• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง

โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง


เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กนักเรียน ประมาณกันว่า 2% ของเด็กนักเรียนเป็นโรคนี้ และ 5% ของเด็กที่เป็นโรคนี้เป็นหูน้ำหนวกชนิดอันตราย โรคนี้มักจะไม่เกิดกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหูน้ำหนวกแสดงว่า เขาเป็นโรคนี้ตั้งแต่เด็ก และเป็นเรื้อรังกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่
ลักษณะพิเศษของโรคนี้ ได้แก่ เป็นเรื้อรังกันคนละหลาย ๆ ปี และไม่มีอาการปวดหู (นอกจากจะมี
โรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น)


 

 

รูปที่ 1  :  หูปกติ

 

รูปที่ 2 :  แสดงแก้วหูทะลุ และกระดูกหูบางส่วนถูกทำลายจากโรคหูน้ำหนวก

โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง คืออะไร ?

โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง หมายถึง อาการอักเสบของหูชั้นกลาง (ดูรูปที่ 1) จากเชื้อแบคทีเรีย การอักเสบนี้จะทำให้มีหนองขังอยู่ภายในหูชั้นกลางและทำให้แก้วหูทะลุเป็นรูกว้าง (รูปที่ 2) บางครั้งจะเกิดการอักเสบและมีหนองขังอยู่ในกระดูกมาสตอยด์ กระดูกนำเสียงบางชิ้นหรือทั้งหมด จะถูกทำลายจากการอักเสบ และถ้าการอักเสบรุนแรงมาก เชื้อแบคทีเรียอาจลุกลามเข้าไปในสมองทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเป็นฝีในสมองได้


หูน้ำหนวกไม่ใช่เกิดจากน้ำเข้าหู
คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า หูน้ำหนวกเกิดจากน้ำเข้าหู ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นทั้งนี้เนื่องจากว่าหูชั้นนอก แยกจากหูชั้นกลางอย่างเด็ดขาด โดยมีเยื่อแก้วหูกั้นอยู่ (รูปที่ 1) น้ำจากภายนอกจะไม่สามารถเข้าไปในหูชั้นกลางได้เลย ถ้าแก้วหูไม่เคยทะลุมาก่อน การที่น้ำเข้าหูแล้วเกิดมีน้ำหนวกไหล แสดงว่าเด็กคนนั้นเคยเป็นโรคหูน้ำหนวกมาก่อน แต่อาการของโรคสงบลงชั่วคราว แก้วหูที่เคยทะลุจากโรคนี้ยังไม่อาจสมานติดกันได้ เมื่อน้ำเข้าหู น้ำจากหูชั้นนอกจะผ่านรูทะลุแก้วหูเข้าไปในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นกลางใหม่ จึงทำให้มีน้ำหนวกไหลอีก (รูปที่ 3)

                  

ความจริงแล้ว โรคหูน้ำหนวกเรื้อรังเกือบทั้งหมด เกิดจากการอักเสบของลำคอส่วนบนและระบบหายใจส่วนต้นที่ลุกลามเข้าไปยังหูชั้นกลาง ผ่านทางท่อยูสะเตเชี่ยน โรคต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ โรคหัด, ไซนัสอักเสบ, ไข้หวัด, ต่อมทอนซิลอักเสบ สุขภาพของเด็กก็มีส่วนสำคัญต่อการเกิดโรคหูน้ำหนวกด้วย เด็กที่เป็นโรคขาดอาหารสุขภาพไม่แข็งแรงและไม่ระมัดระวังรักษาความสะอาด จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำ และเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่าเด็กที่มีอนามัยสมบูรณ์

 

โรคหูน้ำหนวกที่มีอันตรายถึงตายก็มี

โดยทั่วไป เราแบ่งโรคหูน้ำหนวก เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ โรคหูน้ำหนวกชนิดไม่มีอันตราย และ โรคหูน้ำหนวกชนิดมีอันตราย จากการสำรวจโรคหูของโครงการโสตพิทักษ์ ของสมาคมโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย พบว่า 5% ของเด็กที่เป็นโรคหูน้ำหนวกรื้อรังเป็นชนิดอันตราย


เราจะทราบได้อย่างไรว่าชนิดไหนเป็นชนิดอันตราย? ขอให้สังเกตดูจากตารางข้างล่างนี้



โรคหูน้ำหนวกมีอันตรายอย่างไร?
โรคหูน้ำหนวกะมีอันตรายก็ต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ชนิดไม่มีอันตรายมักจะไม่มีโรคแทรกซ้อน นอกจากจะกลายเป็นชนิดที่เป็นอันตรายทีหลัง (ซึ่งเป็นไปได้น้อย) แต่โรคหูน้ำหนวกชนิดนี้ก็ยังมีผลเสียต่อเด็กนักเรียนอยู่เหมือนกัน คือ ถ้าเป็นหูน้ำหนวกทั้ง 2 ข้าง เด็กจะหูตึง เรียนหนังสือไม่ดี หรือสอบตก และมีน้ำหนวกไหลเป็นที่รังเกียจของเพื่อนนักเรียน

โรคแทรกซ้อนที่สามารถทำให้ตายได้ ได้แก่ โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อโรคลุกลามเข้าไปในสมองเสียส่วนใหญ่ คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นฝีในเนื้อสมอง หรือรอบ ๆ เยื่อสมอง โรคแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดความพิการของร่างกายได้แก่ ปากเบี้ยว, หูหนวกสนิท, โรคแทรกซ้อนที่ทำอันตรายต่อร่างกายชั่วคราวได้แก่ ฝีชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ หู เช่น ฝีที่หลังหู บางรายฝีแตกแล้ว แต่ยังมีแผลเป็นและมีหนองออกอยู่เรื้อรังเป็นเดือนหรือเป็นปี เป็นฝีเหนือใบหู, เป็นฝีที่หน้าหู, เป็นฝีที่คอ ส่วนที่ต่ำจากใบหูเล็กน้อย ฝีชนิดต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปในเส้นเลือด ทำให้เลือดเป็นพิษ อาจถึงตายได้

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นหูน้ำหนวกชนิดอันตราย ?
ขอให้สังเกตดูตารางเปรียบเทียบระหว่างโรคหูน้ำหนวกชนิดอันตรายกับชนิดไม่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 1 ถึง ข้อ 3 ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างดี นอกจากนี้พึงสังเกตว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้และมีอาการดังต่อไปนี้ จะเป็นโรคหูน้ำหนวกชนิดอันตรายเสมอ คือ พบว่ามีฝีหนองเรื้อรังหลังใบหู, มีอาการปากเบี้ยว หรือ หูหนวกสนิท

 

ผู้ป่วยคนนี้กำลังอยู่ในระหว่างอันตราย ?
อย่าลืมว่า หูน้ำหนวกชนิดอันตราย จะมีอันตรายต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น และโรคแทรกซ้อนจะเกิดเมื่อไหร่ก็เกิดได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นหูน้ำหนวกชนิดอันตราย จะมีอันตรายเกิดขึ้นกับตนเองได้ทุกเมื่อ จากสถิติพบว่า ยิ่งผู้ป่วยเป็นโรคนี้นานเท่าไร โอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจะมีมากขึ้นเท่านั้น ขอให้สังเกตว่า ผู้ป่วยที่มีอาการต่อไปนี้ กำลังอยู่ในระหว่างอันตรายคือ
(1) มีไข้สูง ร่วมกับมีอาการทางสมองอื่น ๆ เช่น คอแข็ง ชัก เกร็ง ซึมและเพ้อ
(2) มีฝีรอบ ๆ หู เกิดขึ้น
(3) ปวดหูข้างนั้นอย่างรุนแรง
(4) ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
(5) มีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน และตากระตุก
ถ้าพบอาการข้อหนึ่งข้อใดดังกล่าว ควรรีบไปหาหมอที่โรงพยาบาลทันที


 

จะดูแลตัวเองอย่างไรถ้าเป็นหูน้ำหนวก ?
ก่อนอื่นให้สังเกตว่า มีอาการที่เข้าในลักษณะของหูน้ำหนวกชนิดอันตรายหรือไม่ ถ้ามีหรือสงสัย ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เป็นการดีที่สุด

ถ้าเป็นชนิดไม่มีอันตราย (มีน้ำหนวกไหลเป็น ๆ หาย ๆ เคยใช้ยารักษาแล้วน้ำหนวกหยุดไหลได้ชั่วคราว อาการหูตึงไม่มาก และไม่มีโรคแทรกซ้อน) ขณะที่มีน้ำหนวกไหล ให้กินยาแก้แพ้-คลอร์เฟนิรามีน (เม็ดละ 10 สตางค์) ผู้ใหญ่กินครั้งละ 1 เม็ด เด็ก , เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง และใช้ยาหยอดหูที่เข้ายาคลอแรมเฟนิคอล เช่นยาหยอดหูคลอโรคอล (ขวดละ 16 บาท) หรือยาหยอดหูเคมิซีติน (ขวดละ 12 บาท) หยอดหูวันละ 2-3 ครั้ง ส่วนยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ใหญ่ไม่ต้องให้ สำหรับเด็กให้กิน เพนนิซิลลินวี
(เพนวี)
ครั้งละ 125 มิลลิกรัม (2 แสนยูนิต) วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงและก่อนนอน ราคาอย่างเม็ด ๆ ละ 50 สตางค์ อย่างน้ำเชื่อม ขวดละ 10 บาท
ควรให้ยาเหล่านี้จนกว่าจะไม่มีน้ำหนวกไหล จึงค่อยหยุดยา ยกเว้น ผู้ป่วยที่เป็นหวัดเรื้อรัง มีอาการเป็นหวัดคัดจมูกทุกวัน ก็จำเป็นต้องให้ คลอร์เฟนิรามีน วันละ 2-3 ครั้งตลอดไป

ส่วนผู้ที่มีอาการหูตึง ต้องการให้หูได้ยินชัดกว่าเดิม ก็ควรจะไปรักษากับแพทย์หูคอจมูก แพทย์จะทำการผ่าตัดปิดแก้วหู และซ่อมแซมกระดูกนำเสียง ช่วยให้การได้ยินดีขึ้น


 

                                   โรงพยาบาลที่มีแพทย์หู คอ จมูก อยู่ประจำ

(1) จังหวัดเชียงใหม่ : โรงพยาบาลนครเชียงใหม่, โรงพยาบาลแมคคอมิค
(2) จังหวัดลำปาง : โรงพยาบาลประจำจังหวัดลำปาง
(3) จังหวัดขอนแก่น : โรงพยาบาลประจำจังหวัดขอนแก่น
(4) จังหวัดนครพนม : โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม
(5) จังหวัดระยอง : โรงพยาบาลสามย่าน
(6) จังหวัดจันทบุรี : โรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรี
(7) จังหวัดชลบุรี : โรงพยาบาลชลบุรี
(8) จังหวัดนครศรีธรรมราช : โรงพยาบาลนครคริสเตียน
(9) จังหวัดสงขลา : โรงพยาบาลประจำจังหวัดสงขลา, โรงพยาบาลหาดใหญ่
(10) กรุงเทพฯ : โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลจุฬาฯ, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, โรงพยาบาลวชิระ, โรงพยาบาลตำรวจ, โรงพยาบาลรถไฟ, โรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวงและ โรงพยาบาลเอกชนเกือบทุกแห่ง

 

 

ข้อมูลสื่อ

14-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
กรกฎาคม 2523
โรคน่ารู้