• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเบาจืด

โรคเบาจืด

พูดถึง “โรคเบาจืด” หลายคนคงไม่ค่อยคุ้นกับชื่อนี้ มักจะได้ยิน “โรคเบาหวาน” เสียมากกว่า ก็เพราะโรคนี้พบได้ไม่มากนัก ก่อนอื่นขอกล่าวถึงอาการของโรคนี้กันก่อน อย่างที่ทราบแล้วว่า ผู้ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะครั้งละมากๆ เมื่อร่างกายเสียน้ำไปมาก ผลที่ตามมาก็คือ คนไข้จะกระหายน้ำบ่อย และถ้าดื่มน้ำทดแทนส่วนที่เสียไปไม่ทัน ร่างกายเกิดขาดน้ำ อาจจะมีอาการซึม ไม่รู้สึกตัว และช็อกไปในที่สุด

แต่โดยธรรมชาติแล้วร่างกายสามารถทดแทนได้โดยการดื่มน้ำ คนไข้จะไม่มีอาการขาดน้ำมากมายจนถึงขั้นสิ้นสติ ส่วนในรายที่คนไข้สลบไปด้วยสาเหตุอื่น เช่น การวางยาสลบขณะผ่าตัด หรือเกิดอุบัติเหตุทางสมองโดยไม่รู้ตัว โดยที่แพทย์ผู้ดูแลไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นโรคเบาจืด คนไข้รายนั้นอาจจะขาดน้ำไปมากทางปัสสาวะ จนความดันเลือดตกและช็อกไปก็มี

อาการที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ บางครั้งปัสสาวะที่รอการขับถ่ายออกจากร่างกายมีปริมาณมากๆ จะไปท้นคั่งอยู่ในระบบขับถ่ายปัสสาวะ แถวบริเวณท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ ทำให้อวัยวะดังกล่าวนี้ถ่างขึ้น โตขึ้น ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดบริเวณเอว ท้องน้อย ร่วมด้วยก็ได้

ถ้าจะถามถึงสาเหตุของโรคนี้แล้วละก็ ต้องขอย้อนไปคุยกันถึงเรื่องพื้นฐานทางทฤษฎีกันนิดหน่อย เพื่อความเข้าใจที่กระจ่างชัดขึ้น โดยปกติร่างกายของเราสามารถเก็บรักษาน้ำไว้ได้ และอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่นี้ ก็คือ ไต แต่การที่ไตจะเก็บน้ำไว้ได้นั้น ไตนะต้องมีการทำงานร่วมกับฮอร์โมนตัวหนึ่ง ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะถูกหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง และจะควบคุมไตให้ทำหน้าที่เก็บน้ำไว้ในร่างกาย แต่ทั้งนี้มีข้อแม้ว่า การทำงานของกระบวนการนี้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อไตต้องมีสภาพปกติด้วย เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนนี้ได้

จะเห็นว่ากลไกในการเก็บน้ำของร่างกาย ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของไตและฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองตัวนี้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ตัวใดตัวหนึ่งเกิดบกพร่องในหน้าที่หรือทำงานผิดปกติ ก็จะเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคเบาจืด จึงสรุปว่าสาเหตุของโรคเบาจืดพอจะแบ่งคร่าวๆ ออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก สาเหตุที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนออกมาได้ และอีกกลุ่มคือ ไตผิดปกติไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนที่หลั่งออกมาได้

สาเหตุกลุ่มแรกที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนออกมาได้ ที่พบบ่อยและสำคัญ คือ การผ่าตัดในบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง มีผลแทรกซ้อนที่ตามมา คือ ทำให้เกิดโรคเบาจืด นอกจากนั้นก็มีสาเหตุอื่น เช่น คนไข้ที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ หรือบางรายมีเนื้องอกในบริเวณใกล้กับต่อมใต้สมองไปรบกวน ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างหลั่งฮอร์โมนออกมาได้

ส่วนสาเหตุของกลุ่มที่ 2 ที่ไตผิดปกติไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนดังกล่าวนี้ได้ จนเป็นสาเหตุของโรคเบาจืดนั้น ก็คือ ไตผิดปกติแต่กำเนิด โดยที่แพทย์เองก็ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง และพบว่าบ่อยครั้งที่คนในครอบครัวเดียวกันมีอาการไตผิดปกติ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ก็ได้ ส่วนมากคนไข้พวกนี้ เมื่อตอนแรกเกิดมักจะไม่ค่อยแสดงอาการของเบาจืดเท่าใดนัก โดยมากจะแสดงตอนอายุประมาณ 1-3 ขวบ หรือบางรายก็มาแสดงเอาตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็มี

นอกจากนี้สาเหตุอื่นของอาการไตผิดปกติที่ควรทราบ ก็คือ มียาหลายตัวที่ใช้กันอยู่ อาจจะไปรบกวนทำให้ไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนดังกล่าวได้ อันที่จริงแล้ว สถิติของคนที่เป็นโรคนี้นับว่าน้อยมาก เพราะโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดทางสมองมากกว่า ส่วนเบาจืดที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุนั้นพบน้อย ถ้าจะพูดถึงอันตรายของโรคนี้แล้วละก็ เราควรมุ่งประเด็นไปที่โรคพื้นฐานที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน คือ โรคเบาจืด คงจะตรงที่สุด เพราะโรคพื้นฐานเหล่านี้บางโรคมีอันตรายมาก ยกตัวอย่างเช่น เนื้องอกในสมองหลายชนิด ซึ่งไปกดบริเวณต่อมใต้สมอง อาจเป็นสาเหตุทำให้คนไข้เสียชีวิตหรือพิกลพิการไปก็มี

สำหรับอันตรายที่เกิดจากโรคเบาจืดเองจริงๆ นั้นก็คงมีอยู่กรณีเดียว คือ เมื่อร่างกายขาดน้ำแต่คนไข้ไม่สามารถชดเชยน้ำที่สูญเสียไปได้ทันท่วงที อาจจะทำให้ความดันเลือดตก และเกิดช็อกได้ในที่สุด โดยเฉพาะกรณีที่คนไข้สลบไปด้วยสาเหตุต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว แต่ตราบใดที่คนไข้สามารถดื่มน้ำทดแทนได้เพียงพอก็จะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น เว้นแต่จะไม่สะดวก หรือเกิดความรำคาญบ้างที่ต้องดื่มน้ำและปัสสาวะบ่อยๆ

ด้วยเหตุที่สิ่งที่คนไข้เสียไปในปัสสาวะนั้น คือ น้ำแท้ๆ เลย ไม่ได้มีเกลือแร่ และน้ำตาลติดออกมาเหมือนโรคเบาหวาน ฉะนั้น จึงควรทดแทนสิ่งที่เสียไปนั้นด้วยน้ำสะอาดบริสุทธิ์

การรักษาโรคนี้ในคนไข้เบาจืดที่ปัสสาวะไม่บ่อยมาก ประมาณวันละ 2-3 ลิตร ควรทำแค่เพียงดื่มน้ำทดแทนก็พอ คือ ไม่ต้องใช้ยาเลย แต่ถ้าคนไข้มีอาการรุนแรง กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยมาก กรณีนี้จำเป็นจะต้องใช้ยาช่วย และการปฏิบัติตัวที่สำคัญที่สุดของคนไข้โรคนี้ ก็คือ

1. คนไข้จำเป็นต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ และถ้าเมื่อใดก็ตามที่ไปอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ร่างกายต้องสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังมาก หรือการที่คนไข้มีอาการท้องเดิน ท้องเสีย ต้องพยายามทดแทนโดยการดื่มน้ำเปล่าให้มากพอ คำว่า มากพอ ในที่นี้หมายถึง ดื่มจนหายกระหายน้ำ หรืออาจจะให้แพทย์แนะนำว่า ในคนไข้แต่ละราย ควรดื่มน้ำมากขนาดไหนจึงจะพอ

2. อาหาร ควรเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่เค็มจัดจะมีเกลือมาก ร่างกายจะขับเกลือออกทางไตและออกมากับปัสสาวะ เป็นเหตุให้ร่างกายถูกดึงน้ำออกไป ทำให้ขาดน้ำมากขึ้นอีก ถ้าเป็นอย่างนี้ อาการเบาจืดจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

3. กินยาตามแพทย์สั่งให้ครบและตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาหรืองดยาไปเองเมื่ออาการหายไป เพราะโรคนี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีทางหายขาดไปเลย ต้องใช้ยาควบคุมอยู่เสมอ

4. ยาที่กินควบคุมอาการเบาจืด ยาหลายตัวอาจจะมีผลแทรกซ้อนบางอย่าง ถ้าเรารู้ผลแทรกซ้อนเหล่านี้ไว้ จะได้เตรียมปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ยาบางตัวที่กินรักษาโรคเบาจืด อาจมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำด้วย อย่างนี้แพทย์ต้องแนะนำให้คนไข้กินอาหารให้ตรงเวลา และอาหารที่กินควรมีแป้งและน้ำตาลมากเพียงพอ มิฉะนั้นร่างกายจะขาดน้ำตาลได้ หรือยาบางตัวอาจจะทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ดังนั้น ควรศึกษาผลข้างเคียงของยาจากแพทย์ด้วย ก็จะเป็นการดี

5. คนไข้ทุกรายควรจะพกบัตรหรือข้อความที่แสดงว่าตัวเองเป็นโรคเบาจืด และถ้าจะให้ดี ควรบอกด้วยว่ากำลังใช้ยาอะไรรักษาอยู่

คงต้องจบเรื่องเบาจืดไว้เพียงเท่านี้ เพราะตอนนี้ผู้เขียนปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำแล้วล่ะครับ!

ข้อมูลสื่อ

131-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
โรคน่ารู้
นพ.กอบชัย พัววิไล