• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อีสุกอีใส ไข้ออกตุ่มสุกตุ่มใสสมชื่อ

อีสุกอีใส ไข้ออกตุ่มสุกตุ่มใสสมชื่อ 


                      

“โรคอะไรเอ่ยที่ทำให้มีอาการตัวร้อน และคุ่มขึ้นตามร่างกาย ?”
“อีสุกอีใสครับ”

“นอกจากอีสุกอีใสแล้ว ยังมีอะไรอีก ?”
“ฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษครับ”

“เราจะแยกอาการของอีสุกอีใส ออกจากฝีดาษได้อย่างไร”

“อีสุกอีใส จะมีตุ่มขึ้นพร้อมกับอาการไข้ หรือหลังจากมีไข้ได้ 1 วัน ลักษณะตุ่มจะสุกไม่พร้อมกัน คือมีหลายลักษณะ และขึ้นกระจายตามลำตัวมากกว่าแขนขา”  “ส่วน ฝีดาษ จะมีตุ่มขึ้นหลังมีไข้ 3 วัน ลักษณะตุ่มจะสุกพร้อมกัน คือมีลักษณะเดียวกันหมด และขึ้นกระจายตามแขนขามากกว่าลำตัวครับ”

ในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นนักเรียนแพทย์ มักจะถูกอาจารย์ต้อนถามปัญหาเรื่องไข้ออกตุ่ม และพวกเราก็ต้องท่องคำตอบให้อาจารย์ฟังเป็นสูตรตายตัวดังกล่าวข้างต้นนี่แหละ
ทั้งอาจารย์แพทย์และนักเรียนแพทย์ นิยมเรียกชื่อโรคเป็นภาษาอังกฤษ เพราะตำราแพทย์ในสมัยนั้น เป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ เราเรียกอีสุกอีใสว่า “ชิกเก่นพ็อก” (Chiken-pox)และ เรียกฝีดาษว่า
สะมอลพ็อก” (Small-pox) พอเรียกเป็น “ชิกเก่นพ็อก” “สะมอลพ็อก” เข้า เราก็สับสนเพราะชื่อมันไม่ได้บ่งบอกลักษณะอาการโรคอยู่ในตัว ก็ต้องท่องจำลักษณะอาการของทั้ง 2 โรคนี้
มาสมัยนี้ เราคุ้นกับชื่อไทย ๆ เรามากขึ้น พอมาเรียกเป็น “อีสุกอีใส” แทน “ชิกเก่นพ็อก” เข้าทำให้มองเห็นภาพพจน์ได้แจ่มแจ้งแดงแจ๋ว่า ลักษณะตุ่มของคนที่เป็นอีสุกอีในนั้นจะมีตุ่มสุก และตุ่มใสขึ้นพร้อมกันนั่นเองก็ต้องขอยกย่องบรรพบุรุษเราที่มีศิลปะในการตั้งชื่อนี้ขึ้นมาสมัยนี้ คนที่จะคิดตั้งชื่อให้ได้ความหมายแบบนี้มีน้อยเต็มที่ถ้าอยากจะเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพอนามัยให้ประชาชนธรรมดา ๆ เข้าใจกันแล้ว ก็เห็นจะต้องหันมาคิดชื่อไทย ๆ กันให้มากขึ้น

 

⇒ ลักษณะหน้าตาของอีสุกอีใสเป็นอย่างไร
คุณผู้อ่านครับ ผมเชื่อว่าทุกคนคงรู้จักโรคอีสุกอีใสกันมาดีแล้วใช่ไหมครับ
โรคนี้ จะพบระบาดในเด็ก ๆ เหมือนโรคหัต มันแพร่กระจายรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง (ชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดนั่นแหละ)เมื่อคนรับเชื้ออีสุกอีใสเข้าไปเช่น ถูกคนที่เป็นโรคนี้ไอ หรือจามรด หรือไปสัมผัสถูกเครื่องใช้ เช่น ที่นอน ผ้าห่มที่ผู้ป่วยใช้อยู่หลังจากนั้นประมาณ 10-20 วัน ก็จะเกิดมีอาการตัวร้อนอ่อนเพลียคล้ายไข้หวัด ซึ่งอาการจะเป็นไม่มาก พร้อม ๆ กับวันที่มีไข้ หรือ 1 วันหลังมีไข้ ก็จะมีผื่นแดงเล็ก ๆ ขึ้นเป็นหย่อม ๆ ตามลำตัว แล้วกลายเป็นตุ่มนูน ตุ่มใส ตุ่มหนองและตกสะเก็ดตามลำดับ ถ้าสังเกตเปรียบเทียบตุ่มต่าง ๆ จะพบว่าบางอันเพิ่งจะเป็นผื่นแดงหรือตุ่มนูน บางอันเป็นตุ่มใส บางอันเป็นตุ่มข้นเหมือนน้ำข้าว บางอันก็ตกสะเก็ด นี่แหละที่เรียกว่าตุ่มสุกไม่พร้อมกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอีสุกอีใสตุ่มเหล่านี้จะคัน จนบางครั้งผู้ป่วยใช้เล็บเกาจนเป็นหนองเนื่องจากมีเชื้อหนอง (แบคทีเรีย) เข้าไปผสมโรงด้วย
สมัยนี้ถ้าพบผู้ป่วยมีไข้พร้อม กับมีตุ่มขึ้นตามตัว ก็ให้นึกถึงอีสุกอีใสไว้ ส่วนโรคฝีดาษนั้นเลิกคิดถึงได้เพราะมันสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว

 

⇒การดูแลรักษาคนที่เป็นอีสุกอีใส
โรคนี้ส่วนมากจะเป็นเองหายเอง แบบเดียวกับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก หัด คางทูม ฯลฯ เพราะเกิดจากเชื้อโรคตระกูลไวรัสแบบเดียวกัน ส่วนมากจะมีไข้อยู่ไม่กี่วัน อาการทั่วไปก็ไม่ค่อยรุนแรง ส่วนตุ่มที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ ตกสะเก็ดหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ และไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นเหมือนโรคฝีดาษแต่อย่างใดเมื่อพบคนที่เป็นโรคนี้ ก็ให้การดูแลรักษาอาการ คือ ถ้ามีไข้ก็ให้ยาลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือ พาราเซตาม่อล ครั้งละ 1/2 - 1 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมงถ้ามีอากรคันมากก็ให้ทาด้วย ยาแก้ผดผื่นคัน (คาลาโมน์โลชั่น)

ควรตัดเล็บผู้ป่วยให้สั้น และพยายามอย่าเกาตามผื่นตุ่มที่คัน เพราะจะทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ติดอยู่ตามเล็บเข้าไปผสม กลายเป็นหนองเฟะได้
ถ้าพบว่าตุ่มกลายเป็นหนอง ก็ให้กินยาปฏิชีวะนะ เช่น ในเด็ก ก็ให้ เพนวี (ขนาด 2 แสนยูนิต เม็ดละ 50 สตางค์) วันละ 4 ครั้ง ๆ ละ1 เม็ด ในผู้ใหญ่ให้กินเตตร้าซัยคลีน (ขนาด 250 มิลลิกรัม แคปซูลละ 0.75-1.00 บาท) วันละ 4 ครั้งๆ ละ 2 แคปซูล ควรให้นาน 7-10 วัน โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปอดบวม ซึ่งจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็กถ้าพบว่าคนที่เป็นอีสุกอีใสแล้วมีอาการหอบ และมีไข้สูงก็ควรจะแนะนำไปโรงพยาบาล อาจมีอันตรายถึงตายได้

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสการป้องกันคือ อย่าเข้าใกล้คนที่เป็นโรคนี้เป็นดีที่สุด


 

 

 

 รูปที่ 1 
อีสุกอีใสขึ้นที่เพดานปากเป็นแผลตื้นทำให้เจ็บในปาก กลืนอาหารลำบาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 รูปที่ 2 
ตุ่มอีสุกอีใสขึ้นตามตัวและใบหน้า

 

 

 

 


 

 

  รูปที่ 3 
ลักษณะผื่นแดง ต่มสุก ตุ่มใส สุกไม่พร้อมกันซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอีสุกอีใส

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

19-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 19
พฤศจิกายน 2523
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ