• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แต่ละไมล์คือมาราธอน

ระยะทางวิ่งมาราธอนธรรมดาคือ 26.2 ไมล์ (42.195 กิโลเมตร) แต่สำหรับ อารอน ชอร์ (Aaron Shor) มาราธอนมีความยาวกว่านั้นมาก

เพราะชอร์ไม่ใช่นักวิ่งธรรมดา เขาเป็นสมาชิกของอาคิลลิสคลับ (Achilles club) ซึ่งคุณสมบัติของผู้จะเป็นสมาชิกของชมรมวิ่งนี้ได้ จะต้องเป็นคนพิการ ส่วนจะพิการขนาดไหน ดูได้จากสมาชิกของสมาคมนี้ที่ร่วมลงวิ่งนิวยอร์กมาราธอน 26 คน นับขาได้เพียง 17 ข้าง ดิก ตรวม (Dick Traum) ผู้จัดการชมรมเองก็ไม่มีขา

สมาชิกดัง ๆ ของสมาคมนี้ เช่น ลินดา ดาวน์ ผู้เคยได้รับเชิญกินข้าวเย็นที่ทำเนียบขาวกับประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกน จากความสำเร็จในการวิ่งมาราธอนของเธอ

ชอร์เองมีขาครบ 2 ข้าง แต่ต้องแบกน้ำหนักถึง 4 เท่าของน้ำหนักตัวปกติ เพราะเขาป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออักเสบที่เรียกโปลีมัยโอซัยติส (Polymyositis) มาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ โรคนี้ทำให้กล้ามเนื้อเขามีแรงเพียงหนึ่งในสี่ของที่ควรจะเป็น

จึงไม่น่าสงสัยว่าความเร็วสูงสูดที่เขาทำได้เท่ากับคนธรรมดาเดินเล่นเท่านั้น
ชอร์เกิดความคิดที่จะลงมาวิ่งมาราธอน เมื่อเขาเฝ้าดู ลินดา ดาวน์ วิ่งเข้าเส้นชัยนิวยอร์กมาราธอนในปี ค.ศ.1982 (“ดูไขข่าววิ่ง” ในหมอชาวบ้านฉบับเดือนมกราคม 2528) ลินดา ดาวน์ ซึ่งเป็นโรคสมองพิการต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยการเดินเข้าเส้นชัยด้วยเวลามากกว่า 10 ชั่วโมง ชอร์ปิดสวิตช์ทีวีด้วยความรู้สึกอับอายระคนอิจฉา

สามปีต่อมาเขายืนดูนิวยอร์กมาราธอนปี 1985 อยู่ข้างถนน ได้เห็นนักวิ่งชมรมอาคิลลิส วิ่งผ่านไปต่อหน้า ท่ามกลางเสียงเชียร์ของมหาชน เขาตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก และฝึกสำหรับการวิ่งนิวยอร์กมาราธอนปี 1986

2 พฤศจิกายน 1986 ชอร์เริ่มออกสตาร์ตเวลา 6.10 น. ก่อนหน้านักวิ่งนิวยอร์กมาราธอนคนอื่นๆหลายชั่วโมง ท้องฟ้ายังมืดและถนนยังไม่มีการกั้นจราจร แต่อารอน ชอร์ ก็เดินชิดขอบถนนอย่างไม่เกรงกลัวรถราเพราะว่าวันนี้เป็นวันของเขา มีเพื่อน 2 คนเดินแบกถุงย่ามใส่สิ่งของที่จำเป็นอันได้แก่ อาหาร น้ำ เสื้อหนาว ถุงเท้าสำรอง ร่มและยาประจำตัว ชอร์เดินไป คุยไปด้วยอารมณ์ขัน ตอนหนึ่งเขาบอกว่าสะพานนี้เดินไม่สุดเสียที สงสัยจะมีคนสร้างสะพานทางฝั่งขะโน้น ขณะที่เรากำลังเดินกันอยู่ฝั่งนี้

2 ไมล์แรก (3.2 ก.ม.) เขาใช้เวลา 52 : 28 (52 นาที 28 วินาที)

เขาเดินถึงครึ่งทางด้วยเวลาเกือบ 6 ชั่วโมง นักวิ่งแนวหน้าอย่าง ร๊อบ เดอ คาสเตลลา แซงผ่านไปตามด้วยขบวนนักวิ่งอีก 20,000 คน ชอร์เริ่มเจ็บสะโพกซ้ายและขาขวา นักวิ่งหลายคนจำเขาได้จากภาพในหนังสือพิมพ์เมื่อ 2 วันก่อน บางคนถึงกับวิ่งกลับมขอจับมือด้วย

ไมล์ที่ 16 ชอร์หยุดพักเป็นครั้งที่สอง เขาเปลี่ยนถุงเท้า กินกล้วย เจ้าหน้าที่ประจำสถานีปฐมพยาบาลช่วยนวดขาให้เขา ชอร์ยังไม่เคยเดินไกลเกินกว่านี้เลยในชีวิต

เมื่อเดินต่อไปอีกหน่อย ชอร์ซึ่งสวมปลอกคออันเป็นอุปสรรคต่อการมองพื้นถนนตรงหน้าก็เหยียบเปลือกส้มลื่นล้ม เขาพยายามเดินโดยไม่ให้ปวดเข่าทั้งสองข้าง ซึ่งขณะนี้เหมือนมีเศษแก้วฝังอยู่ข้างใน เดินอีกหนึ่งช่วงตึก ดูซิว่ามันจะรู้สึกยังไง เอาละ แกทำได้ช่วงตึกหนึ่งแล้ว ลองช่วงตึกที่สอง...

ไมล์ที่ 19 ขบวนรถตำรวจเปิดสัญญาณปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ชอร์เดินมาแล้วเป็นเวลา 9 ชั่วโมงท้องฟ้าเริ่มมืดอีกครั้งหนึ่ง

ไมล์ที่ 20 ชอร์หยุดพักที่สถานีปฐมพยาบาลอันสุดท้ายซึ่งยังทำหน้าที่, เขานอนเหยียดยาวบนเตียงผ้าใบ ตามองเหม่ออย่างไร้จุดหมายขณะเจ้าหน้าที่ช่วยนวดขา

เมื่อคณะของชอร์เข้าเขตบรองซ์ (แหล่งเสื่อมโทรมใหญ่ของนิวยอร์ก) คนเมานายหนึ่งเข้ามาพินิจดูชอร์ “อย่ามัวอ้อยสร้อย นายน่ะไม่มีอะไรผิดปกติซักนิด อ้อ! แค่เดินปัดไปหน่อย” ตะแกเดินคุยสัพเพเหระอยู่นาน ในที่สุดก็จากไปเมื่อใกล้เส้นชัย “จำไว้นะ อย่าอ้อยสร้อย”

ชอร์รู้สึกใจมาเป็นกอง เลี้ยวโค้งสุดท้าย เส้นชัยเห็นอยู่ข้างหน้า เพื่อนทั้งสองชะลอ ปล่อยให้ชอร์เดินเข้าไปคนเดียว ท่ามกลางเสียงโห่ร้องต้อนรับของญาติสนิทมิตรสาย “ฉันหายเจ็บขาแล้ว ฉันอยากจะคุย แต่ตอนนี้ขอนั่งก่อน” ชอร์ตะโกน ชูกำปั้นขึ้นไปในอากาศ น้ำตาไหลปริ่ม

ชอร์ทำเวลาได้ 12 ชั่วโมง 56 นาที 47 วินาที

หมายเหตุผู้รายงาน :
เรื่องนี้ที่จริงไม่ต้องการหมายเหตุ อารอน ชอร์เป็นอีกคนหนึ่งที่พิสูจน์ว่าคนพิการก็มีสุขภาพดีได้ (ในขณะที่คนดี ๆ ก็มีสุขภาพเลวได้) ตั้งแต่เขาเริ่มต้นวิ่งโรคของเขาสงบลงอย่างน่าประหลาด ชีพจรลดจาก 90 เหลือ 48-70 ครั้งต่อนาที และที่แน่ ๆ เขาได้พิสูจน์มิติใหม่ในวงการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคโปลีมัยโอซัยติส
 

ข้อมูลสื่อ

102-027
นิตยสารหมอชาวบ้าน 102
ตุลาคม 2530
ไขข่าววิ่ง
รันเนอร์