• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเรื่อง โอ่งน้ำฝน

ขณะนี้เป็นฤดูฝน ท่านที่มีภาชนะเก็บน้ำฝนไม่ว่าจะเป็นแท๊งก์น้ำ โอ่งน้ำขนาดต่างๆ ท่านเตรียมตัวพร้อมหรือยังที่จะเก็บน้ำฝน

ถ้ายัง ท่านควรจะเตรียมอะไรบ้างก่อนที่ฝนจะเริ่มตกชุก
ขณะที่ท่านรอหลังคาให้สะอาด ควรจะเตรียมล้างโอ่ง แท๊งก์ ให้เสร็จเสียก่อน ถ้ายังไม่มีก๊อก ไม่มีฝา ก็เตรียมหาเตรียมทำขึ้นมา

ฝาโอ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าก๊อก เพราะถ้ามีฝาปิดมิดชิด สามารถกันฝุ่นละออง กันยุงไปวางไข่ โดยเฉพาะยุงลาย ซึ่งทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกระบาด

ฝาท่านจะทำเองก็ได้ โดยใช้ปูนซีเมนต์ฝานี้มีแต่ข้อดี กล่าวคือ ทำได้เอง ราคาถูก คงทน เนื่องจากปีหนึ่งๆเราเปิดปิดไม่กี่ครั้ง เสียแต่ว่าหนักไปหน่อย แต่ที่หนักก็เป็นเรื่องดีอยู่ในตัวคือ ลูกของท่านเปิดเล่นไม่ได้ ป้องกันไม่ให้เด็กซุกซนเปิดแล้วหล่นลงไป อาจทำให้เสียชีวิตได้

อีกประการหนึ่ง ในชนบทลมแรง ฝาที่ทำด้วยปูนจะไม่ถูกลมพัดหนีไปไหน เหมือนกับฝาอะลูมิเนียม หรือถ้าหากท่านยังไม่พร้อมท่านอาจจัดหาฝาชั่วคราวมาใช้ก่อนคือพลาสติกขนาด 1 เมตร ผูกด้วยเชือกหรือปอกล้วยก็ได้ วิธีนี้ช่วยได้มาก กันได้ทั้งฝุ่นละออง และพวกหนอนไส้เดือนที่จะเข้าไปในโอ่ง

สำหรับเรื่องก๊อกน้ำ ขอเสนอให้ท่านทำก๊อกด้วยสายยางใส โดยถอดข้อต่อออกมาทำเป็นก๊อกน้ำ (ดูรูปประกอบ) ที่ข้อต่อก้นโอ่งก็ถอดออกเพื่อล้างเอาตะกอนในโอ่งออกได้

                     

ประโยชน์ที่จะได้อีกคือ สามารถมองเห็นระดับน้ำว่าท่านใช้ไปเท่าไร ส่วนที่เหลือจะพอตลอดฤดูแล้งหรือไม่ โดยไม่ต้องเปิดฝาโอ่งดู การทำก๊อกแบบนี้จะประหยัดได้มาก

มีเรื่องหนึ่งเป็นที่ถกเถียงกันคือชาวบ้านบางแห่งไม่ชอบกินน้ำฝนในโอ่ง
ตามความเข้าใจของผู้เขียนคิดว่าคงเป็นน้ำฝนเฉพาะที่แช่ในโอ่งปูนปีแรกเท่านั้น เพราะมันมีกลิ่นของปูน และมีฝ้าลอยเต็มไปหมด ทำให้กินไม่อร่อยเหมือนกินน้ำบ่อ ที่มีรสหวานตามธรรมชาติ

การแก้ปัญหานี้คงต้องใช้เวลา เมื่อโอ่งถูกแช่น้ำเป็นเวลา 1 ปีผ่านไปแล้ว ในฤดูฝนต่อมาปัญหาเรื่องกลิ่นปูน และความเป็นด่างก็จะหมดไปเอง

วิธีการที่จะช่วยให้น้ำฝนที่แช่ในโอ่งปีแรกมีกลิ่นของปูนและความเป็นด่างลดลง ซึ่งชาวบ้านเล่าสู่กันฟังคือ เอาผักบุ้งมาเลี้ยงในโอ่งที่แช่น้ำอยู่เต็มเพื่อดูดกลิ่นปูน

สำหรับการลดความเป็นด่างของน้ำเขาใช้มะขามเปียก 1-2 กิโลกรัม ผสมลงในน้ำที่แช่โอ่งนานประมาณ 2 สัปดาห์ จะช่วยได้มากเช่นกัน

เมื่อปัญหาเรื่องกลิ่นและรสหมดไป น้ำฝนจะมีรสของความอร่อยเหมือนกับน้ำบ่อ คงจะทำให้ชาวบ้านที่ว่าไม่ชอบกินน้ำฝนเปลี่ยนใจได้

น้ำฝนที่ผ่านหลังคาที่สะอาดดีแล้วและมีฝาปิดมิดชิด ยิ่งเก็บไว้นานจะทำให้เชื้อโรคที่ปะปนมาตายไปเองและสะอาดกว่าน้ำบ่อ

น้ำฝนควรเอาไว้ดื่มอย่างเดียว ถ้าอยากให้มีกินตลอดปีโดยไม่ขัดสนควรจัดหาโอ่งขนาด 2,000 ลิตร อย่างน้อย 2 ใบต่อครอบครัว

ประการสุดท้ายท่านที่มีโอ่งอยู่แล้วควรใส่น้ำฝนไว้กิน อย่าเอาไปใส่ของอย่างอื่นเพราะท่านจะเสียโอกาสได้น้ำที่สะอาดเอาไว้ให้ลูกหลานท่านกินในเวลาจำเป็น
 

ข้อมูลสื่อ

101-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
เรื่องน่ารู้
สุพงษ์ พัฒนจักร