• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประวัติการแพทย์จีน ตอน จางจงจิ่ง

ประวัติการแพทย์จีน ตอน จางจงจิ่ง

จางจี หรืออีกชื่อหนึ่งคือ จงจิ่ง แซ่จาง เป็นชาวตงฮั่น เกิดที่เมืองเนี้ยหยาง (ปัจจุบันคือ อำเภอหนานหยาง ในมณฑลเหอหนาน) ประมาณ พ.ศ.685 ในสมัยกษัตริย์ฮั่นหลิงเขาสอบได้ตำแหน่งเซี้ยวเหลียน1 ในราว พ.ศ.711-731 และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นไถ้เส่า2 ในราว พ.ศ.739-759 ที่เมืองฉางซา จงจิ่งเป็นนักอ่านตัวฉกาจที่หาตัวจับได้ยาก เขาได้เรียนแพทย์โดยสมัครเป็นศิษย์ของจางป๋อจู่ และได้ร่ำเรียนวิชาจากอาจารย์จนหมดสิ้น

ปลายสมัยตงฮั่น (ฮั่นตะวันออก) จีนแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า เกิดสงครามระหว่างกัน ผลจากสงครามทำให้ประชาชนประสบความยากลำบากอย่างใหญ่หลวง มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น เกิดโรคภัยไข้เจ็บระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง ผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ปลดเปลื้องความทุกข์ของประชาชนจากโรคร้าย จางจงจิ่งได้รับภาระทางประวัติศาสตร์ในวงการแพทย์สมัยนั้น รวบรวมทฤษฎีและประสบการณ์ทางการแพทย์ก่อนสมัยฮั่นตะวันออก โดยอาศัยหนังสือเน่ยจิงและหนานจิง เป็นพื้นฐาน ได้เขียนหนังสือ
ซางหางจ๋าปิ้งลุ่น ขึ้นในระหว่าง พ.ศ.744-773 เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ซางหาง และจ๋าปิ้ง

เนื่องจากความยุ่งเหยิงของบ้านเมืองอันเกิดจากสงครามในปลายสมัยฮั่นตะวันออก ทำให้เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้บางส่วนขาดหายไป ต่อมาในสมัยซีจิ้น (จิ้นตะวันตก) พ.ศ.808-859 แพทย์หลวงชื่อ
หวังซุเหอ ได้ทำการรวบรวมเขียนเพิ่มเติมและจัดหมวดหมู่ใหม่ จนมีเนื้อหาที่สมบูรณ์ดังที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ หลังจากนั้นในสมัยซ่ง พ.ศ.1503-1822 หลินอี้ ได้ทำการตรวจทานความถูกต้องใหม่ และในสมัยจิน
พ.ศ.1658-1777 เฉิงอู๋จี่ ได้เป็นผู้ให้คำอรรถาธิบายเป็นคนแรก

ซางหางลุ่น เป็นหนังสือที่อธิบายถึงโรคติดต่อซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก ลักษณะของการเขียนแบ่งเป็นข้อๆ หนังสือเล่มนี้ได้รวมเอาหลักทฤษฎี วิธีการ ตำรับยา และตัวยาสมุนไพรมาประสานกับการรักษาอย่างเป็นกฎเกณฑ์ ได้เริ่มใช้กฎการวิเคราะห์โรค (เปี้ยนเจิ่งลุ่นจื่อ) อย่างรอบด้านแล้วดำเนินการรักษาอย่างพลิกแพลงในการปฏิบัติทางคลินิก

ซางหางลุ่นได้แบ่งโรคออกเป็น 6 พวกใหญ่ๆ หรือที่เรียกว่า ลิ่วจิง จากอาการของโรคที่มีอยู่จำนวนมากมาย

นอกจากนี้ซางหางลุ่นยังได้ตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการรักษาโรคอย่างพลิกแพลง เป็นต้นว่า โรคที่เหมือนกันแต่มีอาการที่แสดงออกแตกต่างกัน ก็ใช้วิธีการรักษาที่เรียกว่า โรคเหมือนกันใช้วิธีการรักษาต่างกัน

โรคที่ต่างกันแต่มีอาการที่แสดงออกเหมือนกัน ก็ใช้วิธีการรักษาที่เรียกว่า โรคต่างกันแต่ใช้วิธีการรักษาเหมือนกัน โรคเดียวกันอาจรักษาโดยใช้ตำรับยาต่างๆ กันหลายชนิด หรือยาตำรับหนึ่งๆ สามารถใช้รักษาโรคได้หลายโรค เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้เป็นเนื้อหาที่อยู่ในกฎการวิเคราะห์โรคอย่างรอบด้านแล้วดำเนินการรักษา หากเราสามารถยึดกุมหัวใจของกฎนี้ได้อย่างมั่นคงก็จะสามารถนำกฎเกณฑ์ต่างๆ มาใช้ได้อย่างกว้างขวาง พลิกแพลง และมีประสิทธิภาพ เนื้อหาของซางหางลุ่น ไม่ใช่จะถูกจำกัดการรักษาไว้เฉพาะซางหาง (โรคที่เกิดจากความเย็น) เพียงอย่างเดียว แต่เป็นกฎเกณฑ์ที่นำไปใช้รักษาโรคต่างๆ ที่เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นเหตุ แพทย์จีนส่วนใหญ่ยกย่องและได้สืบทอดความคิดจากหนังสือเล่มนี้มาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเสมือนหนังสือที่ผู้ศึกษาการแพทย์จีนควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง

หมายเหตุ
1เซี้ยวเหลียน = หรือเรียกว่าจิ้นซื่อ เป็นผู้ที่สอบผ่านการสอบทั่วประเทศของหลวง
2ไถ้เส่า = เป็นตำแหน่งข้าราชการ 2 สมัย คือก่อนสมัยฉินมีตำแหน่งเล็กกว่านายอำเภอตั้งแต่สมัยฉินเป็นต้นมามีตำแหน่งสูงกว่านายอำเภอ

ข้อมูลสื่อ

130-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 130
กุมภาพันธ์ 2533
วิทิต วัณนาวิบูล