• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลนส์สัมผัส ตอนที่ 2

ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงเลนส์สัมผัสคืออะไร มีกี่ชนิด ในตอนนี้จะกล่าวถึงประโยชน์ข้อควรปฏิบัติในการใส่เลนส์สัมผัส และข้อดี-ข้อเสียเมื่อเปรียบเทียบกับแว่นตา

ประโยชน์ของเลนส์สัมผัส
1. ใส่เพื่อการรักษา
เช่น ในรายที่ตาดำเป็นแผล บางรายเป็นแผลเรื้อรัง ทั่วไปจะใช้ยาหยอด การหยอดยาเข้าไปบางครั้งยาไหลออกมาไม่ได้อยู่ในตานานๆ
เพราะฉะนั้นจึงใช้วิธีใส่เลนส์สัมผัสแล้วใส่ยาเข้าไปเพื่อให้เลนส์สัมผัสดูดซึมยาไว้ไม่ให้ไหลออกมา แล้วค่อยๆปล่อยยาออกมา

2. ใส่เพื่อความงาม
ปกติเราจะมองเห็นว่าบางครั้งตาคนนั้นมีสีดำ คนนี้สีน้ำตาล หรือสีฟ้า ความจริงแล้วกระจกตา (cornea) ไม่มีสี คือใสเหมือนแก้ว ถ้ากระจกตาเราเห็นเป็นสีดำเมื่อไหร่ จะทำให้มองเห็นอะไรไม่ชัด สีที่เราเห็นเป็นสีดำ น้ำตาล ฟ้า หรือสีนั้น คือสีของม่านตาที่อยู่ด้านหลังกระจกตา แล้วแต่ว่าจะเป็นชนชาติไหน

ในคนไข้บางรายตาดำเป็นฝ้าขาว ทำให้กระจกตาไม่ใส ไม่แวววาวเหมือนอีกข้าง จึงไปหาหมอผ่าตัดเปลี่ยนดวงตา

จริงๆแล้วไม่ได้ผ่าตัดเปลี่ยนดวงตา แต่เปลี่ยนเฉพาะกระจกตาดำเท่านั้น โดยนำเอากระจกตาดำของผู้ที่เสียชีวิตแล้ว (แต่บริจาคดวงตาไว้) ตัดมาในขนาดเดียวกับกระจกตาดำของคนไข้ เย็บเข้ารูปเข้ารอย ถ้าไม่มีปฏิกิริยาใดๆ และส่วนอื่นๆ ของดวงตายังปกติ คนไข้สามารถมองเห็นเหมือนเดิม

บางรายกลัวว่าถ้าผ่าตัดแล้วจะไม่ปลอดภัย ปัญหานี้แก้ไขโดยการใช้เลนส์สัมผัสที่มีสีตามต้องการ ครอบลงไปบนตาข้างที่เป็นฝ้าขาว ก็จะทำให้เห็นตาดำทั้งสองข้างมีสีใกล้เคียงกัน

3. ใส่เพื่อให้เห็นชัด
มีหลายจำพวก เช่น พวกสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือว่าสำหรับคนที่ได้รับการผ่าตัดกระจก บางรายมีความจำเป็นต้องใส่เลนส์สัมผัสช่วย การใส่เลนส์สัมผัสเพื่อให้เห็นชัดเจนนี้ในบางรายมีผลพลอยได้คือให้ความสวยงามได้ด้วย

ข้อควรปฏิบัติในการใส่เลนส์สัมผัส

1. ก่อนจะใส่เลนส์สัมผัสควรได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ก่อนว่าดวงตาของท่านไม่มีโรค ซึ่งเป็นข้อห้ามสำหรับการใส่เลนส์สัมผัส
2. ถ้าใส่เลนส์สัมผัสชนิดแข็งควรจะปฏิบัติตนตามวิธีการฝึกใส่เลนส์อย่างเคร่งครัด โดยการเริ่มใส่ในระยะสั้นๆก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มเวลาขึ้นจนใส่ได้ทั้งวัน เมื่อท่านหยุดใส่เลนส์สัมผัสไปชั่วคราวและจะมาเริ่มใส่เลนส์ใหม่ก็จะต้องค่อยๆเพิ่มเวลาใส่เหมือนกับเริ่มหัดใส่
3. ถ้าใส่เลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม จะต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างดี ควรทำความสะอาดหรือต้มทุกวัน และสารละลายโปรตีนอาทิตย์ละครั้ง
4. เมื่อจะใส่หรือถอดเลนส์ทุกครั้ง จะต้องล้างมือของท่านให้สะอาดเสียก่อน
5. ควรมีแว่นสำรองไว้ใส่ในระยะที่ถอดเลนส์สัมผัส หรือวันที่ไม่สบายในดวงตา
6. ขณะใส่เลนส์ไม่ควรให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น ฝุ่น เครื่องสำอาง สเปรย์ ไอระเหยของสารเคมี
7. วันใดที่รู้สึกไม่สบายในตาหรือตาอักเสบ ควรงดใส่เลนส์สัมผัสและปรึกษาจักษุแพทย์

ข้อดีและข้อเสียของเลนส์สัมผัสเปรียบเทียบกับแว่นตา

ข้อดี
1. ทำให้ลานสายตากว้างมากขึ้น เมื่อใส่แว่นตาลานสายตาทางด้านข้างจะถูกจำกัดโดยกรอบแว่น เมื่อจะมองด้านข้างจะต้องหันหน้าไปจึงจะเห็นได้ชัด
แต่ถ้าใส่เลนส์สัมผัสจะไม่มีอะไรบัง ดังนั้นเพียงแต่เหลือบตามองก็เห็นชัดเหมือนคนปกติ
2. เลนส์สัมผัสไม่ทำให้ขนาดของภาพผิดไปจากความจริง ในกรณีที่ใส่แว่นที่มีกำลังมากๆ จะทำให้ภาพที่มองเห็นมีขนาดขยายใหญ่หรือเล็กกว่าปกติมาก
แต่ถ้าใส่เลนส์สัมผัสภาพที่เห็นจะมีขนาดใกล้เคียงของจริงมาก มีประโยชน์ในรายที่สายตาสองข้างแตกต่างกันมาก ซึ่งถ้าใส่แว่นตาจะทำให้เห็นภาพจากตาสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน ทำให้เห็นเป็นภาพซ้อน เวียนศีรษะ อาการนี้จะหายไปเมื่อใส่เลนส์สัมผัส
3. คนที่สายตาสั้นหรือเอียงมากเนื่องจากความผิดปกติของตาดำ ไม่สามารถแก้ไขให้เห็นชัดเจนได้ด้วยแว่นตาธรรมดา แต่เลนส์สัมผัสจะทำให้ความผิดปกติของตาดำลดลง ดังนั้นจึงทำให้เห็นภาพชัดเจนกว่าใช้แว่นตา
4. ช่วยเพิ่มความงามและบุคลิกภาพ โดยเฉพาะในรายที่ต้องใส่แว่นตาหนามากๆ การใส่เลนส์สัมผัสบางทีไม่มีใครรู้ว่าเราสายตาผิดปกติ
5. การเล่นกีฬาบางอย่าง การใช้เลนส์สัมผัสทำให้ความคล่องตัวมากกว่าแว่นตาธรรมดา

ข้อเสีย

1. ราคาแพงกว่าแว่นตาธรรมดา
2. อายุการใช้งานอาจสั้นกว่าแว่นตา เพราะเลนส์สัมผัสมีขนาดเล็กมากอาจหลุดหายไปได้ เมื่อหลุดไปจากตาแล้วก็หายาก ถ้าเป็นเลนส์สัมผัสชนิดนิ่มอาจฉีกขาดได้ขณะที่ใส่และถอด
3. ก่อนจะใส่จะต้องมีการฝึกจากจักษุแพทย์ผู้ชำนาญด้านเลนส์สัมผัสเสียก่อน
4. ถ้าใส่ไม่ถูกต้องจะทำให้ตาดำถลอกหรือเป็นแผลได้
5. ในวันหนึ่งๆ ใส่ไม่ได้นานเท่าแว่นตาธรรมดา ถ้าเป็นเลนส์ชนิดแข็งจะใส่ได้นาน 6-8 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเลนส์ชนิดนิ่มจะใส่ได้นานกว่านี้
6. การดูแลรักษามีความยุ่งยากโดยเฉพาะเลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม เพราะคุณสมบัติในการดูดอมน้ำไว้ในตัวของเลนส์ชนิดนี้ทำให้มีโอกาสที่จะดูดเอาสารพวกโปรตีนและเชื้อโรคเข้าไปด้วย
จึงต้องมีการทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำทุกวัน โดยวิธีการต้มหรือใช้ยาฆ่าเชื้อที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ และต้องแช่สารที่ละลายโปรตีนออกจากเลนส์อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง
7. ทำให้ความโค้งของตาดำผิดไปจากเดิมชั่วครู่ หลังจากถอดเลนส์ออก โดยเฉพาะเลนส์ชนิดแข็ง เมื่อมาใส่แว่นตาจะทำให้เห็นได้ไม่ชัดแต่อาการนี้จะเป็นชั่วครู่เท่านั้น

ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงเลนส์สัมผัสคืออะไร มีกี่ชนิด ประโยชน์และข้อเปรียบเทียบของแว่นตากับเลนส์สัมผัสแล้ว คงจะเป็นข้อสังเกตและข้อควรพิจารณาสำหรับท่านที่จะตัดสินใจในการใส่แว่นตาหรือเลนส์สัมผัส ฉบับหน้าจะว่ากันด้วยเรื่องของเลนส์สัมผัสชนิดแข็งและนิ่ม มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร รวมทั้งการดูแลรักษาเลนส์สัมผัส
 

ข้อมูลสื่อ

101-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
นพ.ชลธี สมบัติบูรณ์