• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาจะใช้อย่างไรดี

ยาจะใช้อย่างไรดี


เมื่อท่านไปหาหมอที่โรงพยาบาล
หรือคลินิกเอกชนต่าง ๆ อันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บของตัวท่านเอง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งขาดไม่ค่อยได้ ก็คือการได้รับยามารักษาต่อที่บ้าน ทีนี้เมื่อมาถึงบ้านแล้ว ท่านจะต้องทำอย่างไร จึงจะได้รับผลจากการใช้ยานั้นมากที่สุดเพื่อประโยชน์ในการรักษา
ขั้นแรกก็คือท่านจะต้องอ่านที่ซองหรือที่ฉลากที่ติดมากับยาแต่ละชนิดว่าเป็นยาที่ใช้อย่างไร ซึ่งการใช้ยากับร่างกายนั้นโดยทั่วไปแล้ว แบ่งออกเป็นพวกใหญ่ๆ ได้ 6 พวกคือ
1. ยาที่ใช้กิน
อาจจะมีทั้งยาเม็ดและยาน้ำ ส่วนมากมักจะใช้ยาที่ถูกดูดซึมได้ดีทางกระเพาะอาหารและลำไส้ วิธีกินมี 2 อย่างคือ

กินก่อนอาหาร พวกนี้ควรกินก่อนอาหาร 1/2 ชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมง ทั้งนี้เพราะยาจะถูกดูดซึมที่กระเพาะอาหารได้ดีเมื่อกระเพาะว่าง และอีกอย่างคือ ยาพวกนี้ถูกทำลายได้โดยกรดในกระเพาะอาหาร จึงต้องกินก่อนอาหาร เพราะว่า สภาวะกรดในกระเพาะอาหารก่อนกินอาหารจะมีน้อยกว่าหลังกินอาหารแล้ว ยาพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นยาปฏิชีวนะ (ยกเว้น ยาบางตัวที่ระคายเคืองกระเพาะทำให้คลื่นไส้อาเจียน อาจกินหลังอาหารได้ เช่น เตตร้าซัยคลีน)

กินหลังอาหาร
ประเภทกินหลังอาหารทันที เนื่องจากมันระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร หรือพูดง่าย ๆ ว่ามัน
กัดกระเพาะ เพราฉะนั้นจะต้องกินตอนกระเพาะยังมีอาหารอยู่จึงจะทำให้การระคายเคืองน้อยลง ยาพวกนี้ได้แก่พวกยาแก้ปวดซึ่งส่วนใหญ่มีฤทธิ์เป็นกรด (เช่นพวกแอสไพริน) หรือไปเร่งให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อย (เช่นพวกที่ผสมเพร็ดนิโซโลน)
ประเภทกินหลังอาหารนานอย่างน้อย 15-30 นาที ยาที่กินหลังอาหารส่วนใหญ่เป็นยาทั่วๆไปปกติกินหลังอาหารประมาณ 15-30 นาที เพื่อประโยชน์ในการดูดซึมเข้ากระแสเลือดร่วมกับอาหารในลำไส้เล็ก

นอกจากนี้ ยาเม็ดบางชนิด จะเขียนบอกไว้ว่า “เคี้ยวละเอียดก่อนกลืนยา” ก็ควรจะเคี้ยวเม็ดยานั้นในปากให้ละเอียดก่อนเพื่อต้องการให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็ว ส่วนมากจะเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร การเคี้ยวจะทำให้ยากลายเป็นผงเล็กๆ ลงไปเคลือบที่กระเพาะ และถูกดูดซึมได้ดีขึ้น ยาลดกรดแก้โรคกระเพาะนี้ต้องกินระหว่างมื้อ (ก่อนหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง)
ถ้าเป็นยาน้ำ ก็ควรจะเขย่าขวดก่อนรินยากินทุกครั้ง เพราะว่ายาบางชนิดเป็นยาแขวนตะกอน ซึ่งมีผงยากระจายอยู่ในน้ำ ถ้าตั้งทิ้งไว้ผงยาจะตกตะกอนอยู่ที่ก้นขวด ถ้าไม่เขย่าจวดก่อนรินยา จะทำให้เรารินเอาแต่ส่วนน้ำเปล่า ๆ มากิน จะไม่มีผลทางการรักษา

นอกจากนี้ยังมียาน้ำบางชนิดที่มีลักษณะเป็นผงในขวด แล้วให้เติมน้ำผสมเอง ส่วนใหญ่จะเป็นยาฆ่าเชื้อโรคที่เสียสภาพได้ง่ายเมื่อใส่น้ำทิ้งไว้ เพราะฉะนั้นโรงงานยาจะทำยาออกมาในรูปยาผงแห้งแล้วผสมน้ำที่หลัง ต้องผสมน้ำเย็นที่สะอาด (ถ้าเป็นน้ำต้มสุก ควรทิ้งไว้ให้เย็นก่อน) ถึงขีดที่กำหนดให้ แล้วเขย่าขวดให้ยาเข้ากันดี ยานี้ต้มน้ำแล้วจะมีอายุได้แค่ 7 วัน (ถ้าเก็บใส่ตู้เย็น จะใช้ได้นาน 14 วัน) หลังจากนั้นก็จะไม่มีฤทธิ์ในการรักษาอีกต่อไป
พอรู้ว่าจะต้องกินยาตอนไหนแล้ว ก็ต้องดูว่ากินวันละกี่ครั้งด้วยเช่น กินวันละ 3 เวลา หลังอาหาร ก็ต้องกินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร, เช้า-กลางวัน-เย็น ยังกินวันละ 2 เวลา หลังอาหาร ก็ต้องกินวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-เย็น ถ้ากินก่อนนอนก็ต้องกินก่อนเข้านอนตอนกลางคืน

การกำหนดเวลากินยานี้ก็เพื่อให้ยาดูดซึมได้ดี ลดอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ และให้ยาออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้เหมาะสม กล่าวคือ ให้ระยะยาในกระแสเลือดมีปริมาณมากพออยู่ตลอดเวลา โดยไม่เกิดพิษจากยามากเกินไปและยาไม่น้อยเกินไปที่จะรักษาโรคได้
ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการใช้ยาคือ ต้องใช้ให้ครบระยะเวลาให้กินยาเท่าที่หมอสั่ง แม้ว่าอาการจะหาย ยายังเหลืออยู่ ก็ต้องกินต่อไปโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ควรใช้อย่างน้อย 7-10 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยาเกิดโรคกลับมาภายหลัง

2. ยาที่ใช้เฉพาะภายนอก พวกนี้จะกินไม่ได้ จะเขียนปิดฉลากด้วยฉลากสีแดง ส่วนมากเป็นยาทาตามผิวหนัง ถ้าเป็นขี้ผึ้งให้ทาบาง ๆ ตรงบริเวณที่เป็นเท่านั้น ไม่ต้องถูนวดเพราะจะทำให้แผลลุกลามยิ่งขึ้น ถ้าเป็นยาน้ำก็ต้องเขย่าขวดก่อนรินยาใช้ ถ้าเป็นน้ำใส ไม่มีตะกอนให้ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบบริเวณที่เป็น ถ้าเป็นยาอมบ้วนปาก ก็อมหลังกินอาหารแล้วบ้วนทิ้งห้ามกลืนลงไป

3. ยาเหน็บช่องคลอดหรือทวารหนัก ส่วนมากจะมีรูปร่าง เป็นแท่ง ๆ จะต้องอ่านดูให้ดีว่าเป็นยาสอดช่องคลอด(เฉพาะในผู้หญิง) หรือใช้เหน็บก้น(ทวารหนัก) ซึ่งมีทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ยาพวกนี้ต้องเก็บไว้ในที่เย็น (ถ้ามีตู้เย็นก็ใส่ในตู้เย็น) หรือที่แดดส่องไม่ถึง เพราะยาจะได้คงรูปอยู่ได้ไม่ละลาย ถ้ามีกระดาษตะกั่วหุ้มยาไว้ ก็ต้องแกะทิ้งเอาแต่แท่งยาสอดเข้าไปให้ลึกมากที่สุดเท่าที่จะลึกได้ และต้องอ่านใบสั่งยาหรือฉลากยาอย่างละเอียดว่าหมอสั่งให้สอดตอนไหน ส่วนมากแล้ว จะใช้สอดครั้งละ 1 ถึง 2 แท่ง ก่อนนอน เมื่อสอดแล้วไม่ต้องเอาออก ตัวยาจะละลายไปเองจนหมดแท่ง

4. ยาอมใต้ลิ้น ส่วนมากจะเป็นพวกยาที่ต้องการให้ออกฤทธิ์เร็วที่สุด ได้แก่ยารักษาโรคหัวใจ วิธีใช้คือ กระดกลิ้นขึ้นแล้ววางยาไว้ใต้ลิ้น ยาจะละลายและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น แล้วกลืนน้ำลายได้ไม่ต้องบ้วนทิ้ง

5. ยาพ่นจมูก หรือหยอดจมูก ส่วนมากจะมีที่กดให้ตัวยาออกมาได้ทันที ใช้สอดหัวพ่นหรือใช้หลอดหยดเข้าไปในรูจมูก พ่นยาหรือหยอดยาออกมาจำนวนเล็กน้อยเพียงพอที่จะบรรเทาอาการต่างๆ ได้เท่านั้น

6. ยาหยอดตาหรือยาหยอดหู ส่วนมากจะมีที่หยอดมาให้ เมื่อเปิดใช้แล้วเป็นเวลาเกิน1 เดือน ควรเลิกใช้ยานั้น ไม่ควรนำมาใช้อีก เพราะยาจะไม่สะอาดและจะสลายตัวแล้ว การหยอดควรหยอดเฉพาะข้างที่เป็นเท่านั้น นอกจากบ้างคนเป็นทั้ง 2 ข้าง จึงต้องหยอดทั้ง 2 ข้าง

จะเห็นได้ว่า ถ้าเราอ่านวิธีใช้ยาที่ฉลากยาทุกครั้งก่อนใช้ และทำตามอย่างถูกต้องจะทำให้ผลการรักษาดีขึ้น และอย่าลืมว่าเมื่อท่านใช้ยาแล้วต้องปิดภาชนะใส่ยานั้นให้สนิท ทุกครั้งหลังจากที่ใช้เสร็จ

 

ข้อมูลสื่อ

24-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 24
เมษายน 2524
ยาน่าใช้
ภก.เชาวรัตน์ มั่นพรหม