• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลของการเคี้ยวหมาก

ผลของการเคี้ยวหมาก

ใครก็ตามที่เป็นโรคนี้จนถึงขั้นที่สามารถคลำได้แผ่นพังผืดด้านๆ ที่ใดที่หนึ่งในช่องปากแล้วล่ะก็ จงรู้ไว้เถอะว่า เขาผู้นั้นจะไม่มีวันหายขาดจากโรคนี้ ซ้ำยังจะต้องทนทุกข์มากขึ้น เพราะโรคจะลุกลามต่อไปเรื่อยๆ ถึงขนาดอ้าปากกินอาหารไม่ได้เลยทีเดียว

แม้ว่าค่านิยมของการเคี้ยวหมากนับวันจะน้อยลงทุกทีในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นต้น แต่ในท้องถิ่นชนบท และในกลุ่มผู้สูงอายุยังปรากฏมีผู้ที่นิยมเคี้ยวหมากอยู่ไม่น้อย

อาการผิดปกติประการหนึ่งที่อาจปรากฏในคนที่นิยมเคี้ยวหมากเป็นประจำ คือ อาการแสบร้อนในปากเวลากินอาหารรสเผ็ด รอยฝ้าขาวบนเพดานปาก กระพุ้งแก้ม และริมฝีปาก ตุ่มพอง และแผลในปาก อาการน้ำลายมากผิดปกติ หรือในทางตรงข้าม อาจมีอาการปากแห้ง ลักษณะอาการผิดปกติที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ อาการแสดงของโรคพังผืด (ใต้เยื่อบุผิว) ของช่องปาก (submucous fibrosis)

ใครก็ตามที่เป็นโรคนี้จนถึงขั้นที่สามารถคลำได้แผ่นพังผืดด้านๆ ที่ใดที่หนึ่งในช่องปากแล้วล่ะก็ จงรู้ไว้เถอะว่า เขาผู้นั้นจะไม่มีวันหายขาดจากโรคนี้ ซ้ำยังจะต้องทนทุกข์มากขึ้น เพราะโรคจะลุกลามต่อไปเรื่อยๆ ถึงขนาดอ้าปากกินอาหารไม่ได้เลยทีเดียว อย่างเช่นที่ปรากฏรายงานผู้ป่วยจากประเทศแอฟริกาใต้

รายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งในประเทศอินเดียกล่าวว่า โรคชนิดนี้กับพฤติกรรม (นิสัย) เคี้ยวหมากมีความเกี่ยวดองกันอย่างมาก กล่าวคือ โอกาสพบโรคนี้ในคนที่มีนิสัยชอบเคี้ยวหมากมีมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่เคี้ยวหมาก เขารายงานว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่เคี้ยวหมากจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากถึง 13 เท่า และยิ่งอายุมาก โอกาสเสี่ยงยิ่งมาก รายงานนี้ระบุว่า ในคนเคี้ยวหมากที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้ถึง 3 ใน 10 คน

เมื่อพูดถึงอันตรายของการเคี้ยวหมากอย่างกรณีที่กล่าวมานี้ ก็ทำให้นึกขอบคุณ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นผู้ออกกฎบังคับไม่ให้คนไทยเคี้ยวหมากและบ้วนน้ำหมากในที่สาธารณะ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสมัยนั้นเลิกเคี้ยวหมาก และมีผลต่อเนื่องมายังคนรุ่นหลังในปัจจุบัน นับว่ามาตรการของท่านช่วยป้องกันโรคพังผืดของช่องปาก รวมทั้งโรคมะเร็งของช่องปากได้ไม่น้อย

นี่แหละคือ ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับสุขภาพ

(จาก Seedat HA, Van Wyk CW. Betelnut chewing and submucous fibrosis in Durban. S AFR Med J 1988;74:568-71) 

ข้อมูลสื่อ

129-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533