หนูน้อยวัย 10 ขวบ ตื่นนอนตอนเช้า รู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติในร่างกาย หนูน้อยปวดท้องบริเวณรอบๆสะดือตั้งแต่เมื่อคืน ปวดเป็นพักๆ เช้านี้อาการปวดรุนแรงขึ้น และย้ายมาปวดบริเวณท้องน้อยด้านขวา หนูน้อยอาเจียน 2-3 ครั้ง คุณแม่วิตกมาก รีบพาหนูน้อยไปพบแพทย์แต่เช้า
แพทย์ตรวจร่างกายหนูน้อยแล้วหันมาบอกแม่ว่า “หนูน้อยไส้ติ่งอักเสบครับ ต้องผ่าตัดด่วนเช้าวันนี้ ถ้าทิ้งไว้ไส้ติ่งอาจแตกและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”
“ไม่เอาครับ ผมกลัว ผมไม่ผ่าตัดครับ” หนูน้อยร้องลั่น
“หนูกลัวอะไร” แพทย์ถาม
“ผมกลัวผ่าตัดครับ ผมกลัวเจ็บ ไม่ผ่านะครับแม่” หนูน้อยอ้อนวอน
“เอาละ! หนูกลัวเจ็บใช่ไหม? ถ้าผ่าตัดโดยไม่เจ็บ หนูจะยอมไหม?”
“จะเป็นไปได้อย่างไรครับ ผ่าโดยไม่เจ็บน่ะ หมออย่าหลอกผมเลย” หนูน้อยกังขา
“หมอไม่หลอกหนูหรอก ปัจจุบันนี้การแพทย์เจริญมาก เรามีวิสัญญีแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญจะทำให้หนูหลับหรือหมดความรู้สึกไปชั่วขณะ ฉะนั้นเวลาผ่าตัด หนูจะสลบไม่รู้ตัว ไม่รู้สึกเจ็บเลย เมื่อผ่าตัดเสร็จ หนูก็จะฟื้นเป็นปกติ”
“ไม่เจ็บแน่นะครับ”
“ไม่เจ็บจริงๆ หมอไม่หลอกหนูหรอก”
“ถ้าไม่เจ็บก็ตกลงครับ ผ่าก็ผ่า”
“เก่งมาก หนูเป็นเด็กน่ารักและเก่งจริงๆ เข้าใจเหตุผล และพูดรู้เรื่อง” แพทย์ชม
“แล้วผมจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ”
“เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะมาเจาะเลือดหนูไปตรวจ และพาหนูไปห้องพัก คุณพยาบาลจะเตรียมผ่าตัด โดยการทำความสะอาดบริเวณหน้าท้องและท้องน้อยของหนู”
หนูน้อยได้รับการเตรียมผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณแม่ลงลายมือชื่ออนุญาตให้แพทย์ทำการรักษาโดยการผ่าตัดและวางยาสลบ รอเวลาเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัดมารับ
“จะเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้ ไอ้การผ่าตัดเนี่ย จะไม่เจ็บอย่างที่หมอบอกหรือเปล่าก็ไม่รู้ จะมีอันตรายอะไรบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ หมอหลอกเราหรือเปล่านะ เฮ้อ! คงไม่หลอกน่า” หนูน้อยคิด
เจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัดมารับตัวหนูน้อย ให้หนูน้อยนอนบนเปลเข็นคนไข้ ราวกับคนไข้หนัก แล้วเข็นหนูน้อยผ่านประตูเข้าห้องผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่ตามมาส่งถึงประตูห้องผ่าตัด
เหตุการณ์ภายในห้องผ่าตัดนั้นเหมือนกับว่าเป็นเหตุการณ์ลึกลับ เฉพาะแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยเท่านั้นที่เข้าไปห้องผ่าตัดได้ ส่วนญาติพี่น้องและประชาชนทั่วไป จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าในห้องผ่าตัด
ประชาชนน้อยรายนักที่จะโชคดีมีโอกาสรู้เห็นเหตุการณ์ในห้องผ่าตัด เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็เกิดความกังวลและหวาดวิตก โดยเฉพาะคนไข้ จะเกิดความกลัวเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตน จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้างก็ไม่รู้ จะมีคนคอยดูแลเอาใจใส่ชีวิตตนหรือเปล่า เราลองตามหนูน้อยเข้าไปในห้องผ่าตัด ดูซิว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับหนูน้อยบ้าง
เจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด เข็นหนูน้อยเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยมห้องหนึ่ง ลักษณะห้องสะอาดสะอ้าน ไฟสว่าง มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแต่งชุดสีเขียว ใส่หมวก ผูกหน้ากาก เห็นแต่ตาเท่านั้น บรรยากาศดูน่ากลัวพิลึก
“หนูขยับตัวย้ายขึ้นมานอนบนเตียงนี้สิคะ” เสียงหวานๆทำให้หนูน้อยใจชื้นขึ้นเป็นกอง
“น่าน...ยังง้าน...ดีมาก...พอแล้ว...หนูเป็นเด็กที่เก่งมาก ไม่ร้องไห้ และไม่แสดงอาการหวาดกลัวเลย หนูอายุเท่าไรคะ?”
“สิบขวบครับ” หนูน้อยหัวใจพองโตที่ได้รับคำชม
“หมอให้น้ำเกลือที่แขนหนูหน่อยได้ไหมคะ?” แพทย์ถาม
“ทำไมต้องให้ครับ” หนูน้อยย้อนถาม
“มีประโยชน์หลายอย่างจ้ะ ประการแรกเอาไว้ฉีดยาสลบเข้าหลอดเลือด โดยหนูไม่ต้องเจ็บตัวอีก เจ็บครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น ประการต่อไปเอาไว้ให้น้ำเกลือซึ่งจะมีสารอาหารและเกลือแร่ให้พลังงานแก่หนูในระยะหลังผ่าตัด ซึ่งหนูยังกินอาหารไม่ได้ น้ำเกลือจะทดแทนอาหารชั่วคราวจ้ะ” แพทย์อธิบาย
“เจ็บไหมครับ?”
“นิดหน่อยเท่านั้น หลับตาซิจ๊ะ”
แพทย์ให้น้ำเกลือเสร็จเรียบร้อย หนูน้อยลืมตา รู้สึกเจ็บน้อยกว่าที่คาดเอาไว้
“เอาละค่ะ หมอจะฉีดยาให้หนูหลับละนะ ถ้าง่วงก็หลับไปเลย”
“ไม่เห็นง่วงสักนิด” หนูน้อยนึกแย้งในใจ แต่ทันใดนั้นเอง หนูน้อยเกิดรู้สึกง่วงขึ้นมาอย่างฉับพลันทันใดภายในเสี้ยววินาที ความรู้สึกต่างๆก็ดับวูบลงเหมือนปิดสวิตช์ไฟให้ดับลง
เมื่อหนูน้อยหลับแล้ว แพทย์หันไปเปิดก๊าซออกซิเจนและวางหน้ากากยางบนใบหน้าหนูน้อย แพทย์ใช้มือบีบถุงยางใบใหญ่ เป่าลมเข้าไปในปอดหนูน้อย พร้อมๆกับให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อทางหลอดเลือด เมื่อกล้ามเนื้อหย่อนดีแล้ว แพทย์ใช้เครื่องมือเปิดปากหนูน้อยจนเห็นลิ้นไก่และช่องเปิดกล่องเสียง แพทย์สอดท่อ endotracheal ผ่านช่องเปิดกล่องเสียงเข้าไปในหลอดลม แล้วต่อปลายอีกด้านหนึ่งของท่อเข้ากับเครื่องดมยาสลบ บีบถุงยางเป่าลมเข้าปอด แพทย์ใช้หูฟัง ฟังดูปรากฏว่าลมเข้าปอดทั้งสองข้างดี จึงหันไปเปิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ 4 ลิตรต่อนาที และก๊าซออกซิเจน 2 ลิตรต่อนาที
แพทย์ฉีดยาหย่อนกล้ามเนื้ออีกชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ยาวกว่าชนิดแรกเข้าทางหลอดเลือดดำอีก เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว แพทย์หันมาบอกกับพยาบาลที่ยืนรออยู่
“O.K. เรียบร้อยแล้ว ฟอกได้”
พยาบาลห้องผ่าตัดทำการฟอกหน้าท้องและท้องน้อย
ศัลยแพทย์ทายาฆ่าเชื้อบริเวณท้องน้อยและบริเวณโดยรอบ แล้วปูผ้าปราศจากเชื้อคลุมบริเวณอื่นของหนูน้อยจนหมด เปิดเฉพาะช่องเล็กๆที่จะทำการผ่าตัดเท่านั้น
พยาบาลส่งเครื่องมือ นำโต๊ะที่มีเครื่องมือผ่าตัดจังวางเรียงอยู่เต็มโต๊ะอย่างมีระเบียบเข้ามาชิดเตียงที่หนูน้อยนอนอยู่ ส่งคีมและมีดผ่าตัดให้ศัลยแพทย์ตามที่ขอ
ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัด ตัดไส้ติ่งที่เป็นหนองออก ล้างช่องท้องและแผลจนสะอาด เย็บปิดแผลหน้าท้องจนเรียบร้อย
ในระหว่างนี้ วิสัญญีแพทย์คอยเฝ้าดูแลหนูน้อยตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด คอยวัดความดันเลือดและชีพจรเป็นระยะๆ เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ก็รีบแก้ไขทันที เมื่อการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย
วิสัญญีแพทย์ปิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ คงให้หนูน้อยได้รับก๊าซออกซิเจนอย่างเดียว แพทย์หันมาฉีดยาแก้ฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อเข้าเลือด ภายใน 2-3 นาทีหนูน้อยเริ่มหายใจและขยับตัว
“หนูน้อยลืมตาซิ...หายใจแรงๆ...ดีมาก...ดีมาก...” แพทย์สั่ง
แพทย์ดูดน้ำลายออกจากปากหนูน้อยหลายครั้งจนแห้งดี ดึงเอาท่อ endotracheal ออก วางหน้ากากบนหน้าของหนูน้อย ให้หนูน้อยสูดออกซิเจน 3-4 นาที
“หนูน้อยหายใจเข้าลึกๆ...ไอแรงๆซิ...ดีมาก...ดีมาก...” เมื่อหนูน้อยตื่นดี
“หนูน้อยลืมตาซิ...อ้าปาก...แลบลิ้น...ผงกศีรษะขึ้นซิ...เอาละดีมาก...”
หนูน้อยสามารถทำตามที่แพทย์สั่งได้ ถูกย้ายมานอนพักที่ห้องพักฟื้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมง พยาบาลห้องพักฟื้นคอยเอาใจใส่ดูแลจนหนูน้อยตื่นดี จึงย้ายกลับไปที่ห้องพัก คุณพ่อคุณแม่รอคอยอยู่ด้วยความเป็นห่วง
หนูน้อยเริ่มรู้สึกปวดแผล คุณแม่จึงบอกกับคุณพยาบาล คุณพยาบาลนำยาแก้ปวดมาฉีดให้ หนูน้อยหายปวดและหลับต่อจนถึงเย็น
อีกเจ็ดวันต่อมา หนูน้อยกลับบ้านด้วยความปลอดภัย
เราได้ติดตามหนูน้อยเข้าในห้องผ่าตัดได้เห็นการดมยาสลบ และขั้นตอนการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ลองมาติดตามคำถามต่างๆที่น่ารู้ น่าสนใจดูบ้าง
คำถามน่ารู้
ฤทธิ์ยาแก้ปวดได้จากก๊าซไนตรัสออกไซด์ อีกส่วนหนึ่งแพทย์จะฉีดยาพวกมอร์ฟีนเข้าหลอดเลือดให้ผู้ป่วยตามขนาดที่เหมาะสม นอกจากนี้แพทย์ยังฉีดยาอีกประเภทหนึ่งที่มีฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยจำเหตุการณ์ไม่ได้ (amnesia) ฉะนั้นหลังผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักจะลืมเหตุการณ์ในห้องผ่าตัด ไม่สามารถนำมาเล่าให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงฟัง
การดมยาสลบมีอันตรายมากน้อยเพียงใด
มีอันตรายน้อยมาก น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี แต่จะมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน เป็นต้น
วิสัญญีแพทย์ทำหน้าที่อะไรบ้าง
วิสัญญีแพทย์จะประเมินสภาพผู้ป่วย วางแผนการรักษาและเลือกวิธีระงับความรู้สึกที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เลือกขนาดยาให้เหมาะกับผู้ป่วย คอยเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยตลอดเวลาการผ่าตัด คอยแก้ไขสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นทันที ในระหว่างการผ่าตัด ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่หายใจ วิสัญญีแพทย์ต้องช่วยการหายใจตลอดเวลา คำกล่าวที่ว่า “ชีวิตของผู้ป่วยอยู่ในมือแพทย์” จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริง
นอกจากนี้ ในระยะหลังผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะดูแลจนผู้ป่วยฟื้นดี หายใจดี และช่วยตัวเองได้ แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง วิสัญญีแพทย์จะติดตามดูแลจนกว่าผู้ป่วยจะปลอดภัย
การดมยาสลบ ทำให้สมองเสื่อมจริงหรือไม่
ไม่จริง ยาสลบสมัยใหม่ได้รับการพัฒนาให้มีฤทธิ์ที่ดี มีฤทธิ์สั้น และหมดฤทธิ์ตามที่แพทย์ต้องการภายใน 1-2 ชั่วโมงผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติ เคยมีเด็กได้รับการดมยาสลบบ่อยๆ 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์เป็นจำนวน 30-40 ครั้ง ก็ฟื้นเป็นปกติ ไม่มีผลต่อสมอง
ผู้ป่วยโรคหัวใจจะดมยาสลบได้หรือไม่
ได้ แต่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ศัลยแพทย์และวิสัญญีแพทย์ทราบว่าตนเป็นโรคหัวใจ เพื่อจะได้ทำการตรวจให้ละเอียด และวางแผนการรักษาและดมยาสลบได้ปลอดภัยที่สุด
ผู้ป่วยโรคปอดดมยาสลบได้หรือไม่
ได้แต่ต้องใช้ความระมัดระวังพิเศษคล้ายกับโรคหัวใจ
ดมยาสลบดมแล้วไม่ตื่นมีหรือไม่
ไม่น่าจะเกิดขึ้นถ้าทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ถ้าดมยาสลบแล้วไม่ตื่น แสดงว่าเกิดความผิดปกติขึ้นระหว่างผ่าตัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดทางวิชาการมาก จะไม่กล่าวในที่นี้
นอกจากการดมยาสลบแล้วมีวิธีอื่นที่ทำให้ผ่าตัดไม่เจ็บหรือไม่
มี ถ้าเป็นการผ่าตัดย่อย แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่จะผ่าตัด ถ้าผ่าตัดบริเวณแขนหรือมือ แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะส่วน โดยฉีดยาชาที่เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงร่างกายส่วนนั้น ถ้าผ่าตัดขาหรือช่องท้องส่วนล่างแพทย์จะฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง ทำให้ร่างกายช่วงล่างชา หรือหมดความรู้สึก เมื่อผ่าตัดเสร็จยาจะค่อยๆหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลับมาเป็นปกติภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปรับการผ่าตัด
ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ถ้าสงสัยเรื่องใด ให้ไต่ถามจนกระจ่างชัด งดอาหารและน้ำตามเวลาที่แพทย์สั่ง กินยาหรือดมยาตามที่แพทย์สั่ง
ข้อสำคัญ เตรียมตัว เตรียมใจให้มั่น ปฏิบัติตามคำแนะนำที่แพทย์สั่งทุกครั้งท่านจะปลอดภัย
ที่มีข่าวว่า ผู้โดยสารนั่งแท็กซี่ ถูกคนร้ายพ่นยาสลบเป็นสเปรย์ฉีดมาข้างหลังแล้วปลดทรัพย์ไป มีความจริงเพียงใด
ไม่จริง ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดมีประสิทธิภาพสูงจนกระทั่งฉีดยาพ่นพรึบเดียวแล้วสลบอย่างในภาพยนตร์ ถ้ามีจริง คนขับแท็กซี่ก็จะสลบไปด้วย เพราะหายใจอากาศในแท็กซี่เช่นเดียวกับผู้โดยสาร
ที่มีข่าวการวางยาสลบผู้โดยสารบนรถทัวร์ แล้วปลดทรัพย์ ความจริงเป็นอย่างไร
ความจริงนั้นคนร้ายเอายานอนหลับผสมในอาหารหรือน้ำ ให้ผู้เคราะห์ร้ายกิน เมื่อหลับก็ถูกปลดทรัพย์ ไม่ได้ใช้ยาสลบอันตรายนอกจากการถูกปลดทรัพย์ คนร้ายไม่มีความรู้เรื่องยา จึงมักผสมยามากเกินขนาดจนอาจมีอันตรายแก่ชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายได้
ในการเดินทาง จึงไม่ควรรับเครื่องดื่มหรืออาหารจากคนไม่รู้จักเป็นอันขาด อาจมีอันตราย
- อ่าน 24,476 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้