 5 ขวบ ก็ไม่เป็นไรใช้ได้)

วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก (ดีพีที)

เมื่อเด็กอายุราวๆ 2 เดือน จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ที่เรียกกันว่า วัคซีนดีพีที (DPT) ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Diphtheria Pertussis Tetanus Vaccine ฉีดรวมกันเข็มเดียวป้องกันได้ 3 โรคดังกล่าว ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกหรือหน้าขา (ของกระทรวงสาธารณสุขเรียกว่า ดีทีพี ให้เข้าใจคือวัคซีนเดียวกัน)

เด็กจะได้รับการฉีดวัคซีน 3 เข็มห่างกัน 1-2 เดือน ดีพีทีเข็มที่ 4 ฉีดเมื่ออายุ 1 ขวบครึ่งและเข็มที่ 5 หรือกระตุ้นเมื่อเด็กอายุ 4-7 ขวบ (เมื่อไหร่ก็ได้)

เมื่อฉีดวัคซีนดีพีทีนี้แล้ว เด็กอาจจะมีไข้ตัวร้อนบ้างในบางราย บริเวณที่ฉีดอาจจะบวมแดงเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่นานไม่เกิน 24-48 ชั่วโมงหลังฉีด ให้ยาลดไข้ก็หายได้ และเด็กจะไม่งอแงด้วย

มีน้อยรายที่แพ้วัคซีนดีพีทีถึงขนาดชัก โดยทั่วไปแล้ววัคซีนชนิดนี้ปลอดภัยมากทีเดียว คุ้มในการป้องกันโรคติดเชื้อทั้ง 3

พร้อมกับวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ลูกๆมักจะได้รับการหยอดวัคซีนโปลิโอเข้าในปาก
ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ เขาให้วัคซีนโปลิโอในเด็กแรกเกิดเลย เพราะในประเทศเหล่านี้เป็นโรคโปลิโอกันมาก ประเทศไทยเราพัฒนาไปบ้างแล้วจึงเริ่มตอนอายุ 2 เดือน พร้อมกับวัคซีนดีพีทีดังกล่าวแล้ว

วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ

วัคซีนโปลิโอปลอดภัยมากที่สุดวัคซีนหนึ่ง แทบจะไม่มีโรคแทรกซ้อนเลยก็ว่าได้
อย่าลืมนะครับ เมื่อได้รับวัคซีนดีพีที ควรได้รับการหยอดวัคซีนโปลิโอทางปากทุกครั้งไป

นอกเสียจากว่า วัคซีนโปลิโอมันขาดตอนไป ก็ควรจะพาลูกหลานไปรับการหยอดให้ครบ 5 ครั้งเหมือนกับวัคซีนดีพีที

วัคซีนป้องกันโรคหัด

ผู้พิชิตตัวสุดท้าย

วัคซีนป้องกันหัด เป็นพระเอกในด้านป้องกันวัคซีนป้องกันโรคหัดที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาใช้เมื่อไม่นาน คือราวๆ 20 กว่าปีมานี้เอง

วัคซีนหัดเป็นตัวสำคัญที่สุดตัวหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดพิการหรือตายได้อย่างมาก

โดยเฉพาะเด็กในประเทศที่กำลังพัฒนา ตายหรือพิการจากโรคหัดไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ มีการคาดคะเนว่าทั่วโลกเป็นโรคหัดปีละกว่า 2 ล้านคน!

ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเข็มเดียวก็ป้องกันโรคหัดได้ตลอดไป เริ่มฉีดเมื่อเด็กอายุ 9 เดือนครับ
และแถมเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยอย่างมากทีเดียว

เด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันหัด 1 คนใน 3 คน อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ตัวร้อนต่ำๆ ตัวอุ่น บางรายอาจจะมีผื่นขึ้น(คล้ายหัดอย่างอ่อนๆ) หลังจากฉีดราว 4-10 วัน

แม้เด็กจะเป็นโรคขาดอาหารหรือเจ็บป่วย ก็ฉีดวัคซีนป้องกันหัดได้
ดูเอาเองก็แล้วกันว่าปลอดภัยแค่ไหน และป้องกันโรคหัดได้ดีเสียด้วยซิครับ
(รายละเอียดของวัคซีนแต่ละชนิด แต่ละอย่างจะให้เมื่อไหร่ เข็มที่เท่าไหร่ ดูรายละเอียดจากตารางคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค)

วัคซีนป้องกันหัดมีมาในรูปต่างๆ ของที่รัฐบาลหรือหลวงจัดให้กับประชาชนฟรี
เป็นวัคซีนป้องกันหัดอย่างเดียว

ยังมีของบริษัทยานำเข้าจากต่างประเทศที่มีรวมกับวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน(เหือด) และวัคซีนป้องกันคางทูม(ป้องกัน 3 โรคเลยก็มี)

หรือมีอย่างชนิดรวม 2 โรค เช่น หัดกับหัดเยอรมัน หรือหัดกับคางทูม แล้วแต่แพทย์จะเลือกใช้
ของดี ของฟรี ราคาถูก เอาวัคซีนป้องกันหัดอย่างเดียวก่อน

นอกเสียจากว่าฐานะทางเศรษฐกิจดีมาก จะฉีดควบป้องกันโรคอื่นด้วยก็ไม่ขัดข้อง
“ให้ภูมิคุ้มกัน เป็นโอกาสสำคัญของเด็กทุกคน”

                    คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
                                 กรมควบคุมโรคติดต่อ
         อายุ                               การให้ภูมิคุ้มกันโรค (การให้วัคซีน)
แรกเกิดถึง 1 เดือน                   1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค (บีซีจี)

2-3 เดือน                                 1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (ดีพีที) ครั้งที่ 1
                                                 2. กินวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ครั้งที่ 1

4-5 เดือน                                 1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (ดีพีที) ครั้งที่ 2
                                                 2. กินวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ครั้งที่ 2

6-7 เดือน                                 1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (ดีพีที) ครั้งที่ 3
                                                 2. กินวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ครั้งที่ 3

9-12 เดือน                               1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด

1 ปีครึ่ง-2 ปี                             1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (ดีพีที) กระตุ้น
                                                 2. กินวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ กระตุ้น

4-7 ปี                                       1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน หรือวัคซีนป้องกันโรค
                                                     คอตีบ บาดทะยัก กระตุ้น
                                                 2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค (บีซีจี) ซ้ำ
                                                 3.ฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์

11-14 ปี                                   1. ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก 
                                                      (ต่อไปฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี)
                                                  2. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์

หญิงมีครรภ์                               1. ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
 

                                             ข้อเสนอ เด็กที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย
พบแพทย์ครั้งแรก
1 เดือนหลังฉีดครั้งที่ 1
2 เดือนหลังฉีดครั้งที่ 1
4 เดือนหลังฉีดครั้งที่ 1
10-16 เดือนหลังฉีดครั้งสุดท้าย
วัยก่อนเข้าโรงเรียน (4-6 ขวบ)
อายุ 5-7 ขวบ
อายุ 14-16 ปี
ฉีดวัคซีนดีทีพี บีซีจี  กินวัคซีนโปลีโอ
ฉีดวัคซีนหัด (หรือวัคซีนหัด,หัดเยอรมัน,คางทูม)
ฉีดวัคซีนดีทีพี กินวัคซีนโปลีโอ
ฉีดวัคซีนดีทีพี กินวัคซีนโปลีโอ
ฉีดวัคซีนดีทีพี กินวัคซีนโปลีโอ
ฉีดวัคซีนดีทีพี กินวัคซีนโปลีโอ
ฉีดวัคซีนบีซีจี
ฉีดวัคซีนทีดี (สำหรับผู้ใหญ่) ให้ซ้ำทุก 10 ปี 
ครั้งที่ 1

ครั้งที่ 2
ครั้งที่ 3
ครั้งที่ 4
ครั้งที่ 5
ครั้งที่ 2 
 

                                        โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยวิธีให้ภูมิคุ้มกัน

                                  

ปัญหาที่พบทั่วไปในเรื่องการให้วัคซีน
นายแพทย์สวัสดิ์ รามบุตร

กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

“ปัญหาที่พบคือ ประชาชนมารับวัคซีนไม่ครบทุกครั้ง ปัญหาพื้นๆคือเขาไม่ทราบ ไม่เข้าใจว่า วัคซีนนี้ใช้ป้องกันอะไรบ้าง จะต้องรับกี่ครั้ง มารับเมื่อไร ไปรับที่ไหน วัคซีนบางชนิด ต้องมารับครั้งที่ 2, 3 บางทีคนมารับบริการมากๆเจ้าหน้าที่อาจอธิบายไม่ทั่วถึง แม้แต่เขียนบัตรนัดหมายแล้วบางทีก็ไม่ได้อ่านกัน อันนี้เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร

บางทีลูกเขาอยู่ดีๆ แต่เมื่อมาฉีดวัคซีนแล้วมีไข้ อันนี้เจ้าหน้าที่ต้องชี้แจงเขาว่า เมื่อฉีดแล้วมีไข้นิดหน่อยแล้วจะหายไป ถ้าบอกเขาล่วงหน้าเขาก็จะสบายใจ อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่ง

ปัญหาการมาไม่สะดวก อยู่ห่างไกล วันที่ต้องมาฉีด แต่เขาไม่ว่างพาลูกมา

การที่มีประชากรเคลื่อนที่มาก การที่คนต่างจังหวัดมาอยู่กรุงเทพฯและไม่ได้รับวัคซีนแล้วมาป่วยเป็นโรคอยู่ในกรุงเทพฯก็มี

ขณะนี้เราอยู่ในระยะเร่งรัดแผนงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวถึง ต้องรณรงค์การให้ความรู้ พยายามจะเผยแพร่ทุกอย่างโดยเฉพาะร่วมมือกับสื่อมวลชน

ในระยะอันใกล้นี้โอกาส 5 ธันวามหาราช เราก็จะมีการรณรงค์กันอีกเพื่อที่จะให้ประชาชนได้เข้าใจและก็มารับวัคซีน”

ที่มาของการรณรงค์สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ

หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

“คืนวันอนามัยโลก (7 เมษายนที่ผ่านไปนี้) องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าเอาไว้ให้เป็นปีรณรงค์ในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก เพื่อกระตุ้นเตือนเจ้าหน้าที่ของรัฐและกระตุ้นประชาชนเองด้วย

เรื่องเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคนี้ อันที่จริงองค์การอนามัยโลกได้ทำการรณรงค์มากกว่าสิบปีมาแล้ว โดยได้พยายามเร่งเร้าให้ประเทศสมาชิก ได้ดำเนินการขยายขอบข่ายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่เด็กให้ทั่วถึงไม่ว่าจะอยู่ในเขตเมือง หรืออยู่ในชนบท หรืออยู่ในชุมชนในชนบท โครงการนี้ได้ชื่อย่อๆว่า อีพีไอ (EPI) ซึ่งย่อมาจากคำว่า Expanded Programme for Immunization สำหรับประเทศไทยเรานั้นเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2520

จากการที่หลายประเทศดำเนินการต่ำกว่าเป้าหมาย องค์การอนามัยโลกซึ่งตั้งความหวังเอาไว้ว่าประชาชนโลกจะต้องมีสุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2543 หรือ “Health For All By The Year 2000” เห็นทีจะไปไม่รอดถ้ายังอืดเป็นเรือเกลือกันอยู่ ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องมีโครงการเร่งรัดเข้ามาอีก โดยเรียกว่า เออีพีไอ (AEPI = Accelleration Expanded Programme for Immunization) คือจะต้องเร่งให้ประชากรเป้าหมายได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันถ้วนทั่วหน้า ในปีพ.ศ.2533 ซึ่งประเทศไทยเราก็รับว่าจะร่วมมือดำเนินการตามที่องค์การอนามัยโลกได้ขอเอาไว้

ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ว่านั้นคือบุคคลต่อไปนี้
1. เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
2. เด็กวัยเรียน
3. หญิงมีครรภ์

โรคที่ต้องการป้องกันเพื่อมิให้เกิดความเจ็บป่วยทุกขเวทนานั้น ได้แก่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด วัณโรค”

การลงทุนเรื่องฉีดวัคซีนคุ้มหรือไม่
แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์

เลขาธิการสมาคมกุมารแพทย์ แห่งประเทศไทย

“ถ้าเราเทียบราคาวัคซีนกับค่ารักษาพยาบาลแล้ว เมื่อเจ็บป่วยเราต้องใช้เงินทองมากมายรักษา เอาง่ายๆ คอตีบเราเคยประมาณเด็กที่มาเจ็บด้วยคอตีบ 1 ราย (เมื่อ 10ปีที่แล้ว) ค่ารักษาเราคิดราคาต้นทุน ยาก็ราคาตั้งแต่โรงงาน ไม่คิดเงินเดือนหมอ เงินเดือนพยาบาล รายหนึ่งต้องใช้ค่ารักษาประมาณ 4,000 บาท

สมมติว่าปีหนึ่งเรามีคนไข้สูงถึง 100 ราย ก็คิดดูว่าจะสูญเสียเท่าไร อันนี้หมายถึงรายที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ถ้าเกิดมีโรคแทรกซ้อน เช่นเกี่ยวกับหัวใจ ค่ารักษาจะต้องเป็นหมื่นเลย เพราะต้องคอยติดตามเฝ้าระวังดูว่าหัวใจเขาเป็นอะไรบ้าง

เราก็ต้องมาเปรียบเทียบกันระหว่างราคาวัคซีนกับค่ารักษา เราจะเลือกอย่างไหน เพราะเงินหมื่นนี่เราฉีดวัคซีนได้ตั้งเท่าไหร่ ค่าวัคซีน 1 เข็ม 5 บาท 3 อย่าง คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ถ้าเรายอมทุ่มลงทุนให้มากที่สุดเรื่องวัคซีน เราก็จะลดจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้ อีกอย่างเราคิดลำบากคือ ชีวิตคน เราจะคิดได้อย่างไรว่าคนหนึ่งจะมีราคา คุณค่าเท่าไร มันเรียกว่าคุณค่าของคนซื้อด้วยเงินไม่ได้ การที่ต้องเสียชีวิต พิการ ทรมาน และเสียเงินเสียทองมันไม่คุ้มเลย”

วัคซีน 6 โรค อันไหนที่สามารถรณรงค์ได้รวดเร็วและได้ผล
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ใน 6 โรคนั้น ทุกโรคสำคัญพอๆกัน แต่ถ้าพูดถึงในปัจจุบัน ส่วนตัวอยากจะให้สนใจเรื่องของโรคหัด หัดเป็นเรื่องที่เราสามารถจะรณรงค์ได้รวดเร็ว เพราะว่าวัคซีนหัดฉีดครั้งเดียวก็สามารถมีภูมิต้านทานได้ตลอดไป และก็ฉีดตอนเด็กเล็กๆ ซึ่งพ่อแม่ก็ยังให้ความดูแลเอาใจใส่เด็กได้ดี เรายังพบว่าวัคซีนอื่นๆต้องซ้ำแล้วซ้ำอีก พ่อแม่มีโอกาสลืมได้ง่าย

เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อฉีดวัคซีนหัดครั้งเดียวแล้วมีภูมิต้านทานนาน เราแน่ใจว่าเราสามารถขจัดโรคหัดไปได้ ถ้าเผื่อว่าเรามาช่วยกันรณรงค์จริงๆจังๆในอนาคต แต่ว่าคงจะต้องใช้เวลา แม้แต่ในประเทศที่เขาทำไปหลายๆสิบปี เช่น ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันก็ยังมีโรคหัดอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็จะเห็นได้เลยว่า โรคแทรกซ้อนจากโรคหัด ซึ่งเกิดจากการมีโรคหัดมากมันหายไป เวลาเรามีผู้ป่วยโรคหัดน้อย จะมีโรคแทรกซ้อนน้อยลงไปด้วย ”

การให้วัคซีนในกทม.และอุปสรรค
เรือโทนายแพทย์โกวิท วงศ์พานิช

ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร

“การให้วัคซีนคุ้มกันโรคโยเฉพาะในเด็ก เราดำเนินการมานานแล้ว มีอยู่ 6 โรคด้วยกันที่เป็นวัคซีนพื้นฐานที่จะต้องให้แก่เด็กอายุตั้งแต่แรกเกิด

ถ้าจะดูตัวเลขจากการสำรวจครั้งสุดท้าย มีการให้วัคซีนบีซีจี 98% ดีพีทีได้ครบ 3 เข็ม 86% โอพีวี (โปลิโอ) ได้ใกล้เคียงกับดีพีที ส่วนหัดได้น้อย เพราะว่าเราเริ่มต้นทำเมื่อปีที่แล้ว ประมาณ 40-45% แต่คิดว่าปีนี้จะได้สูงขึ้น

อุปสรรคที่มีคือ คนไข้ไม่สามารถติดตามได้ บางทีบอกบ้านเลขที่คลาดเคลื่อน ติดต่อไม่ได้ บางทีเป็นชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ฉีดเข็มแรกให้เด็กแล้วก็ย้ายไปแล้ว ทำให้ลำบากในการที่จะให้เด็กได้รับวัคซีนครบจำนวน แต่เราก็พยายามติดตาม ส่วนชุมชนที่อยู่คงที่ปัญหาไม่ค่อยมี เพราะเรามีคนเข้าไปหา

การรณรงค์ต่อไปเราจะให้ความรู้เด็กนักเรียน โดยให้ไปบอกพ่อแม่และสอนตัวเองด้วย จะได้รู้ว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ”

9 คำถามเกี่ยวกับวัคซีน
1. มีวัคซีนป้องกันโรคอื่นอีกไหม
มีครับ ที่กล่าวถึงไปบ้างแล้ว เช่น วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน คางทูม บ้านเรายังมีวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากเชื้อไวรัส-บี ไข้สมองอักเสบแจแปนนิส-บี จำหน่ายด้วยแล้ว

วัคซีนอหิวาต์และไทฟอยด์มีใช้มานานแล้ว แต่ไม่นิยมเท่าไหร่

ส่วนวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามีหลายยี่ห้อและมีข้อบ่งใช้เป็นรายๆไป

ในต่างประเทศมีวัคซีนป้องกันโรคต่างๆอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ไข้เหลือง โรคติดเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี โรคติดเชื้อเมนิงโกคอกคัส ไข้หวัดใหญ่(อินฟลูเอนซา) วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซินไซเตียล ฯลฯ

ที่กำลังคิดค้นกันอยู่ก็มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ที่กำลังทดลองมีวัคซีนป้องกันมาลาเรีย
อีกไม่นานเกินรอมนุษย์ก็จะได้ใช้วัคซีนเหล่านั้น
และอีกไม่ช้าคงจะมีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์

2. มีข้อห้ามไม่ให้ฉีดวัคซีนหรือไม่

แทบจะไม่มีหรือมีน้อยมาก เช่น กรณีที่มีไข้สูงหรือทำท่าว่าจะเป็นไข้หรือเจ็บป่วยอย่างอื่นอยู่แล้ว
บางรายที่เคยฉีดวัคซีนแล้วชัก เช่น ในกรณีที่ฉีดวัคซีนดีพีที ต้องบอกให้แพทย์ทราบ คราวต่อไปจะได้ไม่ต้องฉีดวัคซีนชนิดที่มีไอกรนอยู่ด้วย คือตัดพีทิ้ง ให้แต่วัคซีนดีที ป้องกันแต่คอตีบและบาดทะยักเท่านั้น

เป็นไข้หวัดเล็กๆน้อยๆหรือน้ำมูกไหลนิดหน่อยพาลูกไปฉีดวัคซีนได้

3. จะพาลูกหลานไปฉีดวัคซีนที่ไหน
คงจะพอทราบแล้วกระมัง เช่น สุขศาลา สถานีอนามัย สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน คลินิกเอกชน สำนักงานแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ (ทั่วประเทศ)

4. ค่าฉีดวัคซีนราคาแพงไหม

ถ้าเป็นของรัฐ ท่านไม่ต้องเสียค่าวัคซีนเลย อาจจะเสียเวลา เสียค่ารถ ค่าเดินทางไปรับบริการเหล่านั้น(สำหรับวัคซีน 6 โรคที่กล่าวแล้ว ฟรีครับ)
(แต่วัคซีนบางชนิดก็แพงมากทีเดียว เช่น วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ-บี และวัคซีนพิษสุนัขบ้าบางยี่ห้อ)

บางหมู่บ้าน บางตำบล อาจจะมีนางพยาบาล ผดุงครรภ์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำวัคซีนไปบริการให้ถึงบ้านก็ยิ่งไม่ต้องเสียอะไรเลย

ถ้าไปตามคลินิกแพทย์ โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเอกชน ก็อาจจะแพงหน่อย ก็ลองสอบถามกันเอาเองก็แล้วกัน

5. ยังสงสัยอยู่ว่า ฉีดๆหยุดๆ ยังไม่ครบจะทำอย่างไร
คำตอบง่ายนิดเดียว ก็พาลูกไปฉีดต่อให้ครบ โดยไม่ต้องพะวงว่าจะต้องเริ่มตั้งต้นกันใหม่
ฉีดต่อไปได้เลยครับ และฉีดเป็นระยะตามแพทย์สั่งให้ครบก็แล้วกัน

6. จะฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก พร้อมกับวัคซีนป้องกันหัดได้หรือไม่

ไม่มีข้อห้ามอะไร หากมีความจำเป็นไปหาหมอลำบาก อาจจะฉีดพร้อมกันเลยก็ได้ เช่น เด็กอายุ 9 เดือน มาหาหมอครั้งแรกอาจจะให้วัคซีนดังกล่าวพร้อมกันไปเลยเพื่อไม่ให้เสียเวลาและได้ภูมิต้านทานป้องกันโรคได้ด้วย

7. ลูกหลานไม่เคยฉีดหรือกินวัคซีนเลยจะให้ทำอย่างไร
พาลูกหลานไปสถานบริการทางการแพทย์ดังกล่าวแล้ว แพทย์หรือพยาบาลจะกำหนดการฉีดวัคซีนให้ลูกหลานเป็นระยะๆครบถ้วนได้ ว่าเมื่อไหร่จะให้วัคซีนชนิดใด
อย่าลืมมาตามนัดก็แล้วกัน!

8. ทำไมวัคซีนบางตัวต้องฉีดหลายเข็ม หรือมีการฉีดกระตุ้นด้วย
อย่างที่ทราบแต่ต้นแล้วว่า วัคซีนไปทำให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนั้น
วัคซีนแต่ละชนิดให้ปริมาณภูมิต้านทาน(แอนติบอดี)ต่างกัน ปริมาณอาจจะลดลงต่ำไม่พอต้านทานเชื้อโรคได้ ก็ต้องฉีดซ้ำหรือกินซ้ำเพื่อไปกระตุ้น(เตือน)ให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น
บางชนิดให้ครั้งเดียวก็คุ้มไปได้ตลอดชีวิต บางชนิดต้องให้ซ้ำทุก 10 ปีก็มี

9. จะทำอย่างไรลูกจะปลอดภัยจากโรคติดเชื้อ

มีกฎง่ายๆเพื่อสุขภาพของเด็กหรือลูกหลานของท่านดังนี้

ข้อที่ 1
พาลูกหลาน เด็ก ไปพบแพทย์หรือพยาบาลตามศูนย์อนามัยหรือสถานบริการสาธารณสุข เพื่อตรวจร่างกายตามนัด เพราะ แพทย์หรือพยาบาลหรือผู้รู้จะแนะนำเรื่องสุขภาพและจัดการฉีดวัคซีนให้เหมาะสมได้

ข้อที่ 2
นำเด็กๆหรือลูกหลานให้ห่างจากคนเจ็บไข้ เพราะ เด็กอาจจะสูดหายใจเอาเชื้อโรคที่คนไข้ คนเจ็บไอหรือจามออกในอากาศ

ที่น่ากลัวอีกอย่างคือ บริเวณศูนย์การค้า ที่มีเด็กเล่นหนาแน่นและในช่วงที่เด็กเป็นหวัด ไข้ หรือไอมากๆไม่ดี หรือที่สาธารณะที่เบียดเสียดยัดเยียดกันอยู่

ข้อที่ 3
สอนลูก สอนหลานๆ สอนเด็กๆ ให้ล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำหรือใช้ส้วม และล้างมือก่อนกินอาหาร เพราะ เชื้อโรคบางตัวเข้าสู่ร่างกายโดยติดทางมือ เข้าสู่ปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากินอาหารควรใช้ช้อนกลาง ดื่มน้ำ ใช้แก้วร่วมกันอันตรายมาก

ข้อที่ 4
พยายามดูให้แน่ใจว่าสระน้ำที่ลูกท่านว่ายเล่น น้ำที่ลูกหลานท่านดื่มกิน อาหารที่กิน ปลอดภัยจริงๆ เพราะ เชื้อโรคบางชนิดปนเปื้อนมากับอาหาร และผสมปนเปอยู่ในน้ำก็มิใช่น้อย

ข้อที่ 5
ให้ความร่วมมือกับแพทย์และพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตลอดจนบริการทางการแพทย์จากโรงเรียนหรือชุมชน เพราะ โครงการด้านสาธารณสุขต่างๆมีไว้เพื่อช่วยป้องกันสุขภาพของคุณ บุตรหลาน เด็กๆของท่าน ไม่แต่เท่านั้นยังช่วยให้ทุกคนในชุมชนปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บและมีสุขภาพดีด้วย

ข้อที่ 6
อย่าลืมตรวจเช็กสมุดสุขภาพของลูกหลานหรือเด็กๆว่าได้รับครบถ้วนหรือไม่ เพราะ เพื่อความปลอดภัยจากโรคร้าย ซึ่งสามารถป้องกันได้ ด้วยราคาที่ไม่แพงเลย
กันไว้ดีกว่าแก้มิใช่หรือ

โดยสรุป วัคซีนช่วยลดภัยอันตราย ความตายและความพิการจากโรคติดเชื้อชนิดต่างๆได้เป็นอย่างมาก
ที่เห็นได้อย่างรูปธรรมชัดเจน คือมนุษย์โลกสามารถกำจัดไข้ทรพิษหรือฝีดาษ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะทั่วทุกประเทศปลูกฝีกันอย่างจริงจัง

ประเทศที่พัฒนาแล้ว การให้วัคซีนแก่เด็กถือเป็นเรื่องปกติวิสัย โรคภัยต่างๆ เช่น หัด โปลิโอ คอตีบ และไอกรน แทบจะหาไม่ได้เลย

ในประเทศที่กำลังพัฒนาที่ได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนกันเป็นเรื่องเป็นราวใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลที่ได้รับคือ โรคติดเชื้อต่างๆลดลงอย่างมาก สามารถป้องกันไม่ให้เด็กตายจากโรคเหล่านี้นับได้ปีละเกือบล้านคน

ประเทศไทยของเราดำเนินตามนโยบายขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟให้ฉีดวัคซีนแก่ประชากรเด็กๆของเราอย่างขะมักเขม้น โดยเฉพาะโรคสำคัญทั้ง 6 ที่กล่าวแล้วเป็นเป้าหมายหลักที่จะพยายามขจัด

หากพวกเราช่วยกัน ตื่นตัว ไม่หลงผิด ศรัทธาในวัคซีน ป้องกันโรคภัยได้แน่ๆ
ลูกหลานของเราก็ปลอดภัยไม่พิการหรือตายจากโรคเหล่านั้น
คุณภาพชีวิตของเด็กไทยคงไม่นานเกินรอ
คำถามสุดท้ายที่ผู้เขียนใคร่ขอร้อง
ท่านละ พาลูกไปฉีดวัคซีนให้ครบแล้วหรือยัง
 

ข้อมูลสื่อ

101-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
โรคน่ารู้
นพ.อำนาจ บาลี