• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาหรือเครื่องสำอาง? เกณฑ์อยู่ที่ฉลากบนกล่องบรรจุเหมือนกัน

ต่อไปนี้ทางบริษัทเครื่องสำอางคงต้องระวังในการเขียนฉลากบนกล่องสินค้าของตนยิ่งขึ้น ทางองค์การไม่ได้เล่นงานในแง่ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ แต่ต้องการจะกวดขันการใช้ถ้อยคำกล่าวอ้างสรรพคุณบนกล่องบรรจุ

เมื่อปลายปี 2529 เกิดกรณีขัดแย้งเล็กน้อยระหว่างองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกากับบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางจำนวนหนึ่ง แต่สืบเนื่องถึงเดือนกันยายน ปี 2530 เรื่องยุ่งๆได้ขยายไปถึงบริษัทอื่นๆมากขึ้นแล้ว ตามรายงานข่าวกล่าวว่าบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางราวๆ 30 แห่ง กำลังถูกองค์การอาหารและยาสอบสวนกันยกใหญ่

เรื่องของเรื่องเริ่มต้นจากว่าได้มีบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางแห่งหนึ่งได้เขียนบรรยายสรรพคุณเครื่องสำอาง “ประเทืองผิวพรรณ” ของตนไว้บนกล่องบรรจุว่า “ส่งผลต่อโครงสร้างและการทำงานของร่างกาย” ซึ่งเป็นธรรมดาว่าองค์การอาหารและยาต้องจัดประเภทเป็นยามิใช่เครื่องสำอาง ปัญหาก็คือในเมื่อสินค้านี้คือยา กว่าจะได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยา และกว่าจะนำออกวางขายในท้องตลาดได้ สินค้าตัวนี้ก็ต้องผ่านการตรวจสอบเพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพจากทางการอย่างเข้มงวด

เรื่องนี้นับว่าบริษัทมีความ “เพลิน” ไปสักหน่อย ในการเขียนถ้อยคำบรรยายบนฉลากสินค้า ทั้งๆที่แต่ไหนแต่ไรก็สามารถปล่อยสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องผ่านระเบียบวิธีอันยาวเหยียดขององค์การอาหารและยาเหมือนอย่างนี้เลย

กรณีนี้ทางเจ้าหน้าที่องค์การอาหารและยาให้ความเห็นว่า ต่อไปนี้ทางบริษัทเครื่องสำอางคงต้องระวังในการเขียนฉลากบนกล่องสินค้าของตนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามองค์การอาหารและยากล่าวว่า ทางองค์การมิได้เล่นงานในแง่ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ แต่ต้องการจะกวดขันการใช้ถ้อยคำกล่าวอ้างสรรพคุณบนกล่องบรรจุมากกว่า

รายงานข่าวนี้ชี้ให้เราเห็นว่า ผู้ผลิตสินค้ามักมีแนวโน้มอวดอ้างโฆษณาสรรพคุณสินค้าของตนให้ฟังดูน่าประทับใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์การอาหารและยาที่จะต้องเอาใจใส่ให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบ กรรมวิธีในการผลิต สรรพคุณ และแม้แต่ถ้อยคำบนฉลากและบนกล่องบรรจุ

เพราะเป็นการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคอย่างหนึ่งที่รัฐต้องมีให้แก่ประชาชน


 

ข้อมูลสื่อ

104-004-3
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
พีระพล เวชพงศา