• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งจากรังสี แค่เรียนรู้ โอกาสเป็นแทบไม่มี

มะเร็งจากรังสี แค่เรียนรู้ โอกาสเป็นแทบไม่มี

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “รังสี” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเนื้อร้าย หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “มะเร็ง” ทั้งนี้เนื่องจากรังสีที่ร่างกายคนเรารับเข้าไปนั้นสามารถสร้างความเสียหายให้แก่เซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรังสีทะลุทะลวงเข้าไปชนองค์ประกอบสำคัญๆ ของเซลล์ อย่างเช่นยีนหรือโครโมโซมพอดี

ผลที่ได้รับคือ เซลล์อาจจะถูกทำลายหรือตายไป ในขณะที่บางส่วนอาจจะมีการแบ่งตัวมากกว่าปกติจนกลายเป็นเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด

คนเรารับรังสีได้อย่างไร

คำตอบก็คือ จากธรรมชาติ และจากฝีมือของมนุษย์เอง

รังสีจากธรรมชาติ ได้แก่ รังสีคอสมิกจากอวกาศ ที่สำคัญๆคือรังสีอัลตราไวโอเลต และรังสีที่แผ่จากธาตุกัมมันตรังสี ส่วนรังสีจากฝีมือมนุษย์นั้น ได้แก่ รังสีที่ได้รับจากการตรวจร่างกายไม่ว่าจะด้วยการฉายเอกซเรย์หรือการใช้สารกัมมันตรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และจากระเบิดนิวเคลียร์

รังสีจากธรรมชาติ

รังสีอัลตราไวโอเลต เป็นรังสีซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกันมากในขณะนี้ รังสีนี้ปะปนลงมากับแสงแดด โดยธรรมชาติแล้วรังสีนี้จะถูกชั้น “โอโซน” ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (สูงจากพื้นโลกประมาณ 15-30 กิโลเมตร) ดูดกลืนไว้ จึงทำให้มีปริมาณเหลือเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สาดส่องลงมาสู่พื้นโลก

แต่สำหรับอนาคตข้างหน้าชั้นโอโซนซึ่งเป็นเกราะกันรังสีอัลตราไวโอเลตมีแนวโน้มที่จะลดปริมาณลง ซึ่งมีผลให้รังสีอัลตราไวโอเลตส่องลงมาถึงพื้นโลกมากขึ้น

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนที่ใช้ในเครื่องกระป๋องสเปรย์ทั้งหลาย ได้หลุดลอยขึ้นไปทำลายชั้นโอโซนอย่างมาก หากขืนใช้สารชนิดนี้ต่อไปอย่างไม่มีการดูแลหรือควบคุม อีกไม่นานโลกก็คงไม่มีชั้นโอโซนเป็นเกราะกันรังสีอัลตราไวโอเลต และในที่สุดผู้เคราะห์ร้าย ก็คือ มนุษย์เรานี่เอง โรคมะเร็งที่ผิวหนังก็จะเข้ามาเยี่ยมเยือน ซึ่งถือเป็นอันตรายร้ายแรงจากการได้รับรังสีชนิดนี้

สำหรับเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากว่า รังสีอัลตราไวโอเลตสามารถสร้างความเสียหายให้แก่ดีเอ็นเอที่อยู่ในโครโมโซมของเซลล์ผิวหนัง อันจะก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครสามารถบอกหรือยืนยันได้ว่า ต้องตากแดดนานหรือได้รับแสงแดดปริมาณเท่าใดถึงจะเป็นมะเร็ง แต่เท่าที่พบขณะนี้ คือ คนที่มีผิวขาวจะมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่า คนผิวดำเมื่อตากแดดในระยะเวลาที่เท่ากัน และนอกจากนี้ยังพบอีกว่ารังสีอัลตราไวโอเลตสามารถเร่งให้เกิดมะเร็งที่ริมฝีปากในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่เร็วขึ้นด้วย

รังสีจากธาตุกัมมันตรังสี ธาตุกัมมันตรังสีในที่นี้หมายถึง ธาตุที่แผ่กัมมันตภาพรังสีที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อาทิเช่น ยูเรเนียม ธอเรียม เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในดิน หากมีคนไปอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นหรือใช้วัสดุที่มีแร่กัมมันตรังสีเหล่านี้มาสร้างประกอบเป็นที่อยู่อาศัย ก็จะทำให้ได้รับรังสีเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างเช่น ประชากรที่อาศัยอยู่ในแคว้นเคราลาของอินเดียซึ่งมีธาตุกัมมันตรังสีธอเรียมอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ได้รับรังสีสูงถึง 2 เรม ทุกๆ ปี หรือกรรมกรเหมืองแร่ยูเรเนียม ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดและเม็ดเลือดขาวตาย ทั้งนี้เนื่องจากได้รับรังสีอยู่ตลอดเวลา และขณะเดียวกันก็หายใจเอาฝุ่นและแก๊สที่มีสารกัมมันตรังสีปะปนเข้าไปด้วย เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น นับว่าโชคดีที่อยู่ในภูมิประเทศที่พบแร่กัมมันตรังสีในปริมาณที่น้อย ในปีหนึ่งๆ คนไทยจะได้รับรังสีจากธรรมชาติโดยเฉลี่ยประมาณ 100-300 มิลลิเรม (0.1-0.3 เรม) เท่านั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อย่างเช่น อินเดีย ได้รับสูงถึง 1,800 มิลลิเรมต่อปี ขณะที่คนในสหรัฐฯ จะได้รับสูงถึง 3,000 มิลลิเรมต่อปี

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปริมาณรังสีที่เราได้รับจากธรรมชาตินั้นมีปริมาณเพียงเล็กน้อย จากการศึกษาพบว่า ทั้งรังสีอัลตราไวโอเลตและรังสีที่ได้จากแร่กัมมันตรังสีมีโอกาสที่จะทำให้เราเป็นโรคมะเร็งได้ถึงร้อยละ 3 ของมะเร็งที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากทุกๆ สาเหตุ

รังสีจากฝีมือของมนุษย์

อาจจะถือว่าเป็นโชคดีของคนไทยที่ยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งจะต้องมีการทดลองตรวจสอบสภาพของระเบิดเป็นประจำ จึงทำให้ชาวไทยไม่ได้รับรังสีจากเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์เหล่านี้ อาจจะมีบ้างแต่ก็รังสีที่ได้รับจากนม ซึ่งมีสารกัมมันตรังสีปะปนอยู่ จากคราวที่สารกัมมันตรังสีรั่วจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เมื่อปี พ.ศ.2531 ซึ่งคนที่ดื่มนมจะได้รับโดยเฉลี่ยเพียง 1-5 มิลลิเรมต่อคนเท่านั้น

ดังนั้น รังสีจากฝีมือมนุษย์ที่คนไทยเรามีโอกาสจะได้รับก็คงมีแต่เฉพาะจากกระบวนการตรวจรักษาทางการแพทย์เท่านั้น ที่สำคัญๆ ก็คือ การถ่ายเอกซเรย์

รังสีจากการถ่ายเอกซเรย์ ปัจจุบันนี้ถือว่าการถ่ายเอกซเรย์เพื่อการวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยหรือบุคคลที่เข้ารับการตรวจร่างกายมีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหรือคลินิกล้วนแต่มีความรู้และความชำนาญงานทางด้านนี้เป็นอย่างดี เพื่อที่จะไม่ให้ผู้ที่เข้ารับการถ่ายเอกซเรย์รับรังสีเกินความจำเป็น

ตัวอย่างเช่น การถ่ายเอกซเรย์ปอด ผู้ป่วยจะได้รับรังสีเพียง 30 มิลลิเรม เอกซเรย์ฟันจะได้รับประมาณ 300 มิลลิเรม และการถ่ายเอกซเรย์ลำไส้หรือเต้านมเพื่อตรวจหามะเร็ง จะได้รับไม่เกิน 3,000 มิลลิเรมหรือ 3 แรม

จะเห็นได้ว่า การถ่ายเอกซเรย์ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้น จะเป็นการถ่ายเฉพาะที่ซึ่งถือว่าปลอดภัย แต่หากได้รับรังสีทั่วร่างกายก็จะถือว่าเป็นอันตราย อย่างเช่นชาวญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งภายหลังป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว พบว่าได้รับรังสีทั่วตัวอย่างฉับพลันเกินกว่า 100 เรมขึ้นไป

แต่สำหรับสิ่งที่เกรงกันว่า การเอกซเรย์ตรวจหามะเร็งในเต้านมจะทำให้ได้รับรังสีจนก่อให้เกิดมะเร็งนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จากการศึกษาพบว่า มะเร็งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้รับรังสีสูงเกินกว่า 50 เรม และจะเป็นก็แต่เฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 10-19 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บรรดาหญิงมีครรภ์ทั้งหลายไม่ควรจะเข้ารับการถ่ายเอกซเรย์โดยเด็ดขาด เพราะจากรายงานพบว่า หากทารกที่อยู่ในครรภ์ได้รับรังสีขณะที่แม่เข้ารับการเอกซเรย์ เด็กที่เกิดมานั้นมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวก่อนอายุครบ 10 ขวบถึง 2 เท่า

กล่าวโดยสรุป รังสีที่ได้รับจากการตรวจและรักษาทางการแพทย์นี้ เมื่อเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์กับสารก่อมะเร็งตัวอื่นแล้ว มีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น ในขณะที่การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคบางชนิดมีโอกาสก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ถึงร้อยละ 10 (ของมะเร็งที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากทุกสาเหตุ) สาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ การสูบบุหรี่เป็นประจำซึ่งไม่ผิดอะไรกับการได้รับรังสีเข้าไปปีละประมาณ 300 เรม เมื่อร่วมกับสารก่อมะเร็งอีกหลายชนิดในควันบุหรี่ สามารถทำให้คนที่สูบเป็นมะเร็งได้สูงถึงร้อยละ 30

ข้อมูลสื่อ

131-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
เรื่องน่ารู้
นพ.สิริศักดิ์ ภูริพัฒน์