• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยิ้มแสยะ อาการเริ่มแรกของบาดทะยัก

ยิ้มแสยะ อาการเริ่มแรกของบาดทะยัก


1. แม่พลอยร้องห่มร้องไห้เสียใจที่ลูกน้อยอายุได้ไม่ถึงครึ่งเดือนต้องมาตายจากไปเสียแล้ว
นางนึกเสียใจว่า ถ้าหากนางเชื่อคำแนะนำของลุงเมี้ยน พาเด็กไปรักษาที่โรงพยาบาล ป่านนี้ลูกอาจยังมีชีวิตอยู่ก็ได้
นางคลอดกับหมอตำแยในหมู่บ้าน หลังคลอดเด็กดูท่าทางแข็งแรง ร้องเก่ง กินนมเก่ง แต่พออายุได้ 8 วัน เด็กน้อยก็มีอาการร้องงอแงและตัวร้อนรุมๆ นางสังเกตเห็นว่าปากของเด็กอ้าไม่ขึ้น และทำท่าแบบ ยิ้มแสยะ นมก็ไม่ยอมดูด วันต่อมาเด็กน้อยก็มีอาการชักกระตุกเป็นพักๆ โดยเฉพาะเวลาที่ไปจับต้องถูกตัวเข้า

ลุงเมี้ยนที่อยู่บ้านถัดไปมาเห็นเข้า ก็บอกให้นางพาลูกไปโรงพยาบาล
เรื่อง “ไปโรงพยาบาล” นี่นางคิดหนักเพราะการไปโรงพยาบาลต้องใช้เวลาเดินทางข้ามวัน เงินทองก็ไม่มีติดบ้านเลย ค่ารถ ค่ารักษาอีกเท่าไหร่
ยายเขียน เพื่อนบ้านอีกคนหนึ่งบอกนางว่า ไม่เป็นไรหรอก เด็กเป็นสะพั้น ใช้ยาพ่นสัก 2-3 วันก็คงจะหาย หรือไม่ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมของเด็ก

แม่พลอยจึงตัดสินใจเรียกหมอมาพ่นให้ลูกน้อย
อีก 2-3 วันต่อมา เด็กก็ชักถี่เข้า และมีอาการหลังแอ่น ในที่สุดก็สิ้นบุญไป

 

2. เจ้าหนุ่ยจับไข้มาได้ 2 วันก็มีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ขึ้น และทำท่ายิ้มแสยะเห็นฟันขาว พอดีหมอแดงซึ่งเป็นหมอสุขศาลาแวะมาเยี่ยมบ้านเห็นเข้า สอบถามดูได้ความว่า เมื่อ 10 กว่าวันมาแล้ว เด็กชายหนุ่ยเดินไปเหยียบตะปูเข้า จนกลายเป็นแผลอักเสบ

อาการแบบนี้ เป็นอาการเริ่มแรกของบาดทะยัก ขอให้รีบพาเจ้าหนุ่ยไปโรงพยาบาลที่จังหวัดเถอะ”
พ่อแม่จัดแจงพาเจ้าหนุ่ยไปโรงพยาบาล หมอรับไว้รักษาอยู่ร่วมเดือน เด็กน้อยก็เดินกลับบ้านได้

หมอบอกว่า “นี่นับว่าเจ้าหนุ่ยนั้นโชคดีมาก สามารถมารับการรักษาได้ทันเวลา ถ้ามาช้าเพียงข้ามคืนโอกาสรอดก็คงน้อยมาก คนที่เป็นบาดทะยักมีโอกาสตายถึงครึ่งต่อครึ่ง”

                

                    เด็กคนนี้ถูกไม้เสียบตำ แล้วกลายเป็นบาดทะยักหมอต้องเจาะคอช่วย
                     หายใจ (โปรดสังเกตท่อช่วยหายใจที่คอหอย )
               -------------------------------------------------------------------------------------------------
         

3. ครับ - บาดทะยัก (tetanus) เป็นโรคที่อันตรายร้ายแรง ถ้าเป็นแล้วไม่ได้รับการรักษาก็ไม่มีทางรอด ถ้าได้เข้ารักษาในโรงพยาบาล มีโอกาสรอดเพียงประมาณร้อยละ 50  ข้อสำคัญอยู่ที่สามารถให้การรักษาได้เร็วเท่าไหร่ ก็มีโอกาสรอดได้มากขึ้นเท่านั้น

อาการเริ่มแรกสุดของคนไข้ที่เป็นบาดทะยักก็คืออาการตัวร้อน ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ และทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ เห็นฟันขาวโพลน ถ้าเป็นทารกจะพบว่ามีอาการร้องงอแง ไม่ยอมดูดนม
ระยะต่อมาจะมีอาการชักกระตุกเป็นครั้งคราว เวลาไปจับต้องถูกตัวหรือถูกแสงสว่าง หรือมีเสียงดังรบกวนแต่ถ้าปล่อยให้มีอาการหลังแอ่นหรือหลังแข็ง (รูปที่ 3) เมื่อไหร่ โอกาสรอดก็น้อยมาก
คุณผู้อ่านครับ ถ้าพบคนมีอาการตัวร้อน ยิงฟันยิ้มแสยะ บอกให้อ้าปากก็อ้าไม่ขึ้น โดยเฉพาะถ้าพบ-ว่ามีบาดแผล ตะปู หนามเกี่ยว สัตว์กัด หรือพบในเด็กทารกอายุไม่กี่วัน ก็ให้รีบพาไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านทันที หมออาจจะต้องทำการเจาะคอช่วยหายใจ และให้ยารักษาบาดทะยัก


โรคบาดทะยัก หรือที่ชาวบ้านเราเรียกว่า “สะพั้น” หรือ “ตะพั้น” เกิดจากเชื้อบาดทะยักซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชอบอยู่ตามดินตามทราย เมื่อเข้าร่างกายของคนเราโดยทางบาดแผล ก็จะปล่อยพิษทำลายระบบประสาท ใครที่ไม่อยากตายจากโรคนี้ มีวิธีที่ง่ายนิดเดียวคือ ทุกครั้งที่มีบาดแผลเกิดขึ้นตามร่างกายโดยเฉพาะบาดแผลที่มีปากแผลแคบแต่ลึก เช่น ตะปูตำ หนามตำ ไม้เสียบแทง ฯลฯ ให้ไปหาหมอฉีดยากันบาดทะยักเสีย
คนที่คลอดลูก ก็จงใช้มีดหรือกรรไกรที่ต้มในน้ำเดือด หรือแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ตัดสายสะดือเด็ก และอย่าใช้น้ำลาย น้ำหมาก หรือสิ่งสกปรกมาพอกสะดือเด็ก
ส่วนเด็กที่โตสัก 2-3 เดือน ก็จงพาไปฉีดวัคซีนป้องกันเสียทุกคน ตามสถานีอนามัยและโรงพยาบาลของรัฐ เขาฉีดให้ฟรีครับ

คุณผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อนเลย ถ้าเป็นไปได้ ก็ขอให้ฉีดวัคซีนนี้เสียตั้งแต่ที่ยังไม่มีบาดแผล คือ ฉีดเตตานัสทอกซอยด์ (Tetanus toxoid) ครั้งละ 0.5 ซี.ซี. ควรฉีด 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน ราคาเข็มละประมาณ 10-20 บาท จะสามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้นาน 10 ปีเชียวครับ

คนที่ปล่อยให้มีบาดแผลแล้วค่อยมาฉีดยากันบาดทะยัก ก็ขอให้ระวัง ท่านอาจรอดพ้นจากการเป็นโรคบาดทะยัก แต่ก็อาจเสี่ยงต่อการแพ้ยา (บางคนแพ้รุนแรงถึงตายได้) เพราะยากันบาดทะยัก (Tetanus an titoxin) นี้เขาทำจากเซรุ่มของม้า
ก็ร่างกายคนเรานั้นไม่ค่อยถูกกับเซรุ่มของสัตว์อื่นเสียด้วย บางครั้งเลยพาลให้แพ้เอาง่ายๆ แหละครับ

 

 

 

 

 

 รูปที่ 1 อาการยิ้มแสยะ เป็นอาการเริ่มแรกของบาดทะยัก หญิงคนนี้เป็นบาดทะยักหลังจากถูกตะปูตำได้ 15 วัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รูปที่2  คนที่เป็นบาดทะยัก จะมีอาการชักเมื่อคนอื่นไปแตะถูกตัว หรือได้ยินเสียงดีง หรือเห็นแสงสว่าง

 

 

 

 

 

 

 

รูปที่ 3 อาการหลังแอ่นหลังแข็งเป็นอาการระยะท้ายๆ ของบาดทะยักถ้าเป็นถึงขั้นนี้ส่วนมากจะไม่รอด

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

17-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 17
กันยายน 2523
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ