• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

“สะพั้น” โรคซึ่งเป็นแล้ว มักจะไม่รอด แต่ป้องกันได้ง่ายมาก

“สะพั้น” โรคซึ่งเป็นแล้ว มักจะไม่รอด แต่ป้องกันได้ง่ายมาก

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราได้ประชุมชาวบ้านที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับท่านนายอำเภอ เพื่อไต่ถามชาวบ้านว่า มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรบ้าง เพื่อทางอำเภอจะได้หาทางช่วยเหลือรักษาและป้องกันโรคซึ่งพบบ่อยๆ ให้แก่ชาวบ้าน เมื่อได้ไต่ถามถึงโรคเด็กก็มีผู้หญิงคนหนึ่งแล้งให้ทราบว่า มีเด็กเป็น “สะพั้น” ตายกันมาก เนื่องจากคำนี้ใช้เฉพาะบางท้องที่เท่านั้น ผมจึงไม่มั่นใจว่าจะหมายถึงโรคอะไร จึงได้ถามต่อไปว่า โรคนี้เกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไร เขาตอบว่าไม่ทราบว่า โรคนี้เกิดจากอะไร เป็นแก่เด็กเกิดใหม่อายุราว 5-10 วัน อยู่ดีๆ เด็กก็ดูดนมไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง ชักหลังแอ่น เป็นได้ไม่กี่วันก็ตาย เมื่อผมได้ฟังคำอธิบายเช่นนี้ก็เข้าใจได้ทันทีว่า เด็กเหล่านี้เป็นโรคบาดทะยักและในเด็กเกิดใหม่เช่นนี้สาเหตุที่ทำให้เป็นบาดทะยักและในเด็กเกิดใหม่เช่นนี้สาเหตุที่ทำให้เป็นบาดทะยัก ก็คือ สะดือสกปรกทำให้เชื้อบาดทะยักเข้าไปในร่างกายทางสะดือ

ฉะนั้น ผมจึงได้ถามหญิงผู้นั้นว่าปกติตัดสายสะดืออย่างไร และใช้อะไรทาสะดือ หลังจากตัดสายสะดือแล้ว ก็ได้รับคำตอบว่า เอาสายสะดือพาดบนก้อนดิน แล้วใช้ไม้เรียวไผ่เฉือนตัดสายสะดือบนก้อนดินจนกระทั่งสายสะดือขาด เสร็จแล้วก็ใช้ยาผงชนิดหนึ่งซึ่งมีขายทั่วไปโรยสะดือเพื่อให้เลือดหยุด

ก่อนที่ผมจะอธิบายว่า การทำเช่นนี้มีผลดีผลร้ายอย่างไร ผมขออธิบายเกี่ยวกับเชื้อบาดทะยักสักเล็กน้อย ผมเข้าใจว่าทุกท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า “บาดทะยัก” เพราะเมื่อเร็วๆ นี้มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อ บาดทะยักหัวใจ ผมเองเมื่อได้ยินชื่อก็งง เพราะไม่เคยมีปรากฏในวงการแพทย์มาก่อน เนื่องจากหัวใจอยู่ภายในร่างกาย ยากต่อการที่เชื้อบาดทะยักจะเข้าไปได้ถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้นให้ชื่อว่า บาดทะยักสะดือ จะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก เอาละครับขอวกกลับมาถึงเชื้อบาดทะยัก เชื้อบาดทะยักปกติอาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์ที่กินหญ้า เช่น วัว ควาย เมื่อสัตว์ถ่ายอุจจาระออกมาที่พื้นดิน เชื้อบาดทะยักจะกระจายไปอยู่ในดินและฝุ่นละอองทั่วๆ ไป ตัวเชื้อบาดทะยักเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จึงจะมองเห็นเป็นรูปยาวๆ มีปลอกหุ้มอย่างแข็งแรง จึงทำให้เชื้อโรคนี้ทนทานมาก สามารถอยู่ในดินและฝุ่นละอองได้เป็นปีๆ แม้แต่เอาเชื้อนี้ไปต้มให้เดือดเป็นชั่วโมงก็อาจมีเชื้อบาดทะยักหลงเหลือมีชีวิตอยู่ได้ เชื้อบาดทะยักจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีออกซิเจนน้อย

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรจึงจะฆ่าเชื้อบาดทะยักที่ติดมากับเครื่องมือที่ใช้ตัดสะดือได้ เพราะต้มให้เดือดเป็นชั่วโมงก็ยังฆ่าไมได้หมด ผมเป็นเด็กบ้านนอก เมื่อเวลาจะบ่งเสี้ยนย่าจะบอกให้เอาเข็มที่จะบ่งเผาไฟเสียก่อน นี่แหละคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะฆ่าเชื้อบาดทะยัก แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านทราบวิธีที่จะฆ่าเชื้อบาดทะยักมานานแล้ว แต่แปลกที่ว่าไม่เอาวิธีนี้มาใช้กับการตัดสายสะดือเด็ก ในชนบทส่วนใหญ่มักจะทำคลอดโดยหมอตำแย หรือทำคลอดกันเอง เนื่องจากแพทย์ พยาบาล และผดุงครรภ์มีไม่ทั่วถึง และตัดสายสะดือด้วย วิธีที่กล่าวมาข้างต้นเรียวไผ่ค่อนข้างจะสะอาด แต่ก็อาจมีเชื้อบาดทะยักติดไปได้จากมีดที่เหลาเรียวไผ่ แต่ที่สำคัญก็คือ การตัดสายสะดือบนก้อนดินจะทำให้เชื้อบาดทะยักจากก้อนดินเข้าไปในสายสะดือได้โดยง่าย ในบางรายใช้ตัดบนก้อนไพล หรือก้อนขี้ควายซึ่งก็ทำให้เกิดผลร้ายเช่นเดียวกัน การโรยยาผงบนสะดืออาจทำให้เกิดโรคนี้กำเริบมากขึ้น เพราะผงยาจะไปขัดขวางไม่ให้ออกซิเจนเข้าไปถึงเชื้อบาดทะยัก ตามที่ผมได้กล่าวให้ทราบตอนต้นว่า เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีออกซิเจนน้อย

การทำความสะอาดเครื่องมือที่ใช้ตัดสายสะดือนั้นมีหลายวิธี วิธีที่ประหยัดที่สุดและได้ผลดีที่สุดสำหรับหมอตำแยหรือผู้ที่ทำคลอดกันเองโดยย่าหรือยาย ก็คือ ใช้มีดเผาไฟเช่นเดียวกับเวลาจะบ่งเสี้ยน ทิ้งไว้ในอากาศให้เย็นแล้วตัดสายสะดือ โดยไม่ให้สะดือเด็กไปถูกสิ่งอื่น แล้วรีบเอายาทา ยาที่หาได้ง่ายและราคาถูกก็คือ ยาสีม่วงๆ ที่ใช้ทาลิ้นเด็ก เวลาเด็กมีลิ้นฝ้าขาวที่เรียกว่า เจ็นเชี่ยน ไวโอเล็ท ไม่จำเป็นต้องห่อสะดือ เมื่อยาแห้งแล้วจึงใส่เสื้อผ้า อาจทำให้ผ้าติดสีของยามองดูคล้ายสกปรก แต่สะดือจะสะอาดปราศจากเชื้อโรค ไม่เป็นบาดทะยักสะดือ หรือสะดืออักเสบจากเชื้ออื่นๆ มีดที่ใช้ตัดสายสะดือนั้นเป็นมีดอะไรก็ได้ ซึ่งคมมีดที่คมที่สุด และประหยัดที่สุดคือ ใบมีดโกนสมัยใหม่

โรคนี้เป็นแล้วมักจะไม่รอด ถ้ารักษาเองมีหวังตายร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าส่งโรงพยาบาลอาจรอดได้ แต่เป็นส่วนน้อย การรักษาแพทย์จะใช้ยาจำพวกซีรั่มซึ่งมีราคาแพงมากปีหนึ่งๆ มีเด็กตายด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลก็เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเป็นจำนวนมาก การป้องกันโรคนี้ก็คือ ตัดสายสะดือและฆ่าเชื้อโรคที่สะดือดังวิธีที่กล่าวมาแล้ว วิธีป้องกันอีกวิธีหนึ่งก็คือ เมื่อตั้งครรภ์รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเสียที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล ก็จะกันบาดทะยักได้ทั้งในมารดาและบุตร เมื่อเด็กอายุครบ 2 เดือน ต้องพาไปฉีดวัคซีนป้องกัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งรวมอยู่ในเข็มเดียวกัน

ข้อสำคัญคือ ฉีดครั้งเดียวไม่พอ ต้องพาไปฉีดให้ครบตามกำหนดคือ ฉีดอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 2 เดือน และไปฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 1 ปีครึ่งและ 4 ปีต่อไปฉีดเฉพาะวัคซีนป้องกันบาดทะยักทุก 10 ปี และฉีดยาป้องกันโรคอื่นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลด้วย อย่าลืมภาษิตที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแย่แล้วจะแก้ไม่ทัน”

ข้อมูลสื่อ

1-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 1
พฤษภาคม 2522
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์