• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นมแม่...หายไปไหน

นมแม่...หายไปไหน
มาร่วมกันรณรงค์เอานมแม่กลับคืนมาให้เด็กๆ กันเถอะ

เมื่อวันที่ 29-30 มกราคม ที่ผ่านมา แพทย์ พยาบาล และผู้ที่อยู่ในแวดวงของการดูแลรักษาสุขภาพเกือบ 200 คน ได้มาชุมนุมกันที่ห้องประชุมชั้น 5 องค์การเภสัชกรรม ในการสัมมนาเรื่อง “นมแม่...หายไปไหน” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน กองโภชนาการ กรมอนามัย และคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.) เพื่อค้นหาคำตอบว่า “นมแม่...หายไปไหน” และหาหนทางในการเอานมแม่กลับคืนมาให้เด็กๆ

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วีระพงษ์ ฉัตรานนท์ ประธานคณะกรรมการจัดการสัมมนาได้กล่าวว่า “ก่อนนี้เราเชื่อว่าหากแม่เอาใจใส่ต่อลูก โดยการอุ้มลูกแล้วเอาขวดนมใส่ปากลูก ก็คงไม่ต่างจากแม่อุ้มลูกและให้ลูกดูดนมแม่ แต่จากการศึกษาของนักวิชาการในปัจจุบันพบว่า หากแม่ให้ลูกดูดมแม่สักระยะหนึ่งแล้ว แม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน 2 ตัว คือ ฮอร์โมนโปรแลกตินจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้เป็นตัวกระตุ้นให้แม่สร้างน้ำนมได้มากขึ้น และจะเกิดการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งจะกระตุ้นให้ต่อมต่างๆ ในเต้านมแม่บีบตัวทำให้น้ำนมไหลเข้ามาในท่อน้ำนม

ล่าสุดได้มีการศึกษาพบว่า ฮอร์โมนออกซิโทซินนี้น่าจะเกี่ยวพันกับความรักของคน โดยได้มีการทดลองฉีดออกซิโทซินเข้าไปในสมองหนูที่ยังเป็นสาวบริสุทธิ์ หลังจากฉีดเข้าไปแล้วเราพบว่า หนูตัวนั้นเปลี่ยนพฤติกรรมทันที โดยมีพฤติกรรมของความเป็นแม่ คือ ไปเลี้ยงลูกครอกอื่น

ดังนั้นการเลี้ยงลูกโดยที่เราอุ้มลูกเฉยๆ แล้วเอาขวดนมใส่ปากลูกนั้น ออกซิโทซินอาจจะเกิดขึ้นแต่ขึ้นไม่สูงมาก ซึ่งต่างจากขณะลูกดูดนมแม่ เพราะออกซิโทซินจะสูงมาก จึงเป็นไปได้ว่าการที่แม่ให้ลูกดูดนมแม่ จะมีผลทำให้แม่มีความเป็นแม่เพิ่มขึ้น ดูแลเอาใจใส่ลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนออกซิโทซินที่เพิ่มขึ้นขณะเด็กดูดนมแม่ ”

ศาสตราจารย์ประสงค์ ตู้จินดา กุมารแพทย์ผู้รณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยตลอด ได้ให้ทรรศนะว่า ขณะนี้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้กินนมแม่แต่กินนมผสมแทน คนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ คือ บุคลากรสาธารณสุข เพราะที่ผ่านมาบุคลากรสาธารณสุขและสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ คือ ปัจจัยที่สำคัญที่ไปส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมขวด เช่น เมื่อเด็กคลอดออกมาก็เอานมขวดให้เด็กกิน และบอกแม่ให้หานมผสมมาไว้เผื่อเด็กหิว บางโรงพยาบาลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีโปสเตอร์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างชัดเจน แต่ยังมีรูปเด็กถือขวดนมติดไว้ เป็นต้น

ผู้เข้าร่วมประชุมเกือบ 200 คนได้ร่วมระดมความคิดหาแนวทางเอานมแม่กลับคืนมาให้เด็กๆ ซึ่งได้ข้อสรุป (บางส่วน) ว่า

1. สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งต้องสนับสนุนให้แม่ทุกคนได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 3 เดือน

2. หลังจากคลอดแล้ว จะต้องให้เด็กได้ดูดนมแม่ทันที และให้แม่กับลูกอยู่ด้วยกันตลอดเวลา

3. สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เรื่องการผลิตและจำหน่ายอาหารทดแทนนมแม่อย่างเคร่งครัด

4. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรจะเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

5. กระทรวงสาธารณสุขต้องกำหนดให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นนโยบายระดับชาติ

ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้นับเป็นสิ่งที่น่าปลื้มใจของเด็กไทยที่กำลังจะเกิดมา และกำลังจะเติบโต อย่างไรก็ตาม เด็กไทยจะได้นมแม่กลับคืนมาจริงหรือไม่นั้น ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้

ข้อมูลสื่อ

131-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
บทความพิเศษ