• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวทัว

หัวทัว

หัวทัว (ในสามก๊กเรียก ฮูโต๋) มีชื่อจริงว่า เยวียนหัว เป็นชาวเฉียวเมืองไพ่ (ปัจจุบัน คือ อำเภอป้อ ในมณฑลอานฮุย) เกิดในระหว่างปี พ.ศ.684-746 (ค.ศ.141-203) ในสมัยสามก๊ก

หัวทัวเคยศึกษาในเมืองซวี่โจว เขาเป็นผู้ที่สนใจวิชาแพทย์มาก ได้พยายามเสาะหาตำราทางการแพทย์จำนวนมากมาอ่าน อำมาตย์แห่งเมืองไพ่ และหวงหว่าน ได้เคยเสนอตำแหน่งราชการให้เขาหลายครั้ง แต่เขาปฏิเสธ เพราะเขาไม่สนใจในชื่อเสียงยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ ขอเป็นเพียงหมอธรรมดาๆ คนหนึ่งซึ่งสามารถช่วยรักษาโรคให้กับประชาชนทั่วๆ ไปก็พอแล้ว

หัวทัวเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงมาก อาณาบริเวณที่เขาทำการรักษาคนไข้นั้นครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก เช่น แถบเผิงเฉิง (ปัจจุบัน คือ เมืองซวี่โจว มณฑลเจียงซู) เมืองกว่างหลิง (ปัจจุบัน คือ บริเวณแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเจียงตู มณฑลเจียงซู) เมืองกานหลิง (ปัจจุบัน คือ บริเวณแถบตอนใต้ของอำเภอชิงผิง มณฑลซานตง) เมืองเจี้ยนตู (ปัจจุบัน คือ บริเวณแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเจี้ยนเฉิง มณฑลเจียงซู) เมืองตงหยาง (ปัจจุบัน คือ ตงหยางเฉิง ซึ่งเป็นเมืองแถบตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเอินหยาง มณฑลซานตง) และหลางย่ง (ปัจจุบัน คือ บริเวณแถบตะวันตกของเมืองเจี้ยนอี๋ มณฑลซานตง) เป็นต้น

หัวทัวจึงเป็นหมอที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วมณฑลเจียงซู และซานตง ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ในเมืองซวี่โจว มณฑลเจียงซู มีหลุมฝังศพของเขาปรากฏให้เห็น และอำเภอไพ่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาก็ถูกเปลี่ยนเป็นหัวจวง (หมู่บ้านหัว) นอกจากนี้ยังมีวัดหัวจู่ (แปลว่า วัดบรรพบุรุษหัว) จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าประชาชนในสมัยนั้นและสมัยต่อมาต่างให้ความเคารพและยกย่องหัวทัวมาก

ครั้งหนึ่งฉาวชาว (โจโฉ) รู้ว่าหัวทัวเป็นแพทย์ที่มีความสามารถในการรักษาโรคมาก จึงได้เชิญหัวทัวไปรักษาอาการปวดหัวของเขา หัวทัวใช้เข็มเพียงเล่มเดียวปักศีรษะของโจโฉ อาการปวดหัวก็หายเป็นปลิดทิ้ง โจโฉเห็นความสามารถของเขาจึงอยากได้มาเป็นหมอหลวง แต่เนื่องจากหัวทัวปฏิเสธการรับราชการมาโดยตลอด จะปฏิเสธโจโฉอย่างตรงไปตรงมาก็ไม่ได้ เขาจึงบอกกับโจโฉว่าภรรยาของตนไม่สบายจำต้องกลับไปรักษา หลังจากนั้นก็ไม่ได้ข่าวคราวอะไร

โจโฉได้มีหนังสือไปตามตัวหัวทัวหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับจดหมายตอบจากหัวทัวเลย โจโฉโกรธมากจึงมีคำสั่งให้ทหารไปตามหาหัวทัว พร้อมกับกำชับทหารว่า “ถ้าภรรยาของหัวทัวไม่สบายจริง ก็ให้นำถั่วทั้ง 40 หู (เป็นมาตราตวงในสมัยโบราณ) ไปมอบให้แล้วผ่อนผันเวลาให้เขา แต่ถ้าเขาโกหกก็ให้จับเอาตัวมาลงโทษ”

โจโฉโกรธหัวทัวที่เป็นคนดื้อรั้น ทั้งๆ ที่ตนได้เสนอตำแหน่งแพทย์หลวงให้ก็ยังถูกปฏิเสธ ถ้าจับมาประหารชีวิตได้ก็จะเป็นการดี แม้ทหารคนสนิทจะทักท้วงว่า “หัวทัวเป็นหมอที่รักษาโรคเก่ง ความเป็นความตายของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก ขอให้ยกโทษให้เขาด้วย” แต่โจโฉไม่ฟังเสียงทัดทานใดๆ กลับพูดว่า “ไม่ต้องไปวิตกกังวลหรอก คนเก่งๆ ในโลกนี้มีอีกมาก เขาตายไปสักคนก็ไม่เห็นเป็นไร”

ต่อมาไม่นานอาการปวดหัวของโจโฉกำเริบ โจโฉถึงกับถอนหายใจแล้วพูดว่า “อาการโรคของฉันมีแต่หัวทัวเท่านั้นที่รักษาได้ แม้เขาจะมีความสามารถถึงปานนี้แต่ก็ไม่สามารถรักษาโรคของฉันให้หายขาดไปได้” หลังจากนั้นไม่นาน ชางซูลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของโจโฉได้ล้มป่วยลงและเสียชีวิตไปในที่สุด โจโฉเสียใจมาก เขากล่าวว่า “ฉันไม่น่าฆ่าหัวทัวเลย ถ้าเขามีชีวิตอยู่ลูกฉันคงจะไม่ตาย”

เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่หัวทัวจะถูกประหารชีวิตเขาได้นำตำราแพทย์จำนวนมากที่เขาเขียนขึ้นมอบให้กับผู้คุม พร้อมกับกล่าวกับผู้คุมว่า “หนังสือเหล่านี้สามารถช่วยรักษามนุษย์ให้หายขาดจากโรคภัยไข้เจ็บได้ ท่านช่วยเก็บรักษาไว้เถิด” แต่เนื่องจากผู้คุมกลัวว่าอาจจะนำภัยมาสู่ตนได้ จึงไม่กล้ารับเอาไว้ หัวทัวจึงนำเอาหนังสือที่ได้รวบรวมประสบการณ์ในการรักษาทางการแพทย์ทั้งหมดซึ่งได้เขียนมาตลอดชีวิตของเขาเผาเสีย นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในวงการแพทย์จีน จึงไม่มีหนังสือที่หัวทัวเขียนขึ้นด้วยตนเองตกทอดมาจนปัจจุบันแม้แต่เล่มเดียว

ผลงานของหัวทัวที่มีต่อการแพทย์จีนมี 3 ประการ คือ

1. ยาชา หมาฝู่ซ่าน เป็นยาชาที่เขาคิดขึ้น เมื่อเขารักษาโรคด้วยวิธีปักเข็มและให้ยาสมุนไพรแล้วไม่ได้ผล เขาก็จะให้คนไข้กินยาหมาฝู่ซ่านผสมเหล้า หลังจากคนไข้เกิดอาการชา เขาก็จะทำการผ่าตัด ผ่าท้อง ถ้าหากกระเพาะอาหารหรือลำไส้มีโรคเขาก็จะทำการล้าง หลังจากเย็บเสร็จ เขาก็จะเย็บแผลแล้วปิดด้วยยาสมานแผล เรียก เสินกาว หลังปิดยา 4-5 วัน แผลก็จะหายเป็นปกติ หนึ่งเดือนให้หลังโรคก็จะหาย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าหมาฝู่ซ่านนั้นมีส่วนผสมของยาสมุนไพรอะไรบ้าง

2. เนื่องจากประวัติศาสตร์ปลายสมัยฮั่น เกิดสงครามสู้รบกันบ่อยๆ ในการทำสงครามกันนั้น แน่นอนที่สุดจะต้องมีผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้การรักษาโรคภายนอกจึงจำต้องได้รับการพัฒนา ดังนั้นการค้นพบหมาฝู่ซ่านมาทำให้ชาแล้วผ่าตัด ทำให้คนรุ่นหลังยกย่องเขาเป็นบิดาแห่งวิชาศัลยศาสตร์ของจีน

3. การบริหารร่างกายได้เลียนแบบลักษณะท่าทางของสัตว์ 5 ชนิด ซึ่งเป็นผลจากความเชื่อของหัวทัวที่ว่า ทรรศนะที่ถูกต้องในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บนั้น คือ การบริหารร่างกายให้แข็งแรง และการที่ร่างกายจะแข็งแรงและรอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บได้นั้นจะต้องออกกำลังกาย ดังนั้นหัวทัวจึงได้ค้นคิดวิธีการบริหารร่างกาย เรียกว่า อู่ฉินซี่ ซึ่งเขาได้นำเอาอิริยาบถการเคลื่อนไหวของสัตว์ 5 ชนิด คือ เสือ กวาง หมี ลิง และนก มาประยุกต์กับท่าบริหาร การบริหารโดยวิธีนี้นอกจากเป็นการป้องกันโรคแล้วยังใช้รักษาโรคได้อีกด้วย

การแพทย์ตะวันออก ในช่วงประวัติการแพทย์จีนฉบับนี้ขอปิดท้ายด้วยตอนหัวทัว สำหรับท่านที่ต้องการติดตามประวัติการแพทย์จีนขอให้อดใจรอพ็อกเก็ตบุ๊คจากสำนักพิมพ์หมอชาวบ้านในโอกาสอันใกล้นี้

ข้อมูลสื่อ

132-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
วิทิต วัณนาวิบูล