การตั้งครรภ์
- เกี่ยวข้องกับประจำเดือนอย่างไร
- ถ้าตั้งครรภ์จะปฏิบัติตนเช่นไร
การตั้งครรภ์หรือการมีครรภ์ หรือหลายคนอาจเรียกว่า “มีท้อง” เกิดจากการที่ไข่ของฝ่ายหญิงได้ผสมกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย แล้วมีการฝังตัวลงในเยื่อบุที่โพรงมดลูกเพื่อเจริญเติบโตต่อไป จนครบระยะเวลาประมาณ 280+/-7 วัน จึงจะคลอดออกมาเป็นทารก
สำหรับกลไกของการเจริญเติบโตตั้งแต่ไข่ได้ผสมกับอสุจิจนกระทั่งทารกคลอดออกมาเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน คือ ตลอดระยะการตั้งครรภ์จะไม่มีประจำเดือนเลย เนื่องจากไม่มีการสุกของไข่ ไม่มีการลอกหลุดของเยื่อบุมดลูก มีแต่เยื่อบุมดลูกจะเจริญขึ้นเพื่อให้เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญที่จะนำไปสู่ทารกในครรภ์ด้วยรกที่เกิดติดกับผนังมดลูก
การปฏิบัติตัวเมื่อตั้งครรภ์ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ให้ไปฝากครรภ์หรือฝากท้อง กับสถานพยาบาลใกล้บ้าน เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกแพทย์ สุดแต่ความสะดวกของแต่ละคน
ในการฝากครรภ์คุณจะได้รับการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด และตรวจร่างกายทั่วไปรวมทั้งตรวจท้อง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงภาวะต่างๆของทารกที่อยู่ในโพรงมดลูก เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและบุตร สุดท้ายจะกำหนดวันให้คุณไปตรวจตามนัด ซึ่งคุณก็จะได้รับประโยชน์อีก ดังนี้ คือ
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูโรคไตและเบาหวาน
- การตรวจเลือด เพื่อดูเชื้อซิฟิลิส และดูความเข้มข้นของสีเลือด
- ได้ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันเลือด ตรวจเต้านม หัวนม ฟังปอด ฟังหัวใจ
- ตรวจหน้าท้อง เพื่อดูภาวะของบุตรในครรภ์
- คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับอาหาร การพักผ่อน การทำงาน เป็นต้น
- คำปรึกษาตามที่คุณต้องการ
- ได้รับยาบำรุง
- ได้รับการรักษาโรคประจำตัว (ถ้ามี) และโรคที่ตรวจพบ
การฝากครรภ์ช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจมีผลเสียต่อตัวคุณและบุตรในครรภ์ ดังนั้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ขอให้ไปฝากครรภ์โดยเร็ว และไปตรวจตามที่แพทย์นัดด้วย
- อ่าน 4,096 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้