• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเขือยาว ยารักษาฝีที่ดี

เมื่อเอ่ยถึงมะเขือยาว ใครๆก็ร้องอ๋อ! เพราะเป็นอาหารที่คนไทยเรานิยมกินกันตลอดปี โดยเฉพาะมะเขือยาวเผาจิ้มน้ำพริก หรือยำมะเขือยาวเผา พูดแล้วรู้สึกทำให้น้ำลายไหลเลยทีเดียว มะเขือยาวนอกจากเป็นอาหารที่อร่อยอย่างหนึ่งแล้ว ยังใช้เป็นยาได้อีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum melongena Linn วงศ์ Solanaceae

สรรพคุณ

ผล มีคุณสมบัติเย็น รสหวาน รักษาผิวหนังเป็นแผล ริดสีดวงมีเลือดออก เป็นฝีบวมแดง แก้ปวด
ดอก แก้ปวดฟัน
ราก มีคุณสมบัติเย็นมาก รสหวานเผ็ด แก้เหน็บชา แก้ปวดฟัน บิดเป็นมูกเลือดเรื้อรัง

ตำรับยา
1. เท้าเปื่อยเรื้อรัง
ใช้เปลือกผิวมะเขือยาวสีม่วงสด พอกบริเวณที่เป็นวันละ 1-2 ครั้ง ระยะแรกจะมีอาการมากขึ้น หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์จะค่อยๆหาย
2. ฝี ใช้มะเขือยาวตำให้ละเอียดใส่น้ำส้มสายชูลงไป เอาไปพอกบริเวณฝี จะลดอาการอักเสบ และแก้ปวดได้
3. ปวดส้นเท้า ใช้ต้นหรือราก หรือใบต้ม เอาน้ำล้างบริเวณที่ปวด
4. ท้องเสีย ใช้ใบประมาณ 10 ใบต้มกินน้ำ

ผลทางเภสัชวิทยา
ผล ใบ (สดหรือแห้ง) กินหรือฉีดสารที่ได้จากการสกัด สามารถลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดคนและกระต่ายทดลอง และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะด้วย แต่เคยมีการทดลองให้ชายที่มีร่างกายแข็งแรงกินผงบดทั้งต้น จำนวน 10-24 กรัม/วัน แต่ไม่สามารถยืนยันผลการทำทดลองได้
ราก สารที่สกัดจากรากมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียบางชนิด

สารเคมีที่พบ
ผล มีพวกอัลคาลอยด์ (Alkaloid) เช่น Thrigonelline, Stachydrine, Choline, Solanine เป็นต้น

ในเมล็ด
มี Solanine มากที่สุด 1.2-1.5 %

เปลือกผล
มีรงควัตถุ คือ Nasunin, Shisonin, Delphinidin -3- monoglucoside, Delphinidin -3, - 5- monoglucoside

ใบ
มี Solanine 0.002-0.03%

ทั้งต้น
มี Thrigonelline, Choline, Adenine, Imidazolylethylamine, Solasodine, Solanine, Arginineglucoside, Caffeic acid เป็นต้น

ผลมะเขือยาวมีวิตามิน เอ บี ซี และ พี ไขมัน โปรตีน น้ำตาล และเกลือแร่ต่างๆ โดยทั่วไปในมะเขือยาวผิวสีม่วงจะมีวิตามิน P ในปริมาณที่มาก

ในมะเขือยาวผิวสีม่วง 600 กรัม มีวิตามิน P มากกว่า 3,600 มิลลิกรัม วิตามิน P สามารถเพิ่มภูมิต้านทานเชื้อโรคให้กับหลอดโลหิตฝอยไม่ให้แตกง่าย ทำให้หลอดเลือดทำงานได้ตามปกติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแข็งตัว โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจโคโรนารี (Coronary) มีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือโรคลักปิดลักเปิด เป็นต้น ควรกินมะเขือยาวเป็นประจำ จะทำให้อาการโรคดังกล่าวทุเลาลงหรือหายได้

ข้อมูลสื่อ

101-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล