• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคปากเบี้ยว โรคที่เป็นแล้วหายได้เอง

 โรคปากเบี้ยว โรคที่เป็นแล้วหายได้เอง


เพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่งเช่าห้องพักอยู่ด้วยกันตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ จบมาจนทำงานกันก็ยังเช่าห้องพักรวมกันอยู่
วันหนึ่ง หลังจากตื่นนอน เพื่อนของข้าพเจ้าคนนี้ก็รีบเข้าห้องน้ำตามปกติ จู่ ๆ ก็ได้ยินเสียงเพื่อนของข้าพเจ้าร้องเหมือนจ้าวเข้า ถามดูว่าเป็นอะไรไป ทั้งที่ตั้งแต่ไหนแต่ไรไม่เคยเห็นเพื่อนข้าพเจ้าคนนี้ตกใจเช่นนี้มาก่อน หน้าซีดเหมือนตกใจ วิตกกังวลอะไรทำนองนั้น
ตั้งสติดีแล้วคุยกันได้ความว่า ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ขณะที่กำลังแปรงฟันอยู่ พอบ้วนน้ำออกจากปาก น้ำมันทำไมไม่ยักออกไปตรง ๆ ไม่แน่ใจอีกเลยทำอีกครั้งและกี่ครั้ง ๆ ก็ดูเหมือนว่าเป็นเช่นนี้เสียทุกที ส่องกระจกดู พอยิ้ม ปากกลับเบี้ยวไปข้างหนึ่ง ทำไมมันน่าเกลียดเช่นนั้น เอาละซี ทีนี้เอง เลยตกใจกันทั้งสองคนวันนั้นทั้งวัน เพื่อนของข้าพเจ้า กินข้าวไม่ลง เพราะมันกลัวและกังวลกับเจ้าโรคประหลาดที่มากับความมืดนี่

แหม โรคอะไรไม่รู้ น่าเกลียดจัง นี่ถ้าโรคนี้เกิดกับคุณเนาวรัตน์ ยุกตนันท์ หรือคุณสมบัติ เมทะนี ขณะกำลังถ่ายหนัง คงเดือดร้อนกันไปทั่ว และที่สำคัญ คุณเนาวรัตน์หรือคุณสมบัติ คงตกใจมากที่สุด จะไม่ตกใจได้อย่างไร อาชีพตัวเองต้องแสดงหน้าจอ เกิดปากเบี้ยวมา อย่างดีก็เป็นพระเอกนางเอกปากเบี้ยวกันเท่านั้น


   

ครับ-เรามาคุยกันเรื่อง โรคปากเบี้ยว ซึ่งไม่แน่นักว่าสักวันคุณอาจเป็นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เพราะโรคนี้เป็นขึ้นได้โดยไม่มีปี่มีขลุ่ยนะเออ (กระซิบ น.พ.ประเวศ วะสี บอกหมอชาวบ้านท่านก็เคยเป็นโรคนี้เมื่อปีที่แล้ว)
เห็นจะไม่ต้องพูดกันหรอกว่า ท่านผู้อ่านเองตอนนี้ คงอยากจะรู้เสียแล้วละซีว่า
เจ้าโรคปากเบี้ยวนี่จู่ๆ มันเกิดมาได้อย่างไร ?
เป็นแล้วมีอาการเป็นอย่างไร
อันตรายไหม ? จะหายไหม ?
หรือรักษาอย่างไร ?
เพื่อที่จะให้ผู้อ่านได้รู้เรื่องราวของเจ้าโรคนี้กันอย่างดี จึงขอพาท่านผู้อ่านไปพบกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจารย์เป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านมีประสบการณ์มาก เคยเจอคนไข้โรคปากเบี้ยวมานักต่อนักแล้ว ยิ่งกว่านั้นอาจารย์ยังเป็นราชบัณฑิตในวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์อีกด้วย
จึงมั่นใจได้ว่า ท่านจะได้ความรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้องเชียวครับ
 

ทันทีที่บอกว่าอยากมาคุยกับอาจารย์เรื่อง “โรคปากเบี้ยว” อาจารย์ก็สาธยายทันที
โรคปากเบี้ยวนี่ เป็นกันมาก เป็นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หนุ่มสาวหรือผู้สูงอายุ เป็นแล้วจะเห็นปากเบี้ยวไปข้างหนึ่ง เวลายิ้มหรือยิงฟัน มุมปากข้างที่เป็นจะตกจะยักคิ้วไม่ได้”

สาเหตุของปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว เกิดจากเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณที่หน้านี้เกิดไม่ทำงาน ส่วนที่ว่าทำไมประสาทที่คุมกล้ามเนื้อนี้ไม่ทำงาน ที่พบบ่อย ๆ เกิดจากมีการอักเสบ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Bell’s Palsy (เบลล์พัลซี่)

 

อาจารย์ครับ เคยฟังมาว่าโรคนี้น่ะเกิดจากไวรัสเข้าหู เข้าตา เวลานั่งรถหรือตากลม (อ่านว่า ตากลม) น่ะจริงไหม”
เป็นเรื่องที่เชื่อถือกันมานาน ไม่มีหลักฐานหรอกครับ ว่าเกิดจากสาเหตุนี้”


“ผมสงสัยอย่างหนึ่งครับว่า คนที่เป็นโรคหน้าเบี้ยวหรือปากเบี้ยวนี่ จะเป็นอันตรายสักแค่ไหน ร้ายแรงหรือไม่ครับ”
เป็นแล้วไม่ต้องตกใจ เพราะโรคนี้หายเองได้ ไม่ร้ายแรงอะไร ไม่ต้องไปวิ่งหามดหาหมอให้เปลืองสตุ้งค์สตางค์ เพราะหายเองได้ อาจจะรู้สึกรำคาญที่ว่า กินอาหารแล้วติดกระพุ้งแก้ม ตาอาจจะแดง เพราะหลับตาไม่ลง ต้องระวังตาอักเสบ ที่สำคัญที่ว่า จะเป็นอันตรายร้ายแรงหรือไม่ เราต้องแยกให้ออกว่า หน้าเบี้ยวนี้ เกิดจากปลายประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอักเสบอย่างเดียวหรือว่า ถ้ามีสาเหตุจากสมอง จะมีอาการที่ขาและแขน พลอยฟ้าพลอยฝนร่วมด้วย เช่น หน้าเบี้ยวแล้วขาและหน้าเบี้ยวนี้มีต้นตอมาจากโรคในสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองแตกและอุดตัน
แขนมีอัมพาต หรือไม่ค่อยมีแรง”


“เคยมีไหมครับ ที่หน้าเบี้ยวทั้งสองข้างเลย”
“มีครับ แต่พบได้น้อยกว่า”

           


อาจารย์ครับ ถ้าสมมุติเราเป็นโรคนี้เองหรือคนอื่นเป็นโรคนี้แล้ว จะทำอย่างไรดี แม้อาจารย์จะบอกว่าหายเองได้ ผมก็ยังรู้สึกกลัว ๆ กล้า ๆ กลัวจะไม่หายน่ะครับ”

อย่างนี้นะครับ ถ้าเป็นเองหรือคนอื่นเป็น ต้องดูให้แน่ชัดว่าถ้าเป็นอย่างชนิดซีกเดียว (ภาษาอังกฤษเรียกว่า เบลล์พัลซี่ Bell’s Palsy) นี้ ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องหาหมอที่ไหนทั้งนั้น ใครมาหลอกว่าจะรักษาให้ก็ไม่ต้องไปเชื่อ
อีกข้อหนึ่ง ผู้ที่มีอายุมากหน่อย ต้องดูว่าตัวเองเป็นเบาหวานหรือไม่ คนที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเป็นได้มาก


“เป็นแล้วรอนานไหมครับ กว่าจะหาย”

ประมาณ 3-4 อาทิตย์ จะรู้สึกว่าดีขึ้น แต่พวกที่เป็นมากจนขยับหน้าไม่ได้เลย และลิ้นก็ไม่รู้รสด้วย อย่างนี้อาจต้องรอเป็นเดือน บางคนอาจใช้เวลานานเป็นปี หายได้แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ”


“เอาล่ะซี คุยกับอาจารย์มาจนผมได้ความรู้มาก ลืมถามไปว่าผมจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการมันจะดีขึ้น หรือดีขึ้นมาบ้างหรือยัง”
ให้ลองเลิกคิ้วหรือลองปิดตา หรือขยับกล้ามเนื้อบริเวณหน้าดู ถ้าขยับพอได้บ้าง หรือหลับตาได้พอมิด แสดงว่าเป็นไม่มากแล้วและอาการดีขึ้น”


“การนวดที่บริเวณหน้า จะช่วยให้หายเร็วขึ้นไหมครับ”
ถ้าเป็นโรคนี้ การนวดจะช่วยก็แค่ระยะแรก การนวดเขามีวัตถุประสงค์ คือ ให้กล้ามเนื้อที่อัมพาตได้ทำงานบ้างในระหว่างที่รอประสาทหายอักเสบ
และระหว่างที่รอประสาทจะหายนี้ เอาไฟฟ้ากระตุ้น ก็อาจช่วยได้ ซึ่งการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นมักใช้กับผู้ที่เป็นหน้าเบี้ยวชนิดเต็มที่เลย แต่ผมแนะนำว่า คนที่เป็นโรคปากเบี้ยว ถ้าพอจะขยับกล้ามเนื้อที่หน้าได้บ้าง ก็พยายามหัดขยับ โดยยืนที่หน้ากระจกพยายามหัดแยกเขี้ยวหรือยิงฟัน ถ้าไม่แยกเขี้ยว ยิงฟัน ก็ให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นได้ออกกำลังแทนกันก็ได้”


“เรื่องหยูกยานั้น ต้องกินกันบ้างหรือเปล่าครับ ?”
ถ้าไปหาหมอ หมออาจให้ยาพวกสเตอรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน วันละ 12 เม็ด ขนาดเม็ดละ 5 มิลลิกรัม กินวันละ 3-4 ครั้ง นาน 7-10 วัน ยานี้ทำให้ระคายเคืองกระเพาะ หมออาจให้ยาลดกรดควบด้วย

มีหลักการให้ยาหรือจะต้องไปหาหมอที่เชี่ยวชาญเรื่องประสาทไหมครับ”

ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนนัก แต่โดยทั่วๆ ไป ถ้าผู้ป่วยรายใดมีอาการมาก คือหน้าเบี้ยวขยับไม่ได้ทั้งซีก และลิ้นซีกเดียวกันไม่รู้รสล่ะก็ ถ้าไปหาหมอในระยะ 2-3 วันแรก ยาพวกสเตอรอยด์อาจช่วยให้ดีขึ้นเร็ว และดีเป็นปกติหรือเกือบจะปกติได้ ส่วนยาประเภทวิตามินบีหนึ่ง-หก-สิบสอง (B1-6-12) ไม่ช่วยอะไร ที่ให้กันก็เพราะความสบายใจมากกว่า”

ที่สำคัญ
1 เป็นแล้วอย่าตกใจ หรือวิตกกังวล ถ้ามีอาการแต่เฉพาะที่หน้า คือ เบลล์พัลซี่ (Bell’s Palsy)

2 ถ้าอยู่ไกลหมอ ขอให้สบายใจได้ว่า ไม่ต้องกินยาอะไรก็หายได้ ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง

3 โรคนี้มีน้อยรายที่หายไม่ดีหรือกว่าจะดีขึ้นต้องรอเวลาเป็นเดือน ๆ ส่วนใหญ่หายเป็นปกติ

4 ระหว่างที่เป็นตาอาจแดงหรืออักเสบ เพราะตาปิดไม่ลง ควรใส่แว่นหรือใช้ผ้าสะอาดปิดตาไว้ หรือควรหยอดยาป้ายตาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ เช่น ยาป้ายตาอ๊อคคูเล้นต์ทีหรือยาป้ายตาเทอรามัยซิน โดยป้ายวันละ 2-3 ครั้ง กันตาอักเสบ

5 ระหว่างที่เป็น ต้องพยายามแยกเขี้ยว ยิงฟัน เป็นการพยายามบริหารหรือช่วยบริหารกล้ามเนื้อไว้

 

ข้อมูลสื่อ

18-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
โรคน่ารู้
ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ